โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

“โพลีไครซิส” ถล่มไทย ITD แนะรัฐวางหมากรับมือ

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 15 ก.ย 2566 เวลา 06.30 น. • เผยแพร่ 15 ก.ย 2566 เวลา 06.30 น.
โพลิไครซิส

หลังจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD) ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2545 ในระหว่างการประชุมทบทวนกลางภาคของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development หรือ UNCTAD) หรืออังค์ถัด 10 ซึ่งจัดโดยรัฐบาลไทย ผ่านมาเกือบ 20 ปีจนถึงปัจจุบัน

ITD ถือว่าเป็นหน่วยงานภาครัฐที่ดำเนินงานในฐานะองค์กรสาธารณะ ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ด้วยภารกิจการเป็นศูนย์กลางการวิจัย การฝึกอบรม เกี่ยวกับประเด็นการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ITD ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย อังค์ถัด องค์กรและสถาบันระหว่างประเทศอื่น ๆ หนึ่งในกิจกรรมทางวิชาการที่โดดเด่นของ ITD ล่าสุด ได้จัดฟอรัมการค้าและการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประจำปี 2566 ในหัวข้อการประชุม “การเผชิญกับความท้าทายของภาวะวิกฤตโพลีไครซิส” หรือ Southeast Asia Trade and Development Forum 2023 “Conquering the Polycrisis Challenges” เมื่อ วันที่ 6 กันยายน 2023 ที่ผ่านมา

“ต้องยอมรับว่า โลกของเราเผชิญกับช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตการณ์ระดับโลกครั้งสำคัญเมื่อไม่นานมานี้ ไม่เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัวขึ้น เหตุการณ์สภาพอากาศเปลี่ยนความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม เราอยู่ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 สงครามในยุโรป ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ การเมือง อัตราเงินเฟ้อที่สูง

และวิกฤตค่าครองชีพ พลังงาน อุปทานและการค้าหยุดชะงัก และความไม่มั่นคงด้านอาหาร วิกฤตการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทับซ้อนกัน และคือสิ่งที่เราให้คำจำกัดความของคำว่า “วิกฤตหลายด้าน” (polycrisis) ซึ่งเป็นคำศัพท์ใหม่ระดับโลก ที่เราต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ”

รายงานความเสี่ยงทั่วโลกประจำปี 2566 ของ World Economic Forum ใช้คำนี้เพื่ออธิบายว่า “ความเสี่ยงในปัจจุบันและอนาคตสามารถโต้ตอบซึ่งกันและกันเพื่อสร้าง “วิกฤตหลายด้าน” ซึ่งเป็นกลุ่มของความเสี่ยงระดับโลกที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบ

ซึ่งผลกระทบโดยรวมมีมากกว่า ผลรวมของแต่ละส่วน คือ ความท้าทายและวิกฤตการณ์ที่เชื่อมโยงถึงกัน และประเทศต่างๆ ไม่ได้ถูกเผชิญอย่างโดดเดี่ยว แต่เป็นปัญหาของส่วนรวมระดับโลก ซึ่งแต่ละประเทศไม่สามารถแก้ไขได้ จากความท้าทายที่ซับซ้อนและเชื่อมโยงถึงกัน ซึ่งมีผลต่อเศรษฐกิจระดับโลกและระดับภูมิภาค

ฟอรัมการค้าและการพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA) จึงมีเป้าหมายเพื่อแสดงความคิดเห็น และเปลี่ยนความคิด เกี่ยวกับผลกระทบของวิกฤตการณ์หลายครั้งต่อการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งงานนี้มีผู้เชี่ยวชาญ ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก และพัฒนาแนวทางการทำงานร่วมกันเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านลบของวิกฤตการณ์ ต่อการค้าระหว่างประเทศ

โลกเผชิญโพลีไครซิส

นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ ประธานคณะกรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา หรือ ITD กล่าวว่า การประชุมระดับภูมิภาค การค้าและพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำปี 2566 ในครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากปัจจุบันโลกมีการเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและวิกฤตที่หลากหลาย อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การทำลายสิ่งแวดล้อม การระบาดของโควิด-19 ความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์ การปกครองทางการเมือง และความผันผวนทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

