โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

กรุงเทพฯ จัดการปกครองลาวอีสาน ให้เป็น “คนไทย”

ศิลปวัฒนธรรม

อัพเดต 06 มี.ค. 2566 เวลา 12.27 น. • เผยแพร่ 06 มี.ค. 2566 เวลา 12.27 น.
ภาพปก-อีสาน
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร (ภาพจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ตามรอย กรุงเทพฯ จัดการปกครอง ลาวอีสาน ให้เป็น “คนไทย”

เมื่อมหาอำนาจยุโรปออกล่าอาณานิคมในภูมิภาคนี้ ทำให้ราชอาณาจักรสยามต้องระมัดระวังและต้องจัดการปกครองราชอาณาจักร ให้รัดกุมขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกราน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2411-2453) จึงโปรดให้จัดแบ่งอีสาน และลาวที่ (ขณะนั้น) อยู่ในพระราชอาณาจักรสยามให้เหมาะสมเป็นระยะๆ ดังต่อไปนี้

พ.ศ. 2433 แบ่งการปกครองเป็น 4 เขต

1. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออก มีเมืองเอก 11 เมืองคือ เมือง นครจัมปาสัก (อยู่ในลาว) เมืองสีทันดอน (อยู่ในลาว) เมืองคำทองใหญ่ (อยู่ในลาว) เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธ์ เมืองเชียงแตง (อยู่ในเขมร) เมืองแสนปาง (อยู่ในเขมร) เมืองอัตตะปือ (อยู่ในลาว) เมืองสาละวัน (อยู่ในลาว) และเมืองเดชอุดม

แต่ละเมืองเอกมีเมืองขึ้นจำนวนไม่เท่ากัน รวมได้ 26 เมือง มีที่ทำการอยู่นครจัมปาสัก ข้าหลวงคนแรกชื่อ พระยามหาอำมาตยาธิบดี

2. หัวเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือ มีเมืองเอก 12 เมือง คือ เมืองอุบลราชธานี เมืองร้อยเอ็ด เมืองสุวรรณภูมิ เมืองกาฬสินธุ์ เมืองมหาสารคาม เมืองกมลาไสย เมืองศรีสะเกษ เมืองเขมราฐ เมืองสองคอนดอนดง (อยู่ในลาว) เมืองนอง (อยู่ในลาว) เมืองยโสธร และเมืองภูแล่นช้าง

แต่ละเมืองเอกมีเมืองขึ้นจำนวนไม่เท่ากัน รวมได้ 30 เมือง มีที่ทำการอยู่เมืองอุบลราชธานี ข้าหลวงคนแรกชื่อพระยาราชเสนา

3. หัวเมืองลาวฝ่ายเหนือ มีเมืองเอก 16 เมืองคือ เมืองหนองคาย เมืองเชียงขวาง (อยู่ในลาว) เมืองบริคัณหนิคม (อยู่ในลาว) เมืองคำม่วน (อยู่ในลาว) เมืองมุกดาหาร เมืองนครพนม เมืองสกลนคร เมืองขอนแก่น เมืองหล่มสัก เมืองบุรีรัมย์ เมืองคำเกิด (อยู่ในลาว) เมืองท่าอุเทน เมืองไชยบุรี เมืองโพนพิสัย เมืองกมุททาพิสัย และเมืองหนองหานใหญ่

แต่ละเมืองเอกมีเมืองขึ้นจำนวนไม่เท่ากัน รวมได้ 30 เมือง มีที่ทำการอยู่เมืองหนองคาย ข้าหลวงคนแรกชื่อพระยาสุริยเดชวิเศษ

4. หัวเมืองลาวฝ่ายกลาง มีเมืองเอก 3 เมืองคือ เมืองนครราชสีมา เมืองชนบท และเมืองภูเขียว แต่ละเมืองเอกมีเมืองขึ้นจำนวนไม่เท่ากัน รวมได้ 12 เมือง มีที่ทำการอยู่เมืองนครราชสีมา ข้าหลวงคนแรกชื่อพระพิเรนทรเทพ

ข้าหลวงที่ประจำอยู่ฝ่ายต่างๆ ขึ้นต่อข้าหลวงใหญ่ คือ พระยามหาอำมาตยาธิบดี ที่เมืองจัมปาสัก

พ.ศ. 2434 เปลี่ยนแปลงเขตการปกครองใหม่

1. หัวเมืองลาวกาว รวมเอาเมืองลาวฝ่ายตะวันออกกับเมืองลาวฝ่ายตะวันออกเฉียงเหนือเข้าเป็นเขตเดียวกัน มีข้าหลวงใหญ่อยู่เมืองอุบลราชธานีคือ กรมหลวงพิชิตปรีชากร

2. หัวเมืองลาวพวน มีข้าหลวงอยู่เมืองหนองคายคือ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม (เมื่อฝรั่งเศสได้ลาวฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงแล้วจึงย้ายไปตั้งอยู่เมืองอุดรธานี)

