โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

นวัตกรรมคนไทย คิดค้น "หลอดไฟไล่ยุง-ถุงไล่แมลงวัน" ถูกใจร้านส้มตำรถเข็น

เส้นทางเศรษฐี

อัพเดต 01 ส.ค. 2561 เวลา 11.12 น. • เผยแพร่ 01 ส.ค. 2561 เวลา 11.03 น.
26677926_10216114657438756_4307045391874657471_o

พิษเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลให้ คุณถวิล แสนสุข กลายเป็นคนมีหนี้หลักล้านบาท แต่แทนที่จะท้อถอย กลับลุกขึ้นมองหาโอกาส โดยใช้ภาวะกดดันเป็นแรงผลักฮึดสู้เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จ จวบจนวันนี้เขากลายเป็นเจ้าของสินค้านวัตกรรมสุดเจ๋ง “หลอดไฟไล่ยุง” หลอดไฟที่สามารถให้ได้ทั้งแสงสว่างไปพร้อมกับการไล่ยุง และไม่ใช่คนเท่านั้นที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย แต่สัตว์เลี้ยงก็กลายเป็นอีกกลุ่มใหญ่ จนมียอดขายหลักพันหลอดต่อเดือน

หนี้สินรุมเร้า  ถึงคราวต้องสู้

แรกเริ่มเดิมที คุณถวิลเป็นครูอยู่ในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง กระทั่ง 2 ปีผันตัวเองมาเป็นพนักงานจดแต้มโบว์ลิ่งรับเงินเดือน 400 บาท ในวัย 28 ปี ใช้เวลาอยู่ตรงนั้น 2 ปีก็เข้าทำงานประจำในร้านจำหน่ายและติดตั้งเครื่องปรับอากาศ

ประสบการณ์ช่างแอร์ 7 ปี แน่นพอจะสานต่อคำว่า “เถ้าแก่” โดยเลือกห้องค้าทำเลเหมาะ เช่าและเปิดร้านในชื่อ “ถวิลเซอร์วิสแอร์” รับดูแลติดตั้งเครื่องปรับอากาศอยู่ในจังหวัดขอนแก่นบ้านเกิดภรรยา ซึ่งธุรกิจดูท่าไปได้ดี กระทั่งมาถึงปี 2540 วิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ส่งผลให้หลายๆ ธุรกิจล้มพับ และหนึ่งในนั้นก็คือ ถวิลเซอร์วิสแอร์ ที่ต้องปิดตัวลง

คุณถวิล กลายเป็นคนมีหนี้นับล้านบาท!!!

หนี้สิน ภรรยา ลูก คือเหตุผลที่ทำให้ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวต้องฮึดสู้ และด้วยความช่างคิดช่างสังเกต บวก ความเป็นนักประดิษฐ์ โอกาสจึงเกิดได้เพียงแค่ตาเห็น

“วันนั้นผมเห็นคนล้างรถ ใช้มือจับฟองน้ำถูไปทั่วตัวรถ แต่ด้วยความลื่นทำให้ฟองน้ำหลุดมือบ่อยครั้ง ซึ่งถ้าตกลงพื้นไปโดนเศษดินเศษทรายปัญหาตามมา ตอนนั้นผมปิ๋งไอเดียผลิตถุงมือสำหรับล้างรถ โดยออกแบบให้ใช้งานได้ทั้งคนถนัดมือซ้ายและมือขวา”

เมื่อผลิตสินค้าได้ตามต้องการถึงคราวทำตลาด คุณถวิล เดินทางไปติดต่อตามร้านขายของฝาก จุดขายสินค้าโอท็อป ร้านอาหาร ร้านค้าในปั๊มน้ำมันต่างๆ ซึ่งก็ได้รับโอกาสวางจำหน่ายตลอดเส้นถนนมิตรภาพ กระทั่งยาวมาถึงย่านรังสิต

“ผลิตสินค้าฝากขายช่วงต้นเดือน พอสิ้นเดือนไปเก็บเงิน สินค้าขายหมด ไม่พอขาย ธุรกิจนี้ถือว่าไปได้ แต่ติดตรงกำไรน้อยมาก ได้ชิ้นละ 10-12 บาทเท่านั้น เมื่อเทียบกับหนี้สินหลักล้านที่มีอยู่ไม่พอแน่ๆ ผมจึงเริ่มมองหาสินค้าใหม่เข้ามาเสริม”.

