โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

เจาะยุทธศาสตร์ 8 ประเทศสำคัญกับแผนการรับมือ COVID-19! - เพจพื้นที่ให้เล่า

TOP PICK TODAY

เผยแพร่ 21 มี.ค. 2563 เวลา 05.27 น. • เพจพื้นที่ให้เล่า

เรียกว่าเป็นเหตุการณ์โรคระบาดครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งสำหรับมนุษยชาติ เมื่อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือ COVID-19 ได้แพร่ระบาดไปทั่วโลกจนมียอดผู้ติดเชื้อสะสมปัจจุบันมากถึง245,612 คนและเสียชีวิตกว่า10,048 คน เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่การแพร่ระบาดยังคงลุกลามอย่างต่อเนื่อง บางประเทศประสบความสำเร็จในการวางแผนรับมือและประกาศออกจากภาวะฉุกเฉิน บางประเทศยังคงอยู่ในสนามต่อสู้ และบางประเทศอยู่ในช่วงวิกฤต วันนี้เราจะพาทุกคนไปเจาะลึกยุทธศาสตร์การรับมือ COVID-19 ของ8 ประเทศใหญ่ว่าพวกเขารับมืออย่างไร

ประเทศจีน

นครอู่ฮั่น ประเทศจีนเป็นจุดแรกที่โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ถูกค้นพบ โดยในช่วงแรกข่าวการแพร่ระบาดยังไม่รุนแรงมากนัก เมื่อมียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นสถานการณ์จึงบีบให้ทางการต้องออกมายอมรับและขอโทษประชาชนที่ไม่เปิดเผยข้อมูลจริงตั้งแต่ต้น แม้จะตั้งหลักช้าแต่มาตรการการรับมือของจีนก็เด็ดขาดและรวดเร็วมากทางการเริ่มต้นที่การสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นและอีกหลายสิบเมืองใกล้เคียงเพื่อจำกัดพื้นที่การระบาดของโรคทันที นอกจากนี้ยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทุกทางเข้าออกของที่พักอาศัยโดยขอข้อมูลจากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและระดมอาสาสมัครไปเคาะประตูเพื่อขอวัดอุณหภูมิ

นอกจากนี้ยังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้วยการสร้างแอปพลิเคชั่นเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนที่ยังไม่ติดเชื้อ ช่วยให้รัฐบาลควบคุมการเดินทางของกลุ่มเสี่ยงและควบคุมการระบาดของโรคได้ง่ายขึ้น และล่าสุดเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทางการจีนได้ประกาศว่าที่จีนไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ที่เกิดจากการแพร่ระบาดภายในประเทศติดต่อกันเป็นวันที่สองแล้ว เรียกได้ว่าความรวดเร็วและเด็ดขาดของผู้นำจีนนำพาประเทศนี้ให้รอดพ้นวิกฤตได้อีกครั้ง

.

ประเทศไต้หวัน

ต้องบอกว่าเป็นประเทศที่รับมือได้รวดเร็วและไหวตัวทันอันดับต้นๆ ของโลก เมื่อวันที่31 ธันวาคม2562 หลังจากที่ทางการจีนแจ้งต่อองค์กรอนามัยโลกเรื่องผู้ป่วยโรคปอดอักเสบ ซึ่งในเวลานั้นยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่สัญญาณเพียงเท่านี้ก็มากพอที่จะทำให้ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันตื่นตัวและส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปที่จีนเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงทันที แม้โรคระบาดจะยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างชัดเจน แต่ทางการไต้หวันก็สั่งตรวจผู้โดยสารที่มาจากอู่ฮั่นทันทีเพื่อจำกัดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคระบาดในประเทศ เมื่อข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดถูกยืนยัน ไต้หวันก็เริ่มสั่งการให้โรงพยาบาลทั่วประเทศเริ่มทดสอบผู้ป่วยและรายงานผลทันทีหากเจอผู้ติดเชื้อ ด้วยความที่ไต้หวันเริ่มตรวจเข้มคนไข้อย่างรวดเร็ว ด้วยการสอบถามข้อมูลการเดินทางอย่างละเอียดทำให้ทางการสามารถติดตามหาต้นตอของการแพร่ระบาดและแยกตัวผู้เกี่ยวข้องออกไปดูแลได้อย่างทันท่วงทีส่งผลให้ COVID-19 ไม่ระบาดในชุมชน

