เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานปลานิล จำนวน 10,000 ตัว ให้กรมประมงนำไปเพาะขยายพันธุ์และแจกจ่ายให้กับพสกนิกรนำไปเลี้ยงต่อ กว่า 50 ปีที่ผ่านมา ปลานิลได้กลายเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการเลี้ยงมากถึงประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท และมีเกษตรกรเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาชนิดนี้จำนวนหลายแสนครอบครัว ในประเทศไทยนิยมเลี้ยงปลานิลในบ่อดินหรือกระชังตามแหล่งน้ำ เช่น กระชังในคลอง แม่น้ำ เขื่อน และแหล่งน้ำต่างๆ รูปแบบการเลี้ยงในสภาพสิ่งแวดล้อมเปิดทำให้ปลาสัมผัสกับสิ่งแวดล้อมและเชื้อโรคชนิดต่างๆ ตลอดช่วงเวลาการเลี้ยงประมาณ 5-8 เดือน ในรอบหลายปีที่ผ่านมาเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมมักประสบปัญหาโรคที่เรียกว่า กลุ่มอาการของโรคปลานิลตายเดือน (Tilapia One Month Mortality Syndrome: TOMMS) (รูป 1 ปลาตายจำนวนมากในช่วง 1 เดือนแรก) ปัญหานี้ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมสูญเสียลูกปลาจำนวนมาก มีอัตราการตายระหว่าง 20-90 เปอร์เซ็นต์ ปลาที่ป่วยจะแสดงอาการ ว่ายลอยหัว ว่ายนิ่งๆ ตามขอบกระชัง ซึม กินอาหารลดลง ผอมแห้ง มีแผลตามลำตัว ตัวเปื่อย ท้องบวม ตาโปน ในปลาทับทิมที่ติดเชื้อรุนแรงจะพบอาการตัวซีด หน้าแดง ปากเปื่อย (รูปที่ 2 แสดงภาพปลาทับทิมป่วย) ปลาจะตายในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ โดยจะตายสูงสุดในระหว่างวันที่ 3 ถึง 10 และจะเริ่มลดลงจนหยุดตายภายหลังผ่าน 14 วันไปแล้ว ปลาที่รอดตายมักจะแข็งแรงและไม่พบการตายซ้ำอีก ตลอดช่วงที่เหลือของการเลี้ยง ที่ผ่านมาเกษตรกรได้ทดลองให้ยาปฏิชีวนะหลายชนิด แต่ปลามักไม่ตอบสนองต่อการรักษาและยังคงพบปลาตายอย่างต่อเนื่อง ปัญหากลุ่มอาการตายเดือนทำให้เกิดการขาดแคลนลูกปลาในบางพื้นที่หรือทำให้ลูกปลามีราคาสูงขึ้น โดยพบปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงในปลาทับทิมมากกว่าปลานิล ฤดูกาลที่มักพบปัญหาปลาตายเดือนจะอยู่ในช่วงเปลี่ยนฤดู เช่น จากร้อนมาเป็นฝน หรือปลายฝนต้นหนาว ดังนั้นการลงปลาในช่วงเวลาดังกล่าวเกษตรกรต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ สาเหตุของปัญหาปลานิลตายเดือน อาจเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การจัดการบ่อหรือกระชังไม่ดี สภาพแวดล้อมของแหล่งน้ำที่เสื่อมโทรมลง การเพิ่มพื้นที่การเลี้ยงปลาอย่างหนาแน่น เป็นต้น
จากการเก็บรวบรวมข้อมูลและศึกษาสาเหตุของปัญหาการตายของปลานิลและปลาทับทิมตายเดือนตั้งแต่ปี พ.ศ.2558 โดยนักวิจัยคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดใหม่ที่เรียกว่า Tilapia Lake Virus (TiLV) เชื้อนี้ถูกแยกได้เป็นครั้งแรกจากปลานิลในทะเลสาบ
กาลิลี (Lake Galilee) ในประเทศอิสราเอล คาดการณ์กันว่าไวรัสชนิดนี้เริ่มระบาดในประเทศอิสราเอลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบันพบการระบาดของเชื้อไวรัส TiLV ใน 15 ประเทศทั่วโลก โดยในประเทศไทยเชื้อไวรัสชนิดนี้พบแพร่กระจายตามแหล่งน้ำสำคัญเกือบทุกภาคของประเทศ การระบาดในประเทศไทยยังไม่เป็นที่ยืนยันว่าเริ่มระบาดได้อย่างไร และเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เชื้อถูกตรวจพบในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2558 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาเทคนิคที่ใช้ตรวจยืนยันเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ด้วยวิธีการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมพีซีอาร์ (PCR) ซึ่งเกษตรกรอาจส่งตรวจตัวอย่างกับห้องปฏิบัติการของส่วนราชการ เช่น กรมประมง หรือ มหาวิทยาลัย การตรวจคัดกรองลูกปลาเพื่อแยกปลาที่มีการติดเชื้อ และจัดการทำลายอย่างเหมาะสม จะช่วยควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์มและระหว่างพื้นที่การเลี้ยงปลา (ภาพที่ 3 ปลาที่ติดเชื้อไวรัส จะพบผลบวกเป็นแถบปรากฏ ส่วนปลาที่ไม่พบเชื้อ จะไม่พบแถบขึ้น)
เนื่องจากโรคติดเชื้อไวรัสชนิดใหม่นี้ยังไม่มียารักษาที่จำเพาะ การประยุกต์ใช้หลักความปลอดภัยทางชีวภาพ เช่น การป้องกันไม่ให้เชื้อเข้าสู่ฟาร์ม จึงเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมป้องกันโรคและช่วยลดความเสียหายกรณีที่มีการระบาดเกิดขึ้น การจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ เช่น ระมัดระวังในการนำปลาใหม่เข้าฟาร์ม การตรวจคัดกรองลูกปลาให้ปลอดเชื้อ สั่งลูกพันธุ์ปลาที่มีสุขภาพดีจากโรงเพาะฟักที่ปลอดโรค การใช้ยาฆ่าเชื้อกับอุปกรณ์ บ่อ กระชังหรือวัสดุที่สัมผัสกับตัวปลา การควบคุมการเข้าออกฟาร์มทั้งคนและยานพาหนะ หรือการทำลายปลาที่ติดเชื้อและกำจัดซากปลาที่ตายอย่างรวดเร็วและเหมาะสม ไม่ปล่อยปลาหนาแน่นเกินไป หรืออาจพิจารณาเลี้ยงปลาในระบบปิด ไม่ให้ปลาสัมผัสกับน้ำจากสิ่งแวดล้อมภายนอกฟาร์มที่อาจมีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส ขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อภายในฟาร์มและสิ่งแวดล้อมลงได้เป็นอย่างดี
*ปัจจุบันทางคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำลังพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสชนิดใหม่นี้ควบคู่ไปกับงานวิจัยด้านอื่น โดยงานวิจัยเกี่ยวกับเชื้อไวรัส TiLV ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัยต่างๆ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เป็นต้น องค์ความรู้และวัคซีนที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาจะเป็นส่วนสำคัญ เพื่อไปสู่การแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกรที่เลี้ยงปลานิลและปลาทับทิมในประเทศไทยอย่างยั่งยืนในอนาคต *
รศ.นสพ.ดร.วิน สุรเชษฐพงษ์
ภาควิชาจุลชีววิทยาและวิทยาภูมิคุ้มกัน
คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ความเห็น 0