โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ศิษย์เก่าฯ ขึ้นป้าย '#เลิกบังคับแปรอักษร' งานจตุรมิตร ชี้ อันตรายต่อสุขภาพ เรียกร้องแก้ไข 3 ข้อ

MATICHON ONLINE

อัพเดต 11 พ.ย. 2566 เวลา 11.33 น. • เผยแพร่ 11 พ.ย. 2566 เวลา 10.03 น.
ยก เว็บ

ศิษย์เก่าฯ ขึ้นป้าย ‘#เลิกบังคับแปรอักษร’ งานจตุรมิตร ชี้ อันตรายต่อสุขภาพ เรียกร้องแก้ไข 3 ข้อ

การแข่งขันฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 ที่สนามศุภชลาศัย ระหว่างวันที่ 11-18 พฤศจิกายน 2566 จัดที่สนามศุภชลาศัย สนามกีฬาแห่งชาติ โดยมีทีมเข้าร่วมทั้งหมด 4 ทีม ประกอบไปด้วย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนเทพศิรินทร์ แชมป์เก่าและแชมป์ 6 สมัย โดยแข่งแบบพบกันหมด

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง สวนกุหลาบโคตรเฟี้ยวประเดิมดับซ่า ‘ชงโคม่วง’ 2-1 บอลจตุรมิตร

เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงเช้า กลุ่มนักเรียนเก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์และกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชน ได้รวมตัวทำกิจกรรมระหว่างเส้นทางจากโรงเรียนเทพศิรินทร์ไปสนามศุภชลาศัยเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกบังคับนักเรียนขึ้นแปรอักษร ในงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30

มีการพูดปราศรัยโดยศิษย์เก่า มีการแจกคู่มือเอาตัวรอดในโรงเรียน คู่มือเอาตัวรอดจากการบังคับแปรอักษรในงานจตุรมิตรสามัคคีด้วย

ศิษย์เก่าโรงเรียนเทพศิรินทร์ให้ข้อมูลว่า งานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีมี 3 องค์ประกอบหลัก คือ การแข่งขันฟุตบอล การแปรอักษรโดยนักเรียน พาเหรดและโชว์พิเศษ จุดที่เป็นอันตรายต่อนักเรียนมากที่สุดคือ การแปรอักษรบนอัฒจันทร์ นักเรียนถูกบังคับห้ามไปขับถ่ายที่ห้องน้ำโดยคำสั่งและโดยสภาพแวดล้อม ทั้งยังต้องตากแดดเป็นเวลาเกินกว่า 8 ชั่วโมงติดต่อกัน ทำให้สุขภาพผิวของนักเรียนเสียหาย นักเรียนเสี่ยงที่จะเป็นลมแดดตามอากาศที่ร้อนขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ การที่โรงเรียนในเครือจตุรมิตรได้บังคับนักเรียนให้มาเข้าร่วมงานจตุรมิตร โดยอ้างว่าเป็นคะแนนกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อันมีผลต่อการจบการศึกษาในปีนั้น เป็นสิ่งที่ทำไม่ได้และขัดต่อกฎหมาย โรงเรียนมีหน้าที่จัดให้มีกิจกรรมชุมนุมที่นักเรียนสามารถเลือกเข้าร่วมได้อย่างอิสระในทุกปีการศึกษา

โดยมีข้อเรียกร้องต่อผู้อำนวยการของโรงเรียนในเครือจตุรมิตรในฐานะผู้จัดงานให้ปรับปรุงการจัดงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคีให้เป็นดังต่อไปนี้

1.ยกเลิกการบังคับนักเรียนขึ้นเชียร์และแปรอักษรในงานฟุตบอลประเพณีจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 30 นักเรียนต้องมีสิทธิเลือกโดยสมัครใจ อาจให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมได้

2.เพิ่มเวลาพักสำหรับผู้ขึ้นแปรอักษรอย่างชัดเจน มีเวลารับประทานอาหาร มีเวลาพักเข้าห้องน้ำ มีเวลาพักเพื่อหลบแดด มีมาตรการควบคุมคนให้สามารถเดินเข้าออกได้โดยง่าย ทั้งขณะปกติและขณะฉุกเฉินเช่น ไฟไหม้

3.จัดสวัสดิการให้มีปัจจัยอื่นใดที่จำเป็นต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนอัฒจันทร์ เช่น ครีมกันแดดสำหรับใบหน้าและร่างกาย

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โลกออนไลน์ (X) ต่างติดแฮชแท็ก #เลิกบังคับแปรอักษร พร้อมกับแสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวจำนวนมาก

อย่างเช่น มิน กลุ่มนักเรียนเลว ออกมาระบุว่า “เห็นป้าย #เลิกบังคับแปรอักษร อยู่หน้าสนามศุภในวัน #จตุรมิตรครั้งที่30 ได้ยินมาจากเพื่อนที่เรียนในโรงเรียนเหล่านี้ ในวันแปรอักษร ทั้งร้อนแดด และยังโดนว้าก บางคนก็ต้องฉี่ใส่ขวด ไม่ได้ลงจากสแตนด์เลยตั้งแต่เช้ายันมืด ใครไม่เข้าร่วมก็ติด มผ. นี่คือชีวิตจริงที่อยู่หลังภาพสวยงามบนสแตนด์”

หรือรุ้ง ปนัสยา นักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความระบุว่า “#เลิกบังคับแปรอักษร ถ้าอ้างเป็นความภูมิใจ เด็กคงขึ้นสแตนด์เองโดยไม่ต้องบังคับเนอะ อีโก้, ความมักง่ายต้องทิ้งให้เป็น ทั้งนักเรียนทั้งครู

เพราะเคยเป็นคนที่บังคับเด็ก ม.ต้นขึ้นสแตนด์ วันนี้เลยขอเตือน ถ้าเด็กเป็นอะไรไป คุณรับผิดชอบไม่ไหวหรอก มันแทบไม่ต่างจากรับน้องโหดเลย หรือไม่จริง”

นอกจากนี้ยังมีชาวเน็ตจำนวนมาก ที่เป็นศิษย์เก่าออกมาแสดงความคิดเห็นเช่นกัน โดยระบุว่า

“ในฐานะศิษย์เก่า ไม่ฐานะเคยนั่งตากแดดหัวแดงแปรอักษร เข้าใจความรู้สึกของคนที่อยากให้ยกเลิก

แต่อะไรที่ปฏิบัติกันมาเป็น ‘ประเพณี’ คงมีเหตุผลที่ยังดำรงอยู่ได้ นอกจากเป็นเพราะการบังคับหรือหักคะแนน ฝ่ายค้านควรมีผลสำรวจความเห็นว่ามี น.ร.ที่อยากให้ยกเลิกมาแสดงด้วยครับ”

ขณะที่เพจ “นักเกรียน เทพศิรินทร์” โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า “[อัพเดตข่าว] เมื่อเช้ามีกลุ่มนักกิจกรรม นำป้ายมาแขวนตลอดทางเดินไปสนามกีฬา และมีการนำสติ๊กเกอร์ #เลิกบังคับแปรอักษร ติดบริเวณสนาม ซึ่งเป็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของบางกลุ่ม ต้องคอยติดตามต่อไป”

ทั้งนี้ โลกโซเชียลก็ถกเถียงเรื่องดังกล่าวเช่นกัน มีทั้งเห็นด้วยกับการเลิกบังคับแปรอักษร แต่ยังมีคนบางส่วนที่มองว่า ควรจะภูมิใจที่ได้ทำสิ่งนี้ เพราะถือเป็นครั้งหนึ่งในชีวิต ที่อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำ เป็นต้น

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0