กลายเป็นภาวะวิกฤตโพลีไครซิสซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับโลกที่เกี่ยวข้องกัน และส่งผลกระทบในวงกว้าง และสนใจเข้าร่วม เช่น ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ อียู สหรัฐ เป็นต้น

ดังนั้น การรับรู้ถึงความสำคัญที่เราเผชิญกับภาวะวิกฤตโพลิไครซิส จึงเป็นส่วนสำคัญในการประชุมครั้งนี้ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานราชการและเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และผู้เกี่ยวข้องในด้านธุรกิจการค้าระหว่างประเทศและการลงทุน ที่มีเป้าหมายในการร่วมกันสนับสนุนสภาพแวดล้อมการค้าที่แข็งแกร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

4 เรื่องสำคัญ

สำหรับประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ 1) ความสามารถในการฟื้นตัวทางการค้า โดยการประเมินความเปราะบางและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตโพลีไครซิส และค้นหาในวิธีการเพิ่มความสามารถในการฟื้นตัวของระบบการค้าระหว่างประเทศ

2) ความร่วมมือระหว่างประเทศ การรับรู้ถึงบทบาทสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและองค์การระหว่างประเทศในการเผชิญกับภาวะวิกฤตโพลีไครซิส วิทยากรจะมีการหารือถึงวิธีการเสริมสร้างธรรมาภิบาลระดับโลก การส่งเสริมการประสานงานระหว่างประเทศ และเสริมสร้างระบบการค้าตามกฎเกณฑ์

3) การค้าที่ยั่งยืน การสำรวจแนวคิดที่ซ้อนทับกันระหว่างภาวะวิกฤตโพลีไครซิส และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกันและเป้าหมายความยั่งยืน โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การอภิปรายเกี่ยวกับการส่งเสริมแนวปฏิบัติทางการค้าที่ยั่งยืน เทคโนโลยีสีเขียว และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม

และ 4) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล จะมีการกล่าวถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการเป็นปัจจัยให้รอดพ้นจากภาวะวิกฤตโพลีไครซิสและการปลดล็อกโอกาสทางการค้าใหม่ ๆ ผู้ร่วมอภิปรายจากต่างประเทศจะหารือเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่จะนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี ผลลัพธ์จากการประชุมครั้งนี้ ITD มุ่งวางแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากภาวะวิกฤตโพลีไครซิส ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย การจัดตั้งโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศ และการพัฒนากลยุทธ์ที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดจากภาวะวิกฤตโพลีไครซิส

โดยผลลัพธ์เหล่านี้จะใช้เป็นแนวทางให้รัฐบาล องค์กร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย สามารถนำไปแก้ปัญหาทางการค้าระหว่างประเทศท่ามกลางวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ ซึ่งเราจะนำผลสรุปไปศึกษา วิจัย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ก่อนที่จะสรุปเป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อนำไปพัฒนาประเทศต่อไป

รับมือเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

โดยจากการรับฟังการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นวิกฤตที่น่ากังวลที่สุด ที่กำลังเปลี่ยนโฉมแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการค้าของภูมิภาค เนื่องจากเป็นภัยคุกคามหลักสำหรับการเติบโตและความเจริญรุ่งเรืองในอนาคต การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างแน่นอนในหลาย ๆ ด้าน

เช่น ต้นทุนการค้าที่เพิ่มขึ้นและการผลิต และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องเตรียมรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น

แนวทางการรับมือการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ รัฐควรนำระบบดิจิทัล เข้ามาช่วยวางแนวทางรับมือทั้งทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งนี้ เพื่อความอยู่รอดและการเจริญเติบโต ที่จะสามารถช่วยให้องค์กรดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง พร้อมสร้างสรรค์โซลูชั่นใหม่ ๆ เพื่อให้ทันวิกฤตที่ไม่มีวันสิ้นสุดเหล่านี้ด้วย

ดังนั้น เราจำเป็นจะต้องมีการประสานงานระดับภูมิภาค ระดับประเทศ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ และนำกลยุทธ์เชิงนวัตกรรม เพื่อจัดการกับความท้าทายที่เกิดขึ้น ให้ก้าวผ่านช่วงเวลาที่ซับซ้อน และสร้างระบบนิเวศการค้าระดับภูมิภาคที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนมากขึ้นต่อไปให้ได้ในอนาคต

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น