โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

นพ. วิจารณ์ พานิช: มนุษย์ฝึกได้มากกว่าที่คิด Lifelong Learning คือทักษะชีวิตที่มากกว่าแค่การท่องจำ

a day BULLETIN

อัพเดต 11 ต.ค. 2562 เวลา 09.49 น. • เผยแพร่ 08 ต.ค. 2562 เวลา 10.48 น. • a day BULLETIN
นพ. วิจารณ์ พานิช: มนุษย์ฝึกได้มากกว่าที่คิด Lifelong Learning คือทักษะชีวิตที่มากกว่าแค่การท่องจำ

‘การเรียนรู้ตลอดชีวิต’ ในโลกของการศึกษาทั้งในและนอกรั้วโรงเรียน เรามักจะได้ยินคำนี้อยู่บ่อยๆ  

        ว่ากันว่าการสร้างคนให้มีลักษณะแบบ ‘Lifelong Learner’ หรือผู้เรียนรู้ตลอดชีวิตคือคำตอบที่จะเป็นทางออกในโลกยุคที่สถานการณ์ต่างๆ ในชีวิตผันผวนง่ายแต่คาดเดายาก โดยหัวใจสำคัญอยู่ที่การปลูกฝังแนวคิดการเรียนรู้แบบ Learn - Unlearn - Relearn เปิดใจเรียนรู้โดยพร้อมที่จะละวางความรู้เดิมเพื่อสร้างการเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา 

        ‘พูดง่ายแต่ทำไม่ง่าย’ พวกไม้แก่ดัดยากคงรู้ดี เพราะมันคือการสร้างนิสัยใหม่ และมักจะเกิดขึ้นในช่วงที่ชีวิตพบสถานการณ์ชวนอึดอัดคับข้องใจ 

        ศาสตราจารย์ นายแพทย์ วิจารณ์ พานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ทั้งทางทฤษฎีและการปฏิบัติจึงย้ำนักย้ำหนาว่าต้องรู้จัก ‘ฝึกฝน’ ด้วยเชื่อว่า ‘มนุษย์เราฝึกได้มากกว่าที่คิด Lifelong Learning เป็นทักษะชีวิตที่ทำได้จริง ไม่ใช่การมัวแต่ท่องทฤษฎีทั้งหลายโดยที่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย’ 

        ทั้งนี้ เพื่อชี้ชวนให้พวกเราคนหนุ่มสาวที่บ่นเบื่อชีวิตเป็นกิจวัตรได้เข้าใจ เขาค่อยๆ คลี่คลายผ่านการบอกเล่าประสบการณ์ส่วนตัวนับตั้งแต่วัยเด็กจนถึงปัจจุบัน ทุกเรื่องราวล้วนมุ่งสู่เส้นทางของการบ่มเพาะนิสัยให้กลายเป็นผู้ที่รักในการเรียนรู้ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของวิกฤตและสถานการณ์ที่ยากลำบาก ซึ่งจะเป็นบททดสอบชั้นดีในการฝึกฝนตัวเองและสร้างทักษะที่จำเป็นต่อชีวิต

 

วิจารณ์ พานิช
วิจารณ์ พานิช

ในวันนี้เราได้เห็นองค์กรเพื่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจระดับโลก สถาบันการศึกษา รวมถึงภาคธุรกิจต่างพูดถึง Lifelong Learning หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยส่วนตัวคุณเชื่อว่าแนวคิดนี้จะเป็นคำตอบที่ถูกต้องของการเรียนรู้ในอนาคตหรือเปล่า

        การเรียนรู้ตลอดชีวิตคือคำตอบที่ถูกต้องที่สุดอย่างแน่นอน และสำคัญอย่างยิ่งไม่ว่าจะกับคนเพศไหนวัยใด โดยเฉพาะกับการใช้ชีวิตในยุคสมัยต่อจากนี้ ทักษะและความสามารถในการปรับตัวเพื่อเรียนรู้จะเป็นตัวกำหนดความสุขและความสำเร็จในชีวิต

        ผมเชื่อว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แข็งแรงจะต้องเริ่มต้นทำตั้งแต่ตอนที่เด็กยังอยู่ในท้องแม่ หากเพิ่งมาเริ่มทำตอนเป็นผู้ใหญ่จะได้ผลที่จำกัด ที่บอกเช่นนี้เพราะผมอ้างอิงจากการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้ในปัจจุบัน ซึ่งมาจากศาสตร์ทางด้านสมอง (Neuroscience) รวมถึงศาสตร์ทางจิตวิทยาว่าด้วยการรู้คิด (Cognitive Psychology) ซึ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ถ้าคนเป็นแม่เกิดความเครียดระหว่างตั้งครรภ์ ความเครียดจากแม่จะถูกถ่ายทอดสู่ลูก เมื่อร่างกายของแม่ขาดองค์ประกอบของสารอาหารที่คนเป็นแม่ควรได้รับ หรือถ้าหากแม่มีความเครียดในจิตใจ คนเป็นลูกก็ย่อมจะได้รับการถ่ายทอดสิ่งไม่ดีเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย 

        ตามธรรมชาติของการเติบโต ร่างกายจะมีกลไกการปรับตัวเพื่อที่จะอยู่กับความเครียดนั้นให้ได้ ซึ่งวิธีการปรับตัวก็คือการทำให้สมองทำงานช้าลงเพื่อที่จะปรับระดับความเครียด ส่งผลให้กลไกบางอย่างในสมองถูกบั่นทอนลงไป พอเด็กคลอดออกมาเขาจะไม่ค่อยเรียนรู้ การสร้างการเรียนรู้จึงไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เหมือนคำกล่าวที่ว่า 'รอให้ถึงอนุบาลหรือรอให้เด็กคลอดออกมาแล้วค่อยฝึกฝนก็สายเกินไปเสียแล้ว'

สังคมเราตอนนี้มีแนวโน้มของความต้องการเงินมากขึ้น ลำพังให้สามีหรือภรรยาเพียงคนเดียวหารายได้เพื่อเลี้ยงดูทั้งครอบครัวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้หญิงที่เป็นแม่ก็จะต้องทำหน้าที่หาเงินไปด้วย ย่อมเสี่ยงที่จะมีความเครียดสูง

