โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

‘มนพร’ ดันสนามบินใหม่ครอบคลุมทุกภูมิภาค มุ่งศูนย์กลางคมนาคม

The Bangkok Insight

อัพเดต 28 ต.ค. 2567 เวลา 06.35 น. • เผยแพร่ 28 ต.ค. 2567 เวลา 06.36 น. • The Bangkok Insight
‘มนพร’ ดันสนามบินใหม่ครอบคลุมทุกภูมิภาค มุ่งศูนย์กลางคมนาคม

"มนพร" ดันสนามบินใหม่ครอบคลุมทุกภูมิภาค เน้นแนวคิดด้านความปลอดภัย พร้อมสร้างอนาคตการขนส่งทางอากาศ สู่การเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาค

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรมท่าอากาศยาน (ทย.) ได้รายงานการเข้าร่วมประชุมระดับผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 59 (59th DGCA Conference) ณ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ เพื่อให้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานด้านการบินพลเรือน

สนามบินใหม่
สนามบินใหม่

ภายในงานได้มีโอกาสพบปะ หารือ และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสาขาต่าง ๆ ของการบินพลเรือนที่สำคัญและอยู่ในความสนใจ ภายใต้แนวคิด Shaping the Future of Air Transport : Sustainable, Resilient, and Inclusive (การสร้างอนาคตการขนส่งทางอากาศ : ยั่งยืน ยืดหยุ่น และครอบคลุม)

ที่ประชุมฯ ได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ ที่คาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ปริมาณผู้โดยสารจากทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ซึ่งต้องมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ยังได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความหลากหลายและการมีส่วนร่วมของผู้ปฏิบัติงานในท่าอากาศยาน รวมถึงการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการขนส่งทางอากาศสำหรับผู้พิการและส่งเสริมความเท่าเทียมในการเดินทาง และให้ความสำคัญกับโครงการ Net Zero Roadmap Decarbonise Your Airport หรือแผนงานเพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนภายในท่าอากาศยานเป็นศูนย์

จากการประชุมดังกล่าวได้มีแนวคิดเกี่ยวกับอนาคตของการขนส่งทางอากาศ การคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางอากาศ และการอำนวยความสะดวกของผู้เดินทาง

ดังนั้น จึงสนับสนุนให้ ทย. พิจารณาการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานท่าอากาศยานอย่างยั่งยืน และครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเตรียมการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น ทั้งโครงการเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานและโครงการก่อสร้างสนามบินใหม่ทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานมุกดาหาร บึงกาฬ สตูล พะเยา กาฬสินธุ์ และพัทลุง

ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำแนวคิดเรื่องความปลอดภัย ด้วยการออกแบบท่าอากาศยานให้มีความปลอดภัยอย่างเหมาะสม และการนำอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจคัดกรองด้านความปลอดภัย รวมถึงการออกแบบท่าอากาศยานตามหลักอารยสถาปัตย์ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงบริการสำหรับผู้พิการและส่งเสริมความเท่าเทียมในการเดินทาง

ในส่วนของเป้าหมายด้านการบินและสิ่งแวดล้อม ได้สนับสนุนให้ ทย. พัฒนาแผนงานต่อยอดหลังจากที่ได้รับรางวัล EIA Monitoring Awards 2024 เพื่อมุ่งสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และการรับรองคาร์บอนของสนามบินระดับ 5 (ACA)

นายดนัย เรืองสอน อธิบดีกรมท่าอากาศยาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ทย. จะเร่งดำเนินการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีท่าอากาศยานที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะก่อสร้างในอนาคต ได้แก่

  • ท่าอากาศยานมุกดาหารและท่าอากาศยานบึงกาฬ อยู่ในขั้นตอนออกแบบและจัดทำ EIA
  • ท่าอากาศยานสตูล อยู่ในขั้นตอนหาผู้รับจ้าง (ที่ปรึกษา) ในการออกแบบและจัดทำ EIA
  • ท่าอากาศยานพะเยา อยู่ในขั้นตอนได้รับงบประมาณเพื่อออกแบบและจัดทำ EIA ในปี 2568
  • ท่าอากาศยานกาฬสินธุ์และท่าอากาศยานพัทลุง ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างท่าอากาศยานแล้วเสร็จ

อ่านข่าวเพิ่มเติม

ติดตามเราได้ที่