โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

พลอยเมืองจันท์ซบจีนไม่ซื้อ ต้นทุนพุ่งขอตั้งคลังทัณฑ์บน

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 27 มี.ค. 2567 เวลา 09.06 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2567 เวลา 00.22 น.
PP1

ตลาดพลอยเมืองจันทบุรียังไม่ฟื้น แม้มูลค่าส่งออกอัญมณีภาพรวมสูงขึ้น เหตุกลุ่มพ่อค้าจีนยังไม่กลับมา ซ้ำพลอยดิบ-พลอยก้อน ทองคำที่เป็นตัวเรือนราคาพุ่ง คาดตลาดชะลอถึงปี’68 วอนรัฐบาลอนุญาตตั้ง คลังสินค้าทัณฑ์บน ปลอดภาษีนำเข้า-ส่งออก พร้อมขอเก็บภาษีจากยอดขาย-ส่งออก แทนการเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ

นายชายพงษ์ นิยมกิจ อุปนายกสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี และกรรมการหอการค้าไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดการค้าอัญมณีปี 2566-2567 สภาวะทั่วไปยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในภาพรวมมูลค่าการส่งออกอัญมณีที่สูงขึ้น แต่เป็นมูลค่าที่เติบโตมากกว่าการฟื้นตัวของตลาด ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปี 2567 เนื่องจากเศรษฐกิจของโลกที่ชะลอตัวลง ทำให้การค้าอัญมณีไม่คึกคักเท่าที่ควรจนเกิดภาวะที่เรียกว่า การส่งออกน้อยแต่มูลค่าเพิ่มขึ้น คาดว่าปี 2567 ตลาดจะชะลอตัวไประยะหนึ่งจนถึงปี 2568 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกมีผลกระทบกับสินค้าอัญมณีอย่างเห็นได้ชัด ลูกค้ายุโรป-สหรัฐยังเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก แต่ยังมีความเสี่ยงเรื่องสงคราม การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้การค้าชะลอตัว ขณะที่จันทบุรีเป็นตลาดพลอยเนื้อแข็งที่มีจีนเป็นตลาดหลัก แต่กลุ่มคนจีนที่มีกำลังซื้อยังไม่ได้กลับมา รัฐบาลจีนยังมีปัญหาเศรษฐกิจจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

“ตัววัตถุดิบทองคำ พลอยดิบ พลอยก้อน มีการปรับขึ้นราคา ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 15-20% โดยเฉพาะทองคำที่เป็นเครื่องประดับตัวเรือนที่สำคัญทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากถึง 30% ขณะที่พลอยดิบมีการปรับราคาขึ้นมาก่อนตั้งแต่ปลายปี 2566 ต่อต้นปี 2567 จนผู้ประกอบการเริ่มทยอยปรับราคาขึ้นบ้างแล้ว คาดว่าราคาน่าจะปรับเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 20% แม้ว่าจะมีสต๊อกอยู่ แต่ต้องปรับราคาอยู่ดี เพื่อให้ธุรกิจเดินไปต่อได้

ดังนั้นปี 2567 เป็นปีที่ยากลำบากมากของเครื่องประดับอัญมณี ราคาวัตถุดิบสูงขึ้นมาก แต่กำลังซื้อคนไทยและต่างประเทศไม่มี ส่วนใหญ่ชะลอการซื้อออกไป มีการใช้เพชรที่ปรับราคาลงทดแทนในงานสำคัญ ๆ จากงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair 2023 งาน Hong Kong Jewelry & Gems Fair รวมทั้งงานที่กระทรวงพาณิชย์สนับสนุนไปออกงานต่าง ๆ ยอดการสั่งซื้อชะลอตัวลงประมาณ 30% คาดว่าจะชะลอตัวลงทั้งปี 2567” นายชายพงษ์กล่าว

