โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

ขอนแก่น เปิดประวัติ “หมอลำพื้น” จุดกำเนิดหมอลำพันล้านภาคอีสาน

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 05 มี.ค. 2565 เวลา 10.15 น. • เผยแพร่ 05 มี.ค. 2565 เวลา 10.17 น.

ขอนแก่น "งานเทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565" จัดวันเดย์ทริปชมการแสดงมรดกวัฒนธรรมที่บ้าน "แม่ครูอุดมศิลป์" ผู้สืบทอด “หมอลำพื้น” ต้นกำเนิดคณะหมอลำยุคใหม่ สร้างเศรษฐกิจพันล้านในภาคอีสาน

หมอลำพื้น เป็นหนึ่งใน “มรดกวัฒนธรรมอีสาน”  และเป็นจุดกำเนิดของการแสดง หมอลำ อันลือลั่นแห่งภาคอีสาน สร้างเศรษฐกิจให้กับผู้มีพรสวรรค์และฝึกฝน ตั้งเป็นคณะหมอลำมีชื่อเสียง รับงานแสดงไม่เว้นแต่ละวัน สร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนอื่นๆ ที่รวมกันเป็นคณะหมอลำ

อาทิตย์ กระจ่างศรี อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญซึ่งศึกษาประวัติความเป็นมาของศิลปวัฒนธรรมการแสดงหมอลำของภาคอีสาน กล่าวว่า หมอลำ อยู่กับวิถีชีวิตคนอีสานมาตั้งแต่สมัยโบราณ ปัจจุบันแยกเป็น “หมอลำพิธีกรรม” เช่น หมอลำผีฟ้า และ “หมอลำบันเทิง” เช่น ลำเพลิน ลำเต้ย ลำเรื่องต่อกลอน ลำซิ่ง ล้วนมีจุดกำเนิดจาก “หมอลำพื้น”
 

คำว่า “หมอลำ” ซึ่งหมายถึงผู้ร้องเพลงและมีการร่ายรำ แต่ใช้พยัญชนะ ล.ลิง ในคำว่า “ลำ” แทนที่จะเป็น “รำ” ร.เรือ อาจารย์อาทิตย์กล่าวว่า เนื่องจากคำว่า “ลำ” ในภาษาถิ่นอีสานแปลว่า “การร้อง” 

หมอลำ จึงหมายถึง ผู้มีความเชี่ยวชาญในการร้อง ขณะที่การร่ายรำเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งที่ช่วยให้การร้องมีความสุนทรีย์ในการรับฟังรับชมยิ่งขึ้น ถ้าสังเกตให้ดีในการแสดงหมอลำนั้น จุดเด่นอยู่ที่เสียงร้องที่ต้องน่าฟังและเล่าเรื่องได้น่าติดตาม
 

แม่ครูอุดมศิลป์ -วันดี พลทองสถิตย์

“หมอลำที่เกี่ยวกับความบันเทิง เกิดจาก 'หมอลำพื้น' มาก่อนทั้งสิ้น” อาจารย์อาทิตย์กล่าว และหนึ่งใน หมอลำพื้น ระดับครูบาอาจารย์ของจังหวัดขอนแก่น คือคุณ วันดี พลทองสถิตย์ เจ้าของฉายา แม่ครูอุดมศิลป์ ปัจจุบันอายุ 71 ปี

อาจารย์อาทิตย์อธิบายลักษณะและที่มาของ หมอลำพื้น ว่าเกิดจาก "การเล่านิทาน" นิยมว่าจ้างให้เล่าในงานศพและเล่าทั้งคืน จุดประสงค์คือเพื่อไม่ให้คนเฝ้าศพหลับ ตามความเชื่อที่ว่าต้องไม่ให้มีอะไรเกิดขึ้นกับโลงศพ ซึ่งอาจไม่เป็นมลคล โดยเฉพาะแมวที่อาจจะกระโดดขึ้นไปบนฝาโลง

