โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“ภูมิธรรม” เจรจา FTA ไทย-บังกลาเทศ เร่งรุกขยายตลาดเอเชียใต้

ฐานเศรษฐกิจ

อัพเดต 26 เม.ย. เวลา 23.22 น. • เผยแพร่ 27 เม.ย. เวลา 06.06 น.

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลัง การหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศว่า ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงที่จะเริ่มเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-บังกลาเทศ ภายในปี 2567 ในช่วงเช้าของวันที่ 26 เมษายน 2567 ณ ทำเนียบรัฐบาล ในระหว่างการเยือนไทยอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีบังกลาเทศ (นางเชค อาชีนา) ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567

ซึ่งการลงนามร่วมกันในหนังสือแสดงเจตจำนงถือว่าเป็นก้าวสำคัญในการยกระดับความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันโดยบังกลาเทศสนใจที่จะเปิดการเจรจาจัดทำ FTA กับไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ซึ่งไทยเห็นว่าบังกลาเทศก็เป็นประเทศยุทธศาสตร์ด้านการค้าและการลงทุนของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ ด้วยศักยภาพด้านขนาดตลาด แรงงาน และทรัพยากร ที่เอื้อต่อการต่อยอดธุรกิจของภาคเอกชนไทยในเอเชียใต้ รวมทั้งเชื่อมโยงสู่ตลาดตะวันออกกลางและแอฟริกา

นายภูมิธรรม กล่าวว่า บังกลาเทศเป็นตลาดผู้ซื้อและผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ประกอบกับมีประชากรมากถึง 172 ล้านคน มากเป็นอันดับ 8 ของโลก และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี รวมทั้งเป็นตลาดฮาลาลขนาดใหญ่ มีจำนวนประชากรมุสลิมมากเป็นอันดับ 4 ของโลกด้วย

ต่อจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ของไทยและบังกลาเทศจะจัดประชุมหารือประเมินการเจรจา (Exploratory Discussion) เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคาดหวัง และข้อกังวลต่อการจัดทำ FTA ระหว่างกัน รวมทั้งดำเนินกระบวนการภายในที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถเริ่มการเจรจาจัดทำ FTA ไทย-บังกลาเทศ ภายในปีนี้

นายภูมิธรรม กล่าวเสริมว่า ตนและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์บังกลาเทศได้เน้นย้ำถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการทำธุรกิจการค้า โดยจะร่วมกันแก้ไขอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี เพื่อขยายการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ทั้งนี้ ปัจจุบัน มีบริษัทไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในบังกลาเทศแล้วหลายบริษัทในอุตสาหกรรมอาหาร การก่อสร้าง และโรงแรม นอกจากนี้ บังกลาเทศแสดงความสนใจที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรและสินค้าจำเป็นจากไทย อาทิ น้ำตาลทราย น้ำมันพืชและถั่วต่างๆ เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดการขาดแคลน ซึ่งไทยยินดีที่จะสนับสนุนและเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหารให้กับบังกลาเทศ
ทั้งนี้ บังกลาเทศเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในภูมิภาคเอเชียใต้ รองจากอินเดีย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับบังกลาเทศมีมูลค่า 1,185.39 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แบ่งเป็นการส่งออกของไทยไปบังกลาเทศมูลค่า 1,091.45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ปูนซีเมนต์เม็ดพลาสติก เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน และการนำเข้าของไทยจากบังกลาเทศมูลค่า 93.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยมีสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เสื้อผ้าสำเร็จรูป สินแร่โลหะอื่น ๆ สัตว์น้ำสด แช่เย็น แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และการแพทย์ โดยไทยได้เปรียบดุลการค้า 995.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0