โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

ทำความรู้จัก Microsoft เจ้าแห่งซอฟต์แวร์ ผู้บุกเบิกนวัตกรรมโลก

Finnomena

อัพเดต 18 พ.ย. 2567 เวลา 10.47 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2567 เวลา 11.00 น. • Siwa Khunanun

Highlight (คลิกอ่านหัวข้อที่สนใจได้เลย)

  • ความเป็นมาของ Microsoft
  • ธุรกิจของ Microsoft ในปัจจุบัน
  • ผลประกอบการของ Microsoft
  • สรุปMicrosoftยักษ์ใหญ่แห่งวงการเทคโนโลยีผู้ไม่เคยหยุดนิ่งในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม ได้กลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์สำคัญของยุคดิจิทัล ในโลกที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราแทบทุกวินาที Microsoft คือหนึ่งในบริษัทผู้อยู่เบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของเทคโนโลยีนี้ จากจุดเริ่มต้นด้วยวิสัยทัศน์ของ Bill Gates วัย 19 ปี และ Paul Allen วัย 22 ปี ที่มุ่งมั่นจะทำให้

"โต๊ะทำงานทุกตัว และในทุกบ้านต้องมีคอมพิวเตอร์ไว้ใช้งาน"

ความหลงใหลในคอมพิวเตอร์และความเชื่อมั่นว่าอุปกรณ์นี้จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงโลก ได้นำไปสู่การสร้างอาณาจักรเทคโนโลยีที่ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งหนึ่งของโลก สะท้อนผ่านมูลค่าบริษัทที่พุ่งทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์เมื่อต้นปี 2024 ที่ผ่านมา

ความเป็นมาของ Microsoft

เรื่องราวของ Microsoft เริ่มต้นจากความหลงใหลในคอมพิวเตอร์ของ 2 หนุ่มวัยรุ่นชาวอเมริกันที่ชื่อว่า Bill Gates และ Paul Allen

Bill Gates และ Paul Allen

Bill Gates และ Paul Allen | Source: CNN

Bill Gates และ Paul Allen ได้พบกันครั้งแรกที่โรงเรียน Lakeside ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา ทั้งคู่เรียนอยู่ในระดับชั้นเดียวกัน และต่างก็มีความสนใจในด้านคอมพิวเตอร์เหมือนกัน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่พิเศษมาก เนื่องจากสมัยนั้นคอมพิวเตอร์ยังเป็นเทคโนโลยีที่ใหม่และเข้าถึงได้ยาก Bill Gates และ Paul Allen มักจะใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียนไปกับการเรียนรู้และทดลองเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พวกเขาใช้เวลาหลายชั่วโมงในการนั่งอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวกัน พัฒนาโปรแกรมต่าง ๆ และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน ด้วยความมุ่งมั่นและความกระตือรือร้นของทั้งคู่ในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำให้พวกเขามีความรู้และทักษะด้านคอมพิวเตอร์ที่ก้าวหน้าเกินกว่าเด็กวัยรุ่นทั่วไป

Microsoft ถือกำเนิด

อยู่มาวันหนึ่งในเดือนมกราคม ปี 1975 Paul Allen ได้อ่านบทความเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ที่ชื่อว่า Altair 8800เขาตื่นเต้นกับศักยภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นนี้เป็นอย่างมาก และได้นำเรื่องราวที่เขาได้อ่านมาแชร์ให้กับเพื่อนรักอย่าง Bill Gates

Altair 8800
Altair 8800

Altair 8800 | Source: National Museum of American History

หลังจากที่ทั้งคู่ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันทั้งสองก็ได้รับรู้ถึงโอกาสยิ่งใหญ่ที่อยู่ตรงหน้า จึงได้ตัดสินใจร่วมกันที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์ให้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ Altair 8800 นี้ โดยติดต่อไปยังบริษัท MITS (Micro Instrumentation and Telemetry Systems) เพื่อเสนอตัวในการพัฒนาภาษา BASIC สำหรับเครื่อง Altair 8800 ภายใต้บริษัทซอฟต์แวร์ที่ชื่อว่า Microsoft Corporation ภายในเวลาเพียง 8 สัปดาห์ พวกเขาสามารถพัฒนาภาษาคอมพิวเตอร์ BASIC ได้สำเร็จ และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจาก MITS นำไปสู่การวางจำหน่ายโปรแกรม Altair BASIC ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของ Microsoft ในวงการไอที