ปกติคนเล่านิทานก็พูดไปเรื่อยๆ เล่าถึงตัวละครต่างๆ ในเรื่อง โดยพูดคนเดียว ซึ่งหมายความว่าผู้เล่านิทานต้องสวมบทบาทเป็นทุกตัวละครและเป็นทุกอย่างในนิทานเรื่องนั้น

แต่ ‘หมอลำพื้น’ เป็นการเล่าเรื่องอย่างมีทำนองจากเสียงเครื่องดนตรีประเภท “แคน” เข้ามาประกอบการเล่าเรื่อง

“คำว่า ‘พื้น’  ภาษาอีสานแปลว่า ‘เรื่องราว’ หมอลำพื้นจึงมีความหมายว่า ‘พูดถึงเรื่องคนนั้นคนนี้’ บางคนก็บอก ‘พื้น’  หมายถึงพื้นถิ่น หรือมีความหมายตรงตัวว่า ‘พื้นของบ้าน’ เพราะหมอลำพื้นรำอยู่บนพื้นดิน ไม่มีเวที ก็มีหลายความหมายที่ได้รับการจดบันทึกไว้” 

แม่ครูอุดมศิลป์นำ "ผ้าขาวม้า" มาใช้แสดงความเป็นตัวละครในเรื่อง

นอกจากอาศัยฝีมือและพรสวรรค์ของผู้ขับร้อง หมอลำพื้นรุ่นครูยังมีการคิดเพิ่ม ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ฟังเห็นลักษณะของตัวละครได้มากขึ้น 

“จึงต้องมีอุปกรณ์เข้ามาช่วยเสริม เพื่อขยายความออกไป นั่นก็คือผ้าขาวม้า เช่นนำผ้าขาวม้ามาแต่งเป็นองค์ประกอบให้รู้ว่านี่คือตัวละครผู้ชาย ผู้หญิง พระอินทร์  หรืออาการขี่ม้า ลงเรือ คือผู้ร้องหรือผู้เล่านิทานสามารถใช้ผ้าขาวม้า ‘พับ-ผูก’ ให้เป็นรูปทรงต่างๆ ให้เห็นภาพถึงตัวละครที่เล่า บางคนจึงเรียก ‘หมอลำพื้น’ ในอีกชื่อว่า หมอลำผ้าขาวม้า” อาจารย์อาทิตย์กล่าว

ในจังหวัดขอนแก่น หมอลำพื้น หรือ หมอลำผ้าขาวม้า เกิดขึ้นจากครูหมอลำ พ่ออินตาบุตรทา (เสียชีวิตไปนานแล้ว) และเป็นผู้วางฐานรากในการที่ทำให้เกิด “หมอลำเรื่องต่อกลอน” หรือทำนองเพลงหมอลำอย่างที่เราได้ยินในปัจจุบัน 

อาจารย์อาทิตย์เล่าว่า ในช่วงปีพ.ศ.2500-2510 การคมนาคมในภาคอีสานยังไม่มีรถไปมาหาสู่สะดวกสบายเหมือนในปัจจุบัน คนที่อยากเป็นลูกศิษย์ ‘พ่ออินตา’ ต้องอาศัยการเดินเท้ามาฝากตัวเป็นลูกศิษย์ สมัยนั้นมีคนเดินเท้ามาจากทุกสารทิศ มาฝึกฝนมาอยู่มากินกันเป็นครอบครัวใหญ่กว่า 500 คน

ถ้าผ้าขาวม้าพาดอยู่ที่บ่าตามปกติ หมายถึง "ตัวผู้เล่านิทาน"

ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นคณะหมอลำชื่อดังแห่งยุค ระเบียบวาทะศิลป์,  ประถมบันเทิงศิลป์ ผู้ก่อตั้งคณะก็ล้วนเป็นลูกศิษย์ของ ‘พ่ออินตาบุตรทา’  ซึ่งพัฒนา ‘หมอลำพื้น’ มาเป็นหมอลำอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ สร้างเศรษฐกิจมีเงินสะพัดเป็นพันล้านในภาคอีสาน

