โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

ทุนยักษ์ทุ่มพลิกโฉม 'เมอร์รี่คิงส์’ ห้างดังในตำนาน จับตาสาขาสุดท้าย 'วงเวียนใหญ่’

MATICHON ONLINE

อัพเดต 30 เม.ย. 2566 เวลา 20.14 น. • เผยแพร่ 30 เม.ย. 2566 เวลา 07.55 น.
728

ทุนยักษ์ทุ่มพลิกโฉม ‘เมอร์รี่คิงส์’ ห้างดังในตำนาน จับตาสาขาสุดท้าย ‘วงเวียนใหญ่’

กลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง ห้างดังในตำนาน “เมอร์รี่คิงส์ วงเวียนใหญ่” หลังถูกนำมาประกาศขายรอบใหม่ในรอบ 8 ปี ด้วยราคา 550 ล้านบาท

นับจากปี 2557 เคยถูกนำออกประมูลโดยเจ้าของใหม่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ที่ซื้ออาคารมาจากสถาบันการเงิน หลังเจ้าของเดิมประสบปัญหาและปิดกิจการไปเมื่อปี 2550

แต่ยังไม่มีผู้สนใจอย่างจริงจัง ทั้งที่ทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้รถไฟฟ้าบีทีเอสวงเวียนใหญ่ และรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฏร์บูรณะ ซึ่งเมื่อ 8 ปีที่แล้วสายสีม่วงยังเป็นแค่วุ้น แต่วันนี้เริ่มตอกเสาเข็มแล้ว ยิ่งหนุนทำเลนี้เปล่งประกายกลายเป็นทำเลทอง คาดหวังจะดึงดูดความสนใจนักลงทุนได้ไม่มากก็น้อย

“ภัทรชัย ทวีวงศ์” ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า ทราบว่ามีการนำห้างเมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่ที่ปิดบริการไปนานหลายปีแล้ว นำมาเสนอขายใหม่ โดยเมื่อหลายปีก่อนมีการนำเสนอขายมาแล้ว แต่ยังไม่มีผู้สนใจ ทำให้ในครั้งนี้มีการเสนอโมเดลพัฒนาโครงการใหม่ให้ผู้สนใจด้วย เช่น พัฒนาเป็นเมดิคัลฮับ เพราะทำเลที่ตั้งมีรถไฟฟ้า 2 สายพาดผ่าน ทั้งบีทีเอสและสายสีม่วงใต้ สถานีวงเวียนใหญ่ที่สร้างเป็นรถไฟฟ้าใต้ดิน จะแล้วเสร็จในปี 2572

พลิกย้อนวันวานห้างสรรพสินค้า“เมอร์รี่คิงส์” ที่ติดหูคนไทยมายาวนานกว่า 30 ปี บริหารงานโดย บริษัท เมอร์รี่คิงส์ดีพาร์ทเม้นต์สโตร์ จำกัด ก่อตั้งเมื่อปี 2520 บุกเบิกโดย “เฮียคุง” ที่แวดวงธุรกิจห้างสรรพสินค้ารู้จักกันเป็นอย่างดี

โดย “เฮียคุง” เริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ เปิดร้านขายผ้าอยู่หลังบูรพา ก่อนจะขยายธุรกิจสู่ห้างสรรพสินค้าเมอร์รี่คิงส์ มาพร้อมสโลแกน “เมอร์รี่คิงส์ มีทุกสิ่งให้เลือกสรร” และใช้เวลาไม่นานสามารถเปิดบริการถึง 6 สาขากระจายในกรุงเทพฯ และชานเมือง

จาก 6 สาขาในวันวาน ในวันนี้ทุกสาขาปิดกิจการไปหมดแล้ว เหลือเพียงภาพจำในอดีต ขณะที่แต่ละสาขาถูกปรับเปลี่ยนเป็นโครงการใหม่ๆ

ไล่เรียงจากสาขาแรก “เมอร์รี่คิงส์วังบูรพา” หลังเปิดบริการเมื่อปี 2527 ปิดบริการเมื่อปี 2553 ปัจจุบันเป็นเมก้า พลาซ่า สะพานเหล็ก ซึ่งลงทุนโดยกลุ่มโบ๊เบ๊ ด้วยวงเงิน 2,000 ล้านบาท

ต่อมาสาขาที่สอง “เมอร์รี่คิงส์สะพานควาย” เปิดบริการเมื่อปี 2528 ปิดกิจการปี 2545 ปัจจุบันกลายเป็นโครงการเดอะ ไรซ์ บาย ศรีศุภราช อาคารสูง 26 ชั้น รูปเมล็ดข้าว ตั้งเด่นตระหง่านบริเวณแยกสะพานควาย ซึ่งเป็นการลงทุนโดยเจ้าของที่ดินเดิม ด้วยมูลค่า 1,500 ล้านบาท

ตามมาติดๆ สาขาที่สาม“เมอร์รี่คิงส์วงเวียนใหญ่” ได้เปิดบริการเมื่อปี 2529 และปิดกิจการเมื่อปี 2550 ปัจจุบันอาคารยังคงอยู่และกำลังนำมาประกาศขายอีกครั้ง มีเนื้อที่กว่า 1 ไร่ เป็นอาคารสูง 7 ชั้น มีพื้นที่อาคารรวม 20,371 ตารางเมตร โดยตั้งราคาขาย 550 ล้านบาท

ถัดมาสาขาที่สี่“เมอร์รี่คิงส์รังสิต” เปิดบริการเมื่อปี 2530 ปิดบริการเมื่อปี 2547 หลังเกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ จากนั้นกลุ่มโบเบ๊ได้ทุ่มเม็ดเงิน 3,000 ล้านบาท ข้ามาพัฒนาโครงการ เป็นโบ๊เบ๊ทาวเวอร์รังสิตในปัจจุบัน

ไปต่อที่สาขาที่ห้า “เมอร์รี่คิงส์ปิ่นเกล้า” เปิดบริการเมื่อปี 2531 และปิดบริการเมื่อปี 2546 ปัจจุบันเป็นโลตัส สาขาปิ่นเกล้า

ปิดท้ายสาขาที่หก “เมอร์รี่คิงส์บางใหญ่” เปิดบริการเมื่อปี 2542 โดยเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์การค้าบิ๊กคิงส์บางใหญ่ และปิดบริการเมื่อปี 2554 ปัจจุบันเป็นของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ยังไม่มีการปรับปรุงอาคารแต่อย่างใด

ส่วนบิ๊กคิงส์สาขาประตูน้ำพระอินทร์ มีเนื้อที่ 160 ไร่ ปัจจุบันถูกแปลงโฉมเป็นตลาดต่อยอดหรือเออีซีเทรด เซ็นเตอร์ที่ “วัลลภา ไตรโสรัส” ลูกสาวเจ้าสัวเจริญกำลังปลุกปั้นให้เป็นฮับค้าส่งนั่นเอง

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0