ถุงไล่แมลงวัน หลอดไฟไล่ยุง

กระทั่งวันหนึ่ง คุณถวิล ออกจากบ้านตั้งใจจะไปซื้อส้มตำมากินกับครอบครัว “ร้านส้มตำอยู่ข้างทาง ผมเดินเข้าไปบริเวณหน้าร้านก็ชนเข้ากับถุงพลาสติกที่เขาใส่น้ำห้อยแขวนไว้ จึงถามแม่ค้าว่า แขวนไว้ทำไม แม่ค้าบอกไว้ไล่แมลงวัน ผมจึงถอยออกมายืนห่างจากหน้าร้าน แล้วก็มองเข้าไปที่ถุงน้ำนั้น ผมคิดว่าแมลงวันคงกลัวแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านน้ำ เท่านั้นแหละ เกิดไอเดียทำหลอดไฟไล่แมลงวัน”

ด้วยมีความรู้เรื่องช่างไฟฟ้า จึงหยิบหลอดตะเกียบที่มีอยู่ในห้องเก็บของ ต่อสายไฟและปลั๊กเสียบให้เรียบร้อย จากนั้นใช้ถุงทนความร้อนใส่น้ำ นำหลอดไฟจุ่มลงไป แต่สำคัญคือต้องปิดหุ้มบริเวณขั้วหลอดด้วยกาว จากนั้นพันให้แน่นเพื่อไม่ให้น้ำผ่านเข้าไปได้ ปล่อยทิ้งไว้ให้กาวแห้ง 1 วัน

วันรุ่งขึ้น คุณถวิลมุ่งหน้าไปยังร้านส้มตำพร้อมชุดอุปกรณ์หลอดไฟ ขอให้เจ้าของร้านช่วยติดตั้งหลอดไฟนี้แทนถุงใส่น้ำ พร้อมยื่นเงินให้ 200 บาท เพื่อเป็นค่าไฟ และขอให้ทดลองดูว่าสามารถไล่แมลงวันได้หรือไม่

“เจ้าของร้านยินดีให้ผมติดตั้งชุดหลอดไฟ หลังจากนั้น 7 วัน ก็เดินทางกลับไปสอบถามผลทดสอบ ซึ่งวันนั้นผมยังคงเห็นหลอดไฟแขวนอยู่ แต่คำตอบของแม่ค้าทำให้หัวใจทรุดเลย เขาบอกไม่สามารถไล่ได้ ผมคาดหวังไว้พอสมควรว่าจะสำเร็จ อยากรวย อยากมีสินค้าที่สามารถนำมาปลดหนี้ แต่พอไม่เป็นไปตามที่คิด ก็ได้แต่ก้มหน้าก้มตาเก็บอุปกรณ์หลอดไฟกลับมาไว้ในห้องเก็บของ”

นับจากนั้น 2 วัน ลูกชายของคุณถวิล ได้เดินมาบอกว่า หลอดไฟในห้องน้ำไม่ติด ขอให้พ่อช่วยไปดูให้หน่อย “ตอนนั้นก็บอกลูกไปว่า ให้ใช้เทียนไปก่อน แต่ปรากฏเทียนไม่มีอีก ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่ามีชุดหลอดไฟที่ประดิษฐ์ขึ้นอยู่ในห้องเก็บของ จึงยกมาติดเป็นการชั่วคราวก่อน แต่พอลูกเข้าห้องน้ำ ซึ่งห้องน้ำบ้านต่างจังหวัดจะอยู่กลางแจ้ง  ลูกก็กลับมาถามผมว่า พ่อฉีดยากันยุงเหรอ เราก็บอกไปว่า ไม่ ลูกก็บอกวันนี้ดีจัง ยุงไม่มีเลย”