แม่ครูอุดมศิลป์ ก็เป็นหนึ่งในลูกศิษย์ของ 'พ่ออินตาบุตรทา' แม่ครูเล่าให้ฟังว่า สมัยแม่ครูเป็นเด็กน้อยอายุสิบขวบ เวลาออกไปช่วยพ่อแม่ทำนา ก็ร้องเพลงอยู่ตามทุ่งนา วันหนึ่งพ่ออินตาผ่านมาได้ยิน เกิดถูกใจว่าเสียงไพเราะ จึงไปขอพ่อแม่ให้ลูกสาวมาฝึกร้อง “หมอลำพื้น”

แม่ครูเล่าว่า พอได้ฝึกฝนร้อง ‘หมอลำพื้น’ ก็ชื่นชอบมาก ตั้งใจฝึกเต็มที่ ต่อมาจึงมีโอกาสเข้าร่วมแสดงในคณะหมอลำ “สามัคคีรุ่งนคร” ได้เงิน 70-90 บาทต่อการแสดงแต่ละครั้ง แบ่งกันในคณะแล้วเห็นว่าดี สามารถทำเป็นงานเสริมจากอาชีพชาวนาชาวไร่

พ่ออินตาบุตรทาฟังเสียงร้องได้เด็ดขาดไม่มีพลาด แม่ครูอุดมศิลป์ในปีพ.ศ.2507 ขณะที่ยังเป็น ‘วันดี พลทองสถิตย์’  มีโอกาสบันทึกเสียงการแสดงหมอลำเผยแพร่ผ่านรายการวิทยุ โดยรับบทเป็นตัวประกอบหลายเรื่อง เช่น นางประกายแก้ว สินธนูปูคำ ท้าวหัวข่อหล่อ สามผัวไม่กลัวบาป 

พอมาปีพ.ศ.2508 คุณวันดีเริ่มเป็นที่รู้จักในอีสาน เมื่อได้รับบทเป็นนางเอกหมอลำจากการแสดงหมอลำพื้นบ้านเรื่อง “ปลาบู่ทอง” หลังจากนั้นในปี 2510 ก็เป็นที่รู้จักและชื่นชอบของคนอีสานมากยิ่งขึ้นเมื่อได้แสดงเป็นนางเอกหมอลำเรื่อง “ขูลู – นางอั้ว” จึงตัดสินใจตั้งคณะหมอลำ “อุดมศิลป์” ของตัวเองในปี 2516 

ด้วยความรักในศิลปะการแสดงหมอลำพื้น แม่ครูอุดมศิลป์ ยึดอาชีพ "หมอลำพื้น" หาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวมาโดยตลอด โดยไม่คิดประกอบอาชีพอื่นใดอีกเลย (ที่มา : เว็บไซต์ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

แม่ครูอุดมศิลป์, ดวงฤทัย บุญสินชัย, อาทิตย์ กระจ่างศรี

จากประสบการณ์อันยาวนานด้านการแสดงหมอลำ ประกอบกับความวิริยะอุตสาหะ ความใฝ่รู้ ความสามารถในการลำและพรสวรรค์อันเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป แม่ครูอุดมศิลป์ ได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะการแสดงพื้นบ้าน เป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้แก่นักศึกษา สาขาดนตรีและการแสดงพื้นบ้านคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552  เรื่อยมา

ปัจจุบัน มีนักศึกษาที่ผ่านการเรียนรู้ความเป็น ‘หมอลำพื้น’ ไปแล้ว 15 รุ่น หนึ่งในนั้นคือ ดวงฤทัย บุญสินชัย ปัจจุบันกลับมาทำงานเป็นหนึ่งในอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในศิลปวัฒนธรรมนี้ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

ด้วยเกียรติประวัติและความสามารถอันโดดเด่นด้านการแสดง หมอลำพื้น วันดี พลทองสถิตย์ หรือ "หมอลำอุดมศิลป์" ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำเรื่อง) ประจำปีพ.ศ.2559 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