ด้าน นายฐณภัทร ท่าม่วง เลขาฯสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรีและผู้ประกอบการซื้อ-ขายพลอย กล่าวว่า ทองคำกับพลอยดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญของเครื่องประดับอัญมณี มีการปรับราคาเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาพลอยดิบที่มีผู้ประมูลได้และนำออกมาขายมีราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ร้านเครื่องประดับที่มีสต๊อกอยู่ตอนนี้ก็จะขายอยู่ในราคาเดิม ๆ แต่สินค้าอัญมณีเครื่องประดับตัวใหม่จะมีการปรับราคาขึ้นมากกว่า 20% แต่การปรับราคาสูงขึ้นไม่ได้ทำให้เป็นแรงจูงใจให้มีการตัดสินใจซื้อเร็วขึ้น เพราะอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

ส่วนใหญ่ลูกค้าที่ชื่นชอบเครื่องประดับอัญมณีจะปรับตัวซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลง ราคาถูกลง แต่ถ้าไม่ชอบก็จะหยุดซื้อไปเลย และหันไปใช้เครื่องประดับเงินแทน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ซื้อเพื่อเก็งกำไรก็จะซื้อ “พลอยดิบ” ที่ยังไม่ได้เผา เช่น บุษราคัม, ไพลิน, ทับทิม, เขียวส่อง คุณภาพ 4C คัดขนาด 3 ไซซ์ ราคาตั้งแต่กะรัตละ 2,000-20,000 บาท เพราะเป็นวัตถุดิบที่หายาก ขายง่าย และมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น

นางสมหวัง อ่อนแสง เจ้าของ “ร้านสมหวัง จิวเวลรี่” จันทบุรี กล่าวว่า ราคาทองคำที่พุ่งทะยานสูงขึ้นเรื่อย ๆ สินค้าในสต๊อกที่ร้านทำตอนราคาทองบาทละ 32,000 บาท แม้ว่าราคาทองจะพุ่งสูงถึง 37,000 บาท พร้อมราคาพลอยก้อนที่ปรับขึ้นตาม แต่ที่ร้านยังคงขายในราคาเดิม แต่ลดราคาน้อยลง คาดว่าหลังสงกรานต์หรือกลางเดือนเมษายนนี้ อาจจะต้องมีการปรับราคาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขึ้นอย่างแน่นอน ตามราคาวัตถุดิบทองคำและพลอยดิบ

ขอตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนพลอยดิบ

นายธิติ เอกบุญยืน ประธานที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจังหวัดจันทบุรี กล่างถึงแผนการพัฒนาจังหวัดจันทบุรี ให้เป็น “นครอัญมณีของโลก” จากงานวิจัยของสถาบันคีนันแห่งเอเชีย นั้นมีการต่อยอดมาตั้งแต่ปี 2548 โดย ครม.สัญจรสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบประมาณผู้ว่าราชการจังหวัด CEO ให้ 50 ล้านบาท แบ่งเป็น เฟส 1 สร้างศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ซึ่งได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เหลือเฟสที่ 2 คือ การก่อสร้างศูนย์นำเข้าอัญมณี และจัดทำ “คลังสินค้าทัณฑ์บน” เพื่อนำเข้าวัตถุดิบพลอยก้อนจากทั่วโลก และเฟส 3 ศูนย์การแสดงนิทรรศการ

“ปลายปี 2566 ทุกอุตสาหกรรมเติบโตในอัตราที่ต่ำมาก บางอุตสาหกรรมถึงกับติดลบ แต่อุตสาหกรรมอัญมณีมีอัตราการเติบโตประมาณ 9% ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนการจัดตั้ง ‘ศูนย์กลางการนำเข้าพลอยก้อน คลังสินค้าทัณฑ์บน’ เพื่อให้จังหวัดจันทบุรีเป็นศูนย์กลางที่ชาวต่างประเทศทั่วโลกนำวัตถุดิบพลอยก้อนมาพักและจัดประมูลเพื่อช่วยแก้ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน

การออกไปซื้อพลอยก้อนในต่างประเทศมีอันตรายจากการไม่รู้ข้อกฎหมาย ถูกจับกุม จึงมีแต่บริษัทใหญ่เท่านั้นที่จะเดินทางไปซื้อได้ เพราะแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 400,000-1,000,000 บาท ถ้ามี ‘คลังสินค้าทัณฑ์บน’ ก็จะช่วยผู้ประกอบการ SMEs ได้สร้างงาน สร้างอาชีพ ไม่ต่ำกว่า 500,000-600,000 คน ถ้าทำได้ ในปีแรกคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 30-40% และในปีที่ 3-4 รายได้จะเพิ่มขึ้น 100%” นายธิติกล่าว

นอกจากนี้ ในเรื่องการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลควรปรับให้ทันสมัย เก็บในส่วนที่ขายได้จริง เพราะอุตสาหกรรมอัญมณีกำหนดต้นทุนการผลิตจากปริมาณการผลิตและดีมานด์ไม่ได้ แตกต่างจากอุตสาหกรรมประเภทอื่น ๆ พลอยดิบต้องนำมาสต๊อกไว้ มีขั้นตอนการทำเครื่องประดับ มีความเสี่ยงต่อความเสียหาย มูลค่าอาจจะลดลงหรือขายไม่ได้ เรื่องนี้ได้นำเรียน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ลงพื้นที่มาจังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 แล้ว

เก็บภาษีจากยอดขาย

ด้าน นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT กล่าวภายหลังการลงพื้นที่ร่วมกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมหารือกับหน่วยงานราชการและผู้ค้าอัญมณีจังหวัดจันทบุรี โดยเป้าหมายเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรมธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทย รวมไปถึงรับฟังปัญหาและหาทางออกร่วมกัน

เบื้องต้นจากการหารือพบว่า ผู้ประกอบการค้าพลอยในจันทบุรี ต้องการให้ภาครัฐส่งเสริมให้พื้นที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการค้าขายอัญมณี-พลอยเป็นจำนวนมาก และจัดให้มี “คลังสินค้าทัณฑ์บน” หรือพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งเป็นคลังสินค้าทัณฑ์บน ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเพื่อใช้สำหรับเก็บของหรือแสดงและขายของที่เก็บ หรือผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของที่เก็บในคลังสินค้าทัณฑ์บน

เพราะต้องการส่งเสริมให้ผู้นำเข้าวัตถุดิบ พ่อค้าพลอยที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่าย มาซื้อ-ขายในจันทบุรี “ไม่จำเป็นจะต้องใช้เงินค้ำประกัน” เนื่องจากต้นทุนของผู้ประกอบการ และต้องการให้มีการจัดเก็บภาษีภายหลังจากที่มีการซื้อ-ขายพลอยไปแล้ว หากไม่สามารถซื้อขายพลอยได้ก็สามารถนำออกกลับประเทศไปได้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนของผู้ประกอบการและเป็นการจูงใจให้มีการค้าขายมากขึ้น

นอกจากนี้ ผู้ค้าอัญมณียังต้องการให้ทางภาครัฐ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการเก็บภาษีกับผู้ประกอบการจากยอดส่งออกหรือขายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่เกิดขึ้น โดยเลี่ยงการเก็บภาษีจากกำไรสุทธิ ซึ่งเก็บอยู่เฉลี่ย 20% โดยให้เหตุผลว่า หากเก็บจากยอดกำไรสุทธิ บางครั้งผู้ประกอบการไม่ได้มีการเก็บใบกำกับภาษี หรือข้อมูลต่าง ๆ ไว้อย่างละเอียด อาจมีการตกหล่นบ้าง ซึ่งมีปัญหากับผู้ประกอบการหากปรับเปลี่ยน มาเป็นเก็บจากยอดรายได้หรือยอดส่งออกจะเป็นเรื่องที่สะดวกมากกว่า

หากทำได้ก็จะช่วยทำให้ จันทบุรี เป็นศูนย์กลางการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของไทยได้ในอนาคต เพราะแต่ละปีมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 500,000 ล้านบาท

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : พลอยเมืองจันท์ซบจีนไม่ซื้อ ต้นทุนพุ่งขอตั้งคลังทัณฑ์บน

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น