โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

“บิกินี่” เรื่องของผ้า 2 ชิ้นกับวิวัฒนาการสิทธิผู้หญิง

นิตยสารคิด

อัพเดต 27 เม.ย. 2566 เวลา 23.48 น. • เผยแพร่ 27 เม.ย. 2566 เวลา 23.48 น.
bikini-cover
bikini-cover

เมื่อแสงแดดเป็นใจ อากาศร้อนเป็นเหตุ ก็ถึงเวลาไปเซย์ไฮกับท้องทะเล นุ่ง “บิกินี่” ตัวโปรดอวดหุ่นอย่างมั่นใจ ในขณะที่อากาศกำลังร้อนระอุนี้ เราจะพาไปสำรวจเรื่องราวของไอเท็มหน้าร้อนสุดฮิตที่ทำจากผ้า 2 ชิ้น สีสันสดใสสู้แดด ซึ่งถูกถักทอด้วยเส้นใยที่บอกเล่าประวัติศาสตร์และการฟันฝ่ามายาคติที่อาจทำให้หลายคนต้องอึ้ง

5441885.jpg

Freepik

หนึ่งในสัญลักษณ์การฉลองอิสรภาพ
ในยุควิคตอเรีย หรือประมาณปี ค.ศ. 1890 ปลาย ๆ จนถึง 1920 ต้น ๆ ถือเป็นยุคแรกเริ่มที่ผู้หญิงได้รับอนุญาตให้ลงเล่นที่ชายหาดสาธารณะได้ โดยในยุคนั้นมีเงื่อนไขเรื่องการแต่งกายว่า ผู้หญิงจะต้องแต่งตัวให้มิดชิดหัวจรดเท้า เดินทางด้วยรถม้า 4 ล้อที่ปิดมิดชิด และเมื่อถึงทะเลแล้ว จะต้องอยู่แต่บนรถม้าเท่านั้น

การว่ายน้ำของผู้หญิงยุควิคตอเรีย จาก aninjusticemag.jpeg

aninjusticemag

ช่วงเวลาใกล้เคียงกันคือปี 1832 ถึง 1902 ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ รวมถึงอีกหลายรัฐในออสเตรเลีย มีกฎหมายแบนผู้หญิงไม่ให้ว่ายน้ำในช่วงกลางวัน เหตุผลมาจากความเชื่อของคนท้องถิ่นว่า ผู้หญิงคือสิ่งบริสุทธิ์ที่ต้องปกป้องเอาไว้ หากมีใครได้เห็นหรือมองขณะอาบน้ำจะทำให้ความบริสุทธิ์ลดลง กิจกรรมว่ายน้ำของผู้หญิงออสเตรเลียในยุคนั้นจึงเป็นเพียงการใส่ชุดคลุมอาบน้ำลงไป และรีบกลับขึ้นรถม้าที่มิดชิดให้เร็วที่สุด ขณะที่ในตอนนั้นไม่ได้มีข้อห้ามเรื่องการว่ายน้ำของผู้ชาย และผู้ชายยังสามารถถอดเสื้อว่ายน้ำได้โดยไม่ผิดกฎหมายใด ๆ

“บิกินี่” ตัวแรกถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางยุคเส้นใยผลิตเสื้อผ้ากำลังขาดแคลน ในปี 1946 ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดย หลุยส์ เรอร์ (Louis Réard) อดีตวิศวกรและนักออกแบบเสื้อผ้าชาวฝรั่งเศส ซึ่งหากย้อนไปในหน้าประวัติศาสตร์ ปีเดียวกับการกำเนิดชุดว่ายน้ำอันเป็นเอกลักษณ์นี้ เป็นปีหลังจากที่ฝรั่งเศสได้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาไม่นาน ภาพของชายหาดที่ได้รับการทำความสะอาดในช่วงฤดูร้อนของฝรั่งเศส จึงเป็นสัญญาณของอิสรภาพที่เริ่มใกล้เข้ามา จนกระทั่งได้ก่อตั้งเป็นสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 ในช่วงปลายปี

ในวันที่ 5 กรกฎาคม 1946 ก่อนวันชาติฝรั่งเศสประมาณ 1 สัปดาห์ ภาพแรกของชุดว่ายน้ำบิกินี่ตัวแรกที่ มิเชลิน เบอร์นาร์ดินี (Micheline Bernardini) สาวนักเต้นเปลือยวัย 19 ปีซึ่งทำงานอยู่ที่ Casino de Paris เป็นนางแบบสวมใส่ ก็เผยโฉมด้วยเอกลักษณ์ของชุดว่ายน้ำทรงรัดรูปที่ใช้ผ้าชิ้นเล็ก 2 ชิ้น