ผลิตแจกให้ลองใช้ ได้ผลดี มีโอกาสขาย

กระทั่งวันต่อมา คุณถวิลเดินทางไปซื้อหลอดไฟมาเปลี่ยนในห้องน้ำ ซึ่งเมื่อลูกชายเข้าห้องน้ำก็บ่นให้คุณถวิลฟังว่ายุงเยอะ คำพูดนั้นทำให้คุณถวิลฉุกคิด รีบลุกเดินไปดู พร้อมเปลี่ยนหลอดไฟใหม่ โดยนำชุดอุปกรณ์ที่ตั้งใจไว้ไล่แมลงวันใส่กลับไปที่เดิม

“ตอนนั้นผมเริ่มคิดแล้วว่ามันอาจจะมีผลมาจากชุดอุปกรณ์หลอดไฟที่ทำขึ้น เพราะปกติทุกวันยุงจะเยอะ ซึ่งพอเปลี่ยนกลับไปก็ปรากฏยุงไม่มี คราวนี้ผมร้องอ๋อเลย รีบลุกไปลองใช้มือตบๆ ที่ต้นไม้ซึ่งปลูกอยู่ติดกับห้องน้ำ เห็นยุงบินออกมาเยอะมาก แต่แทนที่จะบินวนรอบๆ ครั้งนี้กลับรีบหลบไปในกอต้นไม้เหมือนเดิม ผมใช้เวลาสังเกตอยู่ 7 วัน ยุงในห้องน้ำแทบไม่มี จึงเริ่มปฏิบัติการผลิตหลอดไฟไล่ยุง”

วิธีทำไม่มีขั้นตอนอะไรมากนัก เพียงนำขวดน้ำพลาสติกมาตัดแล้วเจาะรู 4 ด้าน เพื่อคล้องลวดสำหรับแขวน จากนั้นใส่น้ำลงในขวดแล้วจุ่มหลอดไฟลงไป แต่ยังคงปิดผนึกส่วนขั้วหลอดแน่นหนา ตัดกระดาษแข็งปิดกั้นไม่ให้ขั้วหลอดจุ่มลงไปในน้ำ แล้วนำกลับมาทดลองใช้อีกครั้ง ซึ่งก็สามารถขับไล่ยุงได้ดี แต่ปัญหาคือ หลอดตะเกียบเมื่อเปิดทิ้งไว้นานความร้อนสะสม โดยถ้าเปิดติดต่อกัน 3 ชั่วโมง ใช้เทอร์โมมิเตอร์จับความร้อนสูงถึง 65 องศาฯ ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลาไม่อันตราย แต่หากทิ้งไว้นานเกินกว่านี้จะส่งผลให้ขวดพลาสติกบิดเบี้ยว หลอดไฟแตกได้

“ตอนนั้นผมทดลองทำมาหลายหลอด โดยเดินไปแจกให้ญาติๆ และเพื่อนๆ ช่วยทดลองใช้ แต่จะบอกเขาห้ามเปิดเกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งผลออกมาเป็นไปดังหวัง สามารถไล่ยุงได้ ผมใช้เวลา 1 ปีกับการทดลอง กระทั่งคิดเข้าสู่กระบวนการผลิตจำหน่าย โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สวยงามขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แต่ทั้งนี้ข้อแนะนำกับลูกค้ายังคงต้องกำชับเรื่องเวลาเปิดไม่เกิน 3 ชั่วโมง ซึ่งหลังจากลูกค้าทดลองใช้ต่างชื่นชอบ”

หลอดไฟ LED ใช้ดี ไม่มีร้อน

“หลอดไฟไล่ยุง NPS” จดทะเบียนเข้าสู่สินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ โอท็อป ส่งผลให้ได้รับคำแนะนำ การตลาด ซึ่งคุณถวิล ว่า เข้าโอท็อปเมื่อปี 2555 และได้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) พร้อมยื่นขอจดอนุสิทธิบัตรไทยได้เป็นผลสำเร็จ

การคิดค้นพัฒนายังคงไม่หยุด กระทั่งรัฐบาลส่งเสริมให้ใช้หลอด LED เมื่อคุณถวิลนำมาใช้จึงไม่เกิดปัญหาเรื่องระยะเวลาเปิดยาวนานแบบไม่ต้องกลัวหลอดร้อนอีกต่อไป ส่วนบรรจุภัณฑ์สำหรับใส่น้ำและทำหน้าที่หุ้มหลอดไฟออกแบบให้เข้ากับที่พักอาศัยมากยิ่งขึ้น

