เมื่อพูดถึงคำว่า “โยคะ” สิ่งแรกที่ผุดขึ้นมาในความคิดของใครหลายคนคือ “อินเดีย” เนื่องในวันโยคะสากล ปีที่ 6 วันที่ 21 มิ.ย.นี้ “สุจิตรา ดูไร” เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย พูดคุยกับกรุงเทพธุรกิจถึงวันสำคัญที่รู้จักกันทั่วโลก
- อยากให้เล่าถึงความสำเร็จของอินเดียในการผลักดันโยคะให้เป็นที่นิยมทั่วโลก อินเดียต้องเผชิญกับความท้าทายอะไรบ้าง และเอาชนะความท้าทายนี้ได้อย่างไร?
การฝึกโยคะนั้นทำกันมาในอินเดียนานกว่าหลายพันปีแล้ว แม้ว่าเราจะไม่สามารถระบุวันที่แน่นอนได้ แต่มีตำราเก่าแก่ที่บันทึกเกี่ยวกับโยคะ ที่มีชื่อว่า “โยคะสุตรา” (Yoga- Sutra) เขียนโดยท่านปตัญชลี (Patanjali) เมื่อประมาณ 2,500 ปีที่แล้ว อินเดียได้ถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับโยคะให้กับคนทั่วโลกอย่างอิสระ
ในช่วงกลางศตวรรษที่ 20 โยคะเริ่มได้รับความนิยมทั่วโลกมากขึ้น เนื่องจากคนหนุ่มสาวในประเทศตะวันตกและตะวันออกต่างหันมาสนใจฝึกโยคะมากยิ่งขึ้น ในภาษาสันสกฤตคำว่า "โยคะ" หมายถึงการรวมตัวกัน (Union) ดังนั้นโยคะจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นหนึ่งเดียวของจิตใจและร่างกาย ความคิดและการกระทำ การยับยั้งชั่งใจและความสมปรารถนา ความกลมเกลียวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ และวิธีการแบบองค์รวมเพื่อสุขภาพและสุขภาวะ
ซึ่งการที่มีประชาชนนับล้านๆ คนทั่วโลกร่วมงานวันโยคะสากลที่จัดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย.ของทุกปี นับตั้งแต่ปี 2558 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของอินเดียในการส่งเสริมโยคะให้เป็นที่นิยมทั่วโลก
เราเอาชนะทุกความท้าทายที่เกิดขึ้นในการส่งเสริมโยคะให้เป็นที่นิยมทั่วโลก ประโยชน์ในการเล่นโยคะนั้นเห็นได้อย่างชัดเจน ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ดิฉันอยากจะเน้นเป็นพิเศษว่าประโยชน์ของการฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอนั้น จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และปรับปรุงการทำงานของระบบทางเดินหายใจ ดิฉันมั่นใจว่าโยคะจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต
- ปัจจุบันชาวอินเดียให้ความสนใจกับการฝึกโยคะมากน้อยแค่ไหน และโยคะได้เข้ามามีส่วนในการดำเนินชีวิตของพวกเขาอย่างไร?
โยคะถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ โดยในช่วงศตวรรษที่ 19 ได้มีการฟื้นฟูโยคะในอินเดียโดยผู้ปฏิบัติชาวอินเดียที่มีชื่อเสียงหลายท่าน รวมถึงท่านสวามี วิเวกอนันดา (Swami Vivekananda) ซึ่งท่านได้กล่าวถึงความรู้ดั้งเดิมของอินเดียรวมถึงโยคะ ปัจจุบันมีโรงเรียนสอนโยคะขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วอินเดีย ซึ่งในช่วงกลางศตวรรษที่ผ่านมา โยคะได้ดึงดูดบุคคลสำคัญจากประเทศตะวันตกหลายท่าน ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหนุ่มสาวจำนวนมากทั้งในอินเดียและต่างประเทศหันมาเล่นโยคะมากขึ้น
- สุจิตรา ดูไร เอกอัครราชทูตอินเดียประจำประเทศไทย -
อย่างไรก็ตาม การฝึกโยคะได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นอย่างมากในอินเดีย นับตั้งแต่ได้มีการประกาศวันโยคะสากลในปี พ.ศ.2558 ซึ่งโยคะได้รับการยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ ในยุคปัจจุบัน วิถีการดำเนินชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและการใช้โซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพหลายประการ รวมถึงความเครียดทางจิตใจ
โดยนักเรียน แม่บ้าน พนักงานออฟฟิศ และผู้สูงอายุล้วนพบว่าการฝึกโยคะอย่างสม่ำเสมอนั้น จะช่วยให้พวกเขามีสุขภาพที่ดีและทำให้ชีวิตสมดุลมากขึ้นได้ ซึ่งประโยชน์เหล่านี้ได้ดึงดูดให้ผู้คนเข้าเรียนโยคะตามสตูดิโอเอกชนต่างๆ ซึ่งการที่ผู้เชี่ยวชาญด้านโยคะพยายามถ่ายทอดและแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการฝึกโยคะผ่านทางโทรทัศน์และโซเชียลมีเดียโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทำให้ดึงดูดผู้คนหันมาฝึกสู่โยคะมากยิ่งขึ้น
- หลายคนคิดว่าโยคะเกี่ยวข้องกับศาสนา ท่านจะช่วยอธิบายเรื่องนี้ให้เข้าใจได้อย่างไร?
โยคะเป็นวิธีปฏิบัติทางร่างกาย จิตใจ และจิตวิญญาณที่เก่าแก่ โดยมีต้นกำเนิดในประเทศอินเดีย คำว่า "โยคะ" ในภาษาสันสกฤตหมายถึง “การเข้าร่วมหรือรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นสัญลักษณ์ของการรวมกันของร่างกายและจิตใจ”
โยคะเป็นวิทยาศาสตร์และอยู่บนพื้นฐานแห่งการมีสุขภาวะที่ดีสำหรับทุกคน ไม่ว่าคุณจะนับถือศาสนาใดก็ตาม คุณก็เล่นโยคะได้ โยคะเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ไม่สำคัญว่าคุณจะมาจากประเทศใด อายุเท่าไหร่ เพศและเชื้อชาติอะไร ฯลฯ ดังนั้น คุณจะเห็นผู้ปฏิบัติโยคะในโลกออนไลน์จากทุกประเทศและทุกทวีป โยคะเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย
- แนวโน้มการเล่นโยคะในประเทศไทยเป็นอย่างไร?
ตามที่ได้ดิฉันกล่าวข้างต้น โยคะเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางในไทย มีครูสอนโยคะจำนวนมากและมีชุมชนโยคะที่แข็งแกร่ง รวมถึงศูนย์โยคะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกส่วนของประเทศไทย ประเทศไทยเป็นเมืองพุทธ การทำสมาธิจึงเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลายอยู่แล้ว โรงเรียนและมหาวิทยาลัยสามารถนำการสอนโยคะเป็นวิชาเลือกเพิ่มเติมให้กับนักเรียน
การฝึกโยคะทุกวันจะทำให้คนไทยสามารถลดโอกาสความเสี่ยงของกลุ่มโรคไม่ติดต่อ การจัดตั้งสถาบันการวิจัยเกี่ยวกับโยคะและอายุรเวทและระบบการแพทย์แผนโบราณอื่น ๆจะช่วยให้การสอนและการปฏิบัติโยคะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ซึ่งอินเดียยินดีที่จะให้ความร่วมมือกับไทยในเรื่องนี้
- ในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ปีนี้ท่านจะเฉลิมฉลองวันโยคะในประเทศไทยอย่างไร ผลจะออกมาเป็นเช่นไร?
