โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

วิกฤติ! “วัยรุ่นไทย” ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็น “เน็ตไอดอล”

Another View

เผยแพร่ 15 ม.ค. 2562 เวลา 13.00 น.

วิกฤติ! “วัยรุ่นไทย” ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็น  “เน็ตไอดอล” 

จากข่าวที่อยู่ดี ๆ ก็มีเจ้าของคลิปไวรัล ‘เพลงที่มีงูออกมา’ ที่มีคนกดแชร์แบบถล่มทลาย วันต่อมา คน ๆ นั้นก็ถูกเรียกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ไปแบบไม่ทราบสาเหตุ แล้วล่าสุด เราก็มีข่าวอีกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ที่ควรเป็นคำเรียกของคนที่มีความประพฤติน่าเอาเป็นแบบอย่าง กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติดล็อตใหญ่ขึ้นมา 

และถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ที่มีคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘เน็ตไอดอล’ แก้ผ้าขี่มอเตอร์ไซต์จนถูกจับ, เน็ตไอดอลถูกจับในคดีทำร้ายร่างกาย, เล่นการพนัน, ค้ายาเสพติด, สร้างความวุ่นวายบนท้องถนน ฯลฯ เกิดขึ้นให้ได้ยินมาตลอดช่วงเวลาหลายปีที่โซเชียลมีเดียบูมถึงขีดสุด 

อาจเป็นเวลาสำคัญที่เราจะต้องมาย้อนมองคำว่า ‘เน็ตไอดอล’ กันอีกครั้ง ว่าเรากำลังให้ ‘คุณค่า’ กับใครอยู่ และคนเหล่านี้ได้สร้าง ‘คุณค่า’ ที่คู่ควรให้กับสังคมตามที่ควรจะได้รับคำยกย่องจริง ๆ หรือเปล่า 

**หมายเหตุ** ผู้เขียนเชื่อว่า ‘เน็ตไอดอล’ ที่ประพฤติตัวเหมาะสมนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่พูดถึงในบทความนี้ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย ‘น่าสงสัย’ เพียงเท่านั้น

 จากตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสู่รูปเคารพที่บูชาได้ด้วยยอดไลก์  

เดิมคำว่า idol เป็นเรื่องทางศาสนา หมายถึงภาพหรือวัตถุใด ๆ ที่เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คล้าย ๆ รูปเคารพที่เอาไว้ชื่นชม บูชา และกราบไหว้อุทิศตนให้ ดังนั้นความหมายหลัก ๆ ของไอดอลคือการเป็นตัวแทนของสิ่งที่สูงส่งให้บูชา

แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ที่เพิ่มทางเลือกให้เวลาต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวหรือแรงบันดาลใจต่าง ๆ ก็สามารถเปิดโซเชียลมีเดียขึ้นมา แล้วหาที่เราคิดหรือเข้าใจไปเองว่า เขาน่าจะมอบสิ่งเหล่านั้นให้เราได้ แล้วสถาปนาให้เขาเป็นแบบอย่าง โดยเปลี่ยนสิ่งของกราบไหว้จากธูป เทียน เป็น การกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ แทนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีมาแต่โบราณ 

จาก ไอดอลเฉย ๆ ก็เพิ่มคำว่า "เน็ต" เข้าไปนำหน้า เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น 

พื้นฐานของเน็ตไอดอลยุคก่อนคือ ‘ดีและควรเอาเป็นแบบอย่าง’ 

จริง ๆ พื้นฐานการพยายามเป็นใครสักคนที่ว่านั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว จากที่เราเห็นได้จากดารา ศิลปิน นักกีฬา คนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงบรรดาเจ้าลัทธิที่มีแนวคิดบางอย่างยึดโยงผู้คนให้รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้ 

แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ แถมเมื่อไปถึงก็ไม่มีพื้นที่ให้คนรู้จักได้เท่าที่ควร เพราะต้องรอให้สื่อหลักมองเห็นความสำคัญและรายงานข่าวออกมาก่อน เราถึงจะมีโอกาสได้รู้จักคน ๆ นั้นมากขึ้น 

