โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

หนี้ครัวเรือน ฉุดกำลังซื้อ ค้าปลีก โตช้า ไม่สมดุล แนะ รัฐ อัด 4 มาตรการกระตุ้นตลาดปีหน้า

MATICHON ONLINE

อัพเดต 25 พ.ย. เวลา 08.13 น. • เผยแพร่ 25 พ.ย. เวลา 08.13 น.
nat728

หนี้ครัวเรือน ฉุดกำลังซื้อ ค้าปลีก โตช้า ไม่สมดุล แนะรัฐอัด 4 มาตรการกระตุ้นตลาดปีหน้า

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมค้าปลีกปี 2567 ยังไม่สดใสจากปัจจัยที่มีผลกระทบต่อภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการค้าปลีก อาทิ การเติบโตของเศรษฐกิจที่ไม่เป็นตามที่รัฐคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกเกินกว่า 37% ผลิตหรือสต็อกสินค้าเกินความเหมาะสม การลงทุนหดตัวส่งผลต่อการจ้างงานและบริโภค หนี้ครัวเรือนสูงและภาระหนี้สินของเอสเอ็มอี ขณะที่มาตรการแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มเปราะบาง 14.5 ล้านคน ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ชัด ส่วนเฟสต่อไปยังต้องรอความชัดเจน ประกอบกับเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจกว่า 5-6 หมื่นล้านบาท รวมถึงอนาคตของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่ไม่แน่นอนจากนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ทั้งหมดล้วนส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่ายของประชาชน

“หากเทียบกับปี 2566 ถือว่าปรับตัวดีขึ้น ผลจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีภาครัฐ แต่เป็นการฟื้นตัวอย่างช้าๆและไม่สมดุล ทั้งประเภทร้านค้าปลีกและประเภทภูมิภาค โดยร้านค้าปลีกประเภทแฟชั่น-ไลฟ์สไตล์, สเปเชียลตี้สโตร์,และเชนภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม เติบโต 3-7% ร้านค้าวัสดุก่อสร้าง ตกแต่ง ซ่อมบำรุง เติบโต 2-5% ส่วนร้านค้าสะดวกซื้อ, ซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค โตน้อยสุด 1-3% โดยเป็นการเติบโตแบบกระจุกตัวในกรุงเทพ ปริมณฑล ภาคตะวันออก และในเมืองตามจังหวัดท่องเที่ยวเท่านั้น”นายณัฐกล่าว

นายณัฐกล่าวว่า แนวโน้มสถานการณ์ค้าปลีกในปี 2568 คาดจะเติบโตประมาณ 3-5% เมื่อเทียบกับจีดีพีของปี 2568 ที่เติบโต 2.3-3.3% ด้วยแรงหนุนจากภาคท่องเที่ยวและส่งออก การลงทุนของภาครัฐและเอกชนทั้งไทยและต่างประเทศ ทั้งนี้ภายใต้ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ กำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นและปัญหาหนี้ครัวเรือน เชื่อว่าภาคค้าปลีกจะเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์สำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตตามเป้าหมาย ด้วยมูลค่าค้าปลีกและบริการกว่า 4.4 ล้านล้านบาท หากได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากภาครัฐอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

นายณัฐกล่าวว่า โดยสมาคมฯ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐเพื่อร่วมกันกระตุ้นค้าปลีกไทยในปี 2568 อาทิ 1.เดินหน้าลงทุนและเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2568 หลังการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2567 ล่าช้า โดยมองว่าการลงทุนของภาครัฐจะเป็นกลไกสำคัญในการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีหน้า 2.เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยมีถึง 3.2 ล้านราย หรือคิดเป็น 99.5% ของสถานประกอบการทั้งหมด ดังนั้นภาครัฐจึงควรสนับสนุนเอสเอ็มอีให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง เช่น ส่งเสริมการเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการรายย่อยการเพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางการตลาดจำหน่ายสินค้า ออกมาตรการในการป้องกันการทะลักของสินค้าจีนราคาถูกที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเอสเอ็มอีไทยในทุกแพลตฟอร์ม

นายณัฐกล่าวว่า 3.เพิ่มการอัดฉีดมาตรการกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจในประเทศแบบทั่วถึง ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างโมเมนตัมการใช้จ่ายให้ได้ผล เช่น ช้อปดีมีคืน และ Easy E-Receipt รวมถึงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้เกิดการขยายตัวของภาคผลิต ด้วยนโยบายจูงใจให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ 4. ยกระดับไทยเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยว โดยกระตุ้นการท่องเที่ยวในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง เช่น พิจารณาลดภาษีสินค้าเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยว อาจเริ่มจากมาตรการ Tax Free หรือการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม กับยอดซื้อสินค้าทั่วไปที่มีมูลค่ารวมในการซื้อต่อท่านต่อวันในร้านเดียวกันเกิน 5,000 บาทขึ้นไป เป็นต้น ส่งเสริมให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของต่างชาติด้วยเสน่ห์ซอฟต์พาวเวอร์ไทย ด้านอาหาร วัฒนธรรมไทย ควบคู่กับการเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้ง มุ่งสู่เป้าหมายนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนในปี 2568

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : หนี้ครัวเรือน ฉุดกำลังซื้อ ค้าปลีก โตช้า ไม่สมดุล แนะ รัฐ อัด 4 มาตรการกระตุ้นตลาดปีหน้า

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.matichon.co.th

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น