ในช่วงเวลาที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 การเฉลิมฉลองวันโยคะสากลครั้งที่ 6 ในวันที่ 21 มิถุนายน ไม่สามารถจัดขึ้นในรูปแบบเดิมที่เคยทำมาได้ เนื่องจากข้อจำกัดตามมาตรการด้านการชุมนุมสาธารณะและการรักษาระยะห่างทางสังคม ดังนั้น แนวทางของงานวันโยคะสากลในปีนี้จะเป็น “Ghar Ghar Se Yoga – Yoga from Home (โยคะที่บ้าน)
เราตัดสินใจที่จะเฉลิมฉลองวันโยคะสากลปี 2563 ในลักษณะเสมือนจริง โดยจะมีผู้ปฏิบัติโยคะกลุ่มเล็กทำการสาธิตท่าโยคะที่สถานทูตฯ และจะมีการถ่ายทอดสดการปฏิบัติโยคะที่สถานทูตฯ ทาง Youtube ในขณะที่กลุ่มคนและคนอื่นๆ สามารถร่วมปฏิบัติท่าโยคะตามได้ที่ทำงานหรือที่บ้านของตนเอง เราจะโพสต์การถ่ายทอดสดลงทางโซเชียลมีเดียของเราด้วย ช่องโทรทัศน์ของไทยจะร่วมทำการถ่ายทอดสดกิจกรรมพิเศษเนื่องในวันโยคะสากลประจำปี 2563 นี้ด้วยเช่นกัน
- ในประเทศไทยมีสตูดิโอโยคะหลายแห่ง ถือเป็นธุรกิจที่สร้างผลกำไรดี ในอินเดียเป็นอย่างไร และอินเดียกับไทยจะสามารถมีความร่วมมือในด้านนี้ (โยคะและธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์) ได้อย่างไร?
ตามที่ดิฉันได้กล่าวไปแล้วว่ามีการเปิดกิจการสตูดิโอโยคะขึ้นหลายแห่งทั้งในไทยและอินเดีย อันเนื่องมาจากโยคะเป็นที่นิยมมากขึ้น ความสนใจของคนในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นสาเหตุของความนิยมที่เพิ่มขึ้น ประโยชน์รอบด้านของศาสตร์โยคะควรได้รับการเผยแพร่ให้เป็นที่นิยมในวงกว้าง
การเติบโตของโยคะและการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ทั้งในอินเดียและไทยอยู่ในระดับที่ดี ทั้งสองประเทศมีสถานบำบัดสุขภาพโดยศาสตร์โยคะหลายแห่ง ซึ่งดึงดูดผู้คนจำนวนมาก
รวมถึงสถานที่สำหรับผู้ที่ฟื้นฟูร่างกายหลังการรักษาทางการแพทย์ อินเดียและไทยสามารถร่วมมือกันในสาขานี้ได้ ผ่านการเชื่อมโยงทางสถาบัน การฝึกอบรม การประชุมเชิงปฏิบัติการ และหลักสูตรต่างๆ ในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในสาขาโยคะและการแพทย์แผนโบราณ อาทิ อายุรเวท และการแพทย์แผนโบราณของไทย อย่างไรก็ตาม มีข้อควรปฏิบัติที่ต้องพึงระลึกไว้ก็คือ ผู้สอนจะต้องเป็นผู้ที่ผ่านการฝึกอบรมอย่างถูกต้องจากสถาบันที่ได้รับการรับรองในอินเดียก่อนที่จะทำการสอนผู้อื่น โยคะที่ไม่มีการควบคุมโดยผู้เชี่ยวชาญทำให้เกิดผลเสียได้
- ท่านคิดว่าโควิด-19 ส่งผลดีหรือผลเสียต่อความนิยมของโยคะอย่างไร?
ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบไปทั่วทั้งโลก หลายคนได้นำโยคะมาปฏิบัติ และได้ประโยชน์ เราสามารถปฏิบัติโยคะได้ในที่เปิด หรือแม้แต่ในบ้านที่รายรอบไปด้วยผนังทั้ง 4 ด้าน โยคะ อาสนะ (การบริหารร่างกาย) ปราณายามะ (การบริหารการหายใจ) และธยานะ (การทำสมาธิ) เป็นสามองค์ประกอบของโยคะ
โยคะอาสนะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ปราณายามะช่วยชำระล้างโลหิตให้บริสุทธิ์ เนื่องจากการหายใจเข้าทำให้ออกซิเจนเข้าสู่ร่างกายในปริมาณที่เพิ่มขึ้น สมาธิช่วยให้เราเป็นคนคิดบวก ปราศจากความเครียด แม้ในช่วงเวลาที่กดดันที่สุด อาทิ ช่วงเวลาการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ โยคะมีประโยชน์ต่อจิตใจ ร่างกาย และจิตวิญญาณ
- อินเดียสามารถนำโยคะมาใช้เป็นอำนาจทางวัฒนธรรม (soft power) หรือดำเนินการทูตโยคะได้หรือไม่ อย่างไร?