แต่การใช้ชีวิตในปัจจุบัน คงไม่ง่ายที่คนเป็นแม่จะหลีกเลี่ยงความเครียดทั้งทางร่างกายและจิตใจ นั่นย่อมแปลว่าแม่ที่ปากกัดตีนถีบคงไม่มีทางเลี้ยงลูกให้มีการเรียนรู้ที่ดีได้ใช่หรือเปล่า 

        นี่คือสภาพที่คนรุ่นคุณกำลังเผชิญกันอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย ชีวิตในปัจจุบันไม่เหมือนสังคมสมัยก่อนที่ผู้หญิงจะอยู่กับบ้าน คอยเลี้ยงลูกและดูแลบ้านให้ดีเท่านั้น ผมเห็นชีวิตของคนในรุ่นของคุณแล้วทำให้รู้สึกว่าเราเองโชคดีเหลือเกิน ผมเป็นเด็กบ้านนอก เกิดในจังหวัดชุมพร อยู่ในครอบครัวที่มีแม่อยู่กับบ้านคอยใส่ใจดูแลลูกทุกคนอย่างใกล้ชิด เมื่อ 50 ปีที่แล้วผมเดินทางไปอเมริกายังเห็นเลยว่าผู้หญิงอเมริกันที่เป็นชนชั้นกลางจะอยู่บ้านเลี้ยงลูกหลังแต่งงาน รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งมีค่านิยมเรื่องการให้ผู้หญิงเลี้ยงลูกอยู่บ้านอย่างชัดเจนมาก แต่ปัจจุบันสังคมได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว 

        สังคมเราตอนนี้มีแนวโน้มของความต้องการเงินมากขึ้น ลำพังให้สามีหรือภรรยาเพียงคนเดียวหารายได้เพื่อเลี้ยงดูทั้งครอบครัวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้น ผู้หญิงที่เป็นแม่ก็จะต้องทำหน้าที่หาเงินไปด้วย ย่อมเสี่ยงที่จะมีความเครียดสูง แต่ผมเองไม่สามารถสรุปภาพรวมทั้งหมดได้หรอกนะว่าดีหรือไม่ดี เพียงแต่เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งถ้ามองในแง่ของการมีเวลาอยู่กับลูก หรือการให้เขาได้รับการดูแลที่ดี ก็น่าจะแย่ลง  

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเราเป็นชนชั้นกลางก็อย่าได้คิดจะมีลูกเลย 

        ความคิดแบบนี้ก็เป็นเทรนด์ในปัจจุบัน ซึ่งผมไม่ได้เชื่อในค่านิยมแบบนี้เช่นกัน ถึงแม้บทบาทหน้าที่ของการเป็นคนทำงานกับการเป็นพ่อแม่จะถูกท้าทายและยากลำบากมากขึ้น แต่สำหรับผมแล้วการได้ใช้ชีวิตกับครอบครัวนับเป็นความสุขในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีความสวยงามของมันอยู่ ผมมีพี่น้อง 7 คน และมีลูกตั้ง 4 คน เราเห็นความเป็นครอบครัวที่มีความผูกพันต่อกัน เพราะชีวิตมนุษย์เราไม่ได้มีแค่การมุ่งหาเงิน มีบ้าน มีรถ ได้ครอบครองสมบัติมากมายเท่านั้น แต่เรายังต้องการความรักความอบอุ่น ต้องการแวดวงของมิตรภาพและความอนาทรร้อนใจต่อกันด้วย ซึ่งการมีลูกเป็นรูปแบบหนึ่งของความสัมพันธ์แบบนี้ ผมจึงมองการมีลูกในแง่ดีและเป็นความสุขทางใจ

        หลานๆ ของผมเขาไม่ได้อาศัยอยู่บ้านหลังเดียวกับเรา แต่แทบทุกอาทิตย์หลานคนที่อยู่เมืองไทยจะคอยมาเยี่ยม ทำให้เราได้เห็นความเจริญงอกงามของเขา ซึ่งความงดงามแบบนี้ผมเพิ่งจะมองเห็นมันตอนที่มีอายุมากขึ้นพร้อมกันกับที่เราสนใจเรื่องการเรียนรู้และเรื่องทางจิตใจ การได้มองเห็นเขาเติบโตคือยาบำรุงหัวใจชั้นดี ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองย้อนกลับไปสมัยที่เราเลี้ยงลูก ผมยิ่งพบว่าลูกเป็นเครื่องมือให้เราได้เรียนรู้ในมิติต่างๆ อย่างดีเยี่ยม นับตั้งแต่เขายังแบเบาะ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่และเริ่มแยกจากเราไป 

        คนมีลูกจะรู้จักคำว่า Terrible Two หมายความว่า ตอนที่เขามีอายุได้สักสองขวบจะเริ่มดื้อ เพราะเริ่มเป็นตัวของตัวเอง พอยิ่งเข้าสู่วัยทีน โอ้โฮ เขาสอนเราอย่างยิ่ง มันวุ่นวายไปหมด พูดคุยกันไม่รู้เรื่องเลย แล้วพอก้าวสู่วัย 20 ก็ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นกับพวกเขาอีกครั้ง คราวนี้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เหมือนปิดสวิตช์ความดื้อ ความวุ่นวาย รวมถึงความต่อต้านพ่อแม่ไปทั้งหมด กลายเป็นผู้ใหญ่ที่พูดคุยรู้เรื่องขึ้นมาทันที ซึ่งถ้าไม่มีลูกเราคงพลาดประสบการณ์การเรียนรู้แบบนี้ไป 

ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องการศึกษา คุณน่าจะวางแผนเพื่อปลูกฝังเรื่องการเรียนรู้ของลูกๆ มาเป็นอย่างดี 

        (ยิ้ม) เราไม่เคยรู้เรื่องราวเหล่านี้มาก่อนเลย เพิ่งจะมาเรียนรู้เมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แต่โชคดีว่าเราไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง เพราะทั้งผมและภรรยาต่างเป็นหมอทั้งคู่ ฐานะความเป็นอยู่ของเราก็ค่อนข้างสุขสบาย ถึงแม้จะไม่ได้มีเงินทองมากมายแต่ก็นับว่าทุกอย่างสมบูรณ์ทีเดียว ตอนเขาตั้งครรภ์เราก็เพียงแค่คอยระวังว่าอย่าทะเลาะกัน อย่าเครียดเท่านั้น แต่มันก็ทำได้ในระดับหนึ่งนะ ทำไม่ได้ทั้งหมดหรอก ยิ่งตอนหนุ่มๆ สาวๆ เรายังไม่เข้าใจหรอกว่าการคิดเห็นต่างกันเป็นเรื่องธรรมดา มาเข้าใจก็เมื่อตอนอายุมากขึ้นแล้ว 

