โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

หุ้น การลงทุน

คลังเตรียมแผนสำรอง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รับมือ "ระบบเพย์เมนต์"สะดุด

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 27 ก.ค. เวลา 06.17 น. • เผยแพร่ 27 ก.ค. เวลา 00.44 น.
digital wallet

แบงก์พาณิชย์กังวลระบบชำระเงิน “ดิจิทัลวอลเลต” เสร็จไม่ทันไตรมาส 4 ชี้มีเวลาจำกัดในการพัฒนา-ทดสอบระบบ ห่วงปัญหาความปลอดภัยไซเบอร์ ส่งผลกระทบระบบชำระเงินโดยรวม “พิชัย” แย้มวิธีเติมเงินยังไม่สรุป ไม่ยืนยันได้ใช้ไตรมาส 4 คณะทำงานเตรียมแผนสำรองแบ่งเติมเงิน 2 รอบ งวดแรก 1,000 บาทก่อนสิ้นปี เพื่อจำกัดผลกระทบถ้าระบบมีปัญหา ผู้ว่าธปท. ขอเวลา 15 วัน ตรวจทานความเสี่ยงก่อนเปิดให้บริการ

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากที่กระทรวงการคลังแถลงข่าวความคืบหน้าโครงการดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทเมื่อ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยประกาศให้ประชาชนสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการบนแอป “ทางรัฐ” ตั้งแต่ 1 สิงหาคม-15 กันยายน 2567 ส่วนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนอยู่ระหว่างเตรียมการในระยะต่อไป (16 กันยายน-15 ตุลาคม 2567) และจะเปิดให้ร้านค้าลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการกล่าวถึงวันที่จะเติมเงิน หรือวันที่จะเปิดให้ใช้จ่ายได้ ขณะที่ไม่มีการชี้แจ้งถึงความคืบหน้าของการพัฒนาระบบชำระเงิน (ระบบเพย์เมนต์) แต่อย่างใด ซึ่งก็เป็นที่กังวลของหลายฝ่ายว่าระบบเพย์เมนต์ ดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาทจะเสร็จทันใช้งานในไตรมาส 4 นี้หรือไม่ เนื่องจากขณะนี้สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ผู้รับผิดชอบการพัฒนาระบบชำระเงินยังไม่มีการเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างการพัฒนาระบบชำระเงิน

ขุนคลัง “เติมเงิน” หลายงวด

ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ไว้ก่อนหน้านี้ว่า โครงการดิจิทัลวอลเลตจ่ายเงิน 10,000 บาท เป็นการเติมเงินเข้าในระบบเศรษฐกิจ จะไม่ไปแย่งเม็ดเงินของการลงทุนที่ควรลง คือลงให้เต็มที่ก่อน แล้วเหลือเท่าไหร่ก็เท่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่รู้ว่าคนจะมาลงทะเบียนเท่าไหร่ และวิธีการเติมเม็ดเงินก็มีหลายวิธี เติมเท่าไหร่ เติมกี่งวด เติมอย่างไร มีอะไรที่จะต้องคิดเพื่อไปประกอบกับการใช้งบประมาณของประเทศให้ได้ผลดีที่สุด ดังนั้น จะไม่มีโจทย์ ณ วันนี้ ว่าจะอย่างนี้อย่างนั้น 100%

ต่อคำถามที่ว่าไตรมาส 4 ปีนี้ประชาชนจะได้ใช้เงินดิจิทัลวอลเลตหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า คนที่ดูแลวางแผนไว้อย่างนั้น แต่ก็ต้องมาดูภาพทั้งหมดอีกที ยังมีเวลาคิดอีก 2 เดือน

แผน 2 ระบบเพย์เมนต์ไม่พร้อม

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กรณีที่รัฐมนตรีคลังกล่าวถึงการเติมเงินเข้าดิจิทัลวอลเลตว่า มีหลายวิธี และยังไม่สรุปว่าเติมกี่งวด จากเดิมที่รัฐบาลประกาศว่าจะเติมเงินครั้งเดียว 10,000 บาทในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่เนื่องจากขณะนี้ระบบการชำระเงินของโครงการดิจิทัลวอลเลต ซึ่งอยู่ภายใต้การรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ยังไม่มีการรายงานความคืบหน้า และยังไม่ได้ประกาศทีโออาร์จัดซื้อจัดจ้างผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบกลาง เพื่อที่จะให้สถาบันการเงินต่าง ๆ มาเชื่อมต่อ ทำให้เวลาที่เหลืออย่างจำกัด