อินเดียเชื่อในปรัชญา “Vasudaiva Kutumbakam” ซึ่งหมายความว่า “โลกคือครอบครัวเดียวกัน” แนวคิดวันโยคะสากลได้รับการเสนอเป็นครั้งแรกโดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ต่อสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อเดือน ก.ย. 2557 ด้วยมติเอกฉันท์ของสหประชาชาติ ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา จึงได้มีการเฉลิมฉลองวันโยคะสากลในวันที่ 21 มิ.ย.ไปทั่วโลก
การประกาศวันโยคะสากล โดยการรับรองจาก 175 ประเทศถือเป็นความสำเร็จหนึ่งของอำนาจทางวัฒนธรรม หรือการทูตโยคะของอินเดีย
อินเดียดำเนินการหลายอย่างเพื่อส่งเสริมความนิยมของโยคะผ่านทางศูนย์วัฒนธรรมสวามี วิเวคอนันดา (SVCC) ที่ตั้งอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ศูนย์วัฒนธรรมฯ ในประเทศไทยได้จัดหลักสูตรโยคะสำหรับคนทุกช่วงวัย โดยอาสาสมัครโยคะอาวุโส ปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรมฯ ได้จัดการเรียนออนไลน์และแชร์วีดิโอสาธิตการทำอาสนะ ปราณายามะ และการเรียนแบบโต้ตอบเกี่ยวกับเทคนิคการทำสมาธิทางดิจิทัล แพลตฟอร์มของศูนย์วัฒนธรรมฯ นอกจากนี้ ยังมีการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับโยคะและอายุรเวท เราสนับสนุนให้มีการส่งเสริมโยคะและอายุรเวท ให้เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดสุขภาพที่ดี
เมื่อ 50 ปีที่ผ่านมา เดอะบีเทิลส์ถือเป็นตัวช่วยสำคัญเชื่อมโยงโลกสมัยใหม่เข้ากับโยคะ (พร้อมๆ กับรวี สังการ์, ซีตาร์ และ The Spirit of India) พวกเขาทำให้โลกรู้จักฤาษีเกศในฐานะเมืองหลวงแห่งโยคะ ปัจจุบันท่านมีตัวช่วยเช่นว่านี้หรือไม่
เราขอชื่นชมเหล่าบุคคลที่มีชื่อเสียงและคนดังจากที่ต่างๆ ทั่วโลกในอดีตได้ทำคุณประโยชน์ให้โยคะเป็นที่นิยมในวงกว้าง ในปัจจุบัน เรามาถึงจุดที่กล่าวได้ว่าความนิยมของโยคะทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การยอมรับอย่างต่อเนื่องและการปฏิบัติโยคะโดยบุคคลที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักจะช่วยดึงดูดคนให้มาสนใจโยคะมากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่
- ท่านฝึกโยคะหรือไม่ ท่านได้ประโยชน์อะไรจากโยคะมากที่สุด?
ใช่ค่ะ ดิฉันปฏิบัติโยคะ ดิฉันเรียนโยคะมากว่า 30 ปีแล้ว แต่เริ่มปฏิบัติเป็นประจำเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ดิฉันพบว่าโยคะช่วยในเรื่องอาการปวดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งอาการปวดหายไปหลังจากที่ดิฉันปฏิบัติโยคะเป็นประจำ และยังช่วยในการจัดการกับโรคเบาหวาน และความเครียด นอกจากช่วยในเรื่องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ความเห็น 0