“มีอยู่วันหนึ่ง ผู้สนใจเขาจ้างให้ผลิตสินค้าโดยอุปกรณ์ทุกอย่างเขาลงทุน และยังออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่ใช้หุ้มหลอดไฟซึ่งมีความสวยงามและคงทนกว่า โดยตอนนั้นเขาให้ค่าจ้างผลิตหลอดละ 50 บาท จำนวน 10,000 หลอด ซึ่งก็ผลิตส่งให้เขาเรื่อยมา จนกระทั่งผมขอรับซื้อกลับมาบางส่วนในราคาต้นทุน 190 บาท เพื่อนำมาทำตลาดขายเอง ซึ่งก็ถือว่าไปได้ดีเลยนะ และในวันนี้เรามีกำลังทุนมากพอในการผลิตบรรจุภัณฑ์สำหรับหุ้มหลอดไฟเองแล้ว โดยสั่งผลิตครั้งละ 2,000 ชิ้น จึงไม่ต้องซื้อคืน แต่สามารถผลิตเองขายเองได้เลย”

กับการผลิตดูเหมือนจะลงตัว แต่ในด้านการขาย เครื่องหมายรับรอง รวมไปถึงผลการวิจัยที่ชัดเจน ดูจะเป็นสิ่งการันตีคุณภาพ “ผมเดินทางนำสินค้าเข้าประกวดในงานนวัตกรรม สิ่งที่เราได้รับเป็นการบ้านคือต้องค้นคว้าวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ทั้งเรื่องของแสงเพื่อมารองรับตัวสินค้า กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ เมื่อค้นคว้าก็พบว่า ยุงไม่ชอบแสงสเปกตรัม

สอดคล้องงานวิจัย ภูมิปัญญาไทยได้เกิด

“แสงสเปกตรัม มันคืออะไร เพราะผมไม่เคยรู้มาก่อนเลย กระทั่งผลวิจัยบอกว่า แสงสเปกตรัมเกิดจากแสงขาวผ่านน้ำ ซึ่งตรงตามกระบวนการผลิตสินค้าของผมเลย และยังพบงานวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับน้ำอีกว่า หากนำน้ำใส่แก้ว  น้ำจะเปรียบเสมือนเลนส์ขยาย พอมาในส่วนของยุง พบว่ายุงชอบสีดำ และไม่ชอบแสงสเปกตรัม เพราะมีสีขาว นี่คือข้อมูลวิจัยที่สามารถนำมาอ้างอิงได้”

คุณถวิล ยังกล่าวด้วยความภูมิใจว่า สินค้าที่ผลิตขึ้น ถือเป็นภูมิปัญญาที่เกิดจากความช่างสังเกต แต่เมื่อมีข้อมูลงานวิจัยอ้างอิง ก็ยิ่งส่งผลในด้านความน่าเชื่อถือ

การขายที่ดีคือให้ความกระจ่างกับลูกค้าผู้สนใจ ซึ่งคุณถวิล นอกจากจะเป็นนักประดิษฐ์หัวคิดดีแล้ว ยังมีหัวใจนักขายอยู่ในตัวด้วย เพราะทุกครั้งที่เดินทางไปออกงานแสดงสินค้าจะให้คำอธิบายกับลูกค้าชัดเจน โดยเฉพาะพื้นที่และวิธีติดตั้ง แม้มีระบุข้างกล่องแล้วก็ตาม

“ชี้แจงแนะนำบอกวิธีใช้ให้กับลูกค้า อย่าง ห้ามตั้งหลอดไฟกับพื้นหรือติดผนัง เพราะพื้นหรือผนังอาจทาสีอื่นซึ่งจะส่งผลให้แสงผิดเพี้ยน ประสิทธิภาพในการไล่ยุงจะลดลงหรือไม่ได้ผล ฉะนั้น ถ้าจะตั้งต้องมีฐานรองหลอดไฟจากพื้นขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร โดยให้ตัวหลอดหงายขึ้น แต่ถ้านำไปแขวน ความสูงจากพื้นตั้งแต่ 50 เซนติเมตร ไปจนถึง 2.40 เมตร ส่วนรัศมีควบคุมยุงต่อไฟ 1 หลอด 12 ตารางเมตร”

