บนสื่อสังคมออนไลน์มีการแชร์เตือนว่าไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง เพราะจะกัดกระเพาะและทำให้ท้องอืดได้ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ภกญ.ดร.พิมพิกา กาญจนดำเกิง ภาควิชาอาหารเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ที่มีการแชร์ว่า “ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง” มีบางส่วนจริงสำหรับคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร และเป็นผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลในนม (น้ำตาลแล็กโทส) ไม่เพียงพอ แต่คนที่สุขภาพดีทั่วไปสามารถดื่มนมตอนท้องว่างได้
เมื่อนมลงไปอยู่ในท้องจะแปรสภาพเป็นกรดอ่อน ๆ และกัดกระเพาะอาหารได้ ?
เรื่องนี้ไม่จริง นมไม่สามารถกัดกระเพาะอาหารด้วยตัวของนมเอง
ตามหลักทางวิทยาศาสตร์ นมตามธรรมชาติมีความเป็นกรดอ่อน ๆ แต่ความเป็นกรดอ่อนของนมแทบจะไม่ต่างจากความเป็นกลางเลย เนื่องจากนมตามธรรมชาติจะมีองค์ประกอบเป็นเกลือของกรด โปรตีนในนม และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย ดังนั้น “นมไม่กัดกระเพาะ”
ถึงแม้ว่านมไม่กัดกระเพาะ แต่นมสามารถกระตุ้นการหลั่งกรดในกระเพาะได้ จึงแนะนำให้หลีกเลี่ยงการดื่มนมในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคกระเพาะอาหารอยู่
ไม่มีปัญหาโรคกระเพาะอาหาร สามารถดื่มนมตอนท้องว่างได้หรือไม่ ?
กลุ่มคนดังต่อไปนี้ สามารถดื่มนมได้ตามปกติ
1. ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
2. ไม่มีปัญหาโรคกระเพาะอาหาร
3. ไม่มีภาวะพร่อง หรือขาดน้ำย่อยที่ย่อยน้ำตาลแล็กโทสในนม
มีหลายคนเข้าใจว่า “ดื่มนมตอนท้องว่าง” นมจะช่วยเคลือบกระเพาะอาหาร จริงหรือไม่ ?
ถ้าใช้คำว่า “เคลือบกระเพาะอาหาร” คือ “ไม่จริง”
เนื่องจากคำว่า เคลือบกระเพาะอาหาร หมายถึง การที่นมสามารถเข้าไปเคลือบเยื่อบุ หรือว่าแผลในกระเพาะอาหารได้
“นม” สามารถช่วยลดความเป็นกรดในกระเพาะได้ แต่ช่วยได้ระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น
ดื่มนมตอนท้องว่างทำให้ท้องอืด จริงหรือไม่ ?
“จริง” ในผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่เพียงพอ
ในประเทศไทย สามารถพบผู้ที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลแล็กโทสไม่เพียงพอจำนวนมาก ทั้งคนที่มีอาการน้อยและมาก
คนที่มีปัญหาน้ำย่อยน้ำตาลมากและดื่มนมตอนท้องว่าง จะยิ่งทำให้เกิดอาการท้องอืดหรือท้องเสียได้
สำหรับคนที่มีอาการไม่มากและดื่มนมปริมาณไม่มากเช่นกัน ก็สามารถทนต่อน้ำตาลแล็กโทสและย่อยน้ำตาลแล็กโทสได้ปกติ จึงไม่ค่อยพบปัญหาท้องอืดหรือว่าท้องเสีย
นอกจากนม “น้ำเต้าหู้” หรือ “นมถั่วเหลือง” ก็ไม่ควรดื่มตอนท้องว่างด้วยเหตุผลเดียวกัน ?
กรณีของ “น้ำเต้าหู้” หรือ “นมถั่วเหลือง” ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน
ในน้ำเต้าหู้ (นมถั่วเหลือง) มีคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ พบว่าคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้ทำให้เกิดอาการ “ท้องอืด” หรือเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารได้เหมือนกัน
เนื่องจากตัวคาร์โบไฮเดรตที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้เหล่านี้ สามารถถูกใช้โดยจุลินทรีย์ในลำไส้ แล้วสร้างเป็นแก๊สหรือกรดขึ้นในกระเพาะอาหารของเราได้
นม “เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย” ก็ต่อเมื่อ “มีอาหารประเภทแป้ง” รองรับอยู่ก่อนแล้ว ?
ข้อนี้มีส่วนจริง ถ้าดื่มนมตอนท้องว่าง การเคลื่อนที่ของนมซึ่งเป็นของเหลวจะเคลื่อนที่ไปอย่างรวดเร็ว ผ่านกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้อย่างรวดเร็ว ทำให้การย่อยและการดูดซึมสารอาหารในนมไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
ดังนั้น ถ้ากินอาหารประเภทอื่นรองรับ โดยไม่จำกัดว่าเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตหรือแป้ง ซึ่งอาจจะดื่มนมร่วมกับซีเรียลหรือธัญพืช ให้มีปริมาณอาหารที่เป็นของแข็งร่วมกับนมที่เป็นของเหลว จะช่วยชะลอให้เกิดการย่อยและดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ในนมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สรุปว่าเรื่อง “ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่างที่แชร์กัน” ไม่ควรแชร์ต่อ เนื่องจากมีส่วนเป็นความจริง มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ แต่ขึ้นกับร่างกายของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน จึงทำให้การดื่มนมตอนท้องว่างส่งผลแตกต่างกัน
สัมภาษณ์โดย ณัฐี วัฒนกูล
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : ไม่ควรดื่มนมตอนท้องว่าง จริงหรือ ?
ความเห็น 0