รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น และเบอร์กิท ฮานสล์ ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยถึงความร่วมมือใหม่วันนี้เพื่อประเมินแนวทางหาช่องทางการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในห้าเมือง คือ ขอนแก่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ระยอง และนครสวรรค์
"การเป็นหุ้นส่วนในการวิจัยร่วมกับธนาคารโลกในครั้งนี้จะเป็นก้าวสำคัญสำหรับมหาวิทยาลัยสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย โดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมกับมหาวิทยาลัยเครือข่ายได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะสร้างองค์ความรู้ เสริมสร้างศักยภาพความสามารถในการลงทุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดึงดูดและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะอื่นๆ ในเมืองขอนแก่นรวมถึงเมืองเป้าหมายในการวิจัยและถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ไปสู่เมืองอื่นๆ ของประเทศไทย"
รศ.นพ.ชาญชัย กล่าว
ความร่วมมือนี้จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างธนาคารโลก นักวิจัยชาวไทย สถาบันภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ ตลอดจนเจ้าหน้าที่จากห้าเมืองในโครงการจัดหาเงินทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมือง โดยมีองค์ประกอบสำคัญคือการร่วมวิจัยบริบทของแต่ละเมืองและการเปรียบเทียบกับแนวปฏิบัติทั่วโลก และการหารือและสะท้อนมุมมองของนักลงทุนและนักการเงินระหว่างประเทศ เพื่อระบุประเด็นปัญหา ข้อจำกัด และทางออก
"ขณะนี้มีพื้นที่เมืองกำลังผุดขึ้นมาภายนอกกรุงเทพมหานคร ซึ่งสร้างโอกาสให้กับประชากรในพื้นที่" ดร. ฮานสล์ กล่าว "เนื่องจากเมืองเหล่านี้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนาเมือง เราหวังว่าความร่วมมือนี้จะทำให้เมืองเหล่านี้ได้มีทางเลือกในการพัฒนาเมืองของตนได้ดียิ่งขึ้น"
ภายในปี 2593 มีการคาดการณ์ว่าร้อยละ 67 ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมือง โดยในเอเชีย ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองจะมีแนวโน้มมากขึ้นถึงร้อยละ 61 และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองที่มีการจัดการอย่างดีจะทำให้เมืองมีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและมีการดูแลคนทุกกลุ่มในสังคมมากขึ้น มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ดีขึ้น
"ในปัจจุบัน เมืองต่างๆเผชิญข้อจำกัดด้านงบประมาณและศักยภาพ ซึ่งปิดกั้นโอกาสที่จะได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและสร้างเมืองให้เป็นเมืองน่าอยู่" รศ.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าว "เราหวังว่าความร่วมมือกับธนาคารโลกครั้งนี้จะช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดดังกล่าวและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น"
โครงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนวิจัยจากฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) โดยใช้สัญญาการให้บริการที่ปรึกษา (Reimbursable Advisory Services) ซึ่งเป็นเป็นโครงการที่ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่มีรายได้สูงตามที่ประเทศต้องการโดยให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค การบริการวิเคราะห์วิจัย และการสนับสนุนในการนำไปดำเนินการ
ธนาคารโลกมีความร่วมมือกับประเทศไทยมาเป็นเวลากว่า 70 ปี ในช่วงแรก ธนาคารโลกให้ความช่วยเหลือทางการเงินโดยตรงสำหรับการพัฒนาในประเทศไทยโดยมุ่งเน้นการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน การชลประทาน การผลิตไฟฟ้า รถไฟ และท่าเรือ ซึ่งล้วนช่วยกระตุ้นกิจกรรมการผลิตและการค้าในประเทศ ปัจจุบัน ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางที่มีพลวัตรด้านการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประโยชน์จากความร่วมมือกับธนาคารโลกจะไม่ใช่แต่เพียงด้านการเงินเท่านั้นแต่ยังครอบคลุมถึงบริการให้คำปรึกษาและการศึกษาวิจัยจากธนาคารโลกอีกด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 พ.ค. 65)
ความเห็น 0