โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ชวนรู้ "คุณสมบัติไกด์" ควรวางตัวอย่างไร พร้อมวิธีเช็กไกด์จริง-ไกด์ปลอม

PPTV HD 36

อัพเดต 08 เม.ย. เวลา 07.47 น. • เผยแพร่ 08 เม.ย. เวลา 07.45 น.
ชวนรู้
ไขข้อสงสัยไกด์นำเที่ยวต้องมีคุณสมบัติอะไร เรียนจบด้านไหน ควรวางตัวอย่างไรเมื่ออยู่กับนักท่องเที่ยว พร้อมเปิดวิธีเช็กใบอนุญาตไกด์และบริษัทนำเที่ยว

ความน่ารักของหนุ่มๆ "คัลแลน" และ "พี่จอง" ทำให้คนดูใจฟูได้ตลอด แต่หลังปล่อยคลิปท่องเที่ยวที่มีชื่อว่า "ชุมพร Day 3" อีพีล่าสุดลงในแชแนล “Cullen HateBerry” ที่มีไกด์ของพวกเขาโผล่มาให้เห็นอยู่บ่อยๆ กลับทำหลายคนอึดอัดถึงขั้นพากันติดแฮชแท็ก #คัลแลนพี่จอง แสดงความเห็นถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของไกด์ จนเทรนด์นี้ขึ้นอันดับหนึ่งของ X (Twiiter)

และภายหลังที่ทีมงานช่องออกมาชี้แจงว่า “ทีมงานได้พูดคุยกับไกด์ และ บริษัททัวร์ ซึ่งในวันนั้นไกด์ที่จะนำทัวร์ไม่สามารถมาได้ ดังนั้นน้องที่เป็นเด็กเรือจึงมาเป็นไกด์แทน” ทำให้ชาวเน็ตต่างตั้งข้อสงสัยว่า จริงๆ แล้วไกด์ที่ดีควรเป็นแบบไหน

ความหมายของมัคคุเทศก์

ตามข้อมูลจากกรมการท่องเที่ยว "มัคคุเทศก์" หรือ "ไกด์" หมายถึง ผู้นำทาง ผู้ชี้ทาง และเป็นผู้นำเที่ยว นำชมสถานที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งอธิบาย บอกกล่าวเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจให้แก่กลุ่มบุคคลที่พาไป โดยปกติบุคคลที่มัคคุเทศก์นำชมมักจะเป็นนักท่องเที่ยว จึงนิยมเรียกมัคคุเทศก์ว่า Tour Guide หรือ Tourist หรือ ไกด์ที่เราคุ้นหูกันนั่นเอง

ในแต่ละประเทศจะมีข้อกำหนดตามกฎหมายให้อาชีพมัคคุเทศก์เป็นอาชีพสงวนสำหรับบุคคลที่มีสัญชาติของประเทศนั้นจึงจะประกอบอาชีพได้ ดังนั้น หากจะเป็นไกด์ในประเทศไทยถ้าไม่มีสัญชาติไทยก็จะไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ในไทยได้

และคุณสมบัติของผู้ที่จะสามารถขอใบอนุญาตเพื่อเป็นมัคคุเทศน์ได้นั้น ตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติมฯ ได้กำหนดไว้ดังนี้

1.) มีสัญชาติไทย

2.) มีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์

3.) ด้านการศึกษา : สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี สาขามัคคุเทศก์ หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์/ สำเร็จการศึกษาในระดับอนุปริญญา สาขามัคคุเทศก์ หรือสาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์

โดยต้องมีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ

  • รูปแบบที่ 1 : วิชาจรรยาบรรณวิชาชีพ, วิชากฎหมายจรรยาบรรณวิชาชีพและการท่องเที่ยว, วิชางานมัคคุเทศก์ และ การฝึกงาน
  • รูปแบบที่ 2 : วิชาจรรยาบรรณวิชาชีพและกฎหมายสำหรับธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว, วิชางานมัคคุเทศก์, วิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ การฝึกงาน

หรือได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขา มัคคุเทศก์ หรือ สาขาการท่องเที่ยวที่มีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ ซึ่งต้องมีวิชาเกี่ยวกับมัคคุเทศก์ ไม่น้อยกว่า 9 หน่วยกิต ดังนี้

  • วิชาการเพื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
  • วิชาภาษาอังกฤษสำหรับงานมัคคุเทศก์
  • วิชางานมัคคุเทศก์
  • การฝึกงาน

หรือได้รับวุฒิบัตร ว่าได้ผ่านการอบรมวิชามัคคุเทศก์ หลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่ง ดังนี้

  • หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ทั่วไป
  • หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค
  • หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์ทั่วไปสำหรับมัคคุเทศก์ทั่วไป (ไทย) ที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ
  • หลักสูตรการฝึกอบรมวิชามัคคุเทศก์เฉพาะภูมิภาค สำหรับมัคคุเทศก์เฉพาะที่ใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์สิ้นสุด

สิ่งที่ไกด์ควรทำ-ไม่ควรทำ

นอกจากคุณบัติที่จะสามารถเป็นไกด์ได้แล้ว ตัวของไกด์หรือมัคคุเทศก์นำเที่ยวก็ต้องมีมารยาทและการวางตัวที่เหมาะสมเช่นกัน โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยมีการกำหนดคุณสมบัติของมัคคุเทศน์ในไทยที่ควรประพฤติและปฏิบัติดังนี้

สิ่งที่มัคคุเทศก์พึงปฏิบัติ

  • รักษากิริยามารยาทที่ดีของคนไทย หรือผสมผสานระหว่างมารยาทไทยและต่างประเทศ แต่เน้นเอกลักษณ์ของไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวประทับใจ
  • รู้จักการขอโทษ ขอบคุณ พูดจาสุภาพเรียยร้อย อ่อนโยน
  • มีความยิ้มแย้มแจ่มใส รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน
  • ดูว่านักท่องเที่ยวพร้อมจะฟังหรือ ก่อนการอธิบาย

สิ่งที่มัคคคุเทศน์ไม่พึงปฏิบัติ

  • ไม่ดื่มหรือรับประทานอาหารร่วมโต๊ะกับนักท่องเที่ยว
  • ไม่แต่งตัวหรูกว่านักท่องเที่ยว หรือแต่งตัวมอซอเกินไป
  • ไม่ทำตัวเสมอนักท่องเที่ยว และไม่ยกตนข่มท่าน
  • ไม่สนิทสนมกับนักท่องเที่ยวจนเกินสมควร
  • ไม่เล่าเรื่องส่อเสียดนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีนักท่องเที่ยวหลาย ๆ ชาติรวมกัน
  • ไม่วิจารณ์เรื่องการ ศาสนา วัฒนธรรม
  • ไม่สร้างเรื่อง หรือแต่งเรื่องขึ้นเอง เพื่อตอบคำถามนักท่องเที่ยว ถ้าไม่ทราบควรขอโทษ และไปค้นคว้ามาตอบในภายหลัง

การตรวจสอบไกด์จริงหรือปลอม

ปัจจุบันประชาชนสามารถทำการตรวจสอบไกด์และบริษัทนำเที่ยว ว่ามีการจดทะเบียนในการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้องหรือไม่ผ่านเว็บไซต์ของ กรมการท่องเที่ยว โดยตรง ซึ่งสามารถทำตามได้ตามวิธีการดังนี้

  • เข้าเว็บไซต์ "กรมการท่องเที่ยว" แล้วมองหาแถบสีน้ำเงินที่เขียนว่า LICENSE CHECK ตรวจสอบใบอนุญาตก่อนเลือกซื้อทัวร์
  • ทำการเลือกหมวดหมู่ว่าต้องการตรวจสอบใบอนุญาติธุรกิจนำเที่ยว "ใบอนุญาตมัคคุเทศก์" หรือ "ใบอนุญาตผู้นำเที่ยว"
  • กรอกข้อมูลชื่อบริษัทหรือเลขที่ใบอนุญาตที่เราต้องการตรวจสอบ แล้วกดค้นหา
  • เมื่อพบข้อมูลระบบจะแสดงชื่อบริษัท เลขที่ใบอนุญาต และสถานการณ์จดทะเบียนว่า “ปกติ” แสดงว่าบริษัทนำเที่ยวหรือไกด์คนนั้นได้จดทะเบียนอย่างถูกต้องและใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ

ทั้งนี้ในการนำเที่ยวตามรายการนำเที่ยว ตามกฏระเบียบของกรมการท่องเที่ยว ระบุให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจัดให้มีมัคคุเทศก์อย่างน้อย 1 คน ต่อจำนวนนักท่องเที่ยวไม่เกิน 50 คน และหากฝ่าฝืน จะมีโทษตามมาตรา 85 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก กรมการท่องเที่ยว และ เอกสาร PDF การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจงดราม่าพี่จองคัลเลน บริษัททัวร์ยันสาวในคลิปเป็นเด็กเรือไม่ใช่ไกด์

จริงๆ ดีมาก! “คัลแลน-พี่จอง” ร้อนแรง เอ็นเกจเมนต์ทะลุ 20 ล้านครั้ง พร้อมเผย 5 เหตุผลตกด้อมใจฟู

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0