เรื่องนี้กระทรวงการคลังมีการหารือเตรียมแผน 2 แผน 3 เพราะถึงแม้การพัฒนาระบบเพย์เมนต์เสร็จ แต่สิ่งสำคัญคือการทดสอบระบบต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องระบบความปลอดภัยไซเบอร์ และต้องไม่ส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวมของประเทศ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นกังวล

นอกจากนี้ ระบบยังต้องสามารถรองรับปริมาณทรานแซ็กชั่นได้พร้อม ๆ กันจำนวนมาก ที่คาดว่าจะมีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้งานประมาณ 45 ล้านคน การขึ้นระบบใหม่ที่ต้องรองรับประชาชนและร้านค้าใช้งานจำนวนมากก็เสี่ยงที่จะเกิดปัญหาระบบล่มได้

“ถ้ารัฐบาลยังยืนยันจะเติมเงินและเปิดให้ใช้ภายในไตรมาส 4 ก็อาจจะต้องเป็นช่วงปลายเดือนธันวาคมเลย และเพื่อให้เกิดความเสี่ยงน้อยที่สุด ก็มีแผนที่จะปรับแผนการเติมเงินเป็น 2 งวดคือ งวดแรกอาจจะเป็น 1,000 บาท เพราะในกรณีที่ระบบเพย์เมนต์มีปัญหายังจำกัดความเสียหายและความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง และถ้าไม่มีปัญหาอะไรก็ค่อยเติมเงินส่วนที่เหลือ” แหล่งข่าวกล่าว

แบงก์ห่วงระบบบซีเคียวริตี้

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ระบบเพย์เมนต์ถือว่าสำคัญมาก ซึ่งระยะเวลาที่เหลืออาจจะไม่เพียงพอในการพัฒนา นอกจากที่ DGA จะต้องเปิดประมูลจัดซื้อจัดจ้างหาผู้พัฒนาระบบเพย์เมนต์กลางแล้ว ส่วนของธนาคาร และ Nonbank ก็จะต้องพัฒนาระบบเชื่อมต่อ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดสเป็ก/เงื่อนไขต่าง ๆ ดังนั้น จึงกังวลว่าระบบจะไม่สามารถเสร็จสิ้นทันในปีนี้ เพราะแม้ระบบจะสามารถพัฒนาได้เสร็จเรียบร้อย แต่สิ่งสำคัญคือการทดสอบระบบการใช้งานต่าง ๆ ว่าจะมีประสิทธิภาพตามข้อกำหนดหรือไม่ รวมถึงการทดสอบระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้

เนื่องจากเป็นระบบ Open Loop ทางสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็เกรงว่าจะกลายเป็นช่องทางให้ถูกเจาะเข้าโมบายแอปและอี-วอลเลตต่าง ๆ ดังนั้น สำคัญมาก ๆ คือต้องมีเวลาในการทดสอบว่าสามารถรองรับการใช้งานได้พร้อมกันมากแค่ไหน และตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์

นอกจากนี้ ตามที่ผู้ว่าฯธปท.ได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการดิจิทัลวอลเลต ว่าก่อนเปิดใช้บริการจะต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน เนื่องจากการเชื่อมต่อ Payment Platform กับโมบาย แอปพลิเคชั่น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบไอทีอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง โดย ธปท.จะต้องสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ หมายความว่าอย่างระบบต้องเรียบร้อยภายในต้นเดือนธันวาคม เพื่อให้แบงก์ชาติมีเวลาในการสอบแทนผลการทดสอบความเสี่ยงต่าง ๆ

ธปท.เตือนเสี่ยงระบบชำระเงิน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ส่งจดหมายถึงประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเลต แจ้งถึงสาเหตุไม่สามารถเข้าร่วมประชุมในวันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พร้อมระบุถึงประเด็นข้อกังวลของระบบเติมเงินผ่าน Digital Wallet ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ DGA เนื่องจากระบบเติมเงินจะต้องรองรับการใช้งานของประชาชนและร้านค้าจำนวนมาก และลักษณะเป็นระบบเปิด (Open Loop) ที่ต้องเชื่อมโยงกับธนาคารและ Nonbank เป็นวงกว้าง