นอกจากนั้นเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ศูนย์ควบคุมโรคไต้หวันได้ตั้งศูนย์บัญชาการโรคระบาดเพื่อออกมาตรการควบคุมการระบาด นอกจากนี้ยังมีการระดมบุคลากร จัดสรรเงิน และให้คำแนะนำการฆ่าเชื้อในสถานศึกษาอีกด้วย หลังจากมีการยืนยันพบผู้ติดเชื้อรายแรก ทางการไต้หวันก็สั่งตรวจสอบเที่ยวบินจากอู่ฮั่นและจีนโดยอนุญาตให้คนไต้หวันเท่านั้นที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานกับสถานีโทรทัศน์และวิทยุเพื่อถ่ายทอดแถลงการที่เกี่ยวกับโรคระบาดทุกชั่วโมงเพื่อให้ประชาชนรับทราบข่าวสาร ข้อปฏิบัติ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ผลจากการทำงานหนักของทางการไต้หวันและการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาทำให้ไต้หวันมีผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่108 คน เสียชีวิตเพียง1 คน และรักษาหายแล้ว26 คน

.

ประเทศเกาหลีใต้

จริงๆแล้วต้องบอกว่าเกาหลีใต้เป็นประเทศที่สามารถควบคุมการระบาดของโรคระบาด COVID-19 ได้ภายในระยะเวลาเพียง3 สัปดาห์ ด้วยมาตรการที่ทุ่มเทกำลังและเวลาให้กับการคัดกรองผู้ติดเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพผ่านมาตรการ3 ข้อ ได้แก่ การแกะรอย(Trace) การตรวจสอบ(Test) และการรักษา(Treat) เพราะบทเรียนที่ได้จากการติดเชื้อโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง(MERS) ในปี2558 ทำให้เกาหลีใต้สามารถรับมือกับโรคระบาดครั้งนี้ได้อยู่หมัด โดยวันที่27 กุมภาพันธ์ เกาหลีใต้เริ่มจัดตั้งระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อเพื่อตรวจสอบทุกคนได้โดยไม่ต้องลงจากรถเรียกว่า Clinic Drive Thru ที่สามารถตรวจสอบ ซักถาม และเก็บตัวอย่างจากจมูกและคอไปตรวจหาเชื้อได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที

หลังจากนั้นรัฐบาลใช้เวลาเพียง17 วัน ในการสร้างระบบคัดกรองผู้ติดเชื้อครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ โดยจัดตั้งศูนย์ตรวจโรคหลายจุดและอนุญาตให้ทุกคนในเกาหลีใต้ รวมทั้งชาวต่างชาติเข้าตรวจหาเชื้อได้ฟรี โดยไม่ต้องมีอาการ ตัวอย่างที่เก็บได้จากศูนย์ตรวจจะถูกส่งไปให้ห้อง Lab 94 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งมีทีมทำงานอยู่ตลอด 24 ชั่วโมง ทำให้สามารถรู้ผลตรวจได้ภายใน5 - 6 ชั่วโมงเท่านั้น ซึ่งระบบนี้ทำให้เกาหลีตรวจหาผู้ติดเชื้อได้มากถึง20,000 คน ต่อวัน และเพื่อรองรับการตรวจประชาชนจำนวนมากรัฐบาลจึงเร่งกำลังผลิตชุดตรวจสอบให้ได้14,000 ชุด ต่อสัปดาห์เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ

เมื่อทราบผลตรวจแล้วรัฐบาลจึงจะขอให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่หนักกักตัวเองอยู่ในที่พักเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และขอกันที่ในโรงพยาบาลให้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักเท่านั้น ผลของการจัดการโรคระบาดของเกาหลีใต้ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตเพียง0.6% ในขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่3.4% 

.

