โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 วิธีเยียวยาสภาพจิตใจลูกหลังจากโดนคุณครูลงโทษด้วยวิธีที่ไม่สร้างสรรค์

Mood of the Motherhood

อัพเดต 03 ก.ย 2562 เวลา 11.57 น. • เผยแพร่ 03 ก.ย 2562 เวลา 11.57 น. • Features

ปัญหาครูลงโทษเด็กนักเรียนเกินกว่าเหตุยังคงเป็นอีกประเด็นทางการศึกษาที่ไม่เคยหมดไปจากสังคมไทย เพราะยังคงมีคุณครูใช้วิธีการลงโทษเด็กนักเรียนด้วยความรุนแรงเกิดกว่าเหตุ ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงทางร่ายกาย หรือแม้แต่การลงโทษที่เป้าหมายคือการสร้างผลกระทบทางจิตใจเด็ก 

ภาพเด็กนักเรียนหญิงชายที่ถูกตัดผมจนสั้นเต่อและเว้าแหว่เพื่อสร้างความอับอายและหลาบจำ มักจะถูกนำมาเป็นตัวอย่างเมื่อพูดถึงวิธีการลงโทษที่แม้ไม่ทำให้เกิดความเจ็บช้ำทางกาย แต่ก็บ่มเพาะความเจ็บช้ำให้เกิดขึ้นในใจเด็กมาตลอดหลายทุกยุคหลายสมัย

ทั้งนี้ เด็กๆ ที่ต้องเจอกับการลงโทษที่ด้วยวิธีรุนแรงและไม่สร้างสรรค์ ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนทางอารมณ์และจิตใจไม่น้อย จึงเป็นหน้าที่ของคุณพ่อคุณแม่ ที่แม้ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือต้านทานการลงโทษด้วยวิธีผิดๆ ของคุณครูได้ แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรมีวิธีเยียวยาสภาพจิตใจของลูก หลังจากถูกลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรงและไม่สร้างสรรค์ได้

1. รับฟังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยความตั้งใจ

บางทีบาดแผลจากการลงโทษอาจมองเห็นไม่ได้ด้วยตาเปล่า แต่หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับลูกหลังกลับมาจากโรงเรียน เช่น ลูกมีอาการเซื่องซึมหรือวิตกกังวล คุณพ่อคุณแม่ควรเป็นฝ่ายเปิดประเด็นคำถามง่ายๆ เช่น วันนี้ที่โรงเรียนเป็นอย่างไรบ้าง และเมื่อลูกยอมเล่าความอับอายจากการโดนทำโทษที่โรงเรียนให้ฟังแล้วละก็ คุณพ่อคุณแม่ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังปัญหาของลูกอย่างตั้งใจและไม่จำเป็นต้องตัดสินว่าใครถูกหรือผิดในเวลานั้นก็ได้

2. ไม่ซ้ำเติม

บางที่ลูกโดนลงโทษ อาจเป็นเรื่องที่คุณพ่อคุณแม่เองก็เคยตักเตือนลูกมาก่อน แต่ขอให้คุณเข้าใจว่า ความเจ็บปวดที่ลูกคุณได้รับจากการลงโทษที่โรงเรียนก็มากเพียงพอแล้ว อย่าซ้ำเติมให้ลูกรู้สึกว่าเขาสมควรโดนลงโทษด้วยวิธีที่รุนแรง เพราะเวลานี้คำปลอบโยนจากคุณพ่อคุณแม่ต่างหากที่ลูกอยากฟัง

3. ช่วยสะท้อนความรู้สึกลูก ให้ลูกรู้ว่าเขามีความรู้สึกออย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นคนช่วยสะท้อนอารมณ์และความรู้สึกของลูก ให้ลูกได้ตรวจสอบความรู้สึกของตัวเอง เช่น ตอนที่คุณครูทำโทษลูกรู้สึกอย่างไร ลูกโกรธคุณครู หรือรู้สึกอายเพื่อนมากกว่ากัน เพื่อให้ลูกทบทวน ทำความเข้าใจ และจัดการอารมณ์ตัวเองได้อย่างถูกต้อง

4. อธิบายเหตุผลว่าทำไมคุณครูถึงเลือกทำแบบนั้น 

มันอาจจะยากสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องอธิบายเหตุผลหรือแก้ต่างให้กับคนที่ลงโทษลูกของเราด้วยวิธีที่ไม่สร้างสรรค์ แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเปิดใจ ลองตั้งสมมติฐานเพื่อหาเหตุผลที่เด็กพอจะเข้าใจได้มาอธิบายการกระทำที่ไม่สมเหตุสมผลของคุณครู อย่างน้อยก็ช่วยลดความคับแค้นใจที่ลูกจะมีกับคุณครูท่านนั้นต่อไป

5. ช่วยลูกแก้ปัญหา

การลงโทษประเภทที่สร้างความอับอายให้แก่เด็ก เช่น ไถผม กล้อนผม จงใจตัดผมเด็กนักเรียนให้แหว่งหรือสั้นเต่อ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่เด็กคนหนึ่งจะรับมือและแก้ไขสถานการณ์เช่นนั้นตามลำพังได้ คุณพ่อคุณแม่จึงควรเรียกความมั่นใจให้ลูกด้วยการเป็นคนอยู่เคียงข้างและพร้อมที่จะช่วยลูกแก้ปัญหา เช่น แทนที่จะมัวแต่โมโห ควรรีบพาลูกไปให้ช่างที่ร้านทำผมช่วยแก้ไขทรงผม หรือหาทางช่วยลูกแก้ปัญหาให้ดีที่สุด

6. ปรับความเข้าใจกับคุณครูที่โรงเรียน

ให้คุณครูเป็นผู้อธิบายเหตุผลการลงโทษด้วยตัวเอง

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะพยายามเยียวยาจิตใจลูกจากการถูกลงโทษมาอย่างไรก็ตาม การพาลูกกลับไปปรับความเข้าใจกับคุณครูที่ทำให้เขารู้สึกอับอาย ก็เป็นอีกวิธีที่ไม่ควรมองข้าม

เพราะเมื่อไม่ได้เผชิญหน้ากันในฐานะของคนลงโทษและคนถูกทำโทษแล้ว คุณครูก็จะมีโอกาสได้อธิบายเหตุผลของตัวเองให้เด็กเข้าใจมากขึ้น อาจนำไปสู่การกล่าวขอโทษ และหาข้อตกลงในการลงโทษครั้งต่อไปร่วมกัน

อ้างอิง

Wikihow

Thepotential

สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0