เข้มงวดกับลูกมากแค่ไหน

        ตอนนั้นเราเองไม่ได้คิดว่าเราเข้มงวดอะไรเลย แต่ลูกผมเคยบอกให้ฟังว่าสมัยเขาเป็นเด็กเราค่อนข้างเข้มงวด ซึ่งผมคิดว่าคงเป็นความเข้มงวดในแง่ของการปลูกฝังโดยทำให้ดูเป็นตัวอย่างมากกว่า โดยเฉพาะนิสัยรักการอ่าน ตอนที่ลูกกำลังโต ผมลงไปเป็นอาจารย์อยู่ที่หาดใหญ่ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ภรรยาของผมก็จะไปจ่ายตลาดที่ตลาดสดเทศบาล ซึ่งมันอยู่ใกล้กับร้านหนังสือขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ผมก็มักจะไปซื้อหนังสือที่นั่นเป็นประจำ ซื้อให้ทั้งตัวเองและลูก หนังสือของพวกเขาจะเป็นพวกนิทาน การ์ตูนดีๆ แล้วเราจะมานั่งอ่านด้วยกัน การซื้อหนังสือให้เขาก็นับเป็นความจงใจของผมที่จะปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ให้ลูก 

 

วิจารณ์ พานิช
วิจารณ์ พานิช

แล้วคุณเติบโตมาแบบไหน พ่อแม่ปลูกฝังเรื่องใดเป็นพิเศษ

        คุณแม่ของผมเป็นลูกจีนแท้ อพยพมาจากเมืองจีน เกิดที่เพชรบุรี และเป็นลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องทั้ง 9 คน คุณแม่เป็นคนหัวดีแต่อยู่ในครอบครัวฐานะยากจน หลังจากเรียนหนังสือจนถึงชั้น ป.4 ท่านสอบติดเข้าระดับ ม.1 ในโรงเรียนที่ดีมากของจังหวัดเพชรบุรี แต่ด้วยความที่ไม่มีเงินก็เลยต้องลาออก เท่ากับว่าแม่เรียนจบแค่ ป.4 แล้วตากับยายก็พาแม่ไปหาลู่ทางทำกิน ตั้งรกรากอยู่ที่ชุมพร แม่จึงหัดทำขนมหวานขาย ในที่สุดก็ได้มาเจอและแต่งงานกับพ่อ 

        ส่วนพ่อผมเกิดที่ชุมพร เรียนจบ ม.6 จากกรุงเทพฯ ญาติก็ยุให้เรียนต่อแต่ว่าแกเองก็ไม่มีเงิน ที่จริงแล้วคุณพ่อผมเป็นหลานของมหาเศรษฐี แต่ชะตาชีวิตทำให้ต้องตกอับ อย่างไรก็ตามท่านเป็นคนที่ขยันขันแข็งมาก ทำงานหนัก เริ่มต้นจากเป็นคนขับรถรับจ้าง ทำสวน แล้วตะเกียกตะกายจนเปิดโรงสีเป็นของตัวเอง ฐานะก็ดีขึ้น ผมยังจำได้ว่าแต่เดิมบ้านเราใช้ตะเกียงเจ้าพายุกัน พักหลังๆ จึงเริ่มมีปัญญาปั่นไฟไว้ใช้เอง ผมก็ได้เงินจากโรงสีมาเรียนหนังสือ

        คนที่คอยอยู่เลี้ยงลูกจริงๆ คือแม่ ทั้งที่แม่เป็นคนที่มีการศึกษาน้อยมากเมื่อเทียบกับพ่อ แถมยังอยู่ในแวดวงของสังคมคนต่างจังหวัด แต่กลับประสบความสำเร็จมากในการเลี้ยงลูกทั้ง 7 คน แม่จะชอบท่องสุภาษิตสอนใจทั้งหลายแล้วนำมาใช้สอนลูก ทั้งในเรื่องของการประพฤติตัวให้ซื่อสัตย์สุจริต และไม่วอกแวกไปกับอบายมุข ท่านสอนลูกได้ไม่ต่างจากคนที่มีการศึกษาสูงเลย เพราะหมั่นอ่านหนังสือและเรียนรู้จากคนรอบข้างอยู่เสมอ แต่สมัยเด็กๆ เรามักจะรู้สึกว่าท่านเข้มงวดมาก ซึ่งเราไม่ชอบเอาซะเลย 

เข้มงวดอย่างไร 

        แม่ผมท่านเข้มงวดทั้งในแง่ของความประพฤติและการใช้งาน ทุกวันที่มีตลาดนัดผมต้องช่วยแม่เอาของไปขายที่นั่น จำได้เลยว่าช่วงปลายปีอากาศจะหนาว พืชผลในสวนของเราจะไม่ค่อยมี แม่ก็จะเพาะถั่วงอกขายเพื่อหารายได้เข้าบ้าน ท่านมีหน้าที่เพาะ ส่วนผมมีหน้าที่เก็บล้างและนำไปขายที่ตลาด ทีนี้อากาศหน้าหนาวมันเย็นสบาย เรากำลังนอนอร่อยเลย แต่ทุกตีห้าแม่จะเข้ามาปลุกเราให้กระเตงเอาปี๊บที่เพาะถั่วงอกกับตะแกรงไม้ไผ่เดินไปครึ่งกิโลเมตรเพื่อเอาไปล้างที่ท่าน้ำแล้วค่อยเอาไปขายที่ตลาดนัดต่อ ขายจนหมดแล้วจึงปั่นจักรยานไปโรงเรียนได้ 