ประเทศญี่ปุ่น

เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นเป็นอันดับต้นๆของโลก ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนชาวญี่ปุ่นเรื่องมาตรการการรับมือกับ COVID-19 กันอย่างหนาหู โดยเฉพาะหลังจากเหตุการณ์การระบาดครั้งใหญ่ในเรือไดมอนด์ ปรินเซส ซึ่งมีผู้โดยสารและลูกเรือรวม3,700 คน ซึ่งในเวลานั้นทางการญี่ปุ่นสั่งกักกันและห้ามคนบนเรือขึ้นฝั่งเป็นเวลา2 สัปดาห์ ศาสตราจารย์เคนทาโร อิวาตะ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโกเบได้เดินทางไปยังเรือสำราญลำนี้ และได้ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวBBC ว่า ขั้นตอนและการจัดระเบียบพื้นที่กักกันโรคบนเรือไม่สามารถรับประกันได้ว่าผู้โดยสารที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งจะปลอดจากเชื้อไวรัส ผู้ติดเชื้อที่หลุดรอดออกมาจากเรือลำนี้กลายเป็นกลุ่มผู้แพร่เชื้อที่ทำให้ญี่ปุ่นต้องรับมือกับการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อจำนวนมาก จนช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์รัฐบาลญี่ปุ่นจึงเริ่มมาตรการห้ามนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้าญี่ปุ่น และลามมาสู่การคัดกรองนักท่องเที่ยวที่ผ่านประเทศกลุ่มเสี่ยง

การระบาดของโรคนี้ไม่ได้อยู่ที่โตเกียวอย่างเดียว แต่กระจายไปหลากหลายจังหวัดทั่วญี่ปุ่นเรียบร้อยแล้ว แม้กระทั่งฮอกไกโด จังหวัดเหนือสุดของประเทศ ได้มีการประกาศรายจังหวัดถึงการยกเลิกกิจกรรมทางสังคม แต่ส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นก็ยังทำงานและดำเนินชีวิตตามปกติ ทางการเน้นการให้ความรู้ในการดูแลความสะอาดของตัวเอง และสิ่งท่ีควรหลีกเลี่ยง ถึงอย่างนั้นทางการก็เตรียมหน้ากากอนามัยและข้าวของจำเป็นให้สำหรับประชาชน โดยเสิร์ฟถึงหน้าบ้านคนที่เข้าข่ายกักตัวเลยทีเดียว ทำให้กระสอบตอบรับไม่ได้ดิ่งไปด้านลบทั้งหมด แม้สถานการณ์ติดเชื้อจะยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง แต่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล(IOC) ยังยืนยันว่ายังไม่มีการตัดสินใจเลื่อนการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ซึ่งมีกำหนดการเริ่มต้นวันที่24 กรกฎาคม- 9 สิงหาคม2563 นี้
.

ประเทศอิตาลี
สถานการณ์ในอิตาลีตอนนี้เรียกได้ว่าเลวร้ายพอสมควรเพราะมียอดผู้ติดเชื้อสะสมกว่า41,045 คน และมียอดผู้เสียชีวิตมากถึง3,405 คน แซงหน้าจีนไป157 คน โดยกระทรวงสาธารณสุขอิตาลีเพิ่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อจัดการกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้เพียง1 เดือนเท่านั้น ก่อนจะเริ่มพบผู้ติดเชื้อรายแรกและต้องรับมือกับการแพร่ระบาดที่เกิดตามมาอย่างฉับพลัน แม้อิตาลีจะเป็นประเทศแรกในยุโรปที่แบนเที่ยวบินที่เดินทางจากจีน แต่เพราะเป็นประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ทำให้อาจมีผู้ติดเชื้อเดินทางเข้ามา รวมถึงอาจมีผู้โดยสารที่ต่อเที่ยวบินจากประเทศอื่นเข้ามาด้วยเช่นกัน จึงเป็นอีกช่องทางของการระบาดที่ยากจะควบคุมได้

รัฐบาลอิตาลีได้ประกาศปิดเมืองทั่วประเทศมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยหวังจะช่วยลดการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อได้ แต่จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตก็ยังคงพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจน จูเซปเป คอนเต นายกรัฐมนตรีของอิตาลีได้ประกาศให้ประชาชนทั่วประเทศเก็บตัวอยู่ในที่พัก เว้นแต่ว่าจะมีความจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินเท่านั้น โดยมาตรการนี้จะมีผลไปจนถึงต้นเดือนเมษายน ตอนนี้โรงพยาบาลของอิตาลีไม่เพียงพอต่อการรักษาคนไข้อีกต่อไป พวกเขาต้องใช้ทรัพยากรและบุคลากรการแพทย์อย่างคุ้มค่าที่สุดในเวลาที่จำกัด ผู้สูงอายุที่อ่อนแอเป็นกลุ่มแรกที่เสี่ยงจะไม่ได้รับการรักษาที่สุด เนื่องจากโอกาสช่วยเอาไว้ได้ต่ำกว่าหนุ่มสาว สร้างความสะเทือนขวัญและสะเทือนใจต่อชาวอิตาลีและชาวโลกเป็นอย่างมาก

