โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไลฟ์สไตล์

6 โรคต้องระวัง สำหรับ "ไข่" คุณผู้ชาย!

LINE TODAY

เผยแพร่ 12 ก.พ. 2563 เวลา 09.22 น. • Sirikarn S.

ทุกศุกร์ที่ 2 ของเดือนต.ค.เป็นวันไข่โลก รำลึกถึงคุณประโยชน์ของไข่ที่เกิดจากแม่ไก่กันแล้ว ขอชักชวนให้คุณผู้ชายหมั่นดูแลทะนุถนอม “ไข่คู่” ที่พ่อแม่มอบให้เรามาแต่กำเนิดด้วย เพราะหากซุกซนหรือปล่อยปะละเลยจนเคยตัว อาจนำมาซึ่งภาวะเจ็บป่วยของไข่ หรือที่เรียกทางการว่า “อัณฑะ” (อันถูกห่อหุ้มด้วยถุงอัณฑะอีกทอดหนึ่ง) ฉะนั้น ขอเล่าโรคสำคัญๆ ที่เป็นอันตรายต่อไข่ให้ทุกคนได้ปลอดภัยไว้ก่อน ฟังไว้ดังนี้

1. กล่อนน้ำ/ถุงน้ำลูกอัณฑะ โรคที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่โครงสร้างของการเกิดภาวะนี้ก็คือ ไข่ของเราจะมีเยื่อหุ้ม 2 ชั้น ระหว่างสองชั้นนั้นก็จะมีโพรงที่มีของเหลวหล่อลื่นอยู่ ซึ่งของเหลวนี้เองที่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นถุงน้ำขึ้นมา พบได้สูงถึง 10% ในเด็กแรกเกิด ทว่าคุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องตกใจ เพราะ 80-90% สามารถหายได้เองเมื่อโตขึ้น ส่วนผู้ใหญ่พบเพียง 1% และหายเองได้ภายใน 6 เดือนเช่นกัน แต่พบแพทย์เพื่อได้รับคำแนะนำจะดีที่สุด

อาการ : อัณฑะบวม อาการเจ็บปวดเป็นไปตามขนาดถุงน้ำที่อักเสบ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บมากนัก แต่อาจสร้างความไม่สบายตัวในการใช้ชีวิตประจำวัน ลองนึกถึงมีถุงน้ำห้อยต่องแต่งเกินออกมา หากใหญ่มากก็อาจเหมือนไข่ฟองที่ 3 ได้

ปัจจัยเสี่ยง : ผู้ที่มีการบาดเจ็บหรืออักเสบที่อัณฑะ ผู้มีอาการติดเชื้อ รวมถึงโรคทางเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

2. อัณฑะอักเสบ เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อไวรัส พบได้ในทุกวัย ในผู้ใหญ่มักเกิดจากแบคทีเรีย เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคท่อนำเชื้ออักเสบ โรคในระบบทางเดินปัสสาวะ และเกิดขึ้นกับไข่ข้างเดียวมากกว่าสองข้าง ขณะที่ในเด็กมักเป็นเชื้อไวรัส โดยเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคคางทูม

อาการ : ข้างที่อักเสบจะบวมแดงและค่อยๆ ปวดมากขึ้น มีอาการกดเจ็บ ปัสสาวะแสบขัด เจ็บเมื่อมีการหลั่งและอาจมีเลือดปนกับอสุจิ อาจมีไข้หรืออาการคลื่นไส้อาเจียนร่วม ลักษณะที่ค่อยๆ เจ็บอาจทำให้ผู้ป่วยชะล่าใจ แต่หากมีอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์โดยทันที

ปัจจัยเสี่ยง : ขาดภูมิคุ้มกันโรคคางทูม ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ มีการผ่าตัดอวัยวะสืบพันธุ์หรือระบบทางเดินปัสสาวะ มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยาง เคยมีประวัติเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน คู่นอนกำลังเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

3. อัณฑะบิดตัว เรียกว่า บิดขั้ว หรือ บิดเกลียว ก็ได้ ภาวะนี้เกิดจากสายรั้งอัณฑะที่อยู่ในถุงอัณฑะและทำหน้าที่เป็นตัวผ่านเลือดจากร่างกายสู่อัณฑะ เกิดการบิดตัวจนเลือดไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงอัณฑะได้ มักเกิดในผู้ชายวัยต่ำกว่า 25 ปี (โดยเฉพาะ 12-18 ปี) ในอัตรา 1 ต่อ 4,000 แต่สามารถเกิดในวัยอื่น รวมถึงทารกก่อนคลอดได้ด้วย บางครั้งเรียกภาวะนี้ว่า “winter syndrome” เพราะพบบ่อยเมื่อมีอากาศหนาว การให้น้องไข่อบอุ่นเข้าไว้หรืออยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม น่าจะปลอดภัยกว่า