การสื่อสารกันระหว่างหมอลำพื้นและคนเป่าแคน เช่น ช่วยเป่าทำนองเพลงที่อยากได้

อีกหนึ่งความยากของการเป็น หมอลำพื้น คือการจำกลอนลำของนิทานพื้นบ้านอีสาน เรื่องที่นิยมใช้ในการแสดง อาทิ จำปาสี่ต้น นางแตงอ่อน ท้าวการะเกด แต่ละเรื่องมีความยาวนับสิบๆ ตอน

แม่ครูอุดมศิลป์ยกตัวอย่างนิทานเรื่อง จำปาสี่ต้น มีความยาวกว่า 30 ตอน การเล่าเรื่องของ "หมอลำพื้น" ต้องอาศัยความจำเท่านั้น การเป็นหมอลำพื้นจึงประกอบด้วยความชอบส่วนตัวและพรสวรรค์ แม่ครูเล่าให้ฟังว่า ลูกชายเคยลองฝึกฝนแล้ว แต่ถอดใจ ไม่สามารถสืบทอดความเป็น "หมอลำพื้น" ได้สำเร็จ

“จำปาสี่ต้น ในวงการหมอลำถือเป็นกลอนลำมาตรฐาน มีตัวละครเยอะแยะมากมาย ใครลำเรื่องจำปาสี่ต้นคนเดียวได้ทั้งหมด ก็ออกไปรับงานได้เลย และเป็นเรื่องที่คุณพ่ออินตาบุตรทาใช้สอนลูกศิษย์” อ.อาทิตย์ กล่าว

แม่ครูอุดมศิลป์ สาธิตการร้อง "หมอลำพื้น" บนเถียงนา

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จังหวัดขอนแก่น (TCDC ขอนแก่น) เห็นว่า "หมอลำโบราณ" หรือ หมอลำพื้น ยังไม่มีใครรู้จักมากนัก ถ้ารู้จักก็เป็นคนส่วนน้อยแล้วจริง ๆ และกำลังจะหายไป ขณะเดียวกัน ขอนแก่น ก็ได้ชื่อว่าเป็นเมืองหมอลำ

ดังนั้นในการจัดงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 "TCDC ขอนแก่น" จึงจัดกิจกรรม "5 เส้นทางเที่ยวเมือง ชมย่านที่คุณอาจเคยได้ยินแต่ไม่เคยไป" หนึ่งในห้าเส้นทางนั้นคือ เยี่ยมยามบ้านหมอลำ จำนวน 3 แห่ง คือ บ้านแม่วันดี พลทองสถิตย์ หรือแม่ครูอุดมศิลป์, บ้านแม่ราตรีศรีวิไล เด่นเรื่องหมอลำซิ่ง เป็นผู้นำเครื่องดนตรีหลากหลายประเภทมาประยุกต์ใช้ในหมอลำ และ บ้านระเบียบวาทะศิลป์ ซึ่งโด่งดังมากอยู่แล้ว
ใครสนใจอยากฟังเสียง แม่ครูอุดมศิลป์ ร้องกลอนลำในแบบฉบับ หมอลำพื้น ซึ่งเสียงดังกังวาลไพเราะมากแม้ร้องกลางทุ่งนาโดยไม่ใช้เครื่องขยายเสียง พร้อมชมศิลปะการพับและผูกผ้าขาวม้าเป็นตัวละครต่างๆ ซึ่งเป็นการแสดงที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมหมอลำ สามารถลงทะเบียนได้ในงาน เทศกาลอีสานสร้างสรรค์ 2565 สุดสัปดาห์นี้เป็นช่วงเวลาสุดท้ายของการจัดงานระหว่างวันที่ 25 ก.พ.-6 มี.ค.2565 ตรวจสอบรอบการแสดง คลิกที่นี่ เยี่ยมยามบ้านหมอลำ

แม่ครูอุดมศิลป์ ผู้สืบทอดมรดกวัฒนธรรม "หมอลำพื้น"

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0