เงาตะวันออก
วรศักดิ์ มหัทธโนบล
จีนสมัยราชวงศ์ซ่ง (27)
การปกครองในสมัยซ่ง (ต่อ)
ระบบการปกครองภายในราชสำนัก
หลังจากที่ยุคห้าราชวงศ์สิบรัฐได้สลายลงและซ่งได้ตั้งราชวงศ์ของตนขึ้นนั้น ซ่งได้นำเหล่าเสนามาตย์ในยุคดังกล่าวมาช่วงใช้ในราชสำนักตนด้วย โดยให้บุคคลเหล่านี้คงตำแหน่งเดิมของตน ให้เงินเดือนและสวัสดิการ
พร้อมกันนั้นก็เปิดสอบบัณฑิตเพื่อรับราชการและการสอบแขนงอื่นๆ อีกด้วย และทำให้ได้ขุนนางที่มิได้มาจากการสืบทอดผ่านเครือญาติ
นอกจากนี้ ยังให้ลดสิทธิพิเศษทางภาษี ยกเว้นการเข้าเวรของข้าราชการให้น้อยลง และเสนามาตย์ทุกระดับชั้นจะมีฐานะทางกฎหมายที่เท่าเทียมกัน เสนามาตย์ชั้นผู้ใหญ่มิอาจลงโทษเสนามาตย์ชั้นผู้น้อยได้ตามอำเภอใจอีกต่อไป
สิ่งที่มิได้เปลี่ยนไปจากเดิมในประการแรกคือ โดยระบบแล้วจักรพรรดิยังคงมีฐานะและอำนาจสูงสุด มีการแต่งตั้งรัชทายาทที่เคยหยุดไปในปลายราชวงศ์ถัง อำนาจสูงสุดจะแสดงผ่านการแต่งตั้งเสนามาตย์ทุกระดับ
ขุนนางระดับสูงจะผ่านการสอบคัดเลือกต่อหน้าพระพักตร์ โดยจะพิจารณาถึงความรู้ความสามารถในหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติเป็นเกณฑ์
แต่อำนาจของจักรพรรดิจะถูกถ่วงดุลโดยขุนนางกลุ่มหนึ่งที่มีหน้าที่ร่างราชโองการ ขุนนางกลุ่มนี้จะทักท้วงจักรพรรดิหากเห็นว่าแต่งตั้งเสนามาตย์ไม่เหมาะสม และสามารถตรวจสอบการใช้เงินในท้องพระคลังของจักรพรรดิ
อำนาจของจักรพรรดิจึงถูกควบคุมในระดับหนึ่ง
ในสมัยนี้จักรพรรดิจะออกว่าราชการทุกวัน ยกเว้นในวันหยุดราชการหรือเทศกาล ส่วนประเด็นราชการที่มีการปรึกษาหารือกันโดยมากจะเป็นเรื่องสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน การดำเนินชีวิตของราษฎร โดยเฉพาะในกรณีที่มีความทุกข์ยากเกิดขึ้น การพิจารณาโทษ ความลับทางราชการ
ส่วนข้าราชการที่ถูกส่งตัวไปปฏิบัติงานนอกสถานที่จะต้องรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆ ต่อจักรพรรดิ ในยุคนี้นายกรัฐมนตรี (ไจ่เซี่ยง) มีสำนักงานอยู่ในวังหลวง มีอำนาจสูงสุดในกิจการพลเรือน
สำนักสมุหกลาโหม (ซูมี่สื่อ) มีอำนาจสูงสุดด้านการทหาร แต่การเคลื่อนย้ายกองกำลังจะต้องได้รับราชานุมัติจากจักรพรรดิ
ส่วนสมุหการคลัง (ซันซือสื่อ) มีอำนาจสูงสุดในด้านการคลัง และดูแลเรื่องบรรณาการที่ส่งออกและนำเข้าในแต่ละที่ ตำแหน่งนี้เป็นตำแหน่งรองจากนายกรัฐมนตรี