แต่ในช่วงดึกวันที่12 มีนาคม อิตาลีได้รับการช่วยเหลือจากทีมแพทย์จีนจากมณฑลเสฉวน9 คน ที่เดินทางมาพร้อมเวชภัณฑ์กว่า31 ตัน อิตาลีคาดว่าจะสามารถจัดการกับสถานการณ์การระบาดได้ดีขึ้นหลังจากได้รับคำแนะนำด้านการรักษา การใช้ยา และการควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลจากจีน

.

ประเทศอิหร่าน

หลังจากผ่านมรสุมของการติดเชื้อที่เพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ในที่สุดอิหร่านก็จะได้รับความช่วยเหลือ เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะทำงานองค์กรอนามัยโลกได้เดินทางมาถึงอิหร่านเพื่อให้อิหร่านได้ทบทวนมาตรการที่ใช้ในการรับมือกับโรคระบาดอีกครั้ง นอกจากนี้ยังให้คำแนะนำทางเทคนิคกับอิหร่านอีกด้วย ซึ่งหลังจากการปรับมาตรการรับมือ COVID-19 โดยองค์กรอนามัยโลก นางอาลี ราบีอี โฆษกรัฐบาลอิหร่านได้ออกแถลงให้ขยายเวลาปิดโรงเรียนเพื่อควบคุมการระบาด

แม้ตอนนี้อิหร่านจะกลายเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของเชื้อนี้ในตะวันออกกลาง แต่เมื่อวันที่16 มีนาคม สำนักข่าวซินหัวก็ได้ส่งต่อข่าวดีจากอิหร่านถึงทั่วโลก เมื่อกระทรวงสาธารณสุขและแพทย์ศาสตร์ศึกษาของอิหร่านได้เผยแพร่ความคืบหน้าผ่านทางสถานีโทรทัศน์เพรส ทีวีว่า… ขณะนี้มีประชาชนชาวอิหร่านเข้ารับการคัดกรองโรคเพื่อตรวจหาเชื้อ COVID-19 มากกว่า10 ล้านคนแล้ว เมื่อการคัดกรองเป็นไปอย่างเข้มข้นก็หวังว่าทางการจะสามารถประคองสถานการณ์การแพร่ระบาดไม่ให้รุนแรงขึ้นได้ แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อวันที่ 19 มีนาคมสหรัฐฯ ได้ประกาศคว่ำบาตรอิหร่านด้วยข้อกล่าวหาว่าอิหร่านให้การสนับสนุนผู้ก่อการร้ายแทนที่จะนำเงินมาพัฒนาระบบสาธารณะสุขเพื่อประชาชน ซึ่งเหตุการณ์นี้ส่งผลให้อิหร่านประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ทำให้ต้องตกที่นั่งลำบากอีกครั้ง

.

ประเทศอินเดีย

มาช้า แต่มานะจริงๆ กับประเทศนี้ เมื่อวันที่11 มีนาคม อินเดียได้ตรวจพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนแรกเป็นนักศึกษาแพทย์วัย20 ปีจากรัฐเกรละ และอินเดียเริ่มกักกันคนรอบตัวผู้ติดเชื้อทันทีหลังจากนั้น ต่อมาสำนักสื่อสารองค์กร พระธรรมฑูต สายประเทศอินเดีย-เนปาล ได้โพสต์ข้อความประกาศปิดประเทศชั่วคราว โดยห้ามนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศทันที ตั้งแต่วันที่13 มีนาคมจนถึงวันที่ 15 เมษายน และเนื่องจากการแพร่ระบาดยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทางการอินเดียจึงตัดสินใจปิดแหล่งท่องเที่ยวที่ดึงดูดคนอย่าง ทัชมาฮาล ที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลักของประเทศไม่กี่วันที่ผ่านมา โดยหวังลดการรวมตัวของกลุ่มคนและลดโอกาสในการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจนถึง147 คน