ซึ่งโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการมาถึงของอินเตอร์เน็ต ทำให้คนธรรมดาสามารถมองหา ‘ไอดอล’ ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ย้อนไปเมื่อประมาณ 15 ปี ก่อนจากเว็บบอร์ด Dek-D ที่มีคนเอารูปคนหน้าตาดีมาโพสต์ จนเริ่มเป็นที่รู้จัก และเราได้เห็นนักแสดงอย่าง เต้ย-จรินทร์พร, แต้ว ณัฐพร, เบเบ้ -ธันย์ชนก ฯลฯ ที่กลายเป็นเน็ตไอดอลรุ่นแรก ซึ่งมาจนถึงวันนี้  ทุกคนก็มีพฤติกรรมที่ดี ควรค่ากับการเอาเป็นแบบอย่างไม่เปลี่ยนแปลง 

สร้างตัวตนโดยไม่สนว่าจะสิ่งนั้นถูกต้องจริงหรือเปล่า 

ทีนี้เน็ตไอดอลก็มีการเปลี่ยนผ่านไปทีละน้อยตามกาลเวลา โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีพื้นที่ในการนำเสนอ ‘ตัวตน’ ของตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมองเห็น เราเลยเห็นบรรดาบล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์, สตีมเมอร์, อินฟลูเอ็นเซอร์, ไลฟ์โค้ช ฯลฯ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยคอนเทนต์ในช่วงแรก ๆ ก็ยังเน้นไปที่เรื่องดี ๆ สนุกสนาน ให้กำลังใจ กันตามที่ควรจะเป็น 

แต่เมื่อคนผลิตคอนเทนต์มีจำนวนมากขึ้น เราเลยเริ่มเห็น ‘คอนเทนต์’ บางประเภท ที่ใช้ความรุนแรง สะใจ มาเป็นจุดขาย เพราะเนื้อหาแบบนี้สร้างขึ้นได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนลงแรงคิดให้เสียเวลา บางคนเพียงแค่ออกมาพูด ด่า ใครต่อใครไปเรื่อย ๆ แล้วมีคำพูดบางอย่างไปโดนใจคนดู หรือมีเพียงหนึ่งคลิปที่โด่งดังกลายเป็นไวรัลขึ้นมา คนดูก็พร้อมสถาปนาตัวเองเป็นแฟนคลับและเรียกคน ๆ นั้นว่า ‘เน็ตไอดอล’ ได้ไม่ยาก 

พฤติกรรมต้องสงสัยของเน็ตไอดอล 

ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่เริ่มจากการโชว์ความสวย หล่อ น่ารักของคน ๆ นั้นผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดีย ที่เมื่อมีจำนวนคนแบบนั้นมากขึ้น เลยเริ่มมีคนนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ด้วยการเพิ่มความหวาบหวิว เซ็กซี่ มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งช่วงหลังมีพื้นที่ในแอพพลิเคชั่นใต้ดิน ที่เปิดช่องให้มีการ ‘โชว์’ วาบหวิวได้แบบอันเซ็นเซอร์ไม่มีการควบคุม ก็ยิ่งทำให้เน็ตไอดอลสายโชว์มีมากขึ้นตามไปด้วย ซ้ำร้ายที่สุด คือเมื่อมีคลิปหลุดการมีเพศสัมพันธ์ของบางคนออกมา ผ่านไปหนึ่งวัน คน ๆ นั้นก็ถูกเรียกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ไปด้วยอีกหนึ่งราย!

ยุค ‘นักเลงไซเบอร์’ ที่เปลี่ยนจากการนัดชกกันแบบซึ่ง ๆ หน้า กลายเป็นการอัดคลิปวิดีโอท้าตีท้าต่อย ทั้งนักเลงแก๊ง ‘วัด’ แก๊ง ‘เสี่ย’ แก๊งนู่นแก๊งนี่ ที่ใช้ยอดไลก์ของแฟนคลับ แทนอาวุธหมัดเท้าเข่าศอก ยิ่งบางคนมีอารมณ์คมคายมากเท่าไหร่ ยิ่งกวนประสาทคู่ต่อสู้มากเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนเป็นคน ‘เก่ง’ และมีคนติดตามขอเป็นแฟนคลับมากขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ เกือบ 90% ที่มีการท้าตีกันโลกออนไลน์ นั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง 

