หากใครมีโอกาสดูซิตคอมเรื่องเก่า ๆ ที่เคยโด่งดังมาบ้าง ไม่ว่าจะทั้งในไทยหรือต่างประเทศก็ตาม ก็คงคุ้นเคยกับเสียงซาวนด์เอฟเฟ็กต์หัวเราะเอิ๊กอ๊ากที่ตามมาติด ๆ หลังจากที่ตัวละครเล่นมุขสุดฮาออกมาโครมใหญ่ ซึ่งเมื่อฟังแรก ๆ แล้วก็คงไม่รู้สึกอะไรมาก แต่เมื่อเสียงเดิมเกิดวนมาซ้ำบ่อย ๆ เข้า หลายคนก็อาจจะเริ่มเกิดความรู้สึกรำคาญ หรือตั้งข้อสงสัยกันไปว่า “เสียงหัวเราะ” ที่ว่านั้น ใส่มาทำไม
เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ได้อย่างชัดเจนเราจึงต้องพาคุณย้อนเวลากลับไปดูจุดเริ่มต้นของเสียงหัวเราะแบบยัดเยียดที่เรามักจะเจอในละครซิตคอมกัน
wikipedia.org
จากละครเวทีสู่ละครทีวี มีอะไรที่เปลี่ยนไป
ย้อนกลับไปในช่วงปี 1950 ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของสหรัฐอเมริกา เมืองต่าง ๆ มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว และทีวีก็ได้รับความนิยมในแทบทุกครัวเรือน ส่งผลให้การแสดงตลกแบบดั้งเดิมที่เคยเกิดขึ้นแค่เฉพาะในโรงละครก็ต้องย้ายมาอยู่บนจอทีวี
สำหรับคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น การดูทีวีอยู่ที่บ้านก็มักจะดูคนเดียวหรือดูเป็นคู่ ไม่ได้มีการส่งเสียงเฮฮากันเท่าไร การมองเห็นหรือฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นผ่านจอทีวีก็จะมีความเคอะเขินอยู่พอสมควร เพราะการนั่งมองจอกระจกเป็นพฤติกรรมใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ในขณะที่การดูละครตลกในโรงละครหรือในพื้นที่สาธารณะนับเป็นกิจกรรมเพื่อความบันเทิงที่ได้รับความนิยมในช่วงแรกของยุคทีวีกันเลยทีเดียว
เพราะถ้าพูดถึงบรรยากาศของการแสดงสดในโรงละคร ก็จะมาพร้อมกับความกึกก้องของเสียงผู้ชมรอบตัวนับร้อยชีวิตที่กำลังหัวเราะ ฮือฮา ก่นด่าการแสดงนั้นไปพร้อม ๆ กัน ทำให้เราเองก็มีแนวโน้มที่จะเกิดอารมณ์ร่วมหรือรับรู้ได้ว่าจังหวะไหนที่ตลก จังหวะไหนที่ส่งเสียงเชียร์ ซึ่งแม้แต่ทุกวันนี้ก็ยังคงเกิดขึ้นอยู่เสมอกับการแสดงแบบที่เรียกว่าสแตนด์อัพคอมเมดี้ (Stand Up Comedy) หรือในคอนเสิร์ต
CBS Broadcasting, Inc.
เพราะอย่างนั้นเองผู้ผลิต “ละครทีวีซิตคอม” ที่ตอนนั้นก็ยังถือว่าเป็นสิ่งที่ใหม่มาก จึงเริ่มปิ๊งไอเดียในการอัดเสียงหัวเราะ หรือเสียงฮือฮาของผู้ชมในห้องสตูดิโอ รวมเข้าไปอยู่ในเนื้อรายการด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับคนดูทางบ้านที่เพิ่งเปลี่ยนมาดูละครตลกผ่านจอทีวีให้รู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศเดิม ๆ ได้นั่นเอง
แต่ก็ไม่ง่ายเสมอไป การที่มีผู้ชมสดในการถ่ายทำก็ถือเป็นเรื่องยุ่งยากอย่างหนึ่ง เพราะนอกจากจะไม่สามารถคาดเดาช่วงเวลาที่ต้องหัวเราะได้อย่างถูกต้องแล้ว บางครั้งก็หัวเราะเบาเกินไป หรือดังเด่นเกินเพื่อน จนกลายเป็นไปรบกวนเนื้อหาด้วยซ้ำ
wikipedia.org
ชาร์ลส์ โรลแลนด์ ดักลาสส์
