โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

พรรครัฐบาลศรีลังกาพยายามพา "โกตาบายา" กลับประเทศ

PPTV HD 36

อัพเดต 19 ส.ค. 2565 เวลา 14.12 น. • เผยแพร่ 19 ส.ค. 2565 เวลา 13.22 น.
พรรครัฐบาลศรีลังกาพยายามพา
ดูเหมือนการเมืองศรีลังกาจะเกิดแรงกระเพื่อมอีกระลอก หลังจากมีความเคลื่อนไหวเพื่อให้มีการเปิดทางให้อดีตประธานาธิบดี ‘โกตาบายา ราชปักษา’ ซึ่งถูกประชาชนขับไล่จนต้องหนีออกนอกประเทศและมาพำนักอยู่ที่เมืองไทยในขณะนี้กลับศรีลังกา โดยความพยายามในการนำอดีตผู้นำศรีลังกากลับประเทศมาจากสมาชิกในพรรครัฐบาลซึ่งยังมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับอดีตผู้นำคนนี้
พรรครัฐบาลศรีลังกาพยายามพา

‘สาการา การิยาวาสัม’ (Sagara Kariyawasam) เลขาธิการพรรคศรีลังกาโพดูจาน่า เปรามูนา ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลระบุว่า สมาชิกของพรรครวมถึงตัวเขาเรียกร้องขอให้ประธานาธิบดี ‘รานิล วิกรมสิงเห’ ผู้นำคนปัจจุบัน ช่วยอำนวยความสะดวก รักษาความปลอดภัย รวมถึงจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นให้แก่โกตาบายา ราชปักษาในการเดินทางกลับศรีลังกา

กระแสข่าวความพยายามในการนำอดีตประธานาธิบดีโกตาบายากลับประเทศมีออกมาหลายวันแล้ว แต่ยังไม่มีใครยืนยันว่าจะกลับจริงหรือไม่ และถ้ากลับจะเป็นช่วงไหน

วิกฤตศรีลังกา บทเรียนรัฐบาลผิดพลาด ฉุด“เศรษฐกิจพังพินาศ” ผู้นำเผ่นหนี

พรรครัฐบาลศรีลังกาขอ “วิกรมสิงเห” ช่วย “ราชปักษา” กลับเข้าประเทศ

นิวส์เฟิร์สต์ สื่อท้องถิ่นของศรีลังการายงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมาโดยอ้างอิงอดีตเอกอัครราชทูตคนหนึ่งที่ไม่เผยชื่อว่า ราชปักษาจะกลับศรีลังกาในสัปดาห์หน้า

การเดินทางกลับประเทศของอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา อาจทำให้การเมืองศรีลังกาที่เริ่มนิ่งในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาต้องร้อนแรงอีกครั้ง เนื่องจากอาจทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจและออกมาประท้วงใหญ่กันอีกรอบเพราะอะไรผู้คนจึงไม่พอใจอดีตผู้นำคนนี้

โกตาบายา คือหนึ่งสมาชิกของตระกูลราชปักษา ตระกูลที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดของศรีลังกาในช่วง 2 ศตวรรษที่ผ่านมา โดยพี่ชายของเขาคือมหินทรา ราชปักษาเป็นประธานาธิบดี 2 สมัย

โกตาบายาขึ้นเป็นประธานาธิบดีศรีลังกาจากคว้าชัยชนะถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2019 ได้รับความนิยมเนื่องจากเป็นคนที่มีบทบาทยุติสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกาและพยัคฆ์ทมิฬอีแลม

อย่างไรก็ตามรัฐบาลโกตาบายาเริ่มเผชิญกับแรงกดดันอย่างหนักตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหลังประชาชนไม่พอใจการจัดการวิกฤตเศรษฐกิจที่รุมเร้าศรีลังกาอย่างหนัก

วิกฤตโควิด 19 และสงครามในยูเครนทำให้เงินรายได้จากการท่องเที่ยวที่หายไป การไม่มีสินค้าส่งออกหลัก ทำให้เงินตราต่างประเทศสำรองหมดคลัง ไม่มีเงินซื้อหรือนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ส่งผลให้เกิดการขาดแคลนพลังงานอย่างหนักประชาชนต้องต่อคิวเป็นวันเพียงเพื่อจะได้เติมน้ำมัน

