ภายใต้สภาวะฝุ่นตลบเรื่องการจัดตั้งรัฐบาล โผคณะรัฐมนตรี และความขัดแย้งภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็มีกระแสข่าวพาดหัวเรื่องการรัฐประหารแทรกซ้อนเข้ามาอย่างร้อนแรง
ประเด็นเรื่องการรัฐประหารร้อนแรงขึ้นมาเนื่องจากเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ออกสารถึงสาธารณชน ระบุถึงความไม่สบายใจกับสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้งในฝากฝั่งพรรคร่วม
รัฐบาล โดยระบุตอนหนึ่งในสารดังกล่าวว่า หวังว่าทุกอย่างจะเดินหน้าและความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลจะจบลงโดยเรียบร้อย “…เพื่อมิให้การดำเนินการทางการเมืองกลับไปเป็นปัญหาเช่นเดิม จนต้องเกิดการแก้ไขปัญหาแบบเดิมๆ ที่ทุกคนไม่ต้องการขึ้นมาอีก”
ประโยคดังกล่าวนี้เองที่กลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพราะคำว่า “การแก้ปัญหาแบบเดิมๆ” ดังกล่าวถูกนักสังเกตการณ์และสื่อถอดรหัสความหมายว่าหมายถึงการรัฐประหารยึดอำนาจนั่นเอง จนทำให้เกิดการวิจารณ์จากหลายฝ่ายว่าประเทศเพิ่งมีการเลือกตั้งได้ไม่นาน หลังจากว่างเว้นไม่มีการเลือกตั้งถึง 5 ปี
และนายกฯ เองก็เพิ่งได้รับตำแหน่ง การออกมาพูดขู่ในทำนองนี้เป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ดีนัก โดยเฉพาะต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและความมั่นใจของต่างชาติในประเด็นเสถียรภาพและทิศทางของประเทศ
คำถามที่น่าสนใจคือ ถ้ามีการรัฐประหารเกิดขึ้น จะเป็นการรัฐประหารล้มรัฐบาลของใคร และยึดอำนาจจากใคร? ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์เองเป็นผู้มีอำนาจและเป็นผู้นำฝ่ายบริหารอยู่ในปัจจุบัน หากวิเคราะห์ตามสถานการณ์ปัจจุบัน สมมติว่าหากมีการรัฐประหารเกิดขึ้น การรัฐประหารดังกล่าวจะเข้าข่าย “การรัฐประหารตนเอง” คือ ล้ม
รัฐบาลของตนเองและยึดอำนาจจากตนเอง เพื่อรื้อกระดานและจัดระเบียบอำนาจการเมืองเสียใหม่ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ยังคงเป็นผู้ครองอำนาจรัฐอยู่ แต่สภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งและพรรคการเมืองต่างๆ ที่อยู่ในสนามการเมืองปัจจุบันอาจจะอันตรธานหายไป หลายคนฟังแล้วอาจจะรู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ และเป็นเรื่องที่ฟังดูพิกลโดยแท้
แต่ความพิกลทางการเมืองในลักษณะ “การรัฐประหารตนเอง” เคยเกิดขึ้นมาแล้วในการเมืองไทย
ในปี พ.ศ. 2514 ในวันที่ 17 พฤศจิกายน จอมพลถนอม กิตติขจร นายกฯ ณ เวลานั้น ซึ่งควบตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และหัวหน้าพรรคสหประชาไทยอยู่ด้วย ได้ตั้งตนเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ตัดสินใจทำการรัฐประหาร ล้มรัฐบาลที่ตนเองเป็นผู้นำ! โดยเมื่อยึดอำนาจสำเร็จได้ออกคำสั่งคณะปฏิวัติหลายฉบับ
ที่สำคัญที่สุดคือ การยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 (ที่คณะกรรมการที่ตั้งโดยรัฐบาลทหารของจอมพลถนอมเป็นผู้ร่างขึ้นเอง) ยกเลิกพรรคการเมือง ยุบสภาผู้แทนราษฎร สั่งให้คณะรัฐมนตรีสิ้นสุดลง และห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คนขึ้นไป
โดยตั้งให้มีกองบัญชาการคณะปฏิวัติ นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของข้าราชการทหารและพลเรือน และเป็นผู้รักษาสถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร
จอมพลถนอมอ้างว่าที่ต้องยึดอำนาจเพราะประเทศมีสถานการณ์วุ่นวาย และการดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและรัฐสภาไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องรวบอำนาจเพื่อแก้ไขสถานการณ์โดยเฉียบพลันและเด็ดขาด