ทั้งนี้สำหรับราคาขายกำหนดไว้ชุดละ 350 บาท และยินดีส่งสินค้าทั่วประเทศ (ราคานี้ไม่รวมค่าขนส่ง) “ตอนนี้ได้รับโอกาสเดินทางไปออกงานแสดงสินค้าโดยการนำพาของหน่วยงานราชการหลายแห่ง อย่างครั้งนี้ได้เดินทางมาออกงานที่อาคารเอสเอ็มอีแบงก์ เพราะผมเป็นลูกค้าธนาคารยื่นขอสินเชื่อมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนตั้งแต่เริ่มต้นธุรกิจ สิ่งที่ผมได้รับไม่ใช่แค่เงินทุนอย่างเดียว แต่ยังได้ในเรื่องคำแนะนำ การดูแลเอาใจใส่ รวมถึงการตลาด มาขายแค่ 2 วันนี้มีรายได้เกือบ 30,000 บาท ถือว่าดีมากเลยครับ และผมก็ยินดีที่จะไปออกงานทั่วประเทศ ไปสร้างชื่อให้กับ หลอดไฟไล่ยุง NPS ด้วย”

สอบถามถึงกำลังการผลิต คุณถวิล ว่า เดือนละ 1,000 หลอด ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด แต่เนื่องด้วยขณะนี้พื้นที่และกำลังคนจำกัด เพียง 5 คนในครอบครัว

“ผมทำอาชีพนี้เป็นหลักแล้ว โดยหยุดผลิตถุงมือล้างรถ เพราะต้องการพุ่งเป้าและทำตลาดสินค้าหลอดไฟไล่ยุงให้ดีที่สุด ซึ่งผมมองว่าไปได้ไกล จากตัวเลขการผลิตในวันนี้เมื่อเทียบกับความต้องการไม่เพียงพอ เพราะกลุ่มเป้าหมายของหลอดไฟไล่ยุงกว้างมาก ไม่ใช่แค่คนทุกกลุ่มวัย แต่ยังหมายรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง แมว สุนัข หรืออุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ ฟาร์มไก่ ฟาร์มหมู รีสอร์ต ที่พัก ครอบคลุมไปหมด อนาคตจึงคิดขยายทั้งพื้นที่ผลิตและกำลังคน รวมไปถึงในส่วนของผลิตภัณฑ์ยังคงคิดพัฒนาเพื่อให้เข้ากับที่พักอาศัย”

สำหรับผู้สนใจต้องการติดต่อ หลอดไฟไล่ยุง *NPS เดินทางไปได้ที่ร้าน ที บี ขอนแก่น เลขที่ 561/3 ถนนกลางเมือง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทรศัพท์ (083) 677-2894 *

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 7

  • ธวัชชัย
    นั่งอ่านแล้ว การทำสิ่งประดิษเราไม่ควรหยุดอยุ่กับที่ และกล้าลงทุนพร้อมด้วยการป้องกันด้านทรัพย์สินทางปัญญา
    01 ส.ค. 2561 เวลา 14.40 น.
  • T.cho
    สุดยอดดดด สู้ต่อไปทาเกชิ!!!
    01 ส.ค. 2561 เวลา 16.54 น.
  • add
    เยี่ยมครับ นวัตกรรมไทยทำอย่าลืมจดลิขสิทธิ ช่วยกันอุดหนุนนะครับ
    01 ส.ค. 2561 เวลา 14.34 น.
  • BIDANAMO
    สังเกตุ ลงมือทำ นำความสำเร็จ เสร็จทุกงาน
    02 ส.ค. 2561 เวลา 00.18 น.
  • pui soil4
    แล้วถุงไล่แมลงวันล่ะ
    02 ส.ค. 2561 เวลา 03.19 น.
ดูทั้งหมด