โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

อะไรจะเกิดเมื่อ เฟด หั่นดอกเบี้ย ? เปิดผลกระทบทั่วโลก ตั้งแต่ค่าเงิน จนถึงทองคำ

การเงินธนาคาร

อัพเดต 18 ก.ย 2567 เวลา 14.53 น. • เผยแพร่ 18 ก.ย 2567 เวลา 07.53 น.
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เปิดผลกระทบทั่วโลก เมื่อ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ย เผยกระทบทุุกภาคส่วน ตั้งแต่ ธนาคารกลางต่าง ๆ ตลาดสกุลเงิน จนถึง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้เข้าสู่วงจรการผ่อนคลายนโยบายการเงิน โดยตลาดคาดการณ์ด้วยความมั่นใจว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี ในการประชุมนโยบายวันนี้ (18 ก.ย.) ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวจะไม่ได้ส่งผลกระทบแค่ในสหรัฐ แต่จะสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก

การถกเถียงกันยังคงดำเนินต่อไปว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะมากเพียงใดและโดยรวมแล้วอัตราดอกเบี้ยจะลดลงเท่าใด โดยตลาดทั้งคาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 0.25% หรือมากถึง 0.50% และเมื่อการเลือกตั้งสหรัฐกำลังจะมาถึง นักลงทุนทั่วโลกและบรรดาธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกก็เริ่มมีความกังวลเรื่องความไม่แน่นอน และมุ่งเป้าไปที่เฟดเป็นหลัก เพื่อเป็นแนวทางและหวังว่าเศรษฐกิจสหรัฐผ่านพ้นภาวะถดถอยอย่างได้ราบรื่น

นายเคนเนธ โบรวซ์ Kenneth Broux หัวหน้าฝ่ายวิจัยองค์กรตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศและอัตราดอกเบี้ยของธนาคารโซซิเอเต้ เจเนเรล (Societe Generale) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่แน่ใจว่าวงจรดังกล่าวจะเป็นเช่นไร และอาจจะเหมือนกับช่วงปี 2538 ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงเพียง 0.75% หรือเหมือนปี 2550-2551 ที่อัตราดอกเบี้ยลดลงมากถึง 5%

สำหรับแนวโน้ม ผลกระทบและปัจจัยความเป็นไปได้ต่าง ๆ นั้น สำนักข่าวรอยเตอร์ได้สรุปไว้ในประเด็น ๆ หลัก ดังต่อไปนี้

เฟดคือผู้นำและโลกมักเคลื่อนไหวตามเฟด

ในช่วงฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าที่คาดไว้ นักลงทุนจึงตั้งคำถามว่า หากเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมในปีนี้แล้วละก็ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) จะสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้มากเพียงใด ซึ่งนักลงทุนกังวลว่าหากธนาคารกลางเหล่านี้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากเกินไป สกุลเงินของธนาคารเหล่านี้อาจอ่อนค่าลงได้ และจะส่งผลให้แรงกดดันด้านราคาเพิ่มสูงขึ้น

ในขณะนี้ ตลาดคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ซึ่งนับเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอกว่าสหรัฐ และบรรดาผู้ค้าต่างก็คาดหวังให้ธนาคารกลางอื่น ๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเช่นเดียว เพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังต่อว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังเรื่องการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในยุโรปนั้นต่ำกว่าในสหรัฐ เนื่องจาก ECB และธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ยังคงมีท่าที่ระมัดระวังเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความยืดหยุ่นทั่วโลก

อัตราดอกเบี้ยที่ลดลงของสหรัฐ อาจทำให้ธนาคารกลางในบรรดาตลาดเกิดใหม่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการผ่อนปรนนโยบายของตนและกระตุ้นการเติบโตภายในประเทศ โดยจากการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์พบว่า ธนาคารกลางของตลาดเกิดใหม่เกือบครึ่งหนึ่งจากทั้งหมด 18 แห่ง ได้แก่ บราซิล จีน อินโดนีเซีย อินเดีย เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย แอฟริกาใต้ ตุรกี ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อิสราเอล สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี โปแลนด์ โคลัมเบีย และชิลี ได้เริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงก่อนหน้าเฟดแล้ว โดยการปรับลดส่วนใหญ่เกิดขึ้นประเทศแถบในละตินอเมริกาและประเทศกำลังพัฒนาในยุโรป

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนและความไม่แน่นอนที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ได้เพิ่มความซับซ้อนให้กับสถานการณ์ดังกล่าว นายจั่ง เหงียน หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์สินเชื่อตลาดเกิดใหม่ระดับโลกของธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ (BNP Paribas) กล่าวว่า การเลือกตั้งสหรัฐจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเรื่องนี้ เนื่องจากนโยบายการคลังที่แตกต่างกันอาจทำให้วงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีความซับซ้อนมากขึ้น และอาจจะเห็นเฟดดำเนินการตอบโต้ในลักษณะพิเศษมากขึ้น

การเคลื่อนไหวของดอลลาร์สหรัฐ

บรรดาประเทศต่าง ๆ ที่คาดหวังว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะทำให้ดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง และทำให้สกุลเงินของตนเองแข็งค่าขึ้น อาจเผชิญกับความผิดหวัง โดย เจพีมอร์แกน (JPMorgan) ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว เงินดอลลาร์สหรัฐได้แข็งค่าขึ้น หลังจากที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก รวม 3 ครั้ง จากทั้งหมด 4 ครั้งที่ผ่านมา

อัตราส่วนเพิ่มและส่วนลดของสกุลเงินหลัก เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) - ยูโร

  • สิ้นปี 2568 : -1
    • ปัจจุบัน : -2

ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) - เยน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • สิ้นปี 2568 : -4
    • ปัจจุบัน :-3

ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) - ปอนด์สเตอร์ลิง

  • สิ้นปี 2568 : -1
    • ปัจจุบัน : -1

ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) - ดอลลาร์แคนาดา

  • สิ้นปี 2568 : -1
    • ปัจจุบัน : -2

ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB) - ฟรังก์สวิส

  • สิ้นปี 2568 : -3
    • ปัจจุบัน : -3

ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) - ดอลลาร์ออสเตรเลีย

  • สิ้นปี 2568 : -1
    • ปัจจุบัน : -2

ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ (RBNZ) - ดอลลาร์นิวซีแลนด์

  • สิ้นปี 2568 : -1
    • ปัจจุบัน : -2

ธนาคารกลางสวีเดน (Riksbank ) - โครนาสวีเดน

  • สิ้นปี 2568 : -2
    • ปัจจุบัน : -3

อนาคตของเงินดอลลาร์สหรัฐจะขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนของสหรัฐเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ เป็นส่วนใหญ่ โดยจากผลสำรวจของรอยเตอร์ พบว่าช่องว่างในอัตราแลกเปลี่ยนของ เยนและฟรังก์สวิส ซึ่งเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย อาจแคบลงอย่างมากภายในสิ้นปี 2568 ขณะที่ปอนด์สเตอร์ลิงและดอลลาร์ออสเตรเลียอาจได้เปรียบเหนือดอลลาร์สหรัฐเล็กน้อย

เศรษฐกิจเอเชียยังคาดการณ์ล่วงหน้าว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยสกุลเงินต่าง ๆ เช่น วอน บาท และริงกิต ต่างก็ปรับตัวสูงขึ้นในเดือนก.ค.และส.ค. นอกจากนี้ หยวนยังฟื้นตัวจากการอ่อนค่าอย่างหนักเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐในปีนี้

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ

การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นโลกที่เพิ่งหยุดชะงักลงเนื่องจากความกังวลด้านการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ อาจจะฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง หากกิจกรรมทางเศรษฐกิจสหรัฐได้รับการกระตุ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง และอาจช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐได้ อีกทั้งจะส่งผลดีต่อเอเชียเช่นกัน แม้ว่าดัชนีนิกเกอิของญี่ปุ่นจะร่วงลงมากกว่า 10% จากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือนก.ค. เนื่องมาจากเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นและการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

นายเอ็มมานูเอล เฉา หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์หุ้นยุโรปของธนาคารบาร์เคลย์ (Barclays) กล่าวว่า ในช่วงแรก ๆ ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐนั้น ความผันผวนในตลาดจะเกิดขึ้น เนื่องจากนักลงทุนจะกังขาถึงการตัดสินใจของธนาคารกลางต่าง ๆ แต่หากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยโดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ตลาดก็มักจะฟื้นตัวได้เอง และธนาคารจะสนับสนุนภาคส่วนที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลง เช่น อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค

ผลกระทบต่อตลาดโลหะหลัก

สำหรับสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นโลหะพื้นฐาน เช่น ทองแดง อาจได้รับประโยชน์จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด และสำหรับโลหะพื้นฐานแล้ว ปัจจัยสำคัญคือแนวโน้มของอุปสงค์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ราบรื่น โดยอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงและดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลง จะทำให้ต้นทุนในการถือครองและการซื้อโลหะลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลหะที่ซื้อขายด้วยเงินสกุลเงินอื่น ซึ่งอาจกระตุ้นอุปสงค์ได้

ส่วนโลหะมีค่า เช่น ทองคำ ก็อาจทำกำไรได้เช่นกัน โดยทองคำซึ่งมักจะได้ประโยชน์จากผลตอบแทนที่ลดลงเนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่ซื้อทองเพื่อการลงทุนและเก็งกำไร มักจะทำผลงานได้ดีในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยลดลง แต่แม้ว่าราคาทองคำจะสูงเป็นประวัติการณ์ แต่การเก็งกำไรในทองคำเป็นไปด้วยความระมัดระวัง

บทสรุป

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นนั้นจะส่งผลกระทบไปทั่วโลก โดยส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน ตั้งแต่สกุลเงินไปจนถึงสินค้าโภคภัณฑ์ ในขณะที่ธนาคารกลางทั่วโลกปรับนโยบายของตน ภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจอ่อนแออาจได้รับความโล่งใจบ้าง ขณะที่ตลาดเกิดใหม่ก็จะมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการกระตุ้นการเติบโตในประเทศ

อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและแนวทางที่แตกต่างกันของธนาคารกลางอาจนำไปสู่ความไม่แน่นอน ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด นอกจากนี้แล้ว แม้จะมีการคาดหวังว่าดอลลาร์ที่สหรัฐจะอ่อนค่าลง แต่ก็อาจไม่เกิดขึ้นจริงตามที่คาดไว้ ซึ่งอาจจำกัดข้อได้เปรียบหรือการแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินบางสกุล แม้ว่าตลาดในเอเชียจะได้รับผลกระทบในเชิงบวกแล้วก็ตาม

โดยรวมแล้ว แม้ว่าตลาดอาจเผชิญกับความผันผวนในช่วงแรก ๆ ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของเฟด แต่การปรับอัตราดอกเบี้ยในช่วงกลางรอบที่ประสบความสำเร็จ โดยไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อาจก่อให้เกิดความหวังใหม่ ๆ ได้ โดยภาคส่วนสำคัญหลายภาคส่วน เช่น อสังหาริมทรัพย์ สาธารณูปโภค และโลหะ มีแนวโน้มที่จะได้รับประโยชน์จากภูมิทัศน์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงดังกล่าว

อ้างอิง : reuters.com

📌 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ สถานการณ์รอบโลก ทั้งหมด ได้ที่นี่ 📌