บิกินี่ตัวแรกของโลก จาก artsy.net.png

Michelle Bernard กับบิกินี่ตัวแรกของโลก
artsy.net

แม้ในตอนนั้น ชุดว่ายน้ำรูปแบบนี้จะยังไม่ได้รับความนิยมมากนัก แต่บิกินี่ก็ได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของการเฉลิมฉลองอิสรภาพหลังสงครามของคนฝรั่งเศสเลยทีเดียว

ผ้าสองชิ้นที่ถูกต่อต้าน
ในช่วงแรกบิกินี่หรือทูพีซยังไม่เป็นที่ยอมรับในยุโรป รวมไปถึงประเทศที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ส่วนเวทีนางงามในบางช่วงเวลา ก็ยังไม่อนุญาตให้สวมชุดว่ายน้ำ 2 ชิ้น หรือแม้แต่สื่อแฟชั่นที่เป็นเมนสตรีมในยุคนั้นก็มีคำวิพากษ์วิจารณ์ต่อบิกินี่อย่างดุเดือด

“เราไม่ควรเสียเวลาไปกับชุดว่ายน้ำที่เรียกว่าบิกินี่ เพราะมันประหลาดที่ผู้หญิงจะสวมใส่ชุดที่ดูไม่เหมาะสมแบบนั้น” ประโยคจากนิตยสารแฟชั่นผู้หญิงฉบับหนึ่งที่ตีพิมพ์ราว ๆ ปี 1957 กล่าว

ท่าทีของสังคมต่อชุดว่ายน้ำทูพีซเริ่มเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเหล่าเซเลบริตี้และดาราฮอลลีวูดเดินเข้าสู่วงการชุดว่ายน้ำ โดยต้องยกความดีความชอบให้กับ บรีฌิต บาร์โด (Brigitte Bardot) ดาราและนักแสดงชาวฝรั่งเศสผู้ก่อกำเนิดเทรนด์บิกินี่ด้วยภาพถ่ายริมชายหาดกับชุดว่ายน้ำลายดอกไม้ของเธอ ในช่วงเวลาพักผ่อนระหว่างเทศกาลหนังเมืองคานส์เมื่อปี 1953

Brigitte Bardot  ในชุดว่ายน้ำ จาก W Magazine.jpg

Brigitte Bardot ในชุดว่ายน้ำ
W Magazine

“เครื่องมือ” ในระบอบชายเป็นใหญ่
ขณะที่การแพร่หลายของชุดว่ายน้ำนำไปสู่เรื่องดีที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสในการเป็นตัวเอง มีอิสระในการแต่งตัวและได้ทำสิ่งที่อยากทำ แต่อีกมุมที่น่ากังวลคือการใช้ประโยชน์จากเสื้อผ้าน้อยชิ้นในทรงรัดรูป ผ่านสื่อที่มีกลุ่มผู้ชมหลักเป็นผู้ชาย โดยถ่ายทอดผ่านมุมมองของผู้ผลิตที่เป็นผู้ชาย ที่ภาษาภาพยนตร์เรียกกันว่า “Male Gaze”

ตัวอย่างคือฉากหนึ่งจากภาพยนตร์ “เจมส์ บอนด์” ซึ่งเข้าฉายในปี 1962 เป็นฉากที่ ดร.โน (Dr. No.) ซึ่งแสดงโดยเออร์ซูลา แอนเดรส (Ursula Andress) ปรากฏตัวด้วยการผุดขึ้นจากผิวน้ำทะเลในชุดบิกินี่สีขาว ซึ่งต่อมาภาพถ่ายจากฉากดังกล่าวถูกนำไปประมูลได้ในราคาที่สูงถึง 4 หมื่นเหรียญสหรัฐ

“กับดัก” ความงาม
หากเคยได้ยินคำว่า “บิวตี้สแตนดาร์ด” คงไม่มีอะไรที่จะสะท้อนภาพของมาตรฐานความงามนี้ได้ดีไปกว่าชุดว่ายน้ำของผู้หญิง เพราะภาพจำจากสื่อรอบตัวทำให้ชุดว่ายน้ำกลายเป็นเสื้อผ้าของคนรูปร่างผอมบาง จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับสาวพลัสไซส์หรือรูปร่างอวบทรงนาฬิกาทรายที่จะพาตัวเองสวมลงไปในชุดว่ายน้ำสีสันสดใส