สำนักราชองครักษ์ (ซันหยา) ทำหน้าที่ดูแลทหารรักษาพระองค์ ไม่มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายกองกำลังทหารดังสมุหกลาโหม
สุดท้ายคือ สำนักราชเลขาธิการ (เยีว์ยหลินเสีว์ยซื่อย่วน) ทำหน้าที่ร่างราชโองการ เอกสารต่างๆ ของราชสำนัก ดูแลรับใช้จักรพรรดิในยามออกตรวจราชการนอกวังหลวง และถวายคำปรึกษาแก่จักรพรรดิ
องค์กรที่กล่าวมาข้างต้นนี้จะคานอำนาจระหว่างกัน แต่ในบางสมัยที่จีนต้องทำศึกกับผู้คุกคามภายนอก ผู้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องทำหน้าที่สมุหกลาโหมควบคู่ไปด้วย ครั้นถึงสมัยซ่งใต้ได้มีการพัฒนาองค์กรเหล่านี้ให้เป็นระบบมากขึ้น
โดยเฉพาะการเพิ่มอำนาจให้แก่นายกรัฐมนตรี ให้ได้ดูแลด้านการคลังและการทหารบางส่วน
สำหรับงานของราชสำนักในสมัยนี้ยังคงสืบทอดระบบสามกรม (ซันเสิ่ง) ที่มีมาก่อนหน้านี้ กรมทั้งสามที่ประกอบด้วยกรมราชสำนัก (ซั่งซูเสิ่ง) กรมวัง (จงซูเสิ่ง) และกรมจางวาง (เหมินเซี่ยเสิ่ง) ซึ่งงานศึกษานี้ได้เคยกล่าวไปแล้วในยุคก่อนหน้านี้
ในยุคนี้ทั้งสามกรมมีสำนักงานอยู่นอกวังหลวง โดยขุนนางสูงสุดของสามกรมนี้จะต้องไม่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และไม่สามารถถวายคำปรึกษาทางการเมือง รวมทั้งไม่มีอำนาจในการตัดสินใจใดๆ
ในช่วงต้นของซ่งเหนือกรมจางวางจะดูแลตราประทับของจักรพรรดิ การจัดสอบขุนนางบางระดับที่ไม่จัดอยู่ในขุนนางเก้ายศชั้น (จิ๋วผิ่น) อันเป็นระบบขุนนางที่มีมาตั้งแต่สมัยสุย ส่วนกรมวังในยุคนี้ที่หน้าที่ดูแลงานด้านราชพิธี
ในขณะที่กรมราชสำนักดูแลงานด้านบัญชี พิธีการ เจ้าพนักงาน การพิจารณาคดีที่เกิดขึ้นในราชสำนัก และงานที่ใช้แรงงาน เป็นต้น
การปกครองภายในราชสำนักในยุคซ่งจากที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า มีการวางระบบขึ้นใหม่ที่แตกต่างจากยุคก่อนหน้านี้ แต่โดยโครงสร้างหลักแล้วยังคงเดิม มีบางองค์กรที่สืบทอดมาจากอดีตแล้วนำมาปรับใช้ใหม่
และระบบการปกครองภายในราชสำนักนี้ก็ดำรงมาได้นานนับร้อยปี ถึงแม้ในระหว่างนั้นอาจมีบางองค์กรที่ถูกปรับลักษณะงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์บ้างก็ตาม
การปกครองท้องถิ่น
ราชวงศ์ซ่งได้แบ่งการปกครองท้องถิ่นเป็นสองระดับคือ ระดับมณฑล (โจว) และระดับอำเภอ (เสี้ยน)
