เวลาคุณมีเรื่องไม่สบายใจคุณทำอย่างไร? บางคนกิน บางคนนอน บางคนเที่ยว หรืออื่นๆอีกมากมาย
แต่สำหรับเรื่องที่สำคัญมากๆแล้ว ความไม่สบายใจมักไม่ค่อยบรรเทาจนกว่าจะได้ระบายกับใครสักคน
ยิ่งถ้าเขาคนนั้นเป็นคนสำคัญและมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาให้กับเราได้ ยิ่งเป็นทางออกที่ดีงาม
แต่น้อยคนนักที่จะเลือกการบอกกล่าวความในใจนั้น
บางคนไม่แน่ใจว่าควรพูดไหม
บางคนอยากพูดแต่ไม่รู้จะพูดอย่างไร
บางคนพูดไปแล้วกลัวอีกฝ่ายไม่รับฟัง
แต่ที่หนักสุดน่าจะเป็นปฏิกิริยาของคนฟังที่หลายต่อหลายครั้งเราอาจรู้สึกว่ายิ่งทำให้เครียดมากขึ้น
บางครั้งจากแค่ความไม่เข้าใจกลายเป็นความขัดแย้ง
จนสุดท้ายเราต้องกลับมาเก็บระเบิดเวลาเข้ามาไว้ในหัวใจดังเดิม
ยิ่งอ่านมีใครที่หัวใจยิ่งห่อเหี่ยวบ้างคะ
แต่ข่าวดีคือ!! หมอยากจะบอกว่าเรามีวิธีในการสื่อสารกับคนข้าง ๆเมื่อเรารู้สึกเครียดหรือทุกข์ใจ
โดยเขารับฟังและมีท่าทีดีต่อใจเราได้ มีเหตุการณ์ตัวอย่างจากชีวิตจริง
หมอขอตั้งชื่อเรื่องนี้ว่า “การสื่อสารของสามีที่ฟังกี่ทีก็อึ้ง”
มีวันหนึ่งหมอต้องทำรายการ live เพื่อตอบปัญหา
เรามีอุปสรรคในการ live มากมาย ทั้งเน็ตกระตุก ไฟตก ฝนพรำ
แต่หมอกลับรู้สึกว่าเป็นการ live ที่สนุกและมีชีวิตชีวาที่สุดของตัวเองจากที่ทำมาหลายครั้ง
หลัง live เสร็จรีบเก็บข้าวของเพราะกลัวสามีจะรอ
ทันทีที่เจอหน้ากัน ประโยคแรกที่สามีเอ่ยด้วยสีน่าท่าทางที่จริงจังคือ
“เวลา live คุณไม่ควรจะปล่อยผม เพราะคุณเป็นคนไม่แต่งหน้าอยู่แล้ว มันดูโทรมมาก”
ฟังแล้วก็ตอบรับด้วยคำว่า “เหรอ” รู้สึกอึ้ง งง กับความรู้สึกภายในของตัวเองที่เกิดขึ้น
เมื่อหยุดนิ่งกับตัวเองสักพักจึงรู้ว่า
อ๋อ!! เสียใจ ข้างในใจบอกแบบนั้น
เลยลองเช็คความรู้สึกด้วยการถามตัวเองว่า “นี่แกเป็นคนว่าไม่ได้เหรอวะ?”
แต่ไม่ใช่แฮะ เหมือนมีความหมายของการเสียใจซ่อนอยู่
ในขณะที่เสียใจกับคำพูดเราก็ยังสัมผัสได้ถึงความหวังดีที่สามีส่งมาด้วย
แล้วเราก็กลับบ้านไปด้วยกันแบบเงียบ งง และเพลีย
ขณะนั่งรถ หมอเกิดความเข้าใจบางอย่างกับความรู้สึกดีที่ซ่อนอยู่ในคำตำหนิของสามี
“เธอกำลังอยากจะบอกฉันว่า ฉันรวบผมดูดีกว่าปล่อยผม และเธอหวังดีอยากให้ฉันดูดี ใช่รึเปล่า?”