“นิตยสารแฟชั่น” สื่อยอดฮิตเมื่อหลายสิบปีก่อนก็มักตีพิมพ์ภาพเซเลบริตี้และดารารูปร่างผอมเพรียวในชุดบิกินี่ชิ้นเล็ก เช่นเดียวกับ “เวทีนางงาม” ซึ่งมีมานับร้อยปี ในการประกวดรอบอวดหุ่น “สวย” ในชุดว่ายน้ำ ก็ยังคงเป็นความสวยที่ไม่ว่าวันนี้หรือย้อนไปหลายสิบปีที่แล้วก็แทบไม่ต่างจากเดิม

จากค่านิยมความงามที่เสมือน “กับดักมาตรฐานความสวย” ยังทำให้ผู้หญิงหลายคนเลือกวางบิกินี่ลง และสวมใส่ชุดว่ายน้ำที่สามารถพรางจุดด้อยที่ไม่มั่นใจของตัวเอง เช่น ชุดว่ายน้ำวันพีช ชุดว่ายน้ำแบบกระโปรง ทดแทน เพื่อพยายามรักษา “มุมมองความงาม” ให้ได้ตามมาตรฐาน

#RealSizeBeauty โอบรับความงามทุกรูปแบบ
เมื่อล่วงมาถึงช่วงเวลาที่สื่อไม่ได้จำกัดอยู่แค่นิตยสาร รายการประกวดนางงามทางทีวี ละคร หรือภาพยนตร์ เราล้วนสามารถรับชมผ่านจอมือถือหรือแท็บเล็ตได้แค่มีอินเทอร์เน็ต ขณะที่ทุกคนก็เป็นเจ้าของคอนเทนต์ได้ในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ

กล่าวได้ว่านี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้มาตรฐานความงามเปลี่ยนไป ผู้หญิงหลายคนไม่ว่าไซส์ไหนต่างสวมชุดว่ายน้ำเพื่ออวดรูปร่างของตัวเองลงบนโซเชียลมีเดียโดยไม่รู้สึกเขินอาย

4942459.jpg

Freepik

และที่สร้างกระแสให้ผู้คนได้หันมาตระหนักถึงความงามที่แตกต่างของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าจะมีรูปร่างแบบไหน คือการฉีกมุมมองความงามของ แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2021 ผ่านแคมเปญ “Real Size Beauty” ที่มีเป้าหมายให้กำลังใจผู้คนซึ่งกำลังต่อสู้กับมาตรฐานความงามในสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือใครก็ตามที่อาจเคยมีบาดแผลจากบิวตี้สแตนดาร์ด

แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส จาก Instagram annscottkemmis.jpg

Instagram annscottkemmis

ใจความของแคมเปญนี้คือการส่งเสริมให้ทุกคนมั่นใจที่จะแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง มองเห็นคุณค่า รู้จักโอบกอดและรักในตัวเอง รวมถึงรณรงค์ให้สังคมมองเห็นและเข้าใจความงามที่มีอยู่หลากหลายโดยไม่จำกัดรูปแบบ

ด้วยความที่แคมเปญดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ใคร ๆ ต่างก็มีสื่อเป็นของตัวเอง มีพื้นที่ให้ได้พูดในสิ่งที่อยากพูด ได้โชว์ภาพความเป็นตัวเองให้โลกได้เห็น จึงทำให้แฮชแท็ก #RealSizeBeauty เป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้เสมอเมื่อมีการสนทนาในประเด็นเรื่องมาตรฐานความงามในสังคม

และเมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ที่ยาวนานก่อนที่บิกินี่จะได้รับการยอมรับในสังคม ก่อนที่ผู้หญิงจะมีอิสระในเรื่องพื้นฐานอย่างการแต่งกาย ก่อนที่สายตาของสังคมจะเปิดกว้างจนอีกหลาย ๆ นิยามของความงามเป็นที่ยอมรับมากขึ้นอย่างทุกวันนี้ จึงไม่มีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมไปกว่าวันนี้อีกแล้ว

คือวันที่ไม่ว่าเราจะเป็นใคร ไม่ว่าเราจะมีรูปร่างอย่างไร จะอยากใส่ชุดว่ายน้ำ หรือแต่งตัวแบบไหน หากเรารักตัวเองมากพอ ก็สามารถหยิบเสื้อผ้าเหล่านั้นขึ้นมาใส่ได้อย่างมั่นใจและใช้ชีวิตในแบบที่ไม่มีอะไรต้องกลัวอีกต่อไป

ที่มา : บทความ “How the Male Patriarchy Invented The Bikini” โดย Tamara Mitrofanova จาก https://aninjusticemag.com
บทความ “A symbol of femininity and freedom of expression” โดย La Mia Redazione จาก www.alyssaashley.com

เรื่อง : Natjanan K.

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0