โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 วิธีหลีกเลี่ยงสถานการณ์ ‘อะไร ๆ ก็เรา’ ในที่ทำงาน รีบใช้ซะ! - ห้องแนะแนว

LINE TODAY

เผยแพร่ 07 พ.ค. 2563 เวลา 17.00 น. • nawa.
Business vector created by dooder - www.freepik.com
Business vector created by dooder - www.freepik.com

คนทำงานเสร็จไวคือคนที่จะได้งานเพิ่ม เคยได้ยินประโยคนี้กันไหมคะ เชื่อว่าหลายคนคงเคยประสบพบเจอกันบ้าง ทำงานดี ทำงานเก่ง ทำงานเสร็จเร็ว ได้รับคำชื่นชมจากเพื่อนร่วมทีมล้นหลาม แต่ไป ๆ มา ๆ เวลามีงานใหม่ก็ตกมาที่เราทุกครั้งไป ถามว่าทำได้ไหม ทำได้ แต่หากสามารถกระจายงานได้อย่างทั่วถึงเราก็คงไม่ต้องเหนื่อยคนเดียว จริงไหมคะ หลัก ๆ ต้นตอน่าจะเป็นเรื่องการไม่กล้าปฏิเสธนี่แหละ ที่ทำให้งานมันถาโถมมาที่เราคนเดียว เกิดเป็นความรู้สึกในใจ ‘อะไร ๆ ก็เรา’ (หรือกู) ซะงั้น 

ทางจิตวิทยามีอาการหนึ่งที่คล้ายคลึงกับเรื่องนี้ เรียกว่า Doormat syndrome หรือ ปมพรมเช็ดเท้า ซึ่งมีคำอธิบายว่า เป็นอาการของคนที่ชอบทำให้ผู้อื่นพอใจจนตัวเราเองมีแต่เสียประโยชน์ (ค่อนข้างอธิบายยากหน่อย) เปรียบเสมือนว่าเราเป็นพรมเช็ดเท้าที่คนอื่นเดินมาเหยียบแล้วก็เช็ดทำความสะอาด เขาได้ประโยชน์ แต่เราไม่ได้อะไรเลย ประมาณนั้นค่ะ ซึ่งมันสามารถหมายรวมถึงพฤติกรรมของ ‘คน’ ที่ไม่ค่อยกล้าพูดคำว่า ‘ไม่’ ในแต่ละสถานการณ์ไม่ว่าจะเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัวก็ตาม จนกลายเป็นความรู้สึกไม่ดีที่สะสมไว้นั่นเองค่ะ 

ซึ่งเราสามารถหลีกเลี่ยง ‘อะไร ๆ ก็เรา’ ได้อย่างมีเหตุผลและนุ่มนวลได้ ห้องแนะแนวขอแนะนำแนวทางหลีกเลี่ยงสถานการณ์นี้มาให้ทุกคนได้นำไปปรับใช้กันค่ะ ทุกอย่างเริ่มต้นที่ ‘เรา’ นี่แหละ

1. ปฏิเสธให้เป็น 

บางคนเป็นพวกขี้เกรงใจ พูดคำว่า ‘ไม่’ ออกจากปากช่างยากเย็น พูดได้แต่คำว่า ‘ได้ค่ะ/ได้ครับ’ จนต้องแบกรับอะไรต่อมิอะไรไว้คนเดียว กว่าจะรู้ตัวว่าเสียพลังกายพลังใจไปหมดก็สายเกินแก้แล้ว หรือหากไม่อยากพูดตรงเกินไปจนอาจหักหาญน้ำใจกันได้ ก็ปฏิเสธแบบอ้อม ๆ ได้เหมือนกัน เช่น อยากช่วยนะคะ แต่ว่างานที่มีอยู่ก็ล้นมือแล้ว อะไรแบบนี้ค่ะ หรือให้คำแนะนำในการทำงานแทนโดยที่เราไม่ต้องไปแตะต้องงานนั้นด้วยตัวเองก็ได้

2. รู้จักรักษาสิทธิ์ตัวเองบ้าง 

ปกป้องตัวเองบ้าง อย่ามัวแต่คิดว่าปฏิเสธแล้วเพื่อนจะเลิกคบ คนรอบตัวจะไม่รัก เพราะเราก็ต้องรักตัวเองด้วยนะคะ โฟกัสที่หน้าที่ของเราเป็นหลัก ท่องจำไว้ อะไรที่เป็นงานของคนอื่นก็ควรเป็นของเขา ไม่ใช่อาสารับมาดูแลเองหมด อย่าลืมนะคะว่าบริษัทจ้าง ‘เราทุกคน’ มาเพื่อทำผลงาน ไม่ใช่แค่เราคนเดียว ต่อให้คุณเอางานคนอื่นมาทำ คุณก็ได้เงินเท่าเดิม เพิ่มเติมคือเขาอยู่เฉย ๆ รับเงินเดือน รักษาสิทธิ์ตัวเองด้วยนะคะ งานใครงานมัน