3. หัวเมืองลาวพุงขาว รวมเอาเมืองหลวงพระบาง สิบสองพันนา สิบสองจุไท และหัวพันทั้งห้าทั้งหกเข้าเป็นเขตเดียวกัน มีข้าหลวงอยู่เมืองหลวงพระบางคือ พระยาฤทธิรงค์รณเดช

4. หัวเมืองลาวกลาง มีข้าหลวงอยู่เมืองนครราชสีมาคือ กรมหมื่นสรรพสิทธิประสงค์

พ.ศ. 2436 เสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง

ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตกเป็นของฝรั่งเศส ส่วนฝั่งขวายังอยู่ในพระราชอาณาจักรสยาม ประชาชนที่อยู่ฝั่งขวาถูกเรียกจากกรุงเทพฯ ว่า “ชาติลาวบังคับสยาม” (มหาศิลา วีระวงศ์ ประวัติศาสตร์ลาว. สมหมาย เปรมจิตต์ แปล จัดพิมพ์โดยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พ.ศ. 2535 หน้า 169)

พ.ศ. 2437 เปลี่ยนเขตการปกครองเป็น “มณฑล”

เมื่อเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศสไปเมื่อ พ.ศ. 2436 แล้ว กรุงสยามก็เปลี่ยนเขตการปกครองใหม่อีกเมื่อ พ.ศ. 2437 โดยจัดแบ่งเป็นมณฑล ทั้งประเทศมี 8 มณฑล บริเวณฝั่งขวาแม่น้ำโขงที่เป็นอีสานมี 3 มณฑล คือ :

1. มณฑลลาวพวน มี 12 เมืองคือ เมืองหนองคาย เมืองโพนพิสัย เมืองท่าอุเทน เมืองนครพนม เมืองมุกดาหาร เมืองสกลนคร เมืองหนองหาน (อุดรธานี) เมืองกมุททาพิสัย (หนองบัวลำภู) เมืองขอนแก่น เมืองชนบท เมืองหล่มสัก เมืองชัยบุรี (อยู่ที่ท่าอุเทน) และเมืองขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง

2. มณฑลลาวกาว มี 13 เมืองคือ เมืองนครจัมปาสัก เมืองอุบลราชธานี เมืองเขมราฐ เมืองยโสธร เมืองสุวรรณภูมิ เมืองศรีสะเกษ เมืองสุรินทร์ เมืองสังขะ เมืองขุขันธุ์ เมืองกมลาไสย เมืองกาฬสินธุ์ เมืองภูแสนช้าง เมืองมหาสารคาม และเมืองขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง

3. มณฑลลาวกลาง มีเมืองนครราชสีมา เมืองพิมาย เมืองปักธงไชย เมืองจันทึก และเมืองต่างๆ บริเวณเมืองนางรองกับเมือง ชัยภูมิคือ เมืองนางรอง เมืองบุรีรัมย์ เมืองประโคนชัย เมืองพุทไธสง เมืองรัตนบุรี เมืองชัยภูมิ เมืองภูเขียว เมืองเกษตรสมบูรณ์ เมืองจตุรัส เป็นต้น

พ.ศ. 2442 ยกเลิกคำว่า “ลาว”

บรรพบุรุษของชาวอีสานมีหลายพวก มีตั้งแต่พวกก่อนประวัติศาสตร์ จนถึงข่า เขมร ญวน แกว จีน จาม และ ฯลฯ แต่ที่แน่ๆ คือลาว ต่อมา ด้วยเหตุผลทางการเมือง ทำให้ผู้คนเผ่าพันธุ์ต่างๆ กลายเป็น “ไทย” หมด ต้นเหตุมาจากปฏิรูปการปกครองในสมัยรัชกาลที่ 5

มหาสิลา วีระวงศ์ เรียบเรียงประวัติศาสตร์ลาวว่า ถึงปี พ.ศ. 2442 หลังจากสยามเสียดินแดนลาวทางฝั่งซ้ายให้แก่ฝรั่งเศสแล้ว 6 ปี พระเจ้าแผ่นดินสยามรัชกาลที่ 5 จึงทรงปรารภว่า

“ลักษณะการปกครองแผ่นดิน ที่นิยมให้เป็นอย่างราชาธิปไตย (Empire Monarchique) โดยปกครองแบบคนต่างชาติต่างภาษาเป็นเมืองขึ้น จึงถือหัวเมืองมณฑลชั้นนอก 3 มณฑลนั้นเป็นเมืองลาวและเรียกชาวเมืองซึ่งอันที่จริงเป็นชนชาติไทย ว่าลาว เนื่องเพราะลักษณะการปกครองดังกล่าว เป็นอันพ้นเวลาพอสมควรแล้ว ถ้าคงไว้จะกลับให้โทษแก่บ้านเมือง จึงทรงพระราชดำริให้แก้ไขการปกครองเปลี่ยนเป็นพระราชอาณาจักรประเทศสยาม เลิกประเพณีเมืองประเทศราช ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทองตั้งแต่ก่อน”

จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการตรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่าให้เรียกชื่อมณฑลตามพื้นที่ที่จัดการปกครองแบบเทศาภิบาล เช่น

“มณฑลลาวเฉียง” แถบเมืองเชียงใหม่และเมืองใกล้เคียง ให้เรียกว่า มณฑลตะวันตกเฉียงเหนือ

“มณฑลลาวพวน” แถบเมืองหนองคายและเมืองใกล้เคียง ให้เรียกว่า มณฑลฝ่ายเหนือ

โดยเฉพาะ “มณฑลลาวกาว” มีเมืองนครจัมปาสัก เมืองอุบลราชธานี เมืองศรีสะเกษ และเมืองอื่นๆ ให้เรียกว่า “มณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ”

อาศัยพระราชโองการฉบับนี้ และในปีเดียวกันนี้ กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ข้าหลวงต่างพระองค์จึงโปรดให้มีสารตราตั้งเป็นทางราชการไปว่า

“แต่นี้สืบไป ให้เจ้าหน้าที่แต่ละแผนกทุกหัวเมืองใหญ่น้อย ในมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อจะมีการสำรวจสำมะโนครัว หรือหากว่ามีราษฎรมาติดต่อที่จะต้องใช้แบบพิมพ์ของทางราชการ ให้ปฏิบัติใหม่โดยลงในของสัญชาตินั้นว่า ‘ชาติไทยบังคับสยาม’ ทั้งหมด ห้ามมิให้ลงหรือเขียนในของสัญชาติว่า ชาติลาว ชาติเขมร ส่วย ผู้ไทย ฯลฯ ดังที่ได้ปฏิบัติมาแต่ก่อนเป็นอันขาด

มหาสิลาย้ำตอนท้ายว่า “เพียงคำสั่งของข้าหลวงต่างพระองค์ประจำหัวเมืองลาวเท่านั้น ชนชาติลาวที่อยู่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงจึงได้กลายเป็นชาติไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2442 เป็นต้นมา ด้วยประการดังนี้”

นี่แหละ ๆ คนไทยอยู่ที่นี่ยังไงล่ะ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : เนื้อหานี้คัดส่วนหนึ่งมาจากหนังสือ “พลังลาว” ชาวอีสาน มาจากไหน? เขียนโดย สุจิตต์ วงษ์เทศ (สำนักพิมพ์มติชน กรกฎาคม 2549)

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 กรกฎาคม 2562

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 19

  • Lim
    ใช้ภาษาและสำเนียงเดียวกันมาไม่ต่ำกว่าพันปี.. จนกระทั่งถูกแบ่งแยกอาณาจักร ไทย-ลาว ใช่อื่นไกล
    22 ก.ค. 2562 เวลา 09.14 น.
  • อีสานและเหนือลาวทั้งนั้น ยอดเยี่ยมครับนำเรื่องประวัติศาสตร์มาลงก็ดีครับเราจะได้รู้ว่ากรุงศรีอยุทธยาก็เป็นอาณาจักรหนึ่ง ลพบุรีก็อาณาจักรหนึ่ง สุโขทัย ลำพูน เชียงใหม่ น่าน ฯลฯ ก็อาณาจักรหนึ่ง มีอำนาจมีกษัตริย์ปกครองของตน มานานแล้ว
    22 ก.ค. 2562 เวลา 09.35 น.
  • R
    อะไร...ทำมัย...ยังไง...จะบอกจะสอนอะไร...โรงเรียนก็มีสอน...แล้วยังไงต่อ...? ตอนนี้ พ.ศ.2562 แล้วยังไง...
    22 ก.ค. 2562 เวลา 09.53 น.
  • โยธิน กิตติโยธิน
    การบริหารการปกครอง ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจในยุคนั้นๆ สังเกตุจะแบ่งออกเป็นภาคเป็นหัวเมือง มีเมืองแกนหลังที่เป็นศูนย์กลางทุกภาค แต่ก็ขึ้นอยู่กับสยาม แต่ในนี้ไม่ได้บอกว่าเหตุใดจึงเสียบางเมืองให้กับฝรั่งเศสไป อาจเสียเพราะการแบ่งของน้ำโขง หรือการถือสนธิสัญญาคนละฉบับ เหมือนกรณีถกเถียงกันเรื่องเขาพระวิหาร
    22 ก.ค. 2562 เวลา 09.31 น.
  • หน่อง ณ หนองคู
    เกิดไม่ทันรู้แต่ปัจจุบัน
    22 ก.ค. 2562 เวลา 09.21 น.
ดูทั้งหมด