อาการ : ปวดอัณฑะเฉียบพลันและรุนแรง อัณฑะบวมและอยู่สูงกว่าอีกข้าง ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะบ่อยแต่ไม่แสบขัด มีไข้ หากมีอาการดังกล่าว จำเป็นต้องพบแพทย์ทันที เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน ภาวะอัณฑะขาดเลือดจะเพิ่มมากขึ้น และหากทิ้งไว้เกิน 12 ชม. เนื้อเยื่ออาจตายและมีโอกาสรักษาไข่ได้แค่ 25% หรือต้องเฉือนลากันไปชั่วชีวิต

ปัจจัยเสี่ยง : เคยมีอาการอัณฑะบิดตัวแต่ไม่ได้รับการรักษา เคยมีภาวะแกว่งไปมาของอัณฑะในถุงอัณฑะ การออกกำลังกายอย่างหักโหมในวัยรุ่น สายรั้งอัณฑะและเนื้อเยื่อที่ปกคลุมอัณฑะมีพัฒนาการที่ผิดปกติ ในครอบครัวเคยมีผู้ป่วยด้วยภาวะนี้ 

4. หลอดเลือดอัณฑะขอด หากรู้จักเส้นเลือดขอดที่ขา นั่นแหละคุณ ไข่เราก็เส้นเลือดขอดในลักษณะเดียวกันได้ จากการที่ลิ้นปิด-เปิดหลอดเลือดดำในถุงอัณฑะบกพร่องหรือเสื่อมสมรรถภาพทำให้เลือดไหลสวนทิศทางปกติ ไปรวมกันอยู่ที่หลอดเลือดดำบริเวณอัณฑะ ส่งผลให้หลอดเลือดดำบริเวณนั้นพองโตเป็นขอดๆ พบบ่อยในชายวัย 15-25 ปี พบน้อยในชายวัย 40 ปีขึ้นไป เว้นเสียแต่ว่ามีภาวะเนื้องอก

อาการ : เทียบกับสองโรคก่อนหน้านี้ หลอดเลือดอัณฑะขอดถือว่าเบากว่าเยอะ มีอาการบวม ปวดหน่วง ปวดมากขึ้นเมื่อยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน นอนราบก็จะดีขึ้น การตรวจคลำทำได้ง่ายคือ ยืนหรือนั่งยองๆ คลำบริเวณด้านหลังน้องไข่ ถ้าพบว่ามีเส้นหนาๆ เป็นขอดๆ หรือก้อนๆ ควรพบแพทย์ แม้ว่าอาจหายได้เองในบางราย แต่ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ผลิตอสุจิไม่ได้เต็มที่ ส่งผลให้มีบุตรยากหรือลูกอัณฑะหดลง

ปัจจัยเสี่ยง : ไม่ปรากฏปัจจัยเสี่ยงที่แน่ชัด หากอาจเกิดได้ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีเนื้องอกในไตฉับพลันด้วย

5.  ไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ เป็นไส้เลื่อนขาหนีบชนิดไหลลงถุงอัณฑะ 80% พบในชาย และถูกเข้าใจผิดว่าเกิดเฉพาะในคนสูงวัย ทั้งที่จริงเป็นได้ตั้งแต่หนุ่มสาว ส่วนวัย 40+ จะมีความเสี่ยงเพราะผนังกล้ามเนื้อหน้าท้องมีความหย่อนยานขึ้น เรื่องไม่สวมกางเกงในก็ไม่เกี่ยว จุดเริ่มต้นเกิดจากการใช้ร่างกายหนักเกินไปหรือเกิดภาวการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ลำไส้ไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่ แต่เคลื่อนตัวออกมานอกไส้แล้วไหลลงไข่ตามมา บางคนอาจเคยเห็นบางรายพยายามเอามือดันๆ ให้กลับเข้าที่เดิม ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด ขั้นสุดจากนี้ก็คือ เป็นไส้เลื่อนชนิดติดคา และลำไส้เน่า

อาการ : มีก้อนนูนบริเวณผนังหน้าท้อง หัวหน่าว หรือขาหนีบ มองเห็นชัดเมื่อยืนตรง อาจมีอาการปวดจุกๆ หน่วงบริเวณขาหนีบ โดยเฉพาะเมื่อก้มตัว ไอ หรือยกของหนัก ไส้เลื่อนลงไข่จะมีอาการปวดบริเวณถุงอัณฑะร่วมด้วย