ดังนั้น เพื่อให้มั่นใจว่าระบบเติมเงินจะสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย คณะกรรมการนโยบายควรติดตามการพัฒนาระบบเติมเงิน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าการดำเนินการเป็นไปตามมาตรฐาน ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย, ความถูกต้องน่าเชื่อถือ และความมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานได้ต่อเนื่อง รวมทั้งมีการบริหารจัดการต้าน IT Governance ตามมาตรฐานสากล

3 ประเด็นความเสี่ยงใหญ่

ผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุว่า ประเด็นที่ควรพิจารณาตรวจสอบก่อนเริ่มใช้งานของระบบเติมเงิน 3 ประเด็นหลักคือ 1.ระบบลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบสิทธิของประชาชนและผู้ประกอบการ และการพิสูจน์ยืนยันตัวตน ต้องมีการตรวจสอบเงื่อนไขและความปลอดภัยของระบบ ต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับบริการในภาคการเงิน โดยสามารถป้องกันความเสี่ยงของการถูก “สวมรอย” หรือใช้เป็นช่องทางการทำทุจริต หรือทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้ และมีศักยภาพสามารถรองรับการลงทะเบียนพร้อมกันของผู้ใช้งานจำนวนมากได้

2.ระบบตรวจสอบเงื่อนไขและอนุมัติรายการชำระเงิน บันทึกบัญชี และอัพเดตยอดเงิน เมื่อมีการใช้จ่ายหรือถอนเงินออกจาก Digital Wallet โดยต้องสามารถรองรับการตรวจสอบหากเกิดปัญหาการชำระเงินไม่สำเร็จ หรือเกิดข้อผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว และต้องมีการทดสอบระบบก่อนใช้จริง ต้องทำอย่างครบถ้วนตามมาตรฐานการพัฒนาระบบชำระเงิน ตั้งแต่ตัวระบบ การทำงานร่วม และเชื่อมต่อกับระบบอื่น ไปจนถึงการใช้งานของประชาชนและร้านค้า เพื่อให้มั่นใจระบบดำเนินการได้ถูกต้อง ปลอดภัย รองรับการใช้งานจำนวนมากได้

ประเด็นที่ 3 เนื่องจากเป็นระบบเปิดที่เชื่อมต่อกับภาคธนาคารและ Nonbank ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำและนำส่งพิมพ์เขียวที่แสดง System Architecture ของเพย์เมนต์ แพลตฟอร์ม (เช่น Technical Specifications, System Requirements, Business Rules) ให้ธนาคารและ Nonbank โดยเร็วที่สุด สำหรับเตรียมความพร้อมในการพัฒนาและทดสอบการเชื่อมต่อระบบชำระเงินให้ทันตามกำหนด

เนื่องจากต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีแนวทางปิดความเสี่ยงสำคัญ รวมทั้งประเมินช่องโหว่ และทดสอบการเจาะระบบให้ครบถ้วน เพื่อให้สามารถแก้ไขและป้องกันภัยคุกคามที่เกิดขึ้นก่อนเริ่มใช้งาน

แบงก์ชาติขอ 15 วันสอบทาน

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิระบุว่า ต้องแจ้งให้ ธปท.ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ก่อนเริ่มให้บริการ เนื่องจากการเชื่อมต่อ Payment Platform กับโมบาย แอปพลิเคชั่น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบ IT อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบลูกค้าและการให้บริการเป็นวงกว้าง

โดย ธปท.จะต้องสอบทานผลการประเมินและผลทดสอบความเสี่ยงด้านต่าง ๆ และอาจขอข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อตรวจสอบความเชื่อมโยงกับระบบอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะในกรณีที่ Open Loop อาจกระทบต่อเสถียรภาพของระบบการชำระเงินโดยรวม

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชี้แจงกลไกการลดความเสี่ยงต่อการรั่วไหล หรือทุจริตในขั้นตอนต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น รวมถึงมีมาตรการในการติดตามการดำเนินโครงการอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีกระบวนการที่รัดกุมเพียงพอที่จะป้องกันปัญหาต่าง ๆ เช่น การซื้อขายสินค้าที่ผิดเงื่อนไขของโครงการ และการขายลดสิทธิ (Discount) ระหว่างประชาชนและร้านค้า

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : คลังเตรียมแผนสำรอง แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รับมือ “ระบบเพย์เมนต์”สะดุด

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น