        แน่นอนว่าเราไม่อยากทำ เราเองก็อยากออกไปวิ่งเล่นเหมือนเพื่อนคนอื่นๆ บ้าง แต่พอโตมาแล้วมองย้อนกลับไป ผมคิดว่าสิ่งที่แม่สอนไว้ได้ปลูกฝังทักษะชีวิตที่สำคัญให้แก่เรา ท่านทำให้รู้ว่าไม่มีอาชีพไหนที่ต่ำต้อย ไม่มีอะไรที่ยากลำบากหรือไม่น่าทำ ทุกอย่างในวันนั้นเป็นการฝึกฝนให้เรารู้จักอดทน 

พ่อแม่ของคุณอยากให้เรียนจบสูงๆ ออกมาทำงานเป็นเจ้าคนนายคน หรือต้องการให้สานต่อกิจการโรงสี

        แล้วแต่ลูกเลย ไม่บังคับ แต่การที่ผมได้มาเรียนแพทย์เป็นเพราะว่าเราถูกกระแสสังคมพัดพามามากกว่า ด้วยความที่เรียนหนังสือเก่ง ครูจึงบอกพ่อให้ส่งเสียเราให้เรียนสูงๆ สอบเข้ามาเรียนกรุงเทพฯ ให้ได้แล้วจะคล่องแคล่วมากขึ้น รวมถึงค่านิยมในสมัยนั้นคือคนที่เรียนเก่งก็ควรจะเรียนหมอ เท่ากับว่าคำพูดของครูกำหนดวิถีชีวิตในอนาคตของผม ขณะที่พ่อจะเป็นคนที่ตะเกียกตะกายในเรื่องงานและการสร้างฐานะครอบครัวเท่านั้น ไม่ได้มีวิสัยทัศน์ต่อเรื่องการศึกษาของลูกๆ มากนัก เขาแค่ส่งพวกเราเรียนตามประสาชาวบ้านเท่านั้นเอง 

        พอครูบอกมาแบบนั้นเราจึงมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะต้องตั้งใจเรียนเพื่อเป็นหมอ และเนื่องจากเราเป็นเด็กบ้านนอกเข้ากรุง จึงค่อนข้างเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่ว่อกแว่กไปกับเรื่องที่จะทำให้เสียสมาธิในการเรียน สิ่งสำคัญคือผมจะหมั่นสังเกตว่าคนที่เรียนเก่งเขาเรียนยังไง ทำการบ้านส่งครูเป็นประจำหรือเปล่า ฟังพวกเขาคุยกัน ดูว่าเขาคิดเห็นยังไง กระทั่งลายมือหรือวิธีการเขียนของเขาเรายังชอบดูเลย  

ตอนนั้นเห็นความสำคัญของ Lifelong Learning หรือยัง 

        ตั้งแต่เด็กจนโตมาเป็นอาจารย์ผมยังไม่เคยได้ยินคำนี้มาก่อนเลยนะ เพิ่งจะได้ยินหลังจากเกษียณออกมาแล้ว คำคำนี้มากับยุคสมัยใหม่ เพราะโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้คนต้องเรียนรู้ใหม่ตลอดเวลา เหมือนที่เขาบอกกันว่ารูปแบบของการเรียนรู้ในปัจจุบันประกอบด้วยคำสามคำคือ Learn - Unlearn - Relearn หมายถึงว่าต้องพร้อมที่จะเรียนรู้และเปิดรับวิธีการใหม่ๆ อยู่เสมอ รวมถึงไม่ยึดติดกับสิ่งที่เคยเรียนรู้มา เพราะการยึดติดจะปิดกั้นไม่ให้เราเกิดการเรียนรู้ในมุมมองใหม่ๆ 

         โลกตอนนี้แตกต่างจากโลกเมื่อหลายสิบปีที่แล้วอย่างมหาศาล ถามว่าเราจะฝึกให้คนมีทักษะของการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้อย่างไร ผมคิดว่าสิ่งแรกคือเราต้องฝึกให้คนรู้จักตั้งคำถามและหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง เมื่อไหร่ที่ตั้งคำถามแล้วมีคนมาบอกคำตอบให้แก่คุณ ถ้าคุณเป็นคนที่มีทักษะ Lifelong Learning คุณจะเชื่อแค่ครึ่งเดียว แล้วไปหาคำตอบในส่วนที่เหลือด้วยตนเอง รูปแบบการเรียนอย่างนี้แตกต่างจากการเรียนรู้ในสมัยเด็กของผมแบบคนละขั้วเลย ซึ่งการเรียนแบบเดิมที่เราเคยสัมผัสมานั้นมันล้าสมัยไปแล้ว ผมคิดว่าเด็กทุกคนที่จะเอาตัวรอดในยุคนี้ได้ต้องมาจากการฝึกฝนให้กล้าตั้งคำถามและมีจิตใจที่อยากแสวงหาคำตอบ ถ้าพูดถึงการออกแบบห้องเรียนก็คือต้องเป็นห้องเรียนที่เน้นการเรียนแบบ Project Based Learning หรือเรียนรู้จากกิจกรรมโดยมีครูคอยให้โจทย์ 

 

วิจารณ์ พานิช
วิจารณ์ พานิช

มันจะแตกต่างจากวิชาโครงงานในห้องเรียนแบบเดิมๆ อย่างไร   

        แตกต่างตรงที่ไม่ได้ทำกิจกรรมหรือโครงงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ครูยังต้องฝึกให้เด็กรู้จักสังเกตและเก็บข้อมูลจากการลงมือทำแล้วนำมาสะท้อนคิดร่วมกัน (Reflection) สภาพของห้องเรียนที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีได้นั้นครูต้องสร้างบรรยากาศที่ไม่เน้นถูกผิด ถ้ามีนักเรียนออกความเห็นอะไรที่บ๊องๆ ออกมา เขาต้องไม่ถูกเยาะเย้ย ถากถาง ไม่อย่างนั้นเด็กก็จะไม่กล้าคิด ห้องเรียนที่ดีต้องสร้างให้ผู้เรียนมีทักษะของการตั้งคำถาม รู้จักทดลอง และคิดใคร่ครวญได้ด้วยตัวเอง 

หากเด็กคนหนึ่งเกิดออกความเห็นที่บ๊องๆ ขึ้นมา ครูจะช่วยให้เขากลับมาเข้าใจบทเรียนได้อย่างไร

