ปัญหาขยะ ในประเทศไทย แม้จะเป็นเรื่องที่หาทางแก้ไขกันมานานแล้ว แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่สามารถหาทางออกได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังเกิดขยะจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุมาจากหลายด้าน
ทั้งจากการขยายตัวของชุมชนเมือง การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรแฝง จากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย การส่งเสริมการท่องเที่ยว และพฤติกรรมการบริโภคของประชาชน ที่นิยมความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งสินค้าจากบริการสั่งซื้อออนไลน์สินค้า และบริการสั่งอาหาร ทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยเพิ่มมากขึ้น
ข้อมูลจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นว่า เมื่อปีที่แล้ว ไทยมีขยะมูลฝอยอยู่ที่ 28.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราว 3% โดยยังมีขยะตกค้าง ที่ไม่สามารถกำจัดได้ 5.8 ล้านตัน คิดเป็นขยะเศษอาหารประมาณ 4 ล้านตันต่อปี หรือประมาณ 60% ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้หลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชน พยายามที่จะแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้กับประชาชนในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้ รวมถึง สถาบันนวัตกรรม ปตท. ที่มีแนวคิดพัฒนาวัฒนกรรม เพื่อจัดการปัญหาขยะเศษอาหารตั้งแต่ต้นทาง และสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน
แนวคิดหลักในการพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว คือ การเปลี่ยนของเสียให้เป็นวัสดุที่มีคุณค่า กลับคืนสู่สิ่งแวดล้อม โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาตามมา สอดคล้องกับนโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
และนี่จึงเป็นที่มาของการคิดค้น "เครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหาร" ฝีมือการพัฒนาของ ทีมวิจัยฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม ของสถาบันนวัตกรรมปตท. ที่เริ่มจากการคัดเลือก และพัฒนาเชื้อจุลินทรีย์ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการผลิตเอนไซม์ เพื่อช่วยในการย่อยสลายขยะเศษอาหาร
เชื้อจุลินทรีย์จะทำงานร่วมกับเครื่องย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ ที่ได้รับการพัฒนาแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งมีระบบการทำงาน ที่สามารถควบคุมสภาวะให้เชื้อจุลินทรีย์ทำงาน ย่อยสลายขยะเศษอาหาร ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไร้กลิ่นเหม็นรบกวน
ตัวเครื่องประกอบไปด้วยส่วนการทำงานหลัก 2 ส่วน
- ส่วนย่อยสลายขยะเศษอาหาร
- ส่วนดูดซับกลิ่น
ทั้ง 2 ส่วนนี้ ผ่านการออกแบบ และพัฒนาเพื่อให้สามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้สูงสุดถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน ด้วยตัวเครื่องที่มีขนาดด้านกว้าง ยาว และสูง ไม่เกิน 1 เมตร ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้ง และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ได้มีการติดตั้งระบบควบคุมต่างๆ เพื่อควบคุมสภาวะการทำงานอย่างอัตโนมัติไว้เรียบร้อยแล้ว
ผู้ใช้งานเพียงแค่เปิดเครื่อง ก็สามารถเริ่มการใช้งาน และใส่ขยะเศษอาหารพร้อมเชื้อจุลินทรีย์ได้ทันที หลังจากนั้นผ่านไป 12 ชั่วโมง ก็จะได้ "วัสดุปรับปรุงดิน" (Bio-Soil) ที่เกิดจากการย่อยสลายขยะเศษอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ สามารถนำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ให้เจริญงอกงาม และบำรุงดินที่เสื่อมสภาพ ให้กลับมามีคุณภาพได้อีกครั้่งหนึ่ง
การตรวจสอบจากห้องทดลอง แสดงให้เห็นว่า "วัสดุปรับปรุงดิน" จาก "ขยะอาหาร" นี้ มีธาตุอาหาร NPK และองค์ประกอบอื่นๆ ที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ ซึ่งได้มีการนำไปทดลองใช้งานจริง ที่ห้องอาหารสถาบันนวัตกรรม ปตท. และได้ผลลัพธ์ออกมาอย่างน่าพอใจ
จากนั้น ได้มีการนำนวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหารอัตโนมัติ มาติดตั้งทดสอบการใช้งานจริง ที่อาคารบริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด (EnCo) เป็นระยะเวลาร่วมกว่า 2 เดือน ซึ่งพบว่า เครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะเศษอาหาร สามารถย่อยสลายขยะเศษอาหารที่เกิดขึ้นจากอาคาร EnCo ได้เป็นอย่างดี ภายในระยะเวลา 12 ชั่วโมง และสามารถรองรับปริมาณขยะเศษอาหารได้ถึง 5 กิโลกรัมต่อวัน โดยไม่เกิดกลิ่นเหม็นรบกวน รวมทั้งเชื้อรา
การทดสอบการใช้งานที่ EnCo สามารถลดขยะเศษอาหารที่จำเป็นต้องนำไปกำจัดได้ทั้งหมด 139.6 กิโลกรัม และสามารถเปลี่ยนขยะเศษอาหาร ให้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน กลับมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด 29.06 กิโลกรัม ซึ่งได้มีการนำ "วัสดุปรับปรุงดิน" นำไปใช้ในการบำรุงต้นไม้ที่บริเวณอาคารจอดรถ 2 ของ บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด
ความสำเร็จในงานวิจัย และการนำมาทดสอบการใช้งานจริงดังกล่าว สถาบันนวัตกรรม ปตท. จึงได้ร่วมมือกับบริษัท อินทรีย์ อีโคไซเคิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านการจัดการของเสีย อย่างครบวงจร นำนวัตกรรมเครื่องต้นแบบย่อยสลายขยะ เศษอาหารอัตโนมัตินี้ มาขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ เพื่อการใช้งานในวงกว้าง
นับเป็นหนึ่งในวิธีการลดขยะ และเปลี่ยนขยะเศษอาหารให้มีคุณค่าเพิ่มมากขึ้น ตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดด้วยนวัตกรรมทางสังคม
อ่านข่าวเพิ่มเติม
ความเห็น 0