โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

เอ็ม-แลนดาร์ชรุกสายการบิน ปักฮับหาดใหญ่สู่ “เบตง-นราฯ-สุราษฎร์”

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 28 ก.พ. 2566 เวลา 08.34 น. • เผยแพร่ 27 ก.พ. 2566 เวลา 01.22 น.
เอ็ม-แลนดาร์ช

“เอ็ม-แลนดาร์ช” รุกธุรกิจสายการบิน ทุ่ม 750 ล้านบาทเปิด “แลนด์ดาร์ช แอร์ไลน์” สายการบินระดับภูมิภาค ใช้เครื่องบินขนาดเล็ก 12 ที่นั่ง ปักหมุดสนามบินหาดใหญ่เป็นฮับบินสู่จังหวัดในภาคใต้ เผยอยู่ระหว่างขอใบอนุญาตการบิน คาดพร้อมเปิดบริการต้นปี’67 สู่ 3 เส้นทาง “เบตง-นราธิวาส-สุราษฎร์ฯ” ไม่หวั่นซ้ำรอยนกแอร์ มั่นใจเครื่องบินเล็กเป็นตลาด blue ocean

นายจักรา ทองฉิม ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจการบิน บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด บริษัทตัวแทนจำหน่ายเครื่องบิน Cessna โดย Textron Aviation ในประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ลงทุนจัดตั้ง “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” สายการบินใหม่ที่มุ่งเป้าให้บริการในพื้นที่ภาคใต้ โดยใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นศูนย์กลางการบิน เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ต่างประเทศ และคนท้องถิ่น

ตั้งเป้า 5 ปีเครื่องบิน 5 ลำ

โดยปัจจัยหนุนที่ทำให้บริษัทมีความมั่นใจในการลงทุนในครั้งนี้คือ ในพื้นที่ภาคใต้มีการเดินทางของนักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นจำนวนมากตลอดทั้งปีแบบไม่จำกัดฤดูกาล และเกิดจากได้ศึกษาแผนการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ซึ่งมีความพยายามพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างเมืองหลักและเมืองรอง

“ประกอบกับพบว่าที่ผ่านมาการเดินทางในพื้นที่ภาคใต้ใช้รถยนต์เป็นส่วนใหญ่เราจึงมองเห็นโอกาสในการพัฒนาสายการบินระดับภูมิภาคขึ้น” นายจักรากล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานนั้น บริษัทวางแผนไว้ว่าในระยะเวลา 5 ปีแรกจะมีเครื่องบินในฝูงบินทั้งสิ้น 5 ลำ โดยเป็นเครื่องบินแบบ Cessna C208B ออกแบบห้องโดยสาร 12 ที่นั่ง ราคาซื้อเฉลี่ยประมาณ 150 ล้านบาทต่อลำ และคาดว่าจะใช้งบฯซื้อเครื่องบินประมาณ 750 ล้านบาท

“ตอนนี้เราสั่งซื้อเครื่องบินไปแล้ว 2 ลำ และตั้งแต่ปี 2568-2570 เรายังมีแผนนำเข้าเครื่องบินเพิ่มอีกปีละ 1 ลำ ทำให้ตามแผนจะมีฝูงบินรวม 5 ลำ”

นายจักรา กล่าวด้วยว่า สายการบินแลนดาร์ชได้ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการค้าขายการเดินอากาศ (Air Operating Licence : AOL) จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ไปแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณา และอยู่ระหว่างเตรียมขอใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศ (Air Operator Certificate : AOC) จาก กพท.ในลำดับต่อไป

เครื่องบินเล็กคือ “Blue Ocean”

นายจักรา กล่าวว่า ธุรกิจสายการบินขนาดเล็กในประเทศไทยนั้นยังเป็นตลาดที่มีโอกาสอยู่อีกมากเพราะประเทศไทยแทบจะยังไม่มีสายการบินภูมิภาคขนาดเล็ก การเปิดตัวของแลนดาร์ช แอร์ไลน์ จึงถือเป็นน่านน้ำใหม่ หรือ blue ocean ของบริษัท

“ตลาดการบินหลังสถานการณ์โควิด-19 ผู้โดยสารจะฟื้นตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้สายการบินที่เคยลดจำนวนพนักงานหรือลดขนาดฝูงบินอาจไม่สามารถรองรับอุปสงค์ที่มีจำนวนมาก ขณะที่ราคาบัตรโดยสารก็ปรับตัวสูงขึ้นและการแข่งขันน้อยลง” นายจักรากล่าว