        นี่คือสิ่งที่ประเทศที่การศึกษาดีๆ อย่างเช่น ฟินแลนด์ ญี่ปุ่น ฯลฯ ให้ความสำคัญมาก เพราะเขาไม่ได้สนใจแค่คำตอบเท่านั้น แต่เขายังสนใจถึงความคิดที่อยู่เบื้องหลังคำตอบนั้นด้วย ในกรณีที่มีเด็กตอบสิ่งที่ดูบ๊องๆ ออกมา ครูจะถามทันทีว่า ทำไม? ทำไมถึงตอบว่าอย่างนี้ เด็กเคยมีประสบการณ์อะไรมาก่อน หรือเด็กไปเอาคำตอบมาจากไหน ครูที่ดีจะมองเห็นถึงความคิดที่อยู่ลึกลงไป ไม่ตื้นเขินตัดสินเด็กจากคำตอบถูกหรือผิดเท่านั้น 

        ราว 20 กว่าปีก่อน ลูกสาวของผมคนหนึ่งไปเรียนปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เขาถึงกับเขียนจดหมายมาเล่าให้ฟังว่ารู้สึกเสียใจมากเพราะเขาพยายามท่องหนังสือมาอย่างดีแล้ว มั่นใจว่าทำข้อสอบได้แน่ๆ แต่พอออกจากห้องสอบมาแล้วกลับพบว่าเขาตอบข้อสอบนั้นผิด แต่สิ่งที่ทำให้เขาแปลกใจมากคือผลประกาศคะแนนออกมาว่าเขาทำคะแนนได้เกือบเต็ม ก็เลยไปถามอาจารย์ว่าทำไมตอบข้อสอบผิดแล้วยังได้คะแนนเกือบเต็ม ปรากฏอาจารย์เฉลยว่า เพราะวิธีคิดของคุณมันสุดยอดเลย มีจินตนาการมากจนเขาอยากจะให้คะแนนเต็มเลยด้วยซ้ำ แต่ขอหักซะหน่อยเพราะว่าคำตอบผิด 

        สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าการศึกษาของญี่ปุ่นเขาดูที่ความคิด ไม่ใช่วัดที่คำตอบเป็นหลัก เป้าหมายของการเรียนคือการเป็นคนที่มีความคิด ส่วนคำตอบเป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้นเอง เมื่อเด็กตอบผิดแล้วครูถามว่าทำไมจึงตอบเช่นนั้น มันจะเป็นการสอนให้เด็กมองเห็นถึงสิ่งที่อยู่ลึกลงไป พอนำมาเทียบกับการสอนแบบไทยๆ ที่เน้นดูแค่คำตอบถูกหรือผิดจึงเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าทำไมความคิดของเราถึงตื้นเขิน ก็เพราะไม่ได้ถูกฝึกมาแบบนี้ 

ครูต้องละวางอำนาจลง แล้วกลายเป็นผู้ empower เด็ก เพื่อให้เด็กกล้าถาม กล้าตั้งข้อสงสัยกับทุกๆ เรื่อง แล้วความสงสัยจะต้องไม่สิ้นสุดจากการพบคำตอบในหนังสือด้วย พูดง่ายๆ ว่าจะต้องสร้างให้เขามีธาตุของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

บทบาทและหน้าที่ของครูควรเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ยังคงเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในห้องเรียนเหมือนเดิมหรือเปล่า 

        ครูต้องละวางอำนาจลง แล้วกลายเป็นผู้ empower เด็ก เพื่อให้เด็กกล้าถาม กล้าตั้งข้อสงสัยกับทุกๆ เรื่อง แล้วความสงสัยจะต้องไม่สิ้นสุดจากการพบคำตอบในหนังสือด้วย พูดง่ายๆ ว่าจะต้องสร้างให้เขามีธาตุของคนที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ 

        นอกจากจากความกล้าในการตั้งคำถามและตีความตามที่ตัวเองคิดแล้ว สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งของการเรียนรู้ในปัจจุบันและอนาคตคือต้องรู้จักฟังคนอื่นให้เป็น ผมเองชอบฟังเพื่อนมาตั้งแต่ไหนแต่ไร และมักจะกลับมาคิดเสมอว่า แหม ทำไมกูโง่อย่างนี้นะ เรียนมาด้วยกันแท้ๆ ทำไมเพื่อนเข้าใจถูก ในขณะที่เราเข้าใจไปอีกแบบหนึ่งเลย 

        อย่างไรก็ตามยังมีอีกสิ่งหนึ่งซึ่งแตกต่างจากการศึกษาในยุคของผมมากก็คือ สมัยนี้ผู้เรียนจะไม่มุ่งแข่งขันกันเองแล้ว แต่เราจะเรียนกันเป็นทีม เพราะเป้าหมายที่สำคัญคือการทำให้ผู้เรียนมีทักษะของการร่วมมือทำงานเป็นทีม (collaboration skill) ซึ่งตรงกันข้ามกับทักษะในการแข่งขันกันเอง (competition skill) แบบตอนที่ผมยังเป็นนักเรียน ตอนนั้นเรามุ่งจะเอาชนะ อยากเป็นที่หนึ่งให้ได้ เพราะพ่อแม่หรือครูจะชอบยกย่องคนที่สอบได้ที่หนึ่ง ทำให้เราไม่เข้าใจความสำคัญของการร่วมมือเป็นทีมกับเพื่อนๆ เลย แต่ปัจจุบันนี้การมุ่งแข่งขันกันเองทำให้เราไปไม่รอดแล้ว หลายๆ ประเทศเขาไม่มีการจัดอันดับและไม่มีการสอบบ่อยๆ แล้วด้วย เพราะไม่ต้องคอยบอกว่าใครเป็นที่หนึ่งของห้องนี้ ไม่จำเป็นเลย 

แล้วจะวัดผลการศึกษาอย่างไร

        ครูเป็นผู้วัดผล เป็นระบบการศึกษาที่ให้ความเชื่อใจในตัวครูสูงมาก โดยครูจะคอยสังเกตว่าเด็กแต่ละคนถนัดตรงไหนและยังอ่อนจุดใด เด็กที่ยังอ่อนต้องมีวิธีการช่วยเหลือเขา ถ้าครูประจำชั้นช่วยไม่ได้ก็ต้องไปรายงานครูใหญ่ ถ้าเป็นการศึกษาในประเทศฟินแลนด์ ทุกโรงเรียนจะมีกลไกช่วยเด็กนักเรียนที่เรียนไม่ทัน แล้วทุกปีจะมีบางช่วงเวลาหรือบางวิชาที่เด็กจะเรียนไม่ทัน ตกอยู่ที่ราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ของเด็กทั้งหมด ตรงนี้ต้องมีกระบวนการเข้าไปให้ความช่วยเหลือ 

