โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

Q4ศก.เริ่มฟื้นตัวชัดเจน ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภค-หอการค้าก.ค.ขยับ

แนวหน้า

เผยแพร่ 11 ส.ค. 2565 เวลา 17.00 น.

รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงผลสำรวจ
ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2565 พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 42.4 ซึ่งเพิ่มจาก 41.6 ในเดือนก่อนหน้า ทำให้ดัชนีฯปรับตัว ดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ในรอบ 7 เดือน เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มรู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากที่สถานการณ์โควิดในประเทศ ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นและมีการผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ ให้ธุรกิจเริ่มเปิดดำเนินการได้เป็นปกติตลอดจนการผ่อนคลายให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกมากขึ้น และแนวโน้มราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลง

อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับการที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงรวมทั้งปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น และความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลก ที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลงหรือชะลอตัวลง

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 36.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม 39.8 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 50.8 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ดัชนียังอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ (ที่ระดับ 100) แสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสในการหางานทำและรายได้ในอนาคต เพราะมีความกังวลเกี่ยวกับราคาน้ำมันและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนยังคงกังวลในสถานการณ์โควิดในประเทศไทยและทั่วโลกที่ยังคงมีอยู่แม้ว่าจะคลายตัวลงก็ตาม ซึ่งจะส่งผลกระทบให้เศรษฐกิจไทยและการจ้างงานมีโอกาสฟื้นตัวได้ช้าในอนาคต ซึ่งจะทำให้รายได้ในอนาคตของผู้บริโภคมีความไม่แน่นอนสูง

ทั้งนี้ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ เพราะผู้บริโภคยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19ในประเทศไทย และปัญหาค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นลดน้อยถอยลงและระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอย่างต่อเนื่องเพราะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างมากและเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงจากภาวะสงครามรัสเซียยูเครน ซึ่งต้องติดตามว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงไรและยาวนานเพียงใด ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงต่ำกว่าเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ระดับ 3.0-3.5% ในปีนี้ และหากความเชื่อมั่นยังคงฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ โดยผู้บริโภคจะกลับมาบริโภคสินค้าและบริการโดดเด่นขึ้นในปลายไตรมาสที่ 3 ของปีนี้เป็นต้นไป

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในกรกฎาคม 2565 ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 เช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับ 37.9 เป็นการปรับตัวดีขึ้นในทุกภูมิภาค เนื่องจากตัวชี้วัดในทุกด้านทั้งเศรษฐกิจโดยรวม การบริโภค การลงทุน การท่องเที่ยวภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้า การค้าชายแดน และภาคบริการ รวมถึงการจ้างงาน มีการปรับตัวดีขึ้นทั้งหมดทั้งนี้ ภาคเอกชน เสนอให้รัฐ ดูแลเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการ ที่ยังอยู่ในระดับสูงขึ้นจากราคาพลังงาน มีแนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวให้ได้รับความปลอดภัย และควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมถึงฝีดาษลิงที่จะกระทบกับการใช้ชีวิตและธุรกิจ

“ผู้บริโภค และภาคธุรกิจ กลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นแล้ว ซึ่งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ จากมาตรการคนละครึ่ง เฟส 5 ภาคการส่งออก และจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้น จึงเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะโตในกรอบ 3-3.5% และอัตราเงินเฟ้อ ที่ 6-6.5% คาดว่าปีนี้ จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 2 ครั้ง ในเดือนกันยายนและพฤศจิกายน ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นเป็น 1.25% ในปีนี้”

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0