การรัฐประหารตนเองครั้งนี้ นำไปสู่กระแสความไม่พอใจของประชาชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว โดยเฉพาะในหมู่นิสิตนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ผิดหวังกับภาวะถดถอยทางการเมือง และภาวะที่ประเทศต้องกลับไปอยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการอำนาจนิยมของกองทัพโดยปราศจากสิทธิเสรีภาพและรัฐธรรมนูญอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากนักศึกษาประชาชนพอมีความหวังอยู่บ้างจากการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ซึ่งใช้เวลาร่างอยู่นานถึง 10 ปี)และการเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2512 การที่อยู่ดีๆ พื้นที่ทางการเมืองที่กำลังเริ่มเปิดขึ้นมาบ้างถูกปิดลงอีกครั้ง รัฐสภาที่ประชาชนเพิ่งเลือกมาถูกยุบเลิก และความหวังที่จะเห็นความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปในทางที่ดีขึ้นถูกดับลงเสียสนิท
ทำให้เกิดความผิดหวังอย่างรุนแรง และการรัฐประหารตนเองในปี 2514 นี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาและประชาชนรวมกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย จนนำไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาฯ ในอีก 2 ปีให้หลัง ที่ประชาชนเรือนแสนลุกขึ้นมาประท้วงต่อต้านรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร และคณะปฏิวัติ จนต้องสูญเสียอำนาจและออกนอกประเทศไปในท้ายที่สุด
สาเหตุสำคัญที่ทำให้จอมพลถนอม ยึดอำนาจจากตนเอง ก็เพราะคุมสถานการณ์ในสภาไม่อยู่ โดยเฉพาะบรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมเอง เพราะสมาชิกพรรคและผู้แทนราษฎรฝั่งรัฐบาลแย่งชิงตำแหน่งและเรียกร้องผลประโยชน์ต่างๆ กันอย่างดุเดือด
นายกฯ ถนอมซึ่งขณะนั้นเพิ่งเปลี่ยนสถานะจากผู้นำรัฐบาลทหารมาเป็นผู้นำพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง (โดยพรรคสหประชาไทยที่กองทัพสนับสนุนชนะเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1) ไม่คุ้นชินกับการบริหารจัดการความขัดแย้งทางการเมืองในสภา ไม่คุ้นชินกับการทำงานกับพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎร เพราะต้องคอยตอบคำถามและ
ถูกซักฟอกจากฝ่ายค้าน และไม่พอใจสภาวะที่ตนเองมีอำนาจจำกัดภายใต้รัฐธรรมนูญ ทำให้ใช้อำนาจไม่ถนัดมือตามใจชอบเหมือนสมัยเป็นนายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารที่มีมาตรา 17 ที่ให้อำนาจเด็ดขาดสมบูรณ์ และแต่งตั้งสมาชิกสภาเองกับมือทั้งหมด สามารถชี้นกเป็นนก ชี้ไม้เป็นไม้ได้
สรุปได้ว่า การรัฐประหารตนเองเกิดขึ้นเพราะจอมพลถนอมไม่ชอบการถูกตรวจสอบและอภิปรายคัดค้านในสภา เป็นสาเหตุสำคัญ จึงกระทำการยึดอำนาจจากนายกฯ ถนอม (ที่เป็นนายกฯ จากการเลือกตั้ง) กลับไปเป็นจอมพลถนอม (ที่เป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร) อีกครั้งหนึ่ง
ฉะนั้น หากถามว่าสิ่งที่เรียกว่า “การรัฐประหารตนเอง” มีอยู่จริงและเป็นไปได้หรือไม่ ก็ต้องตอบว่าเป็นไปได้ และเคยเกิดขึ้นแล้วในประวัติศาสตร์ แต่ประวัติศาสตร์จะซ้ำรอยอีกหรือไม่ คำถามนี้คงไม่มีใครสามารถตอบได้อย่างแน่ชัดและมั่นใจ
แต่เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่คงภาวนาขอให้ประวัติศาสตร์ไม่ซ้ำรอย
ความเห็น 13
ลุงเบิ้ม
ก็พวกมันเขียน ก.ม ทำได้นี่หว่า เช่น โดนซักฟอกในสภาแก้ข้อกล่วาหาไม่ได้ ก็รัฐประหารตัวเอง สะเลย แทนที่ลาออก ต้องเขียน ก.ม.ห้ามเลยเรื่องแบบนี้ มีโทษ ประหารชีวิต อย่างเดว
09 ก.ค. 2562 เวลา 12.21 น.
外国人
เป็นไปได้สูงเพราะสุนัขรับประทานอุจจาระเป็นอาจิณ แต่ก็อยากท้าลองให้ทำครับ เพราะมั่นใจว่าแพ้ ปชต. แน่นอน ถึงจะมีอาวุธ แต่ ไม่มี ปชช. หัวใจรัก ปชต. คนใดยำเกรงแน่นอน นานาชาติก็จะสนับสนุน ฝ่าย ปชต. แน่นอน
09 ก.ค. 2562 เวลา 12.24 น.
Bond AIT
ได้สิ 10กว่าครั้งก็อีแอบตัวเดิม
หลังจากไปใช้กรรมในนรก
ตอนนี้ก็มีทายาท อีแอบ
เจนเนอเรชั่นถัดไปแล้ว
09 ก.ค. 2562 เวลา 12.31 น.
-ZikkA-
ผมว่าไม่ต้องมานั่งวิเคราะห์หรอก.. เสียเวลา.. ให้มันทำจริงๆเลยดีกว่า.. จะได้รู้แจ้งเห็นจริงกันไป.. มันทำอีกคงมีนองเลือดกันอีก.. นี่แหละประเทศไทย.. หลงยึดติดอำนาจ เอื้อกันเฉพาะกลุ่ม.. ไม่ต่างจากตอนเสียกรุงศรีตามประวัติศาสตร์เลยครับ.. ขอให้คนทำดีจงทำดีรักประเทศ ใช้สติคิดสิ่งดีๆกันต่อไปนะครับ.. เราพี่น้องกันทั้งนั้น.. รักกันไว้เถิดครับ
09 ก.ค. 2562 เวลา 12.13 น.
Direk J
คนโกงมันก็หาวิธีโกง คนไม่โกงก็ไม่ต้องเดือดร้อน
11 ก.ค. 2562 เวลา 01.25 น.
ดูทั้งหมด