        การช่วยเหลือมีเป้าหมายเพื่อทำให้เขากลับมาเรียนพร้อมกับเพื่อนร่วมชั้นได้เหมือนเดิม ทุกโรงเรียนจะมีกระบวนการช่วยเหลือโดยมีครูใหญ่เป็นแกนนำ ซึ่งกลไกช่วยเหลือจะประกอบด้วย หนึ่ง ครูใหญ่ สอง ครูที่สอนเก่ง (master teacher) และสาม ครูที่เชี่ยวชาญในวิชานั้นโดยเฉพาะ หรือที่เป็น content expert แล้วทั้งสามส่วนนี้จะมาร่วมกันช่วยเด็กทุกคน มีการติวให้ เหมือนการเรียนพิเศษส่วนตัวเลย

ในชีวิตการเรียนรู้ของคนหนึ่งๆ ผมให้น้ำหนักส่วนที่เป็นองค์ความรู้ 40 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักสัดส่วนที่เป็นนิสัยใจคอหรือทักษะชีวิตถึง 60 เปอร์เซ็นต์ 

พ่อแม่ควรวางบทบาทอย่างไร เพียงแค่คอยไปรับส่งลูกหน้าโรงเรียนหรือเปล่า 

        นั่นคือคอนเซ็ปต์ที่ใช้กันเมื่อก่อน ที่มองว่าการสอนเป็นหน้าที่ของครู แต่เดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้แล้ว พ่อแม่ต้องมีส่วนต่อการเรียนรู้ของลูกด้วย เพราะถ้ามองในแง่ของการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง ครอบครัวมีบทบาทที่สำคัญมากในการปลูกฝังทักษะชีวิต (life skill) ถ้าย้อนกลับไปในสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก เราได้รับการกล่อมเกลาจากพ่อแม่ของเราเป็นอย่างมาก ทั้งในเรื่องของความซื่อสัตย์ การเห็นแก่ส่วนรวม การเข้าใจผู้อื่น รวมถึงการไม่พยาบาทหรือผูกใจเจ็บกับใคร สิ่งเหล่านี้ทำให้เราเติบโตขึ้นมาได้อย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้น ในชีวิตการเรียนรู้ของคนหนึ่งๆ ผมให้น้ำหนักส่วนที่เป็นองค์ความรู้ 40 เปอร์เซ็นต์ และให้น้ำหนักสัดส่วนที่เป็นนิสัยใจคอหรือทักษะชีวิตถึง 60 เปอร์เซ็นต์ 

        สมัยที่พ่อแม่ของผมเริ่มทำโรงสีใหม่ๆ พวกเขายังไม่มีเงินเพียงพอสำหรับการรับซื้อข้าวจากชาวนาไว้ได้ทั้งหมด จึงใช้วิธีบอกให้ชาวนาเอาข้าวมาฝากและจดบันทึกไว้ ตอนนำมาฝาก ราคาในตลาดอาจอยู่ที่ถังละ 8 บาท แต่ตอนขายถ้าราคาในตลาดขณะนั้นสูงขึ้นเป็น 12 บาท เราก็จะรับซื้อจากชาวนาในราคาที่สูง พวกเขาจึงยอมเอาข้าวมาฝากไว้กับเรา เพราะเชื่อว่าโรงสีของเราไม่โกง เราจึงได้เห็นความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความซื่อสัตย์และไว้วางใจต่อกัน มันเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก 

คุณมีความหวังต่อการปลูกฝังทักษะชีวิต (Life Skill) หรือสร้างพลเมืองที่เป็นผู้เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learner) มากแค่ไหน ในเมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ดีพร้อม แถมยังโดนการศึกษาแบบเก่าทำร้ายมาตลอดชีวิต 

        บังเอิญว่าการศึกษาราว 30 ปีที่ผ่านมาของเราเกิดเพลี่ยงพล้ำไปมาก แต่ผมยังมีความหวังอยากให้ทุกคนปรับตัวกับชีวิตในโลกสมัยใหม่ให้ได้ มีคอนเซ็ปต์ทางการศึกษาอย่างหนึ่งซึ่งผมสนใจและคิดว่าอาจจะเป็นความหวังให้กับผู้คนได้ เรียกว่า Transformative Learning หรือการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง ที่จริงแล้วมันคล้ายกับหลายๆ อย่างที่ผมกล่าวไปตั้งแต่ต้น แต่จุดเด่นของการเรียนรู้แบบนี้คือจะโฟกัสไปที่การเรียนรู้เพื่อเปลี่ยนแปลง โดยหัวใจสำคัญของมันอยู่ในขั้นตอนของการใคร่ครวญสะท้อนคิด (reflection) แต่ต้องอาศัยครูที่มีความรู้ความเข้าใจ รู้จักสร้างสถานการณ์ ใช้ศิลปะหรือใช้เครื่องมืออื่นๆ

        เช่น การสร้างคาแรกเตอร์บางอย่างขึ้นมาเพื่อทำให้เกิดบรรยากาศของความขัดแย้ง ความอึดอัดคับข้องใจ เกิดความสับสน หรือเห็นต่างไปจนถึงการทะเลาะกัน ทั้งนี้เพื่อให้คนกลับมาใคร่ครวญสะท้อนคิดร่วมกันและหลุดออกจากมายด์เซตเดิมให้ได้ ดังนั้น จึงยังมีความหวังในการเปลี่ยนแปลง แต่เราจะต้องหาครูฝึกที่เก่งมากๆ ในสถานที่ทำงานก็ทำได้เช่นกัน 

ความเจ็บป่วยของภรรยาทำให้เราเข้าใจว่าชีวิตมีทั้งส่วนที่เจริญเติบโตและถอยหลัง พวกเราผ่านช่วงที่เจริญเติบโตกันมาแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในช่วงปลายชีวิตที่กำลังถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ และกำลังจะเดินไปสู่สถานภาพใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ดูเหมือนคุณกำลังบอกว่าความอึดอัดและความคับข้องใจที่เราพยายามหลีกเลี่ยงมาตลอดกลับกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่า

