โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

SMEs-การเกษตร

'มะไฟกา-ลังแข' ผลไม้ใต้ที่ใกล้สูญพันธุ์ วันนี้ยังมีให้เห็น อยากรู้ไปดูกัน!

เทคโนโลยีชาวบ้าน

อัพเดต 12 พ.ค. 2566 เวลา 10.48 น. • เผยแพร่ 12 พ.ค. 2566 เวลา 00.00 น.
มะไฟกา 01

หนึ่งในความทรงจำที่แสนประทับใจของการเดินทางท่องเที่ยวจังหวัดพังงา ที่อยากนำมาแบ่งปันผ่านตัวหนังสือ คือ ประสบการณ์เล็กๆ ที่มีโอกาสได้รู้จักกับ “ลังแข มะไฟกา” ผลไม้ป่าหายากประจำถิ่นภาคใต้ ที่ชาวบ้านรู้จักกันดีและนิยมนำมากินกันมานานแล้ว เหตุที่ประทับใจก็เนื่องจาก “ลังแข มะไฟกา” เป็นพันธุ์ไม้ป่าหายากที่เสี่ยงสูญพันธุ์ ทำให้เราไม่รีรอที่จะหยุดรถและเดินเข้าไปทำความรู้จักกับไม้ผลป่าชนิดนี้

มะไฟกา หรือมะไฟแดง เป็นพรรณไม้ยืนต้นที่พบขึ้นอยู่ตามป่า ตามธรรมชาติ พบขึ้นอยู่มากในป่าดิบชื้นของภาคใต้โดยทั่วไป มะไฟกาพบเห็นได้ง่ายในผืนป่าภาคใต้ตอนล่าง เช่น จังหวัดยะลา นราธิวาส ฯลฯ รวมทั้งภาคใต้ฝั่งอันดามัน ในพื้นที่จังหวัดพังงาและพื้นที่ใกล้เคียง นักท่องเที่ยวสามารถพบเห็นผลมะไฟกาวางขายตามเพิงข้างถนนในช่วงเดือนมิถุนายน-สิงหาคมของทุกๆ ปี

ลักษณะเด่นของมะไฟกาคือ ออกดอกติดผลตั้งแต่โคนต้นจากพื้นดินไปจนถึงปลายกิ่งเลยทีเดียว ผลที่สุกนั้นมีสีแดงสด เด่นสะดุดตา ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหันมาปลูกมะไฟกาเป็นไม้ประดับสวนในปัจจุบัน

ทั้งนี้ มะไฟกาบางต้นก็มีรสชาติหวาน และบางต้นมีรสชาติหวานอมเปรี้ยว ต้นมะไฟกาที่มีขนาดใหญ่อาจให้ผลผลิตสูง 800-1,000 กิโลกรัมทีเดียว

มะไฟกา เป็นผลไม้ป่าที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปในท้องถิ่นคือ มะไฟกาแดง ส้มไฟป่า ส้มไฟดิน มะไฟเต่า เป็นต้น ในทางพฤกษาศาสตร์ มะไฟกาเป็นไม้ยืนต้นในสกุล Baccaurea ตระกูลเดียวกับจำปูลิ่ง ลำต้นสูงประมาณ 6-10 เมตร เปลือกลำต้นสีเทาอ่อนปนน้ำตาล แตกเป็นสะเก็ดเล็กๆ บางๆ ใบเดี่ยว ออกรวมเป็นกลุ่ม ข้อต่อระหว่างโคนใบกับก้านใบบวมพอง ดอกออกที่ลำต้นและปลายกิ่งเป็นช่อ ดอกแยกเพศแยกต้น ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-5 กลีบ มีขนสีขาวปกคลุม ดอกตัวเมียมีขนาดใหญ่กว่า

ผลแก่มีสีแดง เปลือกหุ้มมีลักษณะเหนียวและหนา เมื่อแกะเปลือกจะเห็นผลแบ่งมี 3 ห้อง แต่ละห้องมี 1 เมล็ด ผลมีรูปร่างกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 2-3 เซนติเมตร (ซม.) เนื้อหุ้มเมล็ดมีสีเหลืองอ่อน มะไฟกาขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

ด้านการใช้ประโยชน์ ชาวบ้านทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามันมักนำยอด ใบอ่อน หรือผลอ่อนของมะไฟ ที่มีรสเปรี้ยวใช้กินเป็นผัก เช่น ใส่ในแกงคั่ว แกงเลียง แกงส้ม ทางภาคใต้นิยมกินเป็นผักเหนาะ เรียกกันว่า “ส้มไฟอ่อน”

นอกจากนี้ ยังนิยมนำเปลือกผลสุกที่เป็นสีแดงไปยำกับหนังหมูและกุ้งแห้ง ส่วนชาวบ้านแถบปัตตานีนิยมนำเปลือกของผลมะไฟกามาใส่แกงส้มแทนส้มแขก หรือมะขาม สำหรับผลสุกมักกินเป็นผลไม้สดหรือทำน้ำมะไฟ

มะไฟกานับเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เนื่องจากมีวิตามินซีสูง ช่วยในการสังเคราะห์คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยให้ผิวหนัง กระดูก และข้อต่อต่างๆ แข็งแรง รวมทั้งสารโพแทสเซียมที่มีบทบาทในการควบคุมการเต้นของหัวใจและควบคุมความดันโลหิต รวมทั้งสารแมกนีเซียมที่จำเป็นต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารในร่างกาย และมะไฟยังมีแคลเซียมและคาร์โบไฮเดรตอีกเล็กน้อย

มะไฟกาเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณทางยาคือ ช่วยขับเสมหะ รักษาอาการอาหารไม่ย่อย ท้องอืด ท้องเฟ้อ รากแก้พิษตานซาง แก้วัณโรค ฝี ดับพิษร้อนและเริม ลดอาการอักเสบ ในบางท้องถิ่นชาวบ้านนิยมใช้มะไฟกาเป็นพืชสมุนไพรกลางบ้าน โดยนำ “รากต้นมะไฟกา” มาต้มน้ำดื่ม เพื่อรักษาอาการอาหารไม่ย่อย หรืออาหารเป็นพิษ ท้องเสีย เป็นต้น

ความจริง ในผืนป่าภาคใต้ของไทยสามารถพบเห็นพืชในสกุลมะไฟอีกหลายชนิด เช่น ละไม ลังแข จำไร มะไฟลี ฯลฯ ในพื้นที่ป่าดิบชื้น ตั้งแต่บริเวณที่ราบเชิงเขา หรือริมลำธาร พื้นค่อนข้างจะลาดชัน เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ป่าธรรมชาติในภาคใต้ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่อง ในอนาคตหากคนไทยไม่ช่วยกันอนุรักษ์ป่าไม้ พืชในสกุลมะไฟอาจจะมีโอกาสสูญพันธุ์จากป่าเมืองไทยได้เช่นกัน

ชาวบ้านเรียกอีกอย่างว่า ลูกปุย ตามลักษณะเด่นของผลไม้ชนิดนี้ ที่ด้านในผลมีเนื้อสีขาวฟูๆ ห่อหุ้มเมล็ดอยู่ ลังแขหรือลูกปุย เป็นผลไม้ป่าเฉพาะถิ่นทางภาคใต้ของไทยที่เจริญเติบโตในดินร่วนซุยตามภูเขาและป่าพรุ ผลของลูกปุยจะติดเป็นพวง มีลักษณะกลมแบนคล้ายผลกระท้อน แต่ขนาดเล็กกว่า นอกจากนี้ ลังแขยังมีขนาดของผลใหญ่กว่ามะไฟมาก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-6 เซนติเมตร

ผลลังแขโตเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-5 เซนติเมตร ลังแขมีเปลือกหนา สีส้มหรือสีน้ำตาลแดง มีรสชาติเปรี้ยวปนฝาดเล็กน้อย คนใต้นิยมนำเปลือกลังแขไปปรุงอาหาร ส่วนเนื้อมีรสชาติหวาน นิยมกินเป็นผลไม้ ลังแขจะติดผลให้ได้กินกันปีละครั้ง ประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนของทุกปี

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อวันพุธที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2562

สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ - Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 5

  • Amornrat 6951
    เกือบจะไมีมีให้กินแล้วสรชาดเปรี้ยวอมหวานอร่อย
    07 ก.ย 2564 เวลา 02.09 น.
  • KOI
    คนทำข่าวนี้คือ แค่ถ่ายรูปจากร้านค้ามาแล้ว ก็ค้นหาข้อมูลทางเน็ตเอามาเขียนข่าว
    07 ก.ย 2564 เวลา 01.47 น.
  • €¥£
    ลังแข อร่อยนะ ฉ่ำน้ำ อมหวานมากกว่าเปรี้ยว ไม่นิยม เพราะเปลือกหนาเหมือนกระท้อน เลยรู้สึกแพง เปลือกเยอะกว่าเนื้อ มะไฟกา เปรี้ยวไปหน่อย ยำ พอได้ ถ้าบ้านไหนปลูกได้ต้นอมหวาน จะอร่อย ก็เหมือนมะไฟปกติ แค่สีสด ทำน้ำยำให้ดี หรือทำน้ำส้มตำ แกะเป็นกลีบๆ ลงคลุก อร่อย จัมปูลิง กำไร ฯลฯ ถ้าเปรี้ยวมาก ยำ ตำ จะเหมาะกว่า
    09 ก.ย 2564 เวลา 04.44 น.
  • 🍎Good.🍎
    มะละกา รังแข จำปูลิ้ง เป็นผลไม้ป่า ที่รสชาติไม่ได้อร่อยมาก รสเปรี้ยวนำ หวานไม่เท่าไร ทำให้ไม่เป็นที่นิยมมาก
    08 ก.ย 2564 เวลา 01.09 น.
  • เคยไปทำงานที่นราธิวาส โคตรเปรี้ยวเลยครับ เปรี้ยวอย่างเดียวเลย
    07 ก.ย 2564 เวลา 01.41 น.
ดูทั้งหมด