‘ยิ่งห่าม ยิ่งด่าแรง ยิ่งเป็นที่นิยม’ นี่คือพฤติกรรมการสร้างตัวของเน็ตไอดอลยุคใหม่ที่เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะแทบไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไรให้เสียเวลา แค่ด่า ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ให้หยาบคายที่สุด ให้มีคนแชร์ไปด่าต่อให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่ากระแสที่ได้กลับมาจะดีหรือแย่ เพราะเพียงแค่เป็นที่รู้จัก ก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เน็ตไอดอล’ เรียบร้อย อย่างที่เราเห็นเกมเมอร์เจ้าของวลี ‘สวยพี่สวย’ ที่เล่นเกมไม่ต้องเก่งมาก แต่มีจุดขายที่แอ็คชั่นรุนแรงเวลาเล่นเกม บางคนอาจมองว่านี่เป็นเพียงตัวตลกบนโลกออนไลน์ แต่กลายเป็นว่าทุกคลิปที่เขาลงมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ถึงขนาดมีสปอนเซอร์มาสนับสนุนให้ช่วยขายของเป็นที่เรียบร้อย แถมยังมีผู้กำกับบางคนที่มักจะหา ‘เน็ตไอดอล’ สายนี้ไปเล่นหนังอยู่เป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้บางคนมองว่านี่คือทางลัดสู่วงการบันเทิงไปอีก

‘แกล้งกันไปแกล้งกันมา’ อีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มเป็นนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นของคลิปแนว Jack Ass และแก๊งเฟดเฟ่ ที่มาจากการแกล้งกันตลก ๆ ตอนหลังเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบที่หนักข้อขึ้น เพราะการได้เห็นใครสักคนถูกแกล้งยิ่งหนักมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความสะใจของคนดูที่ไม่อยู่ร่วมเหตุการณ์มากขึ้นเท่านั้น บางคนยอมที่จะเผาของรักของเพื่อน บางคนก็วางยาเพื่อนจนท้องเสียเกือบตาย เพียงเพื่อจะแลกกับความสะใจเพียงชั่วไม่กี่นาทีในคลิปเท่านั้น หรือบางกลุ่มก็ออกไปป่วนเมืองสร้างความเดือดร้อนจนโดนจับมาปรับทัศนคติก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ 

จุดจบสุดท้ายคือถูกจับเพราะพฤติกรรมล้ำเส้น

ถ้าดูจากพฤติกรรมข้ามต้น จะเห็นว่าหลายพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายมาก ๆ หากตัวเน็ตไอดอลคนนั้น ‘ล้ำเส้น’ บางอย่างขึ้นมา ตั้งแต่ข้อหาอนาจารจากการโชว์เรือนร่างวาบหวิวที่ต้องโป๊เปลือยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองคนดูที่อยากเห็นอะไรมากขึ้นกว่าที่เคย 

การเล่นพนันออนไลน์ ปล่อยเงินกู้ ท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าคนอื่น ป่วนเมือง แกล้งเพื่อน ก็ล้วนเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสียงต่อการถูกจับมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากเราจะกลับมามองที่นิยามของคำว่า ‘เน็ตไอดอล’ กันใหม่แล้ว เราอาจจะต้องมาพูดถึงมาตรการควบคุมและจัดการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อรักษาความสงบและป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ที่ขาดวุฒิภาวะและมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็น ‘ไอดอล’ ประพฤติตัวตามแบบนั้น 

ไม่ใช่แค่เมื่อกระทำผิด ก็ออกมาเปิดการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ แล้วก็ลอยตัวกลับไปทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยที่ไม่มีอะไรดีขึ้นมา

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 86

  • Kampol
    เน็ตไอดอลไร้สมอง ในทางที่ไม่ดี
    15 ม.ค. 2562 เวลา 13.05 น.
  • วิกฤติพอๆกับฝุ่นตอนนี้สินะ กะลาจริงๆ
    15 ม.ค. 2562 เวลา 13.06 น.
  • Jin
    เดี๋ยวเน็ตไอดอลรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ขายตัวอวดของแบรนด์เนม เด็กมัธยมควงเสี่ย หนุ่มต่างชาติ โพสต์รูปอวด น้องเอ้ยไม่คิดถึงอนาคตบ้างรึ
    15 ม.ค. 2562 เวลา 13.28 น.
  • Chinna Ozone
    มีแต่อยากเด่นอยากดังตามโฮโมนเพศ เป็นภาพสะท้อนถึงความคิด สังคม คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม ค่านิยม ของประเทศที่เป็นอยู่ และพ่อแม่คงได้แต่ทำงานหาเงิน ไม่มีเวลามาใส่ใจลูก เฮ้อคงพัฒนาชาติได้มั้งคะ 5555
    15 ม.ค. 2562 เวลา 13.42 น.
  • somtom
    เน็ตไอbad
    15 ม.ค. 2562 เวลา 13.19 น.
ดูทั้งหมด