        ใช่ เราทุกคนอยู่ในโลกยุควูก้า (VUCA*) ที่สถานการณ์ต่างๆ เปลี่ยนแปลงไวและคาดเดาได้ยาก แต่สถานการณ์แบบนี้ทำให้เราเกิดการเรียนรู้ที่สำคัญต่อชีวิต ตัวอย่างเช่น สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตของผมตอนนี้คือภรรยาผมเป็นโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองอุดตัน (vascular dementia) ทำให้ชีวิตคู่ของเราเผชิญกับสถานการณ์ที่วุ่นวายและยากลำบากมาก เพราะโรคนี้นอกจากจะมีผลต่อการหลงๆ ลืมๆ แล้วยังมีผลต่อความทรงจำในรูปแบบอื่น เช่น ทำให้เกิดการหลงผิดคิดว่าผมไปทำอะไรนอกลู่นอกทาง ซึ่งเป็นผลกระทบจากปฏิกิริยาทางเคมีในสมองของเขา ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่ไม่สามารถเผชิญสภาวะที่ยากลำบากนี้ได้ ก็อาจทำงานทำการไม่ได้ ส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าไปได้เช่นกัน 

        อย่างไรก็ตาม เมื่อตั้งสติและยอมรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ผมจึงเห็นว่าสถานการณ์นี้เองคือบททดสอบที่ทำให้เราเกิดการเรียนรู้อย่างมหาศาล ความเจ็บป่วยของภรรยาทำให้เราเข้าใจว่าชีวิตมีทั้งส่วนที่เจริญเติบโตและถอยหลัง พวกเราผ่านช่วงที่เจริญเติบโตกันมาแล้ว ตอนนี้เราอยู่ในช่วงปลายชีวิตที่กำลังถอยหลังกลับไปเรื่อยๆ และกำลังจะเดินไปสู่สถานภาพใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม สิ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตของพวกเราทำให้ได้กลับมาตั้งสติ และมองหาว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะเดินต่อไปข้างหน้าคืออะไร ลองทำดูซิว่าเป็นไปได้หรือเปล่า ถ้าไม่ดีเราก็เปลี่ยน และผมก็คิดว่าสิ่งนี้แหละคือ Lifelong Learning ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต ความสับสนทำให้เราเห็นทางเลือกที่หลากหลายในชีวิต และในหลายครั้งมันทำให้เราได้เรียนรู้ชีวิตในรูปแบบใหม่

  • *VUCA World โลกยุคที่สถานการณ์ต่างๆ ผันผวนและคาดเดาได้ยาก ประกอบด้วย V = Volatility คือความผันผวน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วที่ไม่สามารถคาดเดาได้, U = Uncertainty คือความไม่แน่นอน ยากต่อการตัดสินใจ, C = Complexity คือความสลับซับซ้อน ที่นับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และ A = Ambiguity คือความคลุมเครือ คาดเดาผลที่ชัดเจนไม่ได้

ยิ่งอายุมาก ยิ่งเปลี่ยนแปลงยาก คุณเชื่อแบบนี้หรือเปล่า

        ก็คงจะมีส่วน แต่ผมเชื่อว่าอายุไม่สำคัญเท่ากับมายด์เซต ต่อให้อายุมากหรือน้อย ถ้าคนคนนั้นมี fixed mindset ชีวิตเขาก็จะลำบาก การศึกษาในปัจจุบันจึงพูดถึงเรื่องมายด์เซตกันเยอะ ซึ่งแนวคิดของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 กำหนดไว้อย่างชัดเจนเลยว่าการเรียนรู้ในยุคนี้จะต้องเป็นการสร้าง growth mindset ไปในตัว ต่อมายังมีแนวคิดเรื่อง Grit ที่พูดถึงเรื่องความเพียรพยายามและอดทนบากบั่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนถูกนับเข้ามาให้เป็นคุณสมบัติที่คนยุคปัจจุบันควรจะต้องมี  

 

วิจารณ์ พานิช
วิจารณ์ พานิช

กิจวัตรประจำวันในปัจจุบันของคุณเป็นอย่างไรบ้าง 

        โดยปกติถ้าไม่ได้มีธุระหรือไม่ได้นัดประชุมที่ไหนผมจะตื่นราวๆ ตีห้า ไปเดินออกกำลังสักครึ่งชั่วโมง ถ้าเป็นเมื่อ 35 ปีที่ผ่านมา ผมจะวิ่งจนเหงื่อโทรมทุกวัน แต่เพิ่งปรับเปลี่ยนมาสู่การออกกำลังรูปแบบที่เบาลงเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ตามสภาพร่างกายและวัยของเรา

        ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี ผมยังเชื่อว่าการออกกำลังกายคือส่วนที่สำคัญของชีวิต หลังจากนั้นผมจะนั่งรถออกไปประชุม เพราะเดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีการงานของตัวเองแล้ว มีแต่เป็นกรรมการที่สถาบันต่างๆ เท่านั้น การประชุมหรือการเข้าร่วมฟังสัมมนาก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต นับเป็นการออกกำลังทางสมอง ทำให้ได้เห็นมุมมองที่หลากหลาย ซึ่งทั้งหมดที่ทำอยู่นี้ก็เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตแบบ Productive Aging หรือเป็นชีวิตช่วงสุดท้ายที่มีประโยชน์ ชะลอประโยชน์ที่ยังมีเหลือให้อยู่ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

        หลายครั้งเราได้อ่านเอกสารที่ทำให้รู้สึกตื่นเต้นแปลกใจว่า โห มันมีเรื่องราวแบบนี้ด้วยเหรอ หรือการได้นั่งฟังคนหนุ่มสาวที่คิดไม่เหมือนเราเสียบ้างก็ช่วยให้เราไม่ตกขบวน และทำให้เราลดละการยึดมั่นถือมั่นในความคิดของตัวเองลง 

การนั่งฟังหนุ่มสาวที่คิดเห็นไม่เหมือนกับเรามีประโยชน์อะไร การไม่ยอมตกขบวนยังสำคัญกับชีวิตในยามนี้มากมายแค่ไหน