ปัจจัยสี่อย่างอาหารเริ่มขาดแคลน ที่พอหาซื้อได้ราคาก็แพงขึ้นหลายเท่าตัวจากภาวะเงินเฟ้อ ส่วนยารักษาโรคก็ไม่เพียงพอ เนื่องจากไม่สามารถนำเข้าจากต่างประเทศได้ วิกฤตถึงขั้นที่โรงพยาบาลหลายแห่งไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยได้ เหล่านี้นำมาสู่การประท้วงใหญ่ที่สุดเท่าที่ศรีลังกาเคยมี

วันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่อดีตประธานาธิบดีโกตาบายาต้องหนีออกนอกประเทศ ชาวศรีลังกาหลายหมื่นคนที่เดินทางมาจากทั่วประเทศทำการประท้วงครั้งใหญ่ในกรุงโคลัมโบเมืองหลวง

ก่อนจะเดินขบวนไปยังที่ทำเนียบประธานาธิบดีเพื่อทำการขับไล่ประธานาธิบดีโกตาบายา ราชปักษาการประท้วงทวีความตึงเครียด เมื่อตำรวจควบคุมฝูงชนยิงแก๊สน้ำตาสกัดสกัดไม่ให้ฝูงชนเคลื่อนขบวนไปที่ทำเนียบ

ผู้ประท้วงที่โกรธแค้นเปลี่ยนเป้าหมายใหม่ มุ่งตรงไปที่บ้านพักส่วนตัวของประธานาธิบดีโกตาบายาแทน และสามารถฝ่าแนวกั้นและเครื่องกีดขวางของเจ้าหน้าที่ และบุกเข้าไปในนั้นได้สำเร็จ และนี่คือภาพต่อมาที่ปรากฎให้โลกได้เห็น ผู้ชุมนุมเข้าไปปักหลักในห้องต่างๆ ของบ้าน

บางส่วนกระโดดลงสระว่ายน้ำอย่างสนุกสนาน จำนวนมากล้อมอยู่ด้านนอกเพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสลายการชุมนุม

ในช่วงนั้นประธานาธิบดีโกตาบายาไม่ได้อยู่ในบ้านพักเพราะถูกพาตัวออกไปหลบภัยแล้ว 1 วันก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น ประธานาธิบดีโกตาบายาก็พยายามหนีออกนอกประเทศ

ในตอนแรกจุดหมายปลายทางคือนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แต่ไปไม่สำเร็จ หลังจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองศรีลังกาไม่ยอมประทับตราหนังสือเดินทางให้

ในที่สุดเขาและครอบครัวต้องใช้วิธีการออกนอกประเทศด้วยเครื่องบินของกองทัพไปที่มัลดีฟล์แทน

หลังจากนั้นได้เดินทางต่อไปที่สิงคโปร์เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคมก่อนยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานาธิบดีอย่างเป็นทางการผ่านทางอีเมล

เนื่องจากอดีตประธานาธิบดีโกตายาบาไม่ได้ขอลี้ภัยทางการเมือง เขาจึงสามารถพำนักอยู่ในสิงคโปร์ได้จนถึงวันที่ 11 สิงหาคม

ก่อนที่จะต่อมาที่ประเทศไทยด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำที่มาจอดที่สนามบินดอนเมืองเมื่อเวลา 2 ทุ่มของวันที่ 11 สิงหาคม และขณะนี้ก็ยังพำนักอยู่ในประเทศไทย

ก่อนหน้านั้นรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย ดอน ปรมัตวินัยบอกว่า อดีตประธาธิบดีโกตาบายาไม่ได้ประสงค์ที่จะขอลี้ภัยทางการเมือง และเขาสามารถพำนักอยู่ในประเทศไทยได้ 90 วันตามกรอบ และการที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้เข้าประเทศได้เนื่องจากเป็นเหตุผลด้านมนุษยธรรม

เป็นที่น่าสังเกตว่ากระแสการขอเดินทางกลับประเทศศรีลังกาของอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา ทำให้ผู้นำคนปัจจุบันคือ ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ค่อนข้างลำบากใจ หากดูจากการให้สัมภาษณ์เมื่อวานนี้

ในการให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวรอยเตอร์ส ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหพูดเพียงว่า เขายังไม่ทราบเรื่องแผนการเดินทางกลับของอดีตประธานาธิบดีราชปักษา ไม่มีใครบอกเขาเรื่องนี้ และไม่มีใครทราบเรื่องนี้มาก่อน

