นักวิจัยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ “มวล.” ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) และกรมปศุสัตว์ วิจัยปรับปรุงสายพันธุ์ “ไก่ลิกอร์” โดยได้รับทุนส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อให้ได้สายพันธุ์ไก่พื้นเมืองลูกผสม ที่มีอัตลักษณ์ตรงกับวิถีการเลี้ยงของเกษตรกรและความต้องการของผู้บริโภคในพื้นที่ภาคใต้
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา ชูฤทธิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการสังคม มวล. เปิดเผยว่า การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเป็นอาชีพหนึ่งที่จะช่วยให้เกษตรกรภาคใต้มีรายได้ตลอดปี เนื่องจากไก่พื้นเมืองเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ใช้พื้นที่น้อย เมื่อเทียบกับปศุสัตว์ชนิดอื่น มีวงจรชีวิตสั้น ให้ผลตอบแทนเร็ว โดย 1 ปี สามารถเลี้ยงได้ 2 ถึง 3 รอบการผลิต อีกทั้งให้เนื้อที่มีรสชาติดี โปรตีนสูง ไขมันต่ำ เหมาะกับผู้บริโภคที่รักสุขภาพ
ปัจจุบันปริมาณการผลิตไก่พื้นเมืองยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เนื่องจากไก่พื้นเมืองมีอัตราการเจริญเติบโตต่ำ ผลผลิตน้อย จึงใช้เวลาในการเลี้ยงนานกว่าไก่เนื้อที่เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ทางนักวิจัยเล็งเห็นถึงประเด็นปัญหาดังกล่าว จึงได้นำผลการวิจัยเรื่องไก่พื้นเมืองมาต่อยอดผลิตเป็นไก่พื้นเมืองลูกผสม โดยให้ชื่อว่า “ไก่ลิกอร์ (LIGoR)” ซึ่งเป็นชื่อเก่าของจังหวัดนครศรีธรรมราช
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าวว่า ลักษณะเด่นของไก่ลิกอร์ คือ มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ให้เนื้อที่มีคุณภาพ รสชาติอร่อย คอเลสเตอรอลต่ำ วิตามินและแร่ธาตุสูง ตรงต่อความต้องการของเกษตรกรและผู้บริโภค ซึ่งลักษณะเด่นดังกล่าว มาจากการผสมสายพันธุ์ระหว่างพ่อไก่แดงสุราษฎร์ธานี ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์โดยทีมวิจัยจากกรมปศุสัตว์ และไก่แม่พันธุ์ มทส. ที่ถูกปรับปรุงสายพันธุ์โดยทีมวิจัยจาก มทส. โดยทีมนักวิจัย มวล. ได้คัดเลือกทั้งพ่อและแม่พันธุ์ไก่ที่นำมาใช้ปรับปรุงสายพันธุ์มาเป็นระยะเวลานาน
ผลการวิจัยพบว่า “ไก่ลิกอร์” ที่อายุ 90 วัน (12 สัปดาห์) มีน้ำหนักเฉลี่ย 1.50-2.00 กิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ย/ตัว/วัน = 22 กรัม และประสิทธิภาพการใช้อาหาร = 2.6 อายุดังกล่าวเป็นอายุที่ได้น้ำหนักตรงตามความต้องการของตลาด ราคาไก่ลิกอร์หน้าฟาร์มขึ้น-ลง ตามกลไกการตลาดเป็นสำคัญ โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 70-90 บาท ต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพันธุ์ไก่ลิกอร์ ได้ดำเนินมาในทิศทางที่เหมาะสม เนื่องจากได้รับการตอบสนองจากผู้บริโภคและเกษตรกรผู้เลี้ยง ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการไก่ลิกอร์ที่เพิ่มมากขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.วรรณา กล่าวในตอนท้ายว่า “เป้าหมายสำคัญของการผลิต ไก่ลิกอร์ คือการพัฒนาสายพันธุ์ไก่ที่สามารถสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรในระดับวิสาหกิจชุมชนและขยายฐานการเลี้ยงครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดในภาคใต้และทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทยในอนาคต การพัฒนาสมาร์ทแพลตฟอร์มสำหรับห่วงโซ่อุปทานไก่พื้นเมือง เพื่อให้ผู้ค้าและผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลผู้ผลิตได้อย่างถูกต้องและสร้างการรับรู้การบริโภคไก่พื้นเมืองเป็นวงกว้าง สร้างเส้นทางการตลาดไก่ลิกอร์ที่ชัดเจน เพื่อการบริหารจัดการกลุ่มการเลี้ยงไก่ลิกอร์อย่างยั่งยืน และยกระดับการผลิตไก่ลิกอร์สู่การตลาดเชิงพาณิชย์ต่อไป”
ปัจจุบันทางทีมวิจัยไก่ลิกอร์ มวล.ได้ผลิตและจำหน่ายลูกไก่ลิกอร์อายุ 1 วัน ราคา 14 บาทต่อตัว พร้อมทำวัคซีนหลอดลมอักเสบและนิวคลาสเซิลให้แก่เกษตรกรผู้สนใจและพร้อมเป็นผู้ร่วมวิจัยกับทางโครงการ ช่องทางการติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม เพจ Facebook : ไก่ลิกอร์ / เว็บไซต์ https://ligor.wu.ac.th หรือ โทร.095-049-2198
ความเห็น 0