ปัญหานี้อยู่ในความสนใจของชาร์ลส์ โรลแลนด์ ดักลาสส์ (Charles Rolland Douglass) วิศวกรเสียงประจำสถานี CBS (1 ใน 3 ยักษ์ใหญ่วงการทีวีอเมริกัน) โดยเขาได้มีการนำเสียงหัวเราะของผู้ชมที่อัดแยกไว้พิเศษเพื่อนำมาใส่ในขั้นตอนของการตัดต่อ ถ้ามุขตลกยังมีเสียงหัวเราะไม่พอ เขาก็จะใส่เสียงหัวเราะเข้าไปเพิ่ม และถ้าเสียงหัวเราะเดิมมีมากเกินไป เขาก็จะตัดต่อลดความยาวเสียงหัวเราะนั้นออก
จนในที่สุดเขาก็สามารถพัฒนาเครื่องที่สามารถเล่นเสียงหัวเราะได้ แล้วก็ตั้งชื่อมันว่า “Laff Box” ซึ่งเครื่องนี้ถูกสร้างขึ้นมาให้มีหน้าตาเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด แต่แทนที่จะพิมพ์ออกมาเป็นตัวหนังสือ มันกลับสร้างเสียงหัวเราะ ดักลาสส์เองก็จะคอยลากเจ้าเครื่องนี้เข้าไปในห้องหลังการถ่ายทำ เมื่อเขาจำเป็นต้องสร้างเสียงหัวเราะให้ได้อย่างที่สตูดิโอต้องการ
วิธีการนี้จึงกลายเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จนประเทศอื่น ๆ รวมทั้งไทยเองก็รับอิทธิพลนี้มา และใช้เสียงหัวเราะแบบผสมผสานทั้งแบบตัดต่อ และแบบมีผู้ชมในห้องส่งกับรายการทีวีและซิตคอม จนกระทั่งซาวนด์เอฟเฟ็กต์หัวเราะได้ทยอยเสื่อมความนิยมลงจากแนวทางของละครซิตคอมที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน
Lucrezia Carnelos / Unsplash
แล้วเสียงหัวเราะปลอมที่ใส่เข้ามา มันทำให้เราหัวเราะได้จริงเหรอ
แน่นอนว่าถ้ามองจากแค่เหตุและผลที่กล่าวมาข้างต้นก็คงต้องตอบว่า “ได้” และยังมีงานวิจัยจากปี 1974 ที่ยังออกมายืนยันอีกเสียงว่า ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะหัวเราะกับรายการหรือละครซิตคอมที่ใส่ซาวนด์หัวเราะได้บ่อยกว่าเมื่อรับชมรายการที่ไม่ได้ใส่เสียงด้วย
บิล เคลลี่ (Bill Kelley) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาให้คำอธิบายกับเรื่องนี้ไว้ว่า “เรามีแนวโน้มที่จะหัวเราะไปกับสิ่งต่าง ๆ ได้มากกว่าเมื่อเราอยู่ต่อหน้าคนอื่น” และเธอยังบอกอีกว่า เมื่อเราได้ยินเสียงคนอื่นหัวเราะ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเสียงหัวเราะที่อัดมาก็ตาม ก็มีศักยภาพมากพอที่จะชักชวนให้เราปล่อยให้ตัวเองสนุกไปกับสิ่งต่างๆ ได้เช่นกัน
CBS Broadcasting, Inc.
สิ่งที่เธอพูดก็ไปในทิศทางเดียวกันกับนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย College London และ Imperial College ที่บอกว่าเวลามนุษย์เราเปล่งเสียงออกมาจากความรู้สึกที่เป็นบวก อย่างเสียงเฮ หรือเสียงหัวเราะ มันจะส่งผลให้อีกคนหนึ่งมีโอกาสทำตามได้สูงมาก เพราะมนุษย์มีแนวโน้มที่จะทำตัวเป็นกระจกสะท้อนท่าทาง คำพูด และเลียนแบบคนที่อยู่ตรงหน้า (โดยเฉพาะการแสดงออกทางอารมณ์ด้านบวก)
ซึ่งสมองส่วนที่ได้รับการกระตุ้นในเรื่องนี้ คือสมองส่วนที่สั่งการกล้ามเนื้อใบหน้าทำให้เรายิ้ม และหัวเราะนั่นเอง — ขนาดเด็กทารกยังหัวเราะตามกันได้เลยใช่ไหมล่ะ
CBS Broadcasting, Inc.
