โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เมื่อต้องขนย้ายแคดเมียมกลับ อะไรคือทางออกที่รัดกุม?

Environman

เผยแพร่ 25 เม.ย. เวลา 00.00 น.

หลังจากข่าวแคดเมียมถูกเคลื่อนย้ายจากจังหวัดตากมาที่จังหวัดสมุทรสาคร รวมเกือบ 8,000 ตัน และอีกหลายตันไปจังหวัดราชบุรี และกรุงเทพมหานคร ก็ทำให้ผู้คนกังวลมากมาย ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจประชาชนรอบโรงงานเก็บสารแคดเมียมในจังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเลือด 21 คน พบความเข้มข้นสารโลหะในเลือดมีค่าเกินมาตรฐาน 7 คน ส่วนประชาชนรอบโรงงานตรวจ 34 คน เกินมาตรฐาน 17 คน และก็กำลังมีแผนเคลื่อนย้ายแคดเมียมจากสังหวัดสมุทรสาครไปอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก

ซึ่งแผนการเคลื่อนย้ายนี้สร้างความกังวลใจให้ประชาชนทั้งพื้นที่ต้นทาง ระหว่างทาง และปลายทาง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) จึงเชิญนักวิชาการมาร่วมเสวนา “บทเรียนและทางออกการจัดการกากแคดเมียม ?” เสนอมาตรการการบริหารจัดการปัญหานี้ให้มีความรัดกุม

ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “กรณีที่เกิดขึ้นนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การถอดบทเรียนของเรื่องนี้ เพื่อที่จะมีทางออกอย่างยั่งยืนของประเทศไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้และเหตุการณ์อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เพราะเรื่องกากแคดเมียม ถือเป็นหนึ่งบทเรียนที่ต้องพูดคุยและคิดเสนอแนวทางด้านวิชาการว่าประเด็นดังกล่าวต้องมีระบบจัดการอย่างไร ทั้งการจัดการเฉพาะหน้าและระยะยาว เพื่อให้ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการหาทางออกอย่างแท้จริง”

#การจัดการที่ถูกต้อง

โดยรศ.ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์ ระบุในทางวิชาการว่าการจัดการปนเปื้อนของเสียที่ถูกต้องว่า

“การจัดเก็บกากแคดเมียมทำได้หลายรูปแบบ ได้แก่ การกรอง ออกแบบเขื่อนกั้น การใช้พืชดูดซับ และมีระบบติดตามตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสื่อสารข้อมูลกับประชาชนให้ชัดเจน ในปัจจุบันหากถามว่า กากเหล่านี้สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ต่อได้หรือไม่นั้น ต้องบอกว่า กากเหล่านี้สามารถถูกเอามาสกัดใหม่ได้ เพียงแต่กระบวนการในการจัดการต้องทำอย่างรัดกุม ถูกต้องตามหลักวิชาการ และมีระบบบำบัดมลพิษที่มีประสิทธิภาพสูง ในขณะเดียวกันอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือเทคโนโลยีการใช้พืชมาสกัด ซึ่งพืชที่สามารถดูดและสะสมแคดเมียมที่ได้วิจัยไปแล้วมีพืชอยู่หลายชนิด ซึ่งโตเร็วมากแต่อาจจะต้องมีการระมัดระวังหลายอย่าง เช่น การระมัดระวังไม่ให้กลับไปสู่ห่วงโซ่อาหาร รวมถึงการจัดการกากต้องมีค่าใช้จ่าย ใครจะต้องรับผิดชอบ หัวใจสำคัญในการจัดการไม่ว่าจะทำด้วยรูปแบบไหน คือ ระบบการติดตามตรวจสอบ ทั้งคุณภาพน้ำบวกผิวดิน น้ำใต้ดิน คุณภาพอากาศ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันทำได้ไม่ยาก เพราะฉะนั้นในทางวิชาการโดยรวม ควรจัดการข้อมูลแรกๆ ที่ต้องรู้ คือความเข้มข้นในกากแคดเมียมที่ได้จัดเก็บอยู่ เพื่อแสดงถึงผลกระทบ รวมทั้งการเลือกวิธีการ เทคโนโลยี กำจัดหรือจัดการให้เหมาะสม”

#ความสำคัญกฎหมายPRTR

คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ จึงกล่าวถึงความสำคัญของกฎหมาย PRTR (Pollutant Release and Transfer Register) ว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญในกฎหมายเพียงพอกับสิ่งแวดล้อม จึงทำให้ภาคประชาชนร่วมมือกับหลายองค์กรเพื่อยกร่างกฎหมายฉบับนี้มาผลักดันซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายอยู่ในพรบ.สิ่งแวดล้อมฉบับปรับปรุง หรือเป็นกฎหมายแยกออกมา ซึ่งกฎหมาย PRTR จะเปิดเผยแพร่ต่อสาธารณะ ถึงชนิดและปริมาณการครอบครองสารพิษ การปลดปล่อยสารพิษ และการเคลื่อนย้าย ถ้ามีกฎหมาย PRTR สื่อจะสามารถค้นหาข้อมูลได้ในระดับหนึ่ง ผ่านทางเว็บไซต์ได้ทันที หลักการกฎหมาย PRTR คือ โรงงานต้องมีการเผยแพร่สารเคมีที่ครอบครอง สามารถเข้าถึงและเอาข้อมูลนั้นมาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากนี้ กฎหมาย PRTR คือแหล่งรวมข้อมูลขนาดใหญ่ทางด้านมลพิษ เป็นเรื่องของการสร้างสังคมที่โปร่งใส การวางแผนเพื่อความยั่งยืน

ในขณะที่ คุณอร่าม พันธุ์วรรณ ผู้แทน กรมควบคุมมลพิษ ระบุถึงประโยชน์ของการจัดทำกฎหมาย PRTR นี้ว่า หากทำแล้วภาครัฐจะได้ทราบสถานภาพ และแนวโน้มของปัญหามลพิษ นับเป็นข้อมูลพื้นฐานในการกำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การวางแผนป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเกิดมลพิษ เป็นการส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมมีการใช้สารเคมีอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสียวัตถุดิบในกระบวนการผลิต และลดการปลดปล่อยสารมลพิษ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีอีกด้วย ขณะเดียวกันภาคประชาชนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเข้าถึงและรับรู้ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมและสารเคมี

ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อม และอดีตประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ระบุถึงโจทย์ที่แท้จริงของการแก้ปัญหากากแคดเมียมว่า “ขณะนี้ไม่ใช่การเร่งหาคนผิด โจทย์แท้จริงคือการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นว่าจะเร่งทำอย่างไร และอีกโจทย์หนึ่งคือการทำให้คนเข้าใจว่า การจัดการมลพิษนั้นสำคัญกว่าหาคนผิด แต่อีกมุมหนึ่งก็ต้องหาคนผิดด้วยว่าใครคือคนกระทำความผิด และต้องทำอย่างไรต่อไป ซึ่งปกติแล้วนั้นกากต้องฝังกลบ ณ ที่จุดกำเนิดอย่างถาวร ซึ่งถือว่าเราอยู่ในภาวะเสี่ยง หรือการเอาออกไปนอกประเทศที่ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมายระหว่างประเทศ และประเทศปลายทางต้องยินยอมและมีศักยภาพที่จัดการได้

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0