        ผมฝึกฝนตัวเองมาในรูปแบบนี้ บนความเชื่อว่าเราต้องออกกำลังทางสมองอยู่เสมอ ต่อให้เราอายุมาก แต่เราอย่ากลายเป็นคนล้าสมัย ไม่ทันโลก ชีวิตแบบนั้นคือชีวิตที่หมดคุณค่า หลายครั้งภรรยาผมเขาชอบพูดว่าทำไมถึงไม่อยู่บ้านทั้งวัน คอยดูแลเขา แถมยังพูดติดตลกว่าต้องจ้างเดือนละเท่าไหร่ผมถึงจะยอมอยู่บ้าน ผมบอกว่าจ้างได้เลย คิดไม่แพงด้วย แต่มีเงื่อนไขอยู่อย่างหนึ่งคือจ้างได้ปีเดียวแล้วหลังจากนั้นเขาจะเป็นม่ายเลยนะ เพราะผมคงจะเฉาตายแน่ๆ (หัวเราะ) เอามั้ยล่ะ เขาก็หัวเราะ 

ทักษะชีวิตทำให้เราอยู่ง่าย กินง่าย ยากลำบากแค่ไหนก็อดทนได้ แตกต่างจากความรู้สึกว่าทุกอย่างสบายไปทั้งหมดนะ แต่มันเป็นความรู้สึกว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่คือสิ่งที่ยากลำบาก แต่เราจะอดทน เป็นการอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ และไม่ใช่แค่การอดทนเฉยๆ แต่เป็นการอดทนแล้วฝึกให้เกิดทักษะบางอย่างขึ้นมาให้ได้

มีข้อคิดอะไรที่อยากบอกกับคนหนุ่มสาวยุคนี้บ้าง

        ถ้าให้พูดกับคนหนุ่มสาวตอนนี้ ผมคงอยากพูดถึงเรื่องการฝึกฝนตัวเองและความอดทน ผมฝึกตัวเองมาตั้งแต่ยังเด็ก พอแก่แล้วจึงโชคดีที่เราปรับตัวรับกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในชีวิตได้ง่าย สมัยเป็นนักเรียน ผมมาอาศัยอยู่ที่คลินิกตึกแถวของคุณอาในย่านเจริญผล สมัยนั้นเด็กๆ ต้องนอนแออัดอยู่ในห้องเดียวกัน แล้วยังมีเสียงจากรายการวิทยุที่ดังจากห้องแถวที่อยู่ติดกันมารบกวนสมาธิทุกๆ สองทุ่ม ซึ่งเป็นเวลาอ่านหนังสือของเรา ผมจึงฝึกตัวเองให้นอนตั้งแต่หนึ่งทุ่ม แล้วตั้งนาฬิกาปลุกขึ้นมาอ่านหนังสือตอนตีหนึ่ง พบว่าช่วงเวลานั้นเงียบสงบและสบายมาก คนอื่นหลับกันหมดแล้ว ผมก็อ่านหนังสือไปจนถึงตีสี่แล้วนอนต่ออีกนิดหน่อยจึงค่อยตื่นไปโรงเรียน

        กระทั่งหลังจากที่ผมกับภรรยาแต่งงาน เราย้ายไปอยู่ที่บ้านไม้หลังย่อมๆ ที่คุณแม่ของผมซื้อไว้ให้ ห้องนอนของเราคับแคบนิดเดียว ผมก็เอาโต๊ะตัวเล็กๆ เข้าไปวางในห้องเพื่อใช้อ่านและเขียนหนังสือ ส่วนภรรยาผมเขาชอบดูทีวี ก็ไปซื้อทีวีเครื่องเล็กๆ มาวางไว้ในนั้น ผมจึงต้องนั่งอ่านหนังสือท่ามกลางเสียงทีวี ทีนี้ก็อ่านไม่รู้เรื่อง เขียนหนังสือไม่ได้ แล้วก็พาลนึกในใจว่า เอ๊ะ เราแต่งงานผิดคนนี่หว่า ถ้าต้องทำงานต่อไปแล้วเราจะทำยังไงดีล่ะ 

        ทางเลือกมีสองทางคือ หนึ่ง หย่าเลย ไม่เอาแล้วเมียแบบนี้ สอง ฝึกตัวเองให้อยู่กับสถานการณ์แบบนี้ให้ได้ ทำยังไงให้เราไม่ได้ยินเสียงเหล่านี้ทั้งที่ยังนั่งอยู่กับเขาตรงนี้ ผมใช้เวลาฝึกอยู่สองเดือนก็ทำได้มาตลอดจนถึงกระทั่งเดี๋ยวนี้ ไม่สนใจสิ่งเร้าที่เข้ามารบกวนเลย มีสมาธิมาก หลังๆ นี่ชำนาญจนถึงขั้นหันไปคุยถึงเรื่องราวในทีวีกับภรรยาได้ด้วย เราไม่ถือเอาสิ่งเร้าที่เข้ามาเป็นอารมณ์ เราแค่รับรู้ว่ามีเสียงเกิดขึ้นเพียงแต่เราไม่ใส่ใจ มุ่งจดจ่ออยู่กับหนังสือหรืองานที่อยู่ตรงหน้าเราเท่านั้น 

        ผมเล่ามาทั้งหมดเพื่อที่จะบอกว่า มนุษย์เราฝึกได้มากกว่าที่คิด Lifelong Learning เป็นทักษะชีวิตที่ทำได้จริง ไม่ใช่การมัวแต่ท่องทฤษฎีทั้งหลายโดยที่ไม่ได้มีความเข้าใจอะไรเลย ทักษะชีวิตทำให้เราอยู่ง่าย กินง่าย ยากลำบากแค่ไหนก็อดทนได้ แตกต่างจากความรู้สึกว่าทุกอย่างสบายไปทั้งหมดนะ แต่มันเป็นความรู้ว่าสิ่งที่เราเผชิญอยู่คือสิ่งที่ยากลำบาก แต่เราจะอดทน เป็นการอยู่ด้วยสติปัญญา ไม่ใช่อารมณ์ และไม่ใช่แค่การอดทนเฉยๆ แต่เป็นการอดทนแล้วฝึกให้เกิดทักษะบางอย่างขึ้นมาให้ได้

 

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น