ท่าทีของประธานาธิบดีวิกรมสิงเหอาจไม่ใช่สิ่งที่น่าแปลกใจ เพราะการกลับมาของอดีตประธานาธิบดีโกตาบายาจะทำให้รัฐบาลของเขาต้องเผชิญกับคำถามและการประท้วงจากประชาชนอีกครั้ง

ในช่วงที่รัฐสภาคัดเลือกให้เขาเป็นผู้นำคนใหม่ มีประชาชนออกมาประท้วงเพราะมองว่า เขาเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายตระกูลราชปักษา และการขึ้นมาเป็นผู้นำของเขาก็เพื่อเป็นการสืบทอดอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เขาออกมายืนยันว่า ไม่ใช่พันธมิตรของตระกูลราชปักษาแต่ทำงานร่วมรัฐบาลในฐานะนักการเมืองเท่านั้น

การถูกมองว่าเป็นหุ่นเชิดทำให้ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหต้องพิสูจน์ตัวเองให้ได้ว่าไม่ได้อยู่ใต้ร่มเงาของตระกูลราชปักษา เพราะขณะนี้ยังมีแรงต้านจากประชาชนบางกลุ่มอยู่อย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวที่มองว่าแค่เปลี่ยนตัวประธานาธิบดีไม่เพียงพอ แต่ควรจะปฏิรูปทั้งระบบการเมือง

นี่คือภาพการประท้วงของกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยหลายร้อยคนที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ มีการเคลื่อนขบวนปิดถนนเส้นสำคัญในกรุงโคลัมโบจนทำให้การจราจรติดขัด

ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหลาออก ล้มเลิกอำนาจบริหารของประธานาธิบดี รวมถึงปล่อยตัวผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยที่ถูกจับกุมเอาไว้

การชุมนุมเกิดความวุ่นวายเมื่อตำรวจฉีดน้ำและยิงแก๊สน้ำตาสลายการชุมนุม ก่อนที่ผู้ประท้วงจะถูกจับกุมไปหลายคน

ทั้งนี้ การประท้วงของนักศึกษาเกิดขึ้นหลังประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพิ่งสิ้นสุดลง และประธานาธิบดีวิกรมสิงเหได้เผยเมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ว่าจะไม่ขยายการบังคับใช้ภาวะฉุกเฉินต่อ เนื่องจากมองว่าสถานการณ์ในประเทศมีเสถียรภาพมากขึ้นและการประท้วงก็ลดลงแล้ว

นอกเหนือจากการต้องพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้เป็นหุ่นเชิดของตระกูลราชปักษาแล้ว อีกโจทย์ใหญ่ที่ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหเจอคือ วิกฤตเศรษฐกิจ ต้นเหตุของการที่ทำให้อดีตประธานาธิบดีโกตาบายาต้องหนีออกนอกประเทศ

ศรีลังกากำลังเจรจากับไอเอ็มเอฟเพื่อขอความช่วยเหลือ 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยคณะผู้แทนจากไอเอ็มเอฟมาพูดคุยกับทางศรีลังกาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงที่การเมืองกำลังปั่นป่วนด้วยการประท้วงใหญ่

อย่างไรก็ตามหลังเปลี่ยนตัวผู้นำมาเป็นประธานาธิบดีวิกรมสิงเห การเจรจาขอกู้เงินจากไอเอ็มเอฟได้เริ่มอีกครั้งเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา

ในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ส ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหบอกว่า เขาคิดว่าเขาสามารถจัดการสถานการณ์เศรษฐกิจได้ และเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น แม้ยังไม่ถึงจุดที่ควรจะเป็นก็ตาม

ทั้งนี้ การกู้เงินจากไอเอ็มเอฟจะมีเงื่อนไขมากมายหลายอย่าง ทั้งการต้องปรับระบบโครงสร้างงบประมาณ ภาษี รวมถึงรักษาระดับเงินทุนสำรองและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องอาศัยการเมืองที่นิ่ง

ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ประธานาธิบดีวิกรมสิงเหจะแบ่งรับแบ่งสู้เมื่อถูกถามถึงการกลับมาของอดีตประธานาธิบดีโกตาบายา เพราะการกลับมาของอดีตผู้นำคนนี้อาจสร้างความยุ่งยากและไม่เป็นผลดีกับการพยายามแก้ปัญหาวิกฤตที่ศรีลังกากำลังเผชิญ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0