นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงแนวทางการบริหารตลาดนัดจตุจักร ว่า หลังจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ยื่นหนังสือถึงนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. เรื่อง กทม. ค้างชำระค่าใช้ประโยชน์ในที่ดินการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณตลาดนัดจตุจักร โดยศาลมีคำพิพากษาให้ กทม.จ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดินประมาณ 672 ล้านบาทรวมดอกเบี้ย นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 2561 ถึง 27 มิ.ย. 2565 และ กทม.ต้องจ่ายเงินในอัตราเดือนละประมาณ 14 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 จนกว่าจะมีการลงนามในสัญญา
ผู้ว่าฯกทม. ให้นำตลาดนัดจตุจักรเข้าคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ที่มี นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นประธานฯ โดยผู้ว่าฯชัชชาติ มองว่าตลาดนัดจตุจักรเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์พาวเวอร์ได้ ไม่ใช่แค่ระดับท้องถิ่น เช่นเรื่องแฟชั่น มวย หนังสือ สามารถนำมาโชว์เคสได้ โดยรัฐบาลได้ตั้งอนุกรรมการฯ ซึ่งมี กทม.กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกันพัฒนาตลาดนัดจตุจักร โดยมีการประชุมมาแล้ว 1 ครั้ง ที่ประชุมแบ่งดำเนินการเป็น 2 เรื่อง คือเรื่องอนาคตจะศึกษาว่าจะพัฒนาโซนใด อย่างไร ปรับปรุงด้านกายภาพ สายไฟ หลังคา และปัญหาคนไม่เดินโซนชั้นในเดินแต่โซนด้านนอก รวมทั้งหารือแนวทางลงทุนในการพัฒนาฯ ได้มีการพูดคุยกันในเรื่องที่ กทม.จะเปลี่ยนหนี้เป็นทุน โดย รฟท.ไม่ต้องออกทุนอีก ซึ่งอยู่ระหว่างหารือร่วมกัน หากสรุปได้ในแนวทางนี้ กทม.จะไม่ได้เป็นคนบริหารจัดการ จะมีบริษัทที่จะมาเช่าทำ โดย กทม.จะเป็นผู้ร่วมลงทุน
นายศานนท์ กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ได้วางกรอบเวลาไว้ 2 ปี จะพัฒนาให้ตลาดนัดจตุจักรเป็นแพลตฟอร์มซอฟต์พาวเวอร์ เป็นแหล่งแฟชั่น หนังสือ มีเวทีมวย อนาคตนักท่องเที่ยวมากรุงเทพฯ แล้วต้องมาเช็กอินก่อน
ส่วนอีกเรื่องคือ เรื่องของหนี้ มี 2 ส่วนคือ ค่าเช่า และ ภาษีที่ดิน ซึ่ง กทม.เคยเสนอแนวทางไปที่ รฟท.แล้ว ยังไม่ได้รับการตอบกลับ โดย กทม. เสนอปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยการขอปรับลดค่าเช่าช่วงโควิด-19 เพราะ กทม.ได้เว้นค่าเช่าให้กับผู้ค้า ซึ่งมีการแบ่งยอดการชำระหนี้คืนจนถึงปี 2571 เพราะ กทม.ไม่มีเงินจ่ายก้อนใหญ่ได้ คาดว่า รฟท.น่าจะตอบกลับเร็ว ๆ นี้
ความเห็น 0