“พ.ร.บ.ข้าว” ปชช. สงสัยตั้งธงเพื่อชาวนาแต่ปลายทางนั้นเพื่อใคร?
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา “พ.ร.บ.ข้าว” เป็นอีกหนึ่งประเด็นสังคม ที่กำลังเจอกับแรงต้านมหาศาล ไม่เพียงจากเกษตรกรไทยเท่านั้น แต่ประชาชนในฐานะผู้บริโภคก็ดูเหมือนจะรับไม่ได้เหมือนกัน!
ดูเหมือนว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ข้าว โดย สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาล คสช. จะตั้งต้นมาด้วยความมุ่งหวังที่จะสร้างความเป็นธรรมและประโยชน์ให้กับชาวนาไทย แต่ตัวแทนนายกสมาคมชาวนาไทย กลับเล็งเห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ข้าวนี้ หลักการและเหตุผลเขียนดีแต่เนื้อในกฎหมายกลับไม่มีมาตราใดเลยเป็นประโยชน์กับชาวนา
เริ่มที่ประเด็นแรก! ตามมาตรา 27 ให้อำนาจเฉพาะการค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แม้มาตรานี้จะมีการแก้ไขล่าสุด ในส่วนของ มาตรา 27/1 วรรค 3 เรื่อง : การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ข้าว จะจำหน่ายได้เฉพาะเมล็ดพันธุ์ที่กรมการข้าวรับรองแล้วเท่านั้น โดยมีข้อยกเว้นให้ชาวนาจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ที่ยังไม่ได้รับการรับรองให้แก่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวแต่ผู้รวบรวมพันธุ์ข้าวไม่สามารถนำไปขายต่อได้ หากกฎหมายฉบับนี้มีผลใช้บังคับ จะทำให้การซื้อขายเมล็ดพันธุ์และข้าวเปลือกไรซ์เบอร์รี่จะผิดกฎหมายทันทีเพราะกรมการข้าวยังไม่ได้รับรองพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่!
อีกทั้งมีแนวโน้มว่าช่องโหว่ในมาตรานี้ อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวซึ่งมีความพร้อมทั้งเงินทุนและเทคโนโลยีมากกว่า
ประเด็นที่สอง คือ มาตรา 34 ภายใต้บทเฉพาะกาลที่โอนอำนาจการรับรองพันธุ์ใหม่ให้กรมการข้าวซึ่งอาจจะมีปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะกรมการข้าว เป็นผู้คุมงบ, วิจัย และรับรองพันธุ์ข้าว นั่นหมายความว่า เป็นการรับรองตัวเอง! จากเดิมที่จะต้องให้กรมการค้าภายใน มาตรวจสอบ
อีกประเด็นที่เหมือนจะเป็นช่องโหว่ใหม่ จากการพยายามปิดช่องโหว่เดิม! คือเรื่อง การควบคุมโรงสีที่ไร้คุณภาพและเอาเปรียบชาวนา ด้วยการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกำกับดูแลการซื้อข้าวจนมีลักษณะเหมือนโรงสีเป็นผู้ร้าย
คำถามคือ..การไปกำกับดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่พอหรือไม่? กระบวนการตรวจสอบโปร่งใสเพียงใด เพราะช่องโหว่ใหม่(ที่อาจจะใหญ่กว่าเดิม?) ก็คือปัญหาเรื่องการทุจริตในภาครัฐ!
ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 20 ก.พ. ที่ผ่านมา ชี้แจงว่าได้ขอเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติข้าวออกไปก่อน เพื่อขอทบทวนปรับแก้เนื้อหาอีกครั้ง หลังเกิดกระแสท้วงติงจากภาคเกษตรกรและชาวนา ก่อนจะเสนอต่อที่ประชุม สนช. อีกครั้ง ในวันที่ 26 ก.พ. 2562
เป็นที่สงสัยว่า หากไม่มีเสียงคัดค้านหรือแรงต้านจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ร่าง พ.ร.บ.ข้าว จะได้รับการทบทวนปรับแก้เพื่อเดินหน้าสู่ธงชัยที่ตั้งไว้เพื่อชาวนาอย่างเมื่อตอนตั้งต้นหรือไม่?
ไม่เพียง ร่าง พ.ร.บ.ข้าว เท่านั้น แต่กฎหมายใด ๆ ที่ตั้งใจจะออกมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม ยิ่งเดินหน้าไปก็เหมือนจะมีบางส่วนเริ่มห่างไกลจากสิ่งที่มุ่งหวัง จนไม่แน่ใจว่า ผลประโยชน์สุดท้ายปลายทางเพื่อใครกันแน่?
แหล่งข้อมูล :
https://thestandard.co/senate-draft-of-the-rice-act-postpone/
ความเห็น 101
yui
BEST
ปลายทางก็เพื่อนายทุน ตอบง่ายๆ ไม่เห็นต้องคิดมากเลย ยากกว่านี้มีรึเปล่า?
22 ก.พ. 2562 เวลา 01.02 น.
อ๋อย
BEST
กฎหมายที่ออกโดยกลุ่มคนไม่ได้ออกมาจากปชช.หรือตัวแทนของ ปชช. อย่าได้หวังว่าการออกกฎหมายจะมองเห็นหรือทำเพื่อ ปชช.อย่างแท้จริง โดยเฉพาะกฎหมายที่ออกมาเพื่อจำกัดสิทธิ์ของ ปชช.ที่เคยมีสิทธิอยู่ เมื่อปชช.ถูกจำกัดหรือห้าม จะทำให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้รับประโยชน์จากการถูกจำกัดสิทธิ์นั้น เพียงกลุ่มเดียว ดังนั้น กฎหมายที่ดี จะต้องออกโดย ปชช.หรือตัวแทนของ ปชช. ที่พูดมาใน ระบอบการปกครองแบบ ปชต.มีอยู่ และยังมีอะไรอีกเยอะ ที่คนไม่ได้เรียน จะไม่รู้ ครับ
22 ก.พ. 2562 เวลา 01.57 น.
BEST
เดี๋ยวเขาก็หมกเม็ด ซ่อนปัญหาไว้เหมือนเดิมเพื่อช่วยเหลือนายทุนชาวนาก็ตายหยังเขียด พวกนี้เป็นพวกนั่งอยู่บนหอคอยงาช้างไม่เคยลงมือทำจริง ออกมาตรการแต่ละอย่าง ให้ชาวบ้านด่าตั้งแต่นั่งท้ายกระบะ ผิดกฎหมายโดน ชาวบ้านด่าทั่วบ้านทั่วเมืองยกเลิกไป นี่พรบข้าวอีกแล้ว ก่อนที่จะเอาเสนออนุมัติ น่าจะเสนอร่างกฎหมายพรบดังกล่าวให้ประชาชนได้อ่านไม่ใช่หมกเม็ดกันอย่างนี้
22 ก.พ. 2562 เวลา 01.02 น.
เคยถามชาวนาตัวจริงบ้างรึเปล่ากฎหมายที่ออกมามากมายส่วนใหญ่หมกเม็ดเอื้อต่อนายทุนเป็นส่วนใหญ่
22 ก.พ. 2562 เวลา 02.26 น.
อ.เรียงพ
ขอให้ผู้รู้ข้างฝ่ายชาวนาออกมาถกเถียงหาข้อเท็จจริงให้ฝ่ายชาวนาที่น่าสงสารได้ผลประโยชน์อย่างแท้จริง
22 ก.พ. 2562 เวลา 01.28 น.
ดูทั้งหมด