นอกจากนี้รัฐบาลยังเพิ่มมาตรการควบคุมโรคโดยการประกาศปิดพื้นที่สาธารณะรวมถึงห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังสั่งระงับการออกวีซ่าเกือบทุกประเภทและแนะนำให้ประชาชนเลี่ยงการเดินทาง โดยสั่งระงับการเดินทางของรถไฟกว่า100 เส้นทาง เพื่อลดโอกาสการเดินทางที่เบียดเสียดและเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปัจจุบันมียอดผู้ติดเชื้อสะสมในอินเดียอยู่ที่194 คน เสียชีวิต4 คน และรักษาหายแล้ว20 คน โดยนายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ประกาศเคอร์ฟิวให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้านในวันอาทิตย์ที่22 มีนาคม7.00 น. ถึง21.00 น. เพื่อต่อยอดแนวทางการชะลอการแพร่ระบาดของโรค นโยบาลที่เข้มแข็งทำให้กำลังใจประชาชนดีและรู้หน้าที่ว่าต้องทำอย่างไร

.

ประเทศอังกฤษ

ไม่พูดถึงไม่ได้ ในเมื่อนโยบายการควบคุมโรคของประเทศนี้แปลกเกินใคร! เรียกว่าเป็นประเทศที่มียุทธศาสตร์แตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด เมื่อผู้นำอังกฤษประกาศชัดเจนว่าจะ "ไม่ค้นหาผู้คิดเชื้อไม่ปิดโรงเรียน ไม่ปิดประเทศ และไม่ยกเลิกกิจกรรมทางสังคมใดใด" แม้จะอยู่ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติของสหภาพยุโรป แต่ท่าทีของรัฐบาลอังกฤษที่มีต่อการรับมือ COVID-19 กลับทำให้ทั่วโลกตั้งคำถาม 

เนื่องจากยุทธศาสตร์ของอังกฤษเกิดจากการรวมตัวกันของ2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎีสะกิด(Nudge Theory) และ แนวคิดภูมิคุ้มกันรวมหมู่(Herd Immunity) ซึ่งมีวิธีการคือปล่อยให้เกิดการระบาดของเชื้ออย่างค่อยเป็นค่อยไปตามแบบจำลองจำนวนผู้ป่วยแบบกราฟระฆังคว่ำ เพื่อจำกัดจุดสูงสุดของผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ในจุดที่รัฐรับมือไหว โดยรัฐคาดว่าการระบาดจะใช้เวลาราว3 เดือน และกราฟจะขึ้นสู่จุดสูงสุดและตกลงในช่วงหน้าร้อนพอดี

ในส่วนของทฤษฎีสะกิด(Nudge Theory) เป็นทฤษฎีที่ทำได้โดยการที่รัฐส่งเสริมพฤติกรรมอันน่าพึงประสงค์ต่างๆ ของประชาชน เพื่อช่วยในการควบคุมโรค เช่น การล้างมือ และการกักกันตัวเองเมื่อป่วย ทำให้ประชาชนร่วมมือและปฏิบัติตาม โดยช่วงระยะนี้หากใครพบว่าตัวเองติดเชื้อแต่ไม่มีอาการหนักมากก็ให้รักษาตัวอยู่บ้านไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาล

โดยไม่นานมานี้กระทรวงสาธารณสุขอังกฤษเผยว่าจำนวนชาวอังกฤษที่ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นถึง26% ใน24 ชั่วโมง ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่1,950 คน เสียชีวิตแล้ว56 คน ล่าสุดสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะ ได้เลื่อนเสด็จเยือนอังกฤษเนื่องจากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโรค ส่งผลให้อังกฤษมีมาตรการรับมือที่เข้มข้นขึ้น ล่าสุดอังกฤษเริ่มยอมถอย กลืนน้ำลายประกาศปิดโรงเรียนและประกาศปิดรถไฟฟ้าใต้ดินในกรุงลอนดอนกว่า40 สถานี โดยหวังจะช่วยให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้

.