สามีตอบแบบอัตโนมัติทันทีว่า “ใช่แล้ว”
“เอ่อแล้วเพราะอะไรไม่บอกแบบนี้แต่แรก?”
คำถามนี้เหมือนจะทำให้สามีได้ฉุกคิดอะไรบางอย่าง
ความอึ้งของเราทั้งสองดีขึ้นมาครึ่งหนึ่ง
แต่เหมือนคนถ่ายท้องไม่สุด
ยังค้างคาอะไรหนอ? หมอคิดในใจ
พลังงานความนิ่งของเรา อยู่ๆ สามีก็มีท่าที
อ่อนโยนลงแล้วถามว่า“งอนเหรอ?”
เพียงสองคำนี้เหมือนเป็นคำถามที่เปิดช่องทางการมีความรักความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างเราสองคน
อีกครึ่งที่ยังค้างในใจคือ เราอยากพัฒนาการสื่อสารระหว่างกัน เพื่อที่เราจะได้เป็นกำลังใจให้กัน เพราะเป็นประเด็นสำคัญของการใช้ชีวิตคู่และหากไม่ทำความเข้าใจกันก็จะเป็นปัญหาซ้ำซากที่บั่นทอนความสัมพันธ์ของเรา
หมอเลือกที่จะบอกความในใจกับสามี
"สังเกตไหมว่าหลายครั้งเธอพูดในด้านที่ไม่ดีก่อนทั้งที่เจตนาดีอย่างครั้งนี้"
ฉันรู้ว่าเธอหวังดี และฉันอยากให้ความหวังดีของเธอส่งมาถึงฉันได้โดยไม่มีอะไรมาบิดเบือน
การพูดด้านไม่ดีก่อนหลายครั้งมันทำให้ความหวังดีมาไม่ถึง
เป็นไปได้ไหมถ้าเราจะพูดถึงข้อดีหรือให้กำลังใจกันก่อน
"ก่อนที่เราจะเตือนเพื่อให้ดีขึ้น เราจะได้เป็นกำลังใจให้กัน"
สามีพยักหน้าเบาเบาอย่างเห็นด้วย แล้วเราสองคนก็กลับมามีรอยยิ้มให้กัน
“ขอบคุณนะคะที่รับฟัง”
สถานการณ์ขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาทางอารมณ์เมื่อครู่ หมอจึงอดไม่ได้ที่จะมานั่งบันทึกและลองถอดบทเรียน
กระบวนการสื่อสารที่เกิดขึ้นเพราะรู้สึกว่าเหตุการณ์ 20 นาทีที่เกิดขึ้นเมื่อครู่ช่างมีความหมาย
มี 3 ขั้นตอนใหญ่ในการสื่อสารปัญหากับคนใกล้ตัวประกอบด้วย
เตรียมตัว Warm up
1. ช้าลงเพื่อสังเกตว่าฉันรู้สึกอย่างไรกันแน่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น?
