ขรรค์ชัย-สุจิตต์ ชี้ ‘บางระจัน’ ไม่ได้รบเพื่อชาติ ไม่ได้ทำเพื่อกรุงศรีฯ แต่สู้เพื่อมาตุภูมิ
ศึกบางระจัน ถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางในห้วงเวลานี้ โดยเชื่อมโยงกับการเมืองเรื่อง #เลือกตั้ง66
เมื่อชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้เข้าสักการะอนุสาวรีย์วีรบุรุษค่ายบางระจัน จ.สิงห์บุรี พร้อมระบุว่า “อยากให้ทุกคนคิดถึงรากเหง้าของความเป็นคนไทย บรรพชนที่เสียสละชีวิต เสียสละเลือดเนื้อเพื่อแผ่นดินไทยให้มากๆ และไม่อยากให้มีคนรณรงค์หาเสียงให้เกิดความชังชาติ ลืมรากเหง้าความเป็นคนไทย รณรงค์ให้คนไม่ไปเกณฑ์ทหาร”
นำมาซึ่งการถกเถียงในสังคม อาทินายธีรเศรษฐ พัฒน์วราพงษ์ ผู้สมัครส.ส.เขต 1 สิงห์บุรี รองเลขาธิการพรรคก้าวไกล ที่ได้ออกมาโต้ว่า “ชาวบ้านบางระจัน เป็นประชาชนที่สมัครใจรบปกป้องบ้านเกิด ไม่ใช่การบังคับขืนใจเกณฑ์มา”
ประเด็นดังกล่าว รายการขรรค์ชัย-สุจิตต์ ทอดน่องท่องเที่ยว ตอน บางระจันรบเพื่อมาตุภูมิ เพราะถูกเทจากอยุธยา ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านเฟซบุ๊กมติชนออนไลน์, ข่าวสด, ศิลปวัฒนธรรม และยูทูปมติชนทีวี ได้เคยกล่าวถึง บางระจัน ไว้
นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัทมติชน จำกัด (มหาชน) และนายสุจิตต์ วงษ์เทศ ผู้ก่อตั้งนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ระบุในตอนหนึ่ง ว่า คำว่า ‘บางระจัน’ เดิมเรียก ‘บ้านระจัน‘ ชาวบ้านระจันไม่ได้รบเพื่อชาติ เพราะแนวคิดเรื่องชาติเพิ่งเกิดในภายหลังในสมัยรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ ก็ไม่ได้รบเพื่ออยุธยา แต่รบเพื่อมาตุภูมิ เพื่อบ้านเกิดเมืองนอนของตน เหตุการณ์รบอังวะเกิดก่อนกรุงศรีอยุธาแตก 2 ปี ส่วนหลักฐานเอกสารที่ใกล้เหตุการณ์มากที่สุด คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) เขียนขึ้นใน พ.ศ.2317 หลังกรุงแตก 7 ปี ชื่อบุคคลที่ถูกกล่าวถึง มีเพียง 2 คนคือ ‘นายจันเขี้ยว‘ ซึ่งภายหลังรู้จักในชื่อ นายจันหนวดเขี้ยว และ ‘พระอาจารย์วัดเขานางบวช‘ ซึ่งต่อมา รู้จักในชื่อ พระอาจารย์ธรรมโชติ บุคคลนอกเหนือจากนั้น เพิ่งปรากฏในเอกสารสมัยรัชกาลที่ 4
“บางระจันไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว ในขอบเขตบางระจันที่คนไปชุมนุมกัน กินไปถึงเขตอ่างทอง และสุพรรณบุรี พื้นที่กว้างขวางมาก มีคนหนาแน่นพอสมควร ดูได้จากชุมชนโบราณที่กระจายอยู่ เป็นเหตุให้อังวะต้องมาตี คนจำนวนไม่น้อยจึงมารวมกันอยู่ที่บางระจัน” นายสุจิตต์ กล่าว
จากนั้น นายขรรค์ชัยและนายสุจิตต์ นำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ ‘อนุสรณ์สถานวีรชนสีบัวทอง’ อำเภอแสวงหา จังหวัดอ่างทอง 4 คน คือ แท่น อิน เมือง โชติ ที่ไปรวมกับชาวบางระจัน
“ย่านนี้มีความอุดมสมบูรณ์ พม่าเลยมาเอาเสบียง บ้านสีบัวทองไม่ใช่เพิ่งมีชุมชนสมัยอยุธยา แต่มีชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ตั้งแต่ราว 2500 ปีมาแล้ว ในขณะที่บ้านระจัน ก็เป็นเมืองเก่ามีผู้คนอยู่อาศัยสืบเนื่องกันมา ถ้าไม่ใช่ชุมชนใหญ่ และมีความสำคัญ จะไม่สามารถสร้างโบสถ์วิหารขนาดใหญ่อย่างวัดพระนอนจักรสีห์ได้ เรื่องนี้ต้องอธิบายให้ชัด มิฉะนั้นจินตนาการจะคลาดเคลื่อนได้ สำหรับตัวค่ายบางระจัน มีการใช้คูเมืองเดิมเป็นฐานที่ตั้งกำบัง ชาวบ้านยุคนั้นยึดเป็นค่ายเพราะสร้างอะไรใหม่ไม่ทันในช่วงสงคราม” นายขรรค์ชัยและนายสุจิตต์กล่าว
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
- หนุ่มเมืองสิงห์ ‘ชัยวุฒิ’ ลุยหาเสียงบางระจัน ปลุกรักชาติ รับไม่ได้ บางพรรครณรงค์ไม่เกณฑ์ทหาร
- ก้าวไกล เอาบ้าง รุดกราบบรรพชนบางระจัน สดุดีรบเพื่อบ้านเกิด ไม่ใช่โดนบังคับเกณฑ์มา