ตลาดค้าหมาก-พลูภาคใต้คึกคัก ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง แหล่งใหญ่ปลูกหมาก-พลูเด้งรับตั้ง “คณะทำงานขับเคลื่อนสนับสนุนการผลิต-การตลาด การปลูกหมากและพลู” ขึ้น ด้านพาณิชย์จังหวัดพร้อมชงเป็นสินค้า “GI” ด้านเทศบาลตำบลร่มเมืองเล็งตั้งโรงงานสกัดน้ำมันพลู หลังมหาวิทยาลัยทักษิณพร้อมรับซื้อน้ำมันสกัดไปแปรรูปเป็นครีม โลชั่น สบู่ ยาสระผม ยากันยุง เจลล้างมือ
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานจากจังหวัดพัทลุงว่า ขณะนี้สถานการณ์ตลาดหมาก พลู จ.พัทลุง มีแนวโน้มทิศทางที่ดี มีความต้องการจากตลาดต่างประเทศสูงมาก ดังนั้น เมื่อเร็ว ๆ นี้นายกู้เกียรติ วงศ์กระพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนในการดำเนินการส่งเสริมสนับสนุนการผลิตและการตลาดหมากและพลู จ.พัทลุงขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานเอง เพื่อส่งเสริมและผลักดันการปลูกหมากและพลูภายในจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีตลาดใหญ่รับซื้อเพื่อการส่งออกให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้น โดยมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 20 หน่วยงานมาร่วมเป็นกรรมการ อาทิ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 9 อุตสาหกรรมจังหวัด ชลประทานจังหวัด เกษตรจังหวัด พาณิชย์จังหวัดพัทลุง ฯลฯ ทั้งนี้ คณะทำงานชุดดังกล่าวจะทำการศึกษาวิเคราะห์สถานการณ์ผลิต ปริมาณความต้องการ ทำการส่งเสริมการผลิตและการตลาด ฯลฯ ต้องส่งเสริมให้เกษตรกรดีขึ้น และเพื่อให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด จึงมีการส่งเสริมและพัฒนาหมากพลู ให้ครบวงจรครอบคลุมไปทุกด้าน
นายสมบูรณ์ บุญวิสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลร่มเมือง อ.เมือง จ.พัทลุง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ทางเทศบาลตำบลร่มเมืองมีโครงการลงทุนตั้งโรงงานสกัดน้ำมันพลูขนาดเล็ก กลั่นได้ตั้งแต่ 50-100 กก.ต่อครั้ง ราคาลงทุนโรงเรือนประมาณ 170,000 บาท ค่าเครื่องจักรราคากว่า 1 ล้านบาท มีห้องทำความสะอาด เก็บ สับ ฯลฯ โดยมีชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการ และทางมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง จะเป็นผู้รับซื้อน้ำมันพลูทั้งหมดปริมาณไม่จำกัด เพื่อนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้ทั้งสบู่ แชมพู โลชั่น ครีม ยาหม่อง ยาไล่ยุง และเจลล้างมือ
“สกัดน้ำมันพลูจำนวนพลู 300 กก. จะได้น้ำมันพลูประมาณ 1 กก.ที่เป็นหัวเชื้อ”
“ที่ผ่านมาเทศบาลร่มเมืองและเทศบาลตำบลท่าแค อ.เมือง จ.พัทลุง เป็นพื้นที่ใหญ่ในการปลูกพลูของ จ.พัทลุง และภาคใต้ การปลูกหมาก-พลูถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวสำคัญ ทำให้คนในพื้นที่ต่างยึดเป็นอาชีพหลักกัน ดังนั้น การตั้งโรงงานสกัดน้ำมันพลูขึ้นมาในพื้นที่จะมีส่วนช่วยอย่างมาก จะมีการนำใบพลูที่ไม่ได้ขนาดตามที่ตลาดกำหนดมาแปรรูปเพิ่มมูลค่า แทนที่จะถูกคัดทิ้งไป สามารถนำมาสกัดโดยไม่สูญเสีย อีกทั้งเมื่อราคาใบพลูตกต่ำจะได้นำใบพลูที่ได้ขนาดตามตลาดกำหนดเข้าแปรรูปด้วย จะเป็นการดึงใบพลูออกจากตลาด ให้ราคาปรับเข้าสู่ภาวะสมดุล เพื่อสร้างเสถียรภาพทางด้านราคา สร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกพลู
นอกจากนี้ทางล้งจีนไต้หวันเตรียมการลงทุนสร้างโรงงานอบหมากอ่อน บนพื้นที่จำนวน 3 ไร่ ที่เทศบาลตำบลร่มเมือง อ.เมือง จ.พัทลุง จะรับซื้อหมากอ่อนนำเข้าโรงอบเพื่อส่งออกไปยังประเทศไต้หวันและประเทศจีน แต่สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ตลาดชะลอการสั่งซื้อไปบ้าง ทั้งนี้ปัจจุบันตลาดไต้หวัน มีผู้บริโภคหมากอ่อนประมาณ 10 ล้านคน ส่งผลให้หมากอ่อนราคาดีขึ้นมาด้วย
- โอกาสทอง “หมาก” ไทย ต่างชาติแห่ซื้อนับหมื่นตัน
- “หมาก” ไทยส่งออกพุ่ง 5 พันล้าน ทุนจีนเล็งตั้งโรงงานแปรรูปที่ “พัทลุง” ซื้อไม่อั้น
- พ่อค้าต่างชาติแห่บินซื้อ “หมาก” ราคาผลสด-แห้งพุ่ง 70-100 บาท/กก.
- ค่าแรง 492 บาททั่วประเทศ นายจ้างร้องระงมต้นทุนผลิตพุ่งพรวด
- ผ่าบิ๊กโปรเจ็กต์คมนาคม 1 ล้านล้าน ลงทุน 4 มิติเร่งเมืองการบินบูม EEC