โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

วิจัยยืนยัน โครงการอนุรักษ์ สามารถฟื้นฟูธรรมชาติได้จริง

Environman

เผยแพร่ 03 พ.ค. เวลา 00.00 น.

‘การลงทุนฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นสิ่งที่คุ้มค่า’ นักวิทยาศาสตร์ยืนยันโครงการอนุรักษ์สามารถหยุดยั้งความเสียหายที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมและสัตว์ได้จริง ๆ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โลกได้เผชิญกับการสูญเสียไปจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นสัตว์หลายชนิดที่ถูกยืนยันว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว พื้นที่ป่าที่เท่า 10 สนามฟุตบอลหายไปทุกนาที หรือแนวปะการังฟอกขาวที่รุนแรง ทั้งหมดนี้ทำให้ธรรมชาติสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จนทำให้ระบบนิเวศทั้งหมดเสี่ยงที่จะล่มสลาย

David Attenborough นักธรรมชาติวิทยาชื่อดังได้กล่าวไว้ในสารคดี A Life On Our Planet ว่าหากไม่มีการแทรกแซงที่จำเป็นและเหมาะสม โลกจะสูญเสียสิ่งต่าง ๆ คล้ายกับการทำลายล้างที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์เชอร์โนบิล ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพเป็นตัวชี้วัดที่มีคุณภาพในระบบนิเวศที่ดี

ทว่าปัจจุบันมีสัตว์เกิน 44,000 ชนิดที่ถูกระบุไว้ว่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ทำให้เกิดความพยายามในการหยุดไม่ให้เกิดการสูญเสียมากขึ้น แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ได้สร้างคำถามตามมามากมายว่า แนวทางที่ดีที่สุดคืออะไร?

“หากคุณดูเฉพาะแนวโน้มที่ลดลงของแต่ละสายพันธุ์ มันคงจะเป็นเรื่องง่ายที่จะคิดว่าเราไม่สามารถปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ แล้วคุณจะไม่มองภาพรวมทั้งหมด” Penny Langhammer ผู้เขียนหลักของงานวิจัย และรองประธาน Re:wild (องค์กรอนุรักษ์ที่ไม่แสวงหากำไร) กล่าว “สิ่งที่เราแสดงให้เห็นในบทความนี้ก็คือ จริง ๆ แล้วงานอนุรักษ์คือสิ่งที่สามารถหยุดยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลาย”

ทีมวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่จากการศึกษาและการทดลองกว่า 665 เรื่องที่เป็นการแทรกแซงธรรมชาติในพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการอนุรักษ์ที่ดำเนินมานานกว่าร้อยปี โดยมุ่งเป้าหมายไปที่การให้ระบบนิเวศยังคงความหลากหลายไว้ได้ ทั้งในเรื่องของสายพันธุ์ และความหลากหลายทางพันธุกรรม

พวกเขาพบว่าโครงการเหล่านี้สามารถฟื้นฟู ปรับปรุง หรืออย่างน้อยก็ชะลอการลดลงได้มากกว่า 66% เมื่อเทียบกับการไม่ดำเนินการใด ๆ เลย ซึ่งถือว่าการกระทำเหล่านั้นได้ผลที่มีประสิทธิภาพสูง “เป็นที่ชัดเจนว่าการอนุรักษ์จะต้องได้รับการจัดลำดับความสำคัญ ได้รับทรัพยากรเพิ่มเติม และการสนับสนุนทางการเมืองทั่วโลก” Langhammer กล่าว

ตัวอย่างเช่น ในลุ่มแม่น้ำคองโก เมื่อมีแผนการจัดการป่าไม้ หรือ FMP เข้ามาเกี่ยวข้องก็ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าลดลงถึง 74% เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่มี หรือจะเป็นการเพิ่มพื้นที่คุ้มครองและสนับสนุนชุมชนพื้นเมืองในป่าแอมะซอน ก็สามารถช่วยลดป่าที่ถูกตัดและลดไฟป่าได้หลายเท่า

ไม่เพียงเท่านั้น การเพาะพันธุ์ปลาแซลมอนชินุกและปล่อยสู่ธรรมชาติ ก็ทำให้ประชากรเติบโตขึ้นถึง 4.7 เท่า เมื่อเทียบกับตอนที่ไม่มีโครงการ สิ่งเหล่านี้สามารถย้อนกลับมาช่วยผู้คนหลายพันล้านคนทั่วโลกที่พึ่งระบบนิเวศเหล่านี้ในการใช้ชีวิต และมันสร้างความหวังว่าเราสามารถฟื้นฟูธรรมชาติได้ หากเราให้โอกาส

“ผลลัพธ์ของเราแสดงให้เห็นชัดเจนว่ายังมีพื้นที่ว่างสำหรับความหวัง” รองศาสตราจารย์ Joseph Bull จากภาคชีววิทยา ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กล่าว

สิ่งสำคัญที่งานวิจัยได้เน้นย้ำก็คือ การอนุรักษ์จะต้องมีการศึกษาให้ดีก่อนว่าควรทำอะไรบ้าง เช่นเดียวกันการปลูกป่า ซึ่งต้องรู้ว่าพืชแบบไหนที่เหมาะสม รวมถึงต้องมีการดูและติดตามผลอย่างสม่ำเสมอตามมา เพื่อให้ธรรมชาติได้รับผลประโยชน์มากที่สุด

“บทความนี้ได้วิเคราะห์ผลการอนุรักษ์ในระดับที่เข้มงวดพอ ๆ กับสาขาวิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์เช่น การแพทย์และวิศวกรรมศาสตร์ มันแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์ธรรมชาติได้ผลอย่างแท้จริง ตั้งแต่ระดับพันธุ์พืชไปจนถึงระดับระบบนิเวศทั่วทุกทวีป” ดร. Grethel Aguilar ผู้อำนวยการสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าว

ที่มา

https://www.science.org/doi/10.1126/science.adj6598

https://www.iflscience.com/rejoice-biodiversity-loss…

https://www.ox.ac.uk/…/2024-04-26-landmark-study…

Photo : Vanessa Kahn

#restoration

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0