กำหนดรูตบินไม่เกิน 60 นาที

นายจักรา กล่าวต่อไปว่า สำหรับเครื่องบินลำแรกนั้น บริษัทตั้งเป้ารับมอบในช่วงไตรมาส 1/2567 โดยในช่วงแรกจะเริ่มให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลต์ และมีแผนรับมอบลำที่ 2 ในช่วงไตรมาส 3/2567 และจะเริ่มให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินประจำ ทั้งนี้จะกำหนดให้แต่ละจุดหมายใช้เวลาทำการบินไม่เกิน 60 นาที

โดยในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ซึ่งเป็นช่วงแรกของการให้บริการ บริษัทจะใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นศูนย์กลางเครือข่ายการบิน ให้บริการ 3 เส้นทาง คือ หาดใหญ่-เบตง (ยะลา), หาดใหญ่-นราธิวาส และหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี ให้บริการที่ความถี่ 1-3 เที่ยวบินต่อวัน

จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะให้บริการ 3 เส้นทางดังกล่าวด้วยความถี่ 3 เที่ยวบินต่อวัน และให้บริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มเติมคือ หาดใหญ่-นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง ด้วยความถี่ 2 เที่ยวบินต่อวัน หรือตามปริมาณความต้องการของตลาด

เล็งบินเชื่อมโยงถึงมาเลย์

สำหรับระยะต่อ ๆ ไปนั้น สายการบินจะเพิ่มความถี่แต่ละเส้นทางมากขึ้นและอาจขยายเส้นทางบินไปยังต่างประเทศ เช่น ปีนัง ลังกาวี ประเทศมาเลเซีย และอาจร่วมมือกับสายการบินขนาดใหญ่บินเชื่อมเส้นทางเมืองรอง

ทั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายในปี 2567 ปีแรกที่เปิดให้บริการ จะมีผู้โดยสารใช้บริการสายการบินราว 50,000 คน สร้างรายได้ราว 70 ล้านบาท

บินเบตง-ไม่หวั่นซ้ำรอยนกแอร์

นายจักรายังกล่าวถึงกรณีที่ก่อนหน้านี้ สายการบินนกแอร์เคยให้บริการเส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – เบตง ว่าสายการบินนกแอร์ใช้เครื่องบินขนาด 86 ที่นั่ง ในการให้บริการเส้นทางสู่เบตง ซึ่งมีความเสี่ยงที่ต้องมีผู้โดยสารจำนวนมาก เพื่อให้ถึงจุดคุ้มทุน

“แลนดาร์ชใช้เครื่องบินเล็ก 12 ที่นั่งเหมือนรถตู้ติดปีก จะเช่าเหมาลำหรือบินประจำก็ได้ อย่างเส้นทางหาดใหญ่-เบตง เราตั้งราคาประมาณ 1,500-2,000 บาท ถ้ามีผู้โดยสารราว 7-8 ที่นั่งก็ถือว่าโอเคแล้ว” นายจักรากล่าว

นอกจากนี้ ยังมองว่าสายการบินกานต์แอร์ หรือสายการบินนกมินิ ซึ่งเป็นสายการบินขนาดเล็กที่ปัจจุบันยุติการให้บริการไปแล้วนั้น เกิดจากตลาดการเดินทางในบางพื้นที่มีอุปสงค์ (demand) เฉพาะฤดูกาลเท่านั้นจึงอยู่ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ประกอบธุรกิจให้บริการจัดหาและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ระบบบริการ ให้แก่ภาครัฐ-ภาคเอกชน และเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องบิน Cessna โดย Textron Aviation ในประเทศไทย เช่น จัดหาอากาศยานแบบ Cessna 208B Grand Caravan EX ให้กับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร

รวมถึงจัดหาอุโมงค์ลมให้กับศูนย์สงครามพิเศษ ลพบุรี จัดหาอากาศยานไร้คนขับรุ่น PUMA และ Raven ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกรมการทหารสื่อสาร กองทัพบก กระทรวงกลาโหม

ลุ้น ‘แลนดาร์ช’ ปลุกชีพสนามบิน ‘เบตง’

เดือนตุลาคม 2565 สายการบิน “นกแอร์” ซึ่งเป็นสายการบินเดิมที่ทำการบินเส้นทางบินตรงกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) – เบตง (จ.ยะลา) ประกาศระงับการให้บริการ และเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ตามมา

โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความไม่คุ้มค่าด้านการลงทุน หรือทางวิ่ง (runway) มีความยาวสั้น ทำให้มีสายการบินขนาดใหญ่ของไทยเพียงไม่กี่รายเท่านั้นที่สามารถให้บริการได้ รวมถึงไม่มีจุดเติมน้ำมันอากาศยาน ทำให้สายการบินต้องบรรทุกน้ำมันมาตั้งแต่ต้นทาง ฯลฯ

กระทั่งปัจจุบันท่าอากาศยานเบตงก็ยังไม่มีเที่ยวบินประจำ (schedule flight) ให้บริการแต่อย่างใด

“สกุล เล็งลัคน์กุล” ตัวแทนสมาคมจีนอำเภอเบตง จังหวัดยะลา บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ยอมรับว่าข่าวการหยุดบินของสายการบินนกแอร์นั้นส่งผลเชิงลบต่อการท่องเที่ยวเมืองเบตง จังหวัดยะลาอย่างมาก

“ข่าวสายการบินนกแอร์หยุดบินเส้นทางเบตง กระทบต่อบรรยากาศการท่องเที่ยวของเมืองเบตงอย่างมาก แม้จำนวนนักท่องเที่ยวอาจไม่ได้ลดลงมากนัก แต่เชื่อว่าคนภายนอกมองประเด็นนี้ไม่ดีเท่าไหร่”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะไม่มีสายการบินที่ให้บริการบินตรง แต่ปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวโดยรวมของ อ.เบตง ถือว่าฟื้นตัวจากช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างมาก นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลเซีย คิดเป็นสัดส่วน 70% และชาวไทย 30%

ประเมินว่าในไตรมาส 2/2566 นี้ นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าพื้นที่ อ.เบตง (จ.ยะลา) จะฟื้นตัวต่อเนื่อง และอาจมีจำนวนใกล้เคียงกับก่อนการระบาดของโควิด-19

“แต่นักลงทุนยังกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงปัจจัยด้านการเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติเหมือนเดิม”

“สกุล” บอกด้วยว่า สำหรับแนวคิดการขยายทางวิ่งอากาศยานเพื่อรองรับเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ขึ้นนั้น ที่ผ่านมาทางภาครัฐได้เข้ามาสำรวจและทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่แล้ว หลังจากนี้อยู่ในขั้นตอนการของบประมาณจากรัฐบาล

โดยขณะนี้มีสายการบินแลนดาร์ช (Landarch) สายการบินขนาดเล็กเข้ามาพูดคุยกับท้องถิ่นเพื่อเปิดเส้นทางบินมายังท่าอากาศยานเบตงแล้ว

พร้อมย้ำว่า “แม้ว่าแลนดาร์ชจะเป็นสายการบินขนาดเล็ก แต่ผมว่าน่าจะช่วยเรื่องการท่องเที่ยวของเบตงได้”

ขณะที่ “จักรา ทองฉิม” ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจการบิน บริษัท เอ็ม-แลนดาร์ช จำกัด ผู้บริหารสายการบินแลนดาร์ช ให้ข้อมูลว่า บริษัทมีแผนเปิดให้บริการสายการบินในช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 โดยเริ่มต้นจากการให้บริการในรูปแบบเที่ยวบินเช่าเหมาลำ

จากนั้นจะให้บริการเที่ยวบินประจำในช่วงไตรมาส 3/2567 โดยใช้ท่าอากาศยานหาดใหญ่ (สงขลา) เป็นฮับการบิน ให้บริการ 3 เส้นทาง คือ หาดใหญ่-เบตง (ยะลา), หาดใหญ่-นราธิวาส และหาดใหญ่-สุราษฎร์ธานี

จากนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 จะเพิ่มเส้นทางบินหาดใหญ่-นครศรีธรรมราช, กระบี่, ภูเก็ต, ตรัง และขยายไปยังต่างประเทศ เช่น ปีนัง ลังกาวี (มาเลเซีย) เป็นต้น

ลุ้นกันต่อว่า สุดท้ายแล้วดีมานด์ของผู้โดยสารจะมากพอที่จะทำให้ “แลนดาร์ช แอร์ไลน์” ทะยานไปไกลจนถึง “เบตง” เมืองใต้สุดแดนสยามแห่งนี้หรือไม่

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น