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ในชีวิต

จุดเปลี่ยนสำคัญของ Microsoft เกิดขึ้นเมื่อบริษัท IBM ยักษ์ใหญ่ในวงการคอมพิวเตอร์ในยุคนั้น ได้ติดต่อขอซื้อระบบปฏิบัติการเพื่อนำไปใช้กับคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นใหม่ ความต้องการนี้กระตุ้นให้ Microsoft เร่งพัฒนาระบบปฏิบัติการที่ชื่อว่า MS-DOS ขึ้นมา ซึ่งเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลโดยใช้คำสั่งผ่าน Command Line

MS-Dos Commands Line

MS-Dos Commands Line | Source: Lifewire

MS-DOS เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ของ Gates และ Allen ที่เชื่อว่าคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องจำเป็นต้องมีระบบปฏิบัติการเป็นสมองกลคอยควบคุม พวกเขาจึงซื้อระบบปฏิบัติการ CP/M (Control Program for Microcomputers) และ QDOS (Quick and Dirty Operating System) จากบริษัท Seattle Computer Products มาพัฒนาต่อยอดเป็น MS-DOS ผลปรากฏว่า MS-DOS ประสบความสำเร็จอย่างสูง และกลายเป็นมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไปในที่สุด เนื่องจากช่วยให้การทำงานของคอมพิวเตอร์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยพื้นฐานที่แข็งแกร่งจาก MS-DOS ทำให้ Microsoft ก้าวกระโดดไปสู่การพัฒนา Windows จนกลายเป็นระบบปฏิบัติการที่ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วโลกในปัจจุบัน โดยครองส่วนแบ่งตลาดไปมากกว่า 70%

ส่วนแบ่งการตลาดระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วโลก

ส่วนแบ่งการตลาดระบบปฏิบัติการของคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะทั่วโลก | Source : Statcounter

ธุรกิจของ Microsoft ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน Microsoft ไม่ได้มีรายได้หลักมาจากเพียงแค่ Windows เท่านั้น แต่ธุรกิจของ Microsoft นั้นขยายตัวไปอย่างมาก ทำให้โครงสร้างรายได้ของบริษัทมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ

  • ธุรกิจคลาวด์ที่นำโดย Azure ซึ่งได้กลายเป็นแหล่งรายได้หลักของบริษัท โดยมีสัดส่วนเกือบ 40% ของรายได้ทั้งหมดเลยทีเดียว

  • นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ Office 365ก็ยังคงเป็นที่นิยมโดยคิดเป็นสัดส่วนรายได้ประมาณ 23%

  • ส่วน Windowsที่แม้ว่าสัดส่วนรายได้จะลดลงเหลือเพียง 10% แต่ก็ยังคงเป็นรากฐานสำคัญของ Microsoft และเป็นระบบปฏิบัติการสำหรับ Desktop ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก*ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2023 ของบริษัท Microsoft รวบรวม ณ วันที่ 6 กันยายน 2024

ผลประกอบการของ Microsoft

สำหรับไตรมาสสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2024 Microsoft ได้รายงานผลประกอบการออกมาดีเกินคาด โดยมีรายได้รวมเพิ่มขึ้น 16% เป็น 65,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 11% เป็น 24,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 14% อยู่ที่ 30,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้น 10% สู่ระดับ 3.30 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตที่แข็งแกร่งของธุรกิจคลาวด์และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ด้านแพลตฟอร์มคลาวด์ Azure ของ Microsoft ก็มีการเติบโตที่แข็งแกร่ง โดยสร้างรายได้เพิ่มขึ้นถึง 34% และอีกความเคลื่อนไหวสำคัญคือการเติบโตของธุรกิจเกม โดยรายได้จาก Xbox และบริการคอนเทนต์เพิ่มขึ้นถึง 61% ซึ่งการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard มีส่วนช่วยเพิ่มรายได้ถึง 53 จุดเปอร์เซ็นต์ (Percentage point)

ผลประกอบการของ Microsoft
ผลประกอบการของ Microsoft

ผลประกอบการของ Microsoft ไตรมาส 1 ปี 2025 (สิ้นสุดวันที่ 30/10/24) Source: Microsoft Investor Relations

