โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

มทร.พระนคร ปั้นนักวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ รับเทรนด์เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

สยามรัฐ

อัพเดต 20 ก.พ. 2566 เวลา 23.00 น. • เผยแพร่ 20 ก.พ. 2566 เวลา 23.00 น.
มทร.พระนคร ปั้นนักวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจ  รับเทรนด์เศรษฐกิจยุคดิจิทัล

สถิติเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยในการตัดสินใจ การใช้สถิติประกอบการวางแผนและการตัดสินใจจะช่วยลดความเสี่ยงจากข้อผิดพลาดในการดำเนินงาน สถิติจึงมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในทุกสาขาวิชา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเทคโนโลยีมีความเจริญก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ข้อมูลข่าวสารมีขนาดใหญ่ องค์กรที่ได้รับสารสนเทศที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผนและการตัดสินใจให้มีความถูกต้องและรวดเร็วในการทำงานมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานข้างต้น บุคลากรผู้ทำหน้าที่ในองค์กรจำเป็นต้องมีความรู้ด้านพื้นฐานสถิติเป็นอย่างดี สามารถวิเคราะห์ข้อมูล (Data analytics) และนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) พระนคร จึงได้จัดทำหลักสูตรใหม่ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสถิติสารสนเทศ (วท.บ ) พ.ศ.2566 ซึ่งมุ่งผลิตบัณฑิต ให้มีทักษะความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ร่วมกันกับเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับศาสตร์อื่น ๆ เพื่อใช้ในการประกอบวิชาชีพ และนำพาประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้การเปลี่ยนแปลงของโลก โดยจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี 4 ปี เปิดรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ทุกแผนการเรียน หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทุกสาขาวิชา หรือเทียบเท่า

ดร.จิระศักดิ์ ธาระจักร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ปัจจุบันทุกประเทศต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ผลด้วยเครื่องมือทางสถิติ จึงเป็นพื้นฐานสำคัญในการนำไปสู่แนวทางในการตัดสินใจ สำหรับแก้ไขปัญหาต่าง ๆ หลายประเทศจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาคน สังคม และระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้นสถาบันการศึกษาจึงต้องผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะและศักยภาพสูง ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว โดยสาขาวิชาสถิติสารสนเทศ เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นมาให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานของประเทศ สอดรับกับการก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 และ Digital Economy อย่างแท้จริง ซึ่งผู้เรียนจะสามารถสรุปผล นำเสนอข้อมูล และเขียนโปรแกรมสำหรับใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อนำไปใช้ต่อยอดในการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่ (Startup) ได้ในอนาคต และเป็นการเพิ่มทักษะความรู้ทางด้านอุตสาหกรรม สื่อสังคม (Social media) และการดำเนินธุรกิจโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E–Commerce)

ด้าน ผศ.ดร. สุนิสา สายอุปราช ประธานหลักสูตร สาขาวิชาสถิติสารสนเทศ กล่าวว่า ยุคนี้นับเป็นยุคของสารสนเทศ ข้อมูลจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานทุกประเภท เนื่องจากข้อมูลจะเป็นแหล่งของความรู้ที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์อีกมากมาย ทั้งเพื่อการเรียนรู้ การศึกษาวิจัย การสื่อสาร รวมถึงประโยชน์เพื่อการตัดสินใจและการวางแผน ดังนั้นหากนักศึกษามีความคิดสร้างสรรค์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์และสถิติเพื่อปฏิบัติงาน ก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างสูงทันทีที่จบการศึกษา เพราะอาชีพเหล่านี้คาดว่าจะมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยี และข้อมูลจำนวนมากในการบริหารจัดการและวางแผนธุรกิจ

จบแล้วทำงานอะไร ? บัณฑิตที่จบไปสามารถทำงานได้หลากหลายทั้งภาครัฐและเอกชนในตำแหน่ง นักสถิติ นักวิเคราะห์ระบบ นักวิเคราะห์ข้อมูล โปรแกรมเมอร์ นักจัดการข้อมูล ผู้สอนด้านสถิติ หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องทางด้านธุรกิจ เช่นเจ้าหน้าที่สารสนเทศสถิติประจำองค์กร ผู้ช่วยวิจัยการตลาด การบริหารลูกค้าสัมพันธ์ การบริหารระบบการขนส่ง การบริหารข้อมูลสารสนเทศขององค์กร เป็นต้น รวมทั้งสามารถศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นทั้งทางด้านสถิติ เทคโนโลยี และการบริหารจัดการ

ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมีความพร้อมทางกายภาพ และความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือการเรียนการสอน การบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ คอมพิวเตอร์ Wi-Fi และอื่น ๆ ที่เพียงพอ สำหรับการสนับสนุนให้นักศึกษาเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ประจำปีการศึกษา 2566 รับตรง รอบที่1 และโควตา รอบที่ 2 สำหรับผู้สมัครใช้วุฒิ ปวช.-ปวส. ยื่นใบสมัครได้ตั้งแต่บัดนี้ – 22 กุมภาพันธ์ 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ http://www.rmutp.ac.th ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่ https://reg.rmutp.ac.th/registrar สอบถามข้อมูลที่ สาขาวิชาสถิติสารสนเทศโทรศัพท์ 0 2836 3000 ต่อ 4197 หรืองานหลักสูตร โทรศัพท์ 0 2836 3000 ต่อ 4159 หรือที่ E-mail : sci.rmutp@rmutp.ac.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น