3. ชี้แจงต่อคนรอบข้าง 

หาจังหวะอธิบายให้ทุกคนฟังเรื่องการทำงาน ส่วนใหญ่กว่าจะถึงขั้นตอนนี้ก็สาหัสแล้วเหมือนกัน คือทำงานเพื่อนจนตัวเองไม่ไหว พอถึงจะไม่ไหวก็ต้องพูดออกมาบ้าง จริง ๆ ไม่จำเป็นต้องรอให้ถึงจุดเดือดก่อน ชี้แจงบอกกล่าวเรื่องหน้าที่แต่ละคน กำหนดขอบเขต แบ่งงานกันให้เด็ดขาดตั้งแต่ต้นก็จะช่วยตัดปัญหา ‘อะไร ๆ ก็เรา’ ไปได้ แต่ละคราวอาจจะเสนอตัวเองเข้าไปช่วยเหลือกันบ้างตามโอกาส ยังไงซะก็ถือเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ให้เน้นว่าควรช่วยกัน แต่ไม่ใช่ทำคนเดียว ท่องไว้ค่ะ

4. สลัดความคิดว่า 'ถ้าไม่ทำ เดี๋ยวถูกมองว่าไม่มีน้ำใจ'

งานเป็นเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบ ไม่ใช่เรื่องการแสดงน้ำใจ (เสมอไป) ส่วนมากแล้วเจ้าอาการพรมเช็ดเท้ามักเกิดจากความรู้สึกผิดนี่แหละค่ะ รับไว้ทุกหน้าที่เพราะรู้สึกผิดถ้าเราไม่ทำ รู้สึกผิดกลัวคนอื่นมองไม่ดี จนเสียสุขภาพจิตไปหมด ถึงเวลาแล้วที่จะต้องรีเซ็ตความคิดซะใหม่ ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้สึกนำทางในการทำงานมากมายขนาดนั้นค่ะ ให้นึกถึงหน้าที่ ความรับผิดชอบก็พอ งานใครงานมัน ทำให้ดีที่สุด เราสามารถเป็นคนมีน้ำใจได้โดยต้องไม่ลำบากตัวเองนะคะ

5. ทำความเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่เราโดยตรง 

ต้องยอมรับว่าบางเนื้องานก็อาจเป็นเราเท่านั้นที่ต้องดูแล หากไม่สามารถปฏิเสธได้ ยังไงก็ต้องทำ เพราะฉะนั้นทางออกเดียวคือเข้าใจมันซะ ว่าเป็นหน้าที่เราโดยตรง บางอย่างอาจจะเป็นเราแค่คนเดียวที่ทำได้ แต่หากมีโอกาสก็ต้องเรียนรู้ที่จะสอนงานคนอื่นเผื่อไว้บ้าง ก็จะมีประโยชน์ในอนาคตค่ะ

6. คุยกับเจ้านาย 

ที่สุดแล้วถ้ามันเกินเยียวยา ลองเปิดใจคุยกับเจ้านายดูบ้าง อาจจะมีทางแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน เคลียร์เรื่องรายละเอียดงานของแต่ละคนให้ชัดเจน จะได้ไม่เป็นภาระซึ่งกันและกันในภายภาคหน้าอีก ระบบการทำงานที่ดีจะไม่ทำร้ายใครค่ะ เราเชื่อแบบนั้น

ลองสำรวจตัวเองดูนะคะว่าเรากำลังเป็นพรมเช็ดเท้าในที่ทำงานอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่ ถึงเวลาแล้วที่จะถอนตัวออกมา เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพต่อทุกคนต่อไป แฮปปี้กันทุกฝ่าย เราเองก็ไม่ต้องแบกรับกองงานอยู่คนเดียวอีกต่อไป เป็นกำลังใจให้ทุกคนมีความสุขกับการทำงานนะคะ 

.

ห้องแนะแนว คอลัมน์ให้คำแนะนำการใช้ชีวิตให้มีความสุข เสริมสร้างพลังกายพลังใจได้ด้วยตัวเราเอง ติดตามบทความแห่งความสุขได้ทุกวันศุกร์ 

.

อ้างอิง

1 / 2

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0