สรุป

ตลอดระยะเวลากว่า 35 ปี Microsoft ได้พัฒนาระบบปฏิบัติการ Windows อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการเติบโตและการปรับตัวของบริษัทเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป จากระบบปฏิบัติการที่ใช้งานผ่านการพิมพ์คำสั่ง ไปสู่ระบบที่รองรับการสัมผัส และมาถึงยุคของปัญญาประดิษฐ์ในที่สุด Microsoft ได้แสดงให้เห็นถึงการพร้อมปรับตัวและเปลี่ยนแปลง โดยก้าวจากการเป็นแค่เพียงผู้ผลิตซอฟต์แวร์ สู่การเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ชั้นนำของโลกผ่าน Azure ซึ่งเป็นคู่แข่งโดยตรงกับ Amazon และ Google การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงสร้างกระแสรายได้ที่มั่นคงขึ้น แต่ยังตอบโจทย์ความต้องการของธุรกิจสมัยใหม่ที่กำลังย้ายสู่ระบบคลาวด์อีกด้วย ในด้านเทคโนโลยี Microsoft ได้ทุ่มเทการลงทุนในการพัฒนา AI และ Machine Learning อย่างจริงจัง โดยได้นำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์หลักอย่าง Azure AI, Microsoft 365 และ Dynamics 365 ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับลูกค้า อีกทั้งยังปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการขายซอฟต์แวร์แบบครั้งเดียว มาเป็นบริการแบบสมัครสมาชิก (Subscription) เช่น Microsoft 365 ซึ่งช่วยให้บริษัทมีรายได้ที่สม่ำเสมอและคาดการณ์ได้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เอื้อประโยชน์ให้ลูกค้าได้รับการอัปเดตและฟีเจอร์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ Microsoft ยังได้กระจายความเสี่ยงทางธุรกิจด้วยการไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่ในวงการซอฟต์แวร์และคลาวด์ แต่ขยายไปสู่ตลาดอื่น ๆ เช่น เกม (Xbox), ฮาร์ดแวร์ (Surface) และโซเชียลมีเดียสำหรับอาชีพ (LinkedIn)

แนะนำกองทุนที่มีการลงทุนใน Microsoft

สำหรับผู้ที่สนใจการลงทุนใน Microsoft บริษัทเจ้าแห่งซอฟต์แวร์ที่พร้อมปรับตัวกับโลกอนาคต Finnomena Funds ขอแนะนำกองทุน B-INNOTECH สำหรับการลงทุนในหุ้นเทคฯ ทั่วโลก โดยกองทุนนี้มีหุ้น Microsoft อยู่ 6.13% (ข้อมูล ณ วันที่ 29/10/24) B-INNOTECH เป็นกองทุนหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลกแบบ Active จาก Fidelity Funds ที่เน้นการเสาะหาหุ้นเติบโตสูง ภายใต้ Valuation ที่เหมาะสม และยังสามารถลงทุนในหุ้นวัฏจักร และหุ้นที่มีสถานการณ์พิเศษ เช่น การควบรวม เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวได้ พร้อมด้วยนโยบายบริหารแบบ Active ที่ผู้จัดการกองทุนมีความตื่นตัว เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และปรับพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอ ไม่ทิ้งผู้ลงทุนไว้กลางทางหรือปล่อยวางให้เป็นไปตามกระแส อ้างอิง: Microsoft, ลงทุนแมน, SET Invest Now, Siamphone, Statcounter, Born to Dev, Timeless History คำเตือน:ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน | ผลการดำเนินงานในอดีต และผลการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ในตลาดทุน มิได้เป็นสิ่งยืนยันถึงผลการดำเนินงานในอนาคต | ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการป้องกันความเสี่ยงขึ้นอยู่กับดุลพินิจของผู้จัดการกองทุน | กองทุนรวมนี้ลงทุนกระจุกตัวในผู้ออกตราสารหรือประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงมีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจำนวนมาก ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาการกระจายความเสี่ยงของ พอร์ตการลงทุนโดยรวมของตนเองด้วย | คำแนะนำการลงทุนนี้เป็นไปตามกรอบการพิจารณาของ Finnomena Funds ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างโอกาสรับผลตอบแทนในระยะเวลาตามแต่ละประเภทของพอร์ตเท่านั้น บริษัทมิได้การันตีถึงผลตอบแทนที่จะได้จากคำแนะนำการลงทุนดังกล่าว มีความเสี่ยงที่ผลตอบแทนอาจไม่เป็นไปตามคาดหวัง หรือมีผลขาดทุนได้ | สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมหรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุน ฟินโนมีนา จำกัด ในช่วงเวลาวันทำการตั้งแต่ 09:00-17:00 น. ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 026 5100 และทาง LINE @FINNOMENAPORT | สำหรับผู้ลงทุนในความดูแลของ Kept by krungsri ติดต่อทีม Kept help center ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02 296 6299

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0