ในระดับมณฑลจะมีหน่วยบริหารที่มีสถานะเท่ากันสามหน่วยคือ สำนักงานการปกครอง (ฝู่) สำนักงานการทหาร (จวิน) และสำนักงานข้าราชการ (เจียน) หน่วยบริหารเหล่านี้ขึ้นตรงต่อราชสำนัก และมีระบบทหารเป็นของตนเอง
โดยขุนนางระดับมณฑลมีอำนาจในการลงนามเอกสารเพื่อประกาศใช้ ส่วนระดับอำเภอจะมีองค์กรย่อยอยู่อีกแปดหน่วยในสังกัด และราชสำนักจะส่งขุนนางมาเป็นดูแลการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ เช่น ความเป็นอยู่ของราษฎร การเงินกับการคลัง และการพิจารณาคดี
ในกรณีที่โครงสร้างประชากรมีความอ่อนไหวหรือเป็นพื้นที่ที่อันตราย อำเภอจะจัดตั้งหน่วยบริหารพิเศษขึ้นมาดูแลความสงบเรียบร้อย เช่น จัดเวรยามขึ้นมาลาดตระเวน เฝ้าระวังจุดที่เสี่ยงต่ออัคคีภัย การเก็บภาษีสุราและการค้า การเกณฑ์ทหาร การฝึกทหาร การฝึกช่างฝีมือ และการป้องกันโจรผู้ร้าย เป็นต้น
แต่หากเป็นพื้นที่ชายแดนที่ห่างไกลก็จะมีหน่วยบริหารที่ไม่ขึ้นต่อทั้งมณฑลและอำเภอดูแล หน่วยงานนี้มีอำนาจในเรื่องการทหารในพื้นที่ของตน คอยตรวจตราความสงบเรียบร้อย และจับโจรผู้ร้าย
สำหรับหน่วยปกครองที่เล็กกว่าอำเภอซึ่งก็คือ ตำบล (เซียง) และหมู่บ้าน (หลี่) นั้น ในช่วงซ่งเหนือจะมีหน้าที่เก็บภาษีและเกณฑ์แรงงานท้องถิ่น ต่อมาจึงได้มีการตราระเบียบว่าด้วยระดับตำบล (เป่าเจี๋ยฝ่า) ขึ้น
ระเบียบนี้กำหนดให้ราษฎรในตำบล 10 ครัวเรือนเท่ากับ 1 เป่า, 50 ครัวเรือนเท่ากับ 1 ต้าเป่า, และ 10 ต้าเป่าเท่ากับ 1 ตูเป่า (แสดงว่า 1 ตูเป่าจะมีทั้งสิ้น 500 ครัวเรือน) โดยผู้ปกครองตำบลนี้จะเลือกจากบุคคลในครัวเรือนที่มีฐานะดีและมีอำนาจเป็นที่ยอมรับ
นอกจากนี้ ยังได้จัดตั้งหน่วยปกครองแขวง (ลู่) ขึ้นมา 23 แห่ง หน่วยปกครองนี้มีขุนนางระดับสูงสี่คนเป็นผู้ดูแล
โดยรับผิดชอบงานด้านคมนาคมภายในเขตของตน ออกตรวจและเยี่ยมเยียนนักโทษที่ถูกคุมขัง ตรวจสอบเอกสารราชการ ดูแลยุ้งฉาง การค้าขาย การเกณฑ์แรงงาน การคมนาคมทางน้ำ การทหาร และการชลประทาน
ควรกล่าวด้วยว่า พอถึงสมัยซ่งใต้ หน่วยปกครองท้องถิ่นที่กล่าวมานี้ ตำบลหรือเซียงจะเป็นหน่วยที่ใหญ่ที่สุด รองลงคือ ตู เป่า และเจี่ย ตามลำดับ (คำว่า เจี๋ย ที่ระบุในตัวบทคือเสียงที่ได้ผันวรรณยุกต์ตามหลักภาษาจีนแล้ว)
ควรกล่าวด้วยว่า ลู่ ที่เป็นชื่อหน่วยปกครองนี้เป็นคำเดียวกับคำที่แปลว่าถนนหนทาง แต่คำนี้ยังหมายถึงเขตหรือท้องถิ่นที่หมายถึงหน่วยปกครองอีกด้วย
การเลือกคำนี้มาใช้จึงเป็นไปตามนัยหลังนี้
ความเห็น 0