เพศหญิงโดนกดขี่มาตั้งแต่โบราณ แม้แต่ "คำด่า" ก็ด่าผู้หญิง มากกว่าด่าผู้ชาย
เวลาเรามีเรื่องไม่พอใจอะไรสักอย่าง แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องดีหรอกครับ เพราะทำให้ใจเราขุ่นมัว แทนที่จะเอาเวลาไปคิดเรื่องดี ๆ ที่จะสามารถพัฒนาตนเอง หรือเอาเวลาไปนั่งเฉย ๆ ก็ได้ อย่างน้อยก็ทำให้เราไม่ต้องไปมัวคิดเรื่องลบ ๆ ครับ แต่ก็ต้องยอมรับนะครับว่าถ้าอยู่เฉย ๆ ก็อาจจะอกแตกตายได้เหมือนกัน บางคนก็เลยเลือกที่จะระบายด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ตะโกนโวยวาย ทำลายข้างของ หรือเอ่ยคำด่าออกมา
บทความนี้ไม่ได้จะสอนให้มาด่ากันหยาบ ๆ คาย ๆ นะครับ แต่อยากจะเอามาเล่าสู่กันฟังสักหน่อยว่าสมัยโบร่ำโบราณเขาด่ากันว่าอย่างไร โดยอ้างอิงจากหนังสือ “อักขราภิธานศรับท์ ของ หมอบรัดเลย์" ครับ
"หมอบรัดเลย์" หรือ "Dan Beach Bradley" ชื่อนี้น่าจะคุ้นหูกันเป็นอย่างดีนะครับเพราะท่านคือนายแพทย์และมิชชันนารีชาวอเมริกันที่เดินทางเข้ามาในเมืองไทย ช่วงสมัยรัชกาลที่ ๓ ถึงต้นรัชกาลที่ ๕ ซึ่งตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในเมืองไทยก็ได้สร้างคุณประโยชน์ให้เมืองไทยไม่น้อยเลยทีเดียว เช่น ทำการผ่าตัดแผนใหม่เป็นรายแรกของประเทศไทย ปลูกฝีป้องกันทรพิษสำเร็จเป็นรายแรกของประเทศไทย ริเริ่มหนังสือพิมพ์ "Bangkok Recorder" หนังสือพิมพ์ภาษาไทยฉบับแรก และผลงานสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือหนังสือ "อักขราภิธานศรับท์" นั่นเอง
จากบทความของ "รศ. ดร.นิตยา กาญจนะวรรณ" ในเว็บไซต์ราชบัณฑิตยสภา ได้อ้างถึงงานวิจัยเรื่อง "การทำพจนานุกรม ไทย-ไทย : อดีต-ปัจจุบัน (๒๓๘๙-๒๕๓๓)” ของ "ศาสตราจารย์ ดร.ธีระพันธ์ ล. ทองคำ" โดยได้ระบุว่าวัตถุประสงค์ของอักขราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ มี ๒ ประการ คือ
1.เพื่อเป็นประโยชน์ต่อมิชชันนารีที่ต้องการเรียนรู้ภาษาไทย
2.เพื่อวางมาตรฐานการใช้ภาษาไทยให้แก่คนไทย
ปกติผมก็ชอบอ่านหนังสือไปเรื่อยเปื่อยอยู่แล้ว วันดีคืนดีไปเปิดอักขราภิธานศรับท์ของหมอบรัดเลย์ แล้วดันเปิดไปที่ตัว อ อ่าง แล้วดันเปิดไปตรงคำว่า "อี" แล้วปรากฏว่าเจอหลาย "อี" เลยครับ ล้วนแล้วแต่เป็นคำด่าทั้งนั้น เราลองมาดูตัวอย่างกันหน่อยดีกว่าครับว่าคนสมัยก่อนเขาด่าอะไรกันบ้าง
ตัวอย่างเมื่อข้างบนนี้คือคำด่าผู้หญิงครับ ส่วนคำด่าผู้ชายก็ต้องไปดูที่คำว่า "อ้าย" (หรือ "ไอ้" นั่นเอง) ครับ และนี่ก็คือตัวอย่างครับ
เห็นความน่าสนใจอะไรบางอย่างไหมครับ นอกจากค่าด่าผู้ชายจะไม่รุนแรงเท่าคำด่าผู้หญิง ไม่ได้ลงรายละเอียดการอธิบายความเท่าคำด่าผู้หญิง เรายังเห็นว่าไม่ปรากฏคำด่า "ผู้ชายที่มีภรรยามากกว่า 1 คน" เลย ในขณะที่มีคำด่า "ผู้หญิงที่มีสามีมากกว่า 1 คน" หลายคำ ทั้งยังเป็นคำด่าที่รุนแรงมากอีกด้วย สะท้อนให้เห็นว่าในสมัยนั้นเมืองไทยเรายังไม่เคร่งเรื่องค่านิยม "ผัวเดียวเมียเดียว" สำหรับทั้ง 2 เพศ กล่าวคือ ไม่ได้ซีเรียสว่าผู้ชายจะมีภรรยากี่คน แต่ผู้หญิงจะต้องมีสามีแค่คนเดียวเท่านั้นถึงจะถูกต้องตามธรรมนองคลองธรรมครับ
ต้องย้ำอีกทีครับว่าการเอาคำหยาบในอดีตมาให้ดูตรงนี้ ไม่ใช่แค่เอามาให้ดูเฉย ๆ ครับ แต่อยากให้เห็นว่าถ้าเราพิจารณาให้ลึก เราอาจจะเห็นเกร็ดเกี่ยวกับค่านิยมและวิถีชีวิตของคนไทยในอดีตด้วยครับว่าต่างจากปัจจุบันอย่างไร เมื่อเราเรียนรู้อดีต ก็อาจจะทำให้เราได้ลองมองดูตัวเองในปัจจุบันเพื่อทำให้อนาคตของเราดีขึ้นได้