เอาเป็นว่าเราพอจะเห็นจากกลยุทธ์ของประเทศต่างๆแล้วว่ามี อะไรบ้างที่เวิร์ค ควรทำ และ อะไรบ้างที่ไม่เวิร์ค อย่าทำ! 

ได้แต่คาดหวังและเอาใจช่วยว่าประเทศของเรา รวมถึงตัวเราเองจะนำมาปรับใช้เพื่อหลีกหนีเอาตัวรอดจากเชื้อตัวร้าย COVID-19 ให้ไกลที่สุด!

อย่าคิดว่า "ตัวฉัน" แข็งแรงออกไปข้างนอกได้ ให้คิดไว้เสมอว่าตัวเราอาจจะมีความเสี่ยงที่พาให้เชื้อไปติดคนอื่นได้ เพียงแต่มันไม่แสดงอาการ เพราะฉะนั้นถ้าสามารถ Work From Home ทำงานที่บ้านได้ จงทำอย่างแข็งขัน! ไม่ต้องไปคอนเสิร์ต ไม่ไปปาร์ตี้ ไม่ไปเลี้ยงฉลองใดใด ร่วมกันมีสามัญสำนึกกับเพื่อนมนุษย์คนอื่นๆ โดยรักษาความสะอาด กินร้อน ช้อนตัวเอง ยืนและนั่งห่างจากคนอื่นเป็นระยะ 1 เมตรเสมอ 
ขอบคุณทีมแพทย์และทุกคนที่ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างสุดความสามารถ
ขอให้ทุกคนรอดปลอดภัย :)

อ้างอิง

1 / 2 / 3 / 4 /5 / 6 / 7 / 8 / 9

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 11

  • 🌸JEANS🌸
    ไทยปิดสถานที่ต่างๆ แต่เปิดรับคนต่างชาติเข้ามาเรื่อยๆ
    21 มี.ค. 2563 เวลา 19.35 น.
  • nauchawee nun
    สุดยอดมากเกาหลีใต้. เขาทำตรงจุดและใช้เวลารวดเร็ว แต่ไทยงบไม่มี คนบริหารจัดการไม่เป็นตอ้งพึ่งตัวเองกันเยาะๆๆนะอย่าเห็นแก่ตัวกัน เพื่อสว่นรวมปิดอยุ่บ้านกักกันตัวเองถ้ารุ่ว่าอยุ่ในกลุ่มเสี่ยง
    21 มี.ค. 2563 เวลา 14.24 น.
  • แอน แสงอรุณออโต้คาร์
    (red flag)(red flag)(red flag) สมัครผ่านลิงค์ ได้เลยนะคะ (red flag)(red flag)(red flag) (check mark)บริษัทวิริยะประกันภัย (เจอ จ่าย จบ) (thumbtack)แพคเกจ 455 เจอ จ่าย จบ https://www.tqm.co.th/microinsure/register?productid=28726&producttype=pa&s=602551 (thumbtack)แพคเกจ 555 เจอ จ่าย จบ https://www.tqm.co.th/microinsure/register?productid=28727&producttype=pa&s=602551 (thumbtack)แพคเกจ 299 เจอ จ่าย จบ https://www.tqm.co.th/microinsure/register?productid=28825&producttype=pa&s=602551
    21 มี.ค. 2563 เวลา 09.57 น.
  • ขอให้ประสบความสำเร็วๆน่ะค่ะ จะนอนรออยู่ที่นี่
    21 มี.ค. 2563 เวลา 08.31 น.
  • จิรศักดิ์🧑‍🔧🇹🇭
    เป็นเรื่องที่ยอมรับกันไม่ได้มากนักกับการเดินไปใหนมาใหนแล้วมีใครเอาเครื่องวัดอุณหภูมิมาจ่อที่หัว สมาร็ทโฟนสามารถเพิ่มฟังก์ชั่นวัดอุณหภูมินี้ได้ถ้าจะทำ จากเดิมที่วัดอุณหภูมิเฉพาะภายในเครื่อง ก็ให้มีวัดภายนอกเครื่อง วัดแล้วหันจอแสดงผลให้เจ้าหน้าที่ดู ที่สำคัญทดแทนการซื้อเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้ไปได้ระดับหนึ่ง
    11 เม.ย. 2563 เวลา 05.34 น.
ดูทั้งหมด