แล้วทำไมเราถึงรู้สึกรำคาญซาวนด์หัวเราะปลอม ๆ นี้ล่ะ
ความรู้สึกที่เรามีนั้นก็คงพอจะบอกได้ว่าเป็นพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นเอง เนื่องจากการใส่ซาวนด์หัวเราะเข้าไปในรายการตลกเป็นนวัตกรรมที่ใช้แก้ปัญหาช่วงแบเบาะของวงการทีวี ซึ่งถ้านับกันจริง ๆ ก็ปาเข้าไปเกือบ 8 ทศวรรษเข้าไปแล้ว
ปัจจุบันเราไม่ได้รู้สึกแปลกกับการดูทีวีเงียบ ๆ อยู่บ้านคนเดียว บางคนโตมากับคอนเทนต์ออนไลน์ หรือติดตามรายการของยูทูบเบอร์เล็ก ๆ ที่แม้จะไม่มีเสียงหัวเราะ หรือเสียงฮือฮาของคนอื่นเข้ามาด้วย ก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลกอะไร เดี๋ยวอ่านคอมเมนต์เอาก็ได้
และยิ่งในปัจจุบันคนทั่วไปก็มีความรู้ความเข้าใจด้านการถ่ายทำมากขึ้น ในบางฉาก บางซีน หรือบางมุมกล้องก็เป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีผู้ชมสดเข้าไปอยู่ด้วย จะยิ่งใส่เสียงหัวเราะปลอมเสริมเข้าไปก็ยิ่งโป๊ะ เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ซีรีส์ซิตคอมช่วงไม่กี่ปีหลังมานี้เริ่มลดการเติมเสียงหัวเราะเข้าไป และผลตอบรับจากคนดูก็เป็นข้อพิสูจน์จริง ๆ ว่าละครตลกที่ดี จะไม่มีซาวนด์หัวเราะก็ได้
Benjamin DeYoung / Unsplash
ไม่ใช่แค่เสียงหัวเราะที่หายไป แต่ “ซิตคอม” ก็อาจกำลังหายไปด้วย
ด้วยรูปแบบรายการของซิตคอมที่มีลักษณะเรื่องราวไม่ต่อเนื่องมาก และไม่ค่อยขยับไปไหน เหมือนแค่มีตัวละครต่าง ๆ วนไปวนมาและปล่อยมุขตลกไปเรื่อย ๆ เนื้อหาส่วนมากสามารถดูได้ทุกวัย ทำให้เข้ากันได้ดีกับกิจกรรมครอบครัวในยุคทีวี ไม่ว่าจะดูทีวีหลังกินข้าว หรือจะก่อนนอนก็ตาม
ความฮิตและแพร่หลายของละครซิตคอมจึงทำให้ “อารมณ์ขัน” ของคน Gen Y และ Gen X ไปจนถึงเจเนอเรชันก่อนหน้านั้นมีลักษณะร่วมกันอยู่พอสมควร
แต่จากพฤติกรรมการดูซีรีส์ในยุคปัจจุบันที่เป็นยุคของสตรีมมิงและคน Gen Z กลับพบว่า คนเริ่มไม่ดูอะไรที่น่าเบื่อ เดินเรื่องช้า ซ้ำซากอีกต่อไปแล้ว แต่หันไปดูซีรีส์ที่มีความน่าลุ้น น่าติดตาม เนื้อเรื่องพลิกไปมาได้ทุกตอน และในซีซั่นหนึ่งอาจจะมีความยาวอยู่ที่ 8-10 ตอน ทำให้สามารถเลือกดูแบบรวดเดียวจบได้ ซึ่งลักษณะที่ว่ามาทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับซิตคอมอย่างสิ้นเชิง ทำให้นับตั้งแต่ปี 2021 มานี้ มีจำนวนซีรีส์ซิตคอมที่ผลิตออกมาทั่วโลกลดลงอย่างมาก
แม้สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดกำลังจะบอกว่าซิตคอมแบบเดิม ๆ ไม่ได้ตอบสนองความเฮฮาของเราอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ซิตคอมเหล่านั้นไม่สนุก ขณะที่การหายไปของเสียงหัวเราะแบบยัดเยียดเองก็ไม่ได้หมายความว่าละครทีวีจะดีขึ้นเสมอไป เพราะถ้าไม่เคยมีซิตคอมแบบดั้งเดิม ก็คงไม่ได้เกิดละครตลกที่วิวัฒนาการมาแล้วแบบทุกวันนี้ได้นั่นเอง
ที่มา : บทความ “The last laugh: The history of laugh tracks” โดย Cherry Zhang จาก thevarsity.ca
บทความ “We may hate laugh tracks -- but they work, studies show” โดย Cari Nierenberg จาก nbcnews.com
บทความ “ทำไมโลกทุกวันนี้ไม่มี ‘ซิทคอม’ ?” โดย The Attention และ สิ่งมีชีวิต จาก brandthink.me
บทความ “Laugh And The Whole World Laughs With You: Why The Brain Just Can't Help Itself” โดย Wellcome Trust จาก sciencedaily.com
เรื่อง : สโรชา พรรณพิสิฐ
ความเห็น 0