โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ภูมิภาค

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือ บพข.-มข.เปิดตัวแพลตฟอร์มอัจฉริยะ ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อย

สยามรัฐ

อัพเดต 23 มิ.ย. 2565 เวลา 10.02 น. • เผยแพร่ 23 มิ.ย. 2565 เวลา 10.02 น.
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจับมือ บพข.-มข.เปิดตัวแพลตฟอร์มอัจฉริยะ  ลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อย

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม จับมือ บพข.และมข. เปิดตัว FPS แพลตฟอร์มบริการอัจฉริยะ ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตให้กับชาวไร่อ้อย จากเดิม 10 ตันต่อไร่เป็น 12 ตันต่อไร่ ในราคาต้นทุนสุดถูก ยกระดับเกษตรอุตสาหกรรม ที่พร้อมให้บริการแก่ชาวไร่อ้อยแล้ววันนี่

วันที่ 23 มิ.ย.2565เวลา 14.00 น. ไร่สาธิตคณะเกษตรศาสตร์ หมวดวิชาพืชไร่ แปลงที่ A11 นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม พร้อมด้วย ศ.ดร.ธิดารัตน์ บุญมาศ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น,รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ รองผู้อำนวยการด้านบริหารงานวิจัย หน่วยบริหารละจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข. ลงพื้นที่ชมการสาธิตนวัตรกรมใหม่ เครื่องผสมผสมสารอัตโนมัติ โดรนฉีดพ่นอัจฉริยะ และชุดติดตามการทำงานของเครื่องจักรกล ซึ่งเป็นผลงานวิจัย ร่วมระหว่าง กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม,บพข.,มข. และบริษัทเอกชน สำหรับการใช้ในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรประเภทอ้อย ท่ามกลางความสนใจจากนักวิชาการและเกษตรกรเข้าร่วมชมการสาธิตผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมหรือดีพร้อม (DIPROM) ได้กำหนดแผนงานด้านการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ซึ่งเป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันพบว่าชาวไร่อ้อยกำลังเผชิญกับปัญหาที่ไม่สามารถควบคุมคุณภาพรวมถึงปริมาณในการเก็บเกี่ยวได้ ประกอบกับปัญหาเรื่องคุณภาพของอ้อยที่ต่ำกว่าเกณฑ์และมีความหวานไม่คงที่ ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตต่อตันสูงขึ้น ซึ่งประเด็นดังกล่าวทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลลดลง กรมฯจึงได้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามามีบทบาท ในการพัฒนาการเกษตรของไทยให้เป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ ผ่านการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เหมาะสมมาเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนทั้งในด้านวัตถุดิบและเวลาให้กับภาคการเกษตร รวมถึงบูรณาการระหว่างภาครัฐและเอกชน จนนำไปสู่ผลงานวิจัยแพลตฟอร์มบริการ FPS หรือ Field Practice Solution ขึ้นได้อย่างสำเร็จ ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวสามารถที่จะประมวลผลเพื่อสร้างแผนที่ผลผลิตและแผนที่การระบาดของโรคพืชจากภาพถ่ายทางอากาศ มีระบบประมวลผลเพื่อสร้างฐานข้อมูลในระบบภูมิสารสนเทศ จากแผนที่ผลผลิต

“ ขณะเดียวกันยังคงมีระบบผสมผสารและบรรจุลงถังแบบบรรจุอัตโนมัติสำหรับโดรน ระบบฉีดพ่นสารเคมี แบบแปรผันอัตโนมัติติดตั้งบนโดรนชุด Mobile-KIT และ Mobile Application สำหรับระบุพิกัดแปลงและติดตามกิจกรรมในแปลง รวมทั้งระบบ AI สำหรับเสนอแนะแผนการทำงาน บันทึกและแสดงผลการทำงานของเครื่องจักรกลเกษตร และแนะนำการให้ปุ๋ยแบบแม่นยำสูงรายแปลงอัตโนมัติซึ่งระบบจะช่วยเรื่องการตัดสินใจในงานบำรุงรักษาเก็บเกี่ยวและเชื่อมโยงกับระบบตรวจวัด รวมทั้งมีระบบที่จะสามารถรองรับคำสั่งเพื่อให้เกิดการปรับการปฎิบัติงานในฟาร์มไปตามแผนงานใหม่ ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการออกแบบแปลงการปลูก การบำรุงรักษาและอารักขาพืช รวมทั้งการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง และสามารถปรับรูปแบบตามความต้องการของผู้ใช้บริการแต่ละรายหรือพืชแต่ละชนิด และเมื่อนำมาทดสอบการใช้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล สามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตได้มากกว่าร้อยละ 20 หรือคิดเป็นประมาณ 50 ล้านบาทต่อปีต่อโรงงาน”นายณัฐพล กล่าว

รศ.ดร.ขวัญตรี แสงประชารักษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มข. กล่าวว่า เกษตรกรที่ปลูกอ้อยทราบถึงปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตและต้องการลดรายจ่ายแต่ปัญหาคือที่ผ่านมายังไม่มีเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใดๆ ที่เข้ามาช่วยเกษตรกรประเมินความเสี่ยงในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตในไร่อ้อยได้อย่างแม่นยำ จึงได้ทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนาระบบวิเคราะห์และแปลผลภาพถ่ายทางอากาศที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน เพื่อนำข้อมูลที่จำเป็นไปสู่ขั้นตอนของการวิเคราะห์ และวางแผนการผลิต เพื่อลดความเสี่ยงในการจัดการไร่อ้อยของเกษตรกรหรือผู้ประกอบการ โดยร่วมกับทีมวิจัยของ บพข.,บริษัท เอชจี โรโบติกส์ จำกัด ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบ AI และ บ.โกลบอล ครอปส์ จำกัด ด้วยการนำโดรนมาใช้ในการสำรวจเพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาให้ตรงจุดตามหลักเกษตรแม่นยำ ซึ่งจากผลการทดสอบสามารถที่จะลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตจาก 10 ตันต่อไร่เป็น 12 ตันต่อไร่ ได้อีกด้วย

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น