ปัจจัยเสี่ยง : การเกิดก่อนกำหนด ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมาก่อน ผู้มีน้ำหนักมาก ชายสูงวัย ผู้เป็นโรคไอเรื้อรังต่างๆ การใช้ลมปราณมากจากการเบ่งหรือยกของหนัก ผู้เป็นโรคต่อมลูกหมากโต สตรีมีครรภ์ ผู้มีภาวะน้ำในช่องท้องมากผิดปกติ

6. มะเร็งอัณฑะ เป็นโรคที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับใครหลายคน แต่อย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะตามรายงานในประเทศไทย มะเร็งอัณฑะพบเพียง 2% ของมะเร็งทั้งหมด ไม่ติด 1 ใน 10 ของมะเร็งในชายไทย ทั้งยังมีโอกาสรักษาหายแม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงแพร่กระจายแล้ว (ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ด้วย) แม้จะยังหาสาเหตุการเกิดไม่ชัด แต่พบมากในชายวัย 15-35 ปี และมีการคาดว่าพันธุกรรมมีผลต่อการเกิดโรค

อาการ : จับดูมีก้อนเนื้อหรืออัณฑะขยายใหญ่ขึ้น รู้สึกหนักที่อัณฑะ ปวดตื้อๆ บริเวณช่องท้องหรือขาหนีบ ไม่สบายตัวในช่วงล่าง ปวดหลัง ความต้องการทางเพศลดลง

ปัจจัยเสี่ยง : อัณฑะไม่เคลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ อัณฑะเติบโตผิดปกติ เช่น ผู้อยู่ในกลุ่มอาการไคลน์เฟลเตอร์ (ผิดปกติทางโครโมโซม) ครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมาก่อน เกิดในชายผิวขาวมากกว่าเอเชียหรือผิวสี ภูมิคุ้มกันโรคบกพร่อง เป็นต้น

กันโรคร้ายโดยหมั่นตรวจไข่เบื้องต้นด้วยวิธีง่ายๆ

แนะนำให้ตรวจน้องไข่หลังจากการอาบน้ำเพราะเป็นช่วงที่ถุงอัณฑะผ่อนคลาย (เราก็ผ่อนคลายด้วย) ควรจับเจ้าช้อนตรงกลางออกไปก่อน แล้วคลำทีละข้างโดยใช้นิ้วหัวแม่โป้งและนิ้วชี้ไล่ดูความผิดปกติว่า มีก้อนแข็ง เนื้อแข็ง เส้นเลือดแข็ง หรือมีอาการเจ็บหรือไม่ หากเจอควรพบแพทย์ แต่ถ้ารู้สึกถึงความหยุ่นๆ ด้านหลัง หรือความใหญ่เล็กของสองข้างไม่เท่ากัน หรือระดับการห้อยไม่เท่ากัน หรือมีรอยนูนเล็กๆ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติ ~ เพียงใส่ใจตรวจเดือนละครั้งแบบนี้ รับรองแฮปปี้ทั้งคนทั้งไข่ :)

อ้างอิง

Healthline.com : Orchitis : https://lin.ee/ATKzePh

utualselfcare.org : Epididymo-orchitis : http://lin.ee/3kplWRW

Mayoclinic.org : Orchitis : https://lin.ee/uv9qSpt

Urologyhealth.org : Testicular Torsion : https://lin.ee/tWoRMw8

Medicalnewstoday.com : Testicular Torsion : https://lin.ee/aeuF0t4

Honestdocs.co : Testicular Torsion : https://lin.ee/5KSaMPR

Mayoclinic.org : Varicocele : https://lin.ee/69E8NFv

Doctor.or.th : Varicocele : https://lin.ee/fZFbfqt

Mayoclinic.org : Hydrocele : https://lin.ee/41wIsLl

My.clevelandclinic.org : Hydrocele : https://lin.ee/CIeVd57

Healthcarethai.com : Hydrocele : http://lin.ee/h3AtqfB

Bangkokhospital.com : Hernia into the scrotum : https://lin.ee/cZl83eh

Health.harvard.edu : Inguinal Hernia : https://lin.ee/vL5q4Ti

Middlesexhealth.org : Testicular Cancer : https://lin.ee/wfD9Cqg

Honestdocs.co : Testicular Cancer : https://lin.ee/STF9F0

Samitivejhospitals.com : Testicular Cancer : https://lin.ee/zZ2Wuek

Thaihealth.or.th : Testicular Cancer : https://lin.ee/8qxNoRu

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0