เช่น ฉันรู้สึกเสียใจ
2. ยอมซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง ( การเห็นความหมายของความรู้สึกจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดขึ้น)
3. มองหาความปรารถนาดีที่ซ่อนอยู่ของอีกฝ่ายให้เจอ ถ้าไม่เจอนั้นคือเป้าหมายที่เราต้องค้นหา
4. ตั้งลำก่อนพูดด้วยการเตือนตัวเองเสมอว่า ไม่มีใครอยากเป็นคนผิด
5. ลองตั้งคำถามกับตัวเองแล้วลองตอบมุมตัวเองก่อน ( จะช่วยบรรเทาอารมณ์ในการสื่อสารก่อนสื่อสารจริง)
Action
1. มองตาคู่สนทนา ( แสดงความตั้งใจในการสื่อสารเพื่อแก้ปัญหา)
2. บอกความรู้สึกแท้จริงภายในตัวเองอย่างซื่อตรง บอกเป้าหมายของการพูดซึ่งเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย
3. หากมีการพูดแทรกเราต้องกล้าที่จะขอให้รับฟังให้จบ
4. อนุญาตให้เกิดความเงียบ เพื่อให้ต่างคนต่างได้ทบทวน
5. เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายพูดความในใจเช่นกัน โดยเราเองก็ยินดีรับฟัง
Cool Down
1. เราได้พูดแล้วรู้สึกดีขึ้นอย่างไร
2. คู่สนทนารู้สึกอย่างไร
3. ขอบคุณคู่กรณีของเราที่รับฟังความในใจของเราและร่วมมือที่จะหาทางออกของปัญหาร่วมกัน ( เพราะการที่เราพูดความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นในใจเราก็เป็นการสะกิดความรู้สึกของเค้าเช่นกัน)
เหตุการณ์นี้แม้จะดูเล็กน้อยแต่มันก็ทำให้ความรักและความสัมพันธ์ของเรามั่งคงมากขึ้น เข้าใจกันง่ายขึ้น ปัญหาใหม่ๆจากต้นตอเดิม ๆ ลดน้อยลง
เราทุกคนสามารถสื่อสารด้วยความโปร่งใสและเข้าใจกับคนใกล้ตัวได้
เพราะการสื่อสารเป็นทักษะที่เราทุกคนฝึกฝนได้
Youtube : https://youtu.be/owLlWmzREtk ดื่มกาแฟอย่างไรให้เป็นประโยชน์
https://youtu.be/dY6g1L9eABA ดริปกาแฟดูแลใจกันเถอะ
Page FB ดีต่อใจ โดย หมอเอิ้น พิยะดา : https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=10156783544953550&id=306538978549
IG : https://www.instagram.com/earnpiyada/
Website : http://www.earnpiyada.com/
ติดตาม หมอเอิ้น พิยะดา Unlocking Happiness : https://www.youtube.com/watch?v=LDFG_ZwSL5E&feature=youtu.be
ความเห็น 5
Liyunhoong
สำหรับคนใกลชิดที่เห็นตัวตนกันทุกด้าน เรามักจะสื่อสารกันแบบไม่ไตร่ตรองความรู้สึกของอีกฝ่าย ถึงแม้จะมีเหตุผลเพราะความหวังดี เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องฝึกฝนมาก เพราะการสื่อสารที่ผิดพลาดสามารถทำลายความสัมพันธ์กับคนรอบง่ายได้ง่ายดาย ขอบคุณคุณหมอมากๆ ค่ะ ที่ให้ข้อคิดเตือนสติที่มีประโยชน์
21 เม.ย. 2562 เวลา 08.13 น.
kwsng
ดีมากคับ ต่อไปคงจะไม่พาด แล้ว
15 เม.ย. 2562 เวลา 21.28 น.
Tickety-Boo!!!🐈
ต้องดูจุดประสงค์ของผู้พูด... ว่าหวังดีหรือหวังร้ายกับเรา!!!
10 เม.ย. 2562 เวลา 04.46 น.
แต่ที่สำคัญที่สุดก็ตรงที่ว่า คนๆนั้นจะรับฟังและแก้ไขกับในสิ่งที่เราได้บอกออกไปหรือปล่าวก็ไม่รู้.
04 เม.ย. 2562 เวลา 09.54 น.
Wandee
ขอบคุณสำหรับวิธีพูดที่ให้กำลังใจผู้อื่น แม้ว่าเราจะพูดแนะนำเพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างสร้างสรรค์ ทำให้คนที่ได้รับการแนะนำรู้สึกได้รับพลังบวก เป็นคำแนะนำที่ยอดเยี่ยมมากค่ะคุณหมอ
04 เม.ย. 2562 เวลา 01.22 น.
ดูทั้งหมด