โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

ม.ขอนแก่นเจ้าภาพประชุมนานาชาติว่าด้วยพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบทเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน

Manager Online

อัพเดต 09 มี.ค. เวลา 16.05 น. • เผยแพร่ 09 มี.ค. เวลา 08.36 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ม.ขอนแก่น เจ้าภาพจัดประชุมระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบทเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืน ครั้งที่ 15 มีผู้แทนทั้งในและต่างประเทศ 29 ชาติ 200 คนเข้าร่วม เผยเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการพัฒนาชนบท โดยคำนึงถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวเป็นหัวใจสำคัญ

เมื่อเวลา 09.30 น.วันนี้(9มี.ค.) ที่โรงแรมอวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ร่วมกับสมาคมระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบท (ISERD) และ สถาบันฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (ERECON) องค์กรพัฒนาสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ จัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ครั้งที่ 15 ว่าด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบท (ICERD) เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย อาจารย์และนักศึกษา ผู้แทนทั้งในประเทศและต่างประเทศ จาก 29 ประเทศ ประมาณ 200 คนเข้าร่วมประชุม

ประกอบด้วย ประเทศไทย ญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เยอรมนี ลาว แทนซาเนีย เบลเยียม ศรีลังกา กัมพูชา แคนาดา มาลาวี สวีเดน ไนจีเรีย พม่า อัฟกานิสถาน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เฮติ โบลิเวีย เนปาล มาเลเซีย มาซิโดเนีย กาตาร์ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา เกาหลีใต้ และเคนยา

ในพิธีเปิดได้รับเกียรติจาก รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข) ศ. ดร มาริโอ้ ทาบูคานอล , ศ.ดร.มาจิโตะ มิฮาระ และ รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวายฯลฯ ร่วมเป็นประธาน โดยงานกำหนดจัดระหว่างวันที่ 8–10 มีนาคม 2567 ภายในงานมีการนำเสนอผลงานวิชาการและวิจัยทั้งภาคบรรยายและโปสเตอร์120 เรื่อง

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข)กล่าวถึงการจัดประชุมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีให้นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และนักวิจัยทุกสาขาวิชา องค์กรระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้หารือแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล งานวิจัย ข่าวสาร ความก้าวหน้าทางวิชาการ พัฒนากระบวนการและกลยุทธ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและ การพัฒนาชนบท โดยคำนึงถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียวเป็นหัวใจสำคัญ

ที่สำคัญคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่นที่เข้าร่วมประชุมมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางวิชาการกับนักวิชาการจากนานาชาติ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ทันสมัย และเป็นเวทีในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือตลอดจนประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยให้เป็นที่รู้จักในวงการวิชาการที่เกี่ยวข้อง เป็นการเปิดโอกาส ได้พบปะนักวิจัยจากนานาชาติ ได้รับประสบการณ์ อันจะนำมาช่วยพัฒนาและเสริมทักษะการเรียนรู้และการวิจัยของนักศึกษาในโอกาสต่อไป

“การจัดประชุมวิชาการระดับนานาชาติว่าด้วยการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบท เพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนระหว่างประเทศนี้ ประเทศไทยเราเคยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อราว12ปีก่อน เป็นเกียรติอย่างมากที่เราได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้ง ในเวทีจะมีการแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ใหม่ๆที่จะนำไปพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบทเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน”รศ.นพ.ชาญชัยกล่าว

รศ.ดร.ชุลีมาศ บุญไทย อิวาย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดินและน้ำแบบบูรณาการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งเป็นตัวแทนประเทศไทย เป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมระดับนานาชาติ ครั้งที่ 15 นี้ เปิดเผยว่าที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งในที่ประชุมคือหัวข้อ เศรษฐกิจ BIO-CIRCULAR-GREEN (BCG) เส้นทางสู่อนาคตที่ยั่งยืนเรื่อง การเกษตรและนวัตกรรมอาหาร การจัดการสิ่งแวดล้อม การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาชนบท ระบบโครงสร้างพื้นฐาน เป็นการเปิดเวทีให้นักวิทยาศาสตร์ นักศึกษา และนักวิจัยทุกสาขาวิชา องค์กรระหว่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ได้หารือแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูล งานวิจัย ข่าวสาร ความก้าวหน้าทางวิชาการ พัฒนากระบวนการและกลยุทธ์ที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสำหรับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและ การพัฒนาชนบท โดยคำนึงถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีสีเขียว

รศ.ดร.ชุลีมาศ กล่าวอีกว่านอกเหนือจากการประชุมวิชาการแล้ว ยังมีการพาผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศไปศึกษาดูงาน เยี่ยมชมวัฒนธรรมและสถานที่ท่องเที่ยว และงานพัฒนาชนบท เยี่ยมชมชุมชน งานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่นสู่ชุมชน การจัดแสดงสินค้าชุมชนให้ผู้เข้าร่วมประชุมทั้งในประเทศและต่างประเทศ เกือบ 30 ประเทศ ประมาณ 200 คน ให้ได้รู้จักกิจกรรมและสินค้าชุมชน ณ ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานบ้านไผ่ (ศูนย์มีชัย) จังหวัดขอนแก่น ศาลาไหมไทย และพื้นที่วิจัย และบ้านหัวหนอง ตำบลบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น

ซึ่งการลงพื้นที่ดูงานในอำเภอบ้านไผ่ ได้รับการดูแลอย่างดียิ่ง จาก รศ.ดร.ไกรเลิศ ทวีกุล, ศูนย์พัฒนาชนบทผสมผสานบ้านไผ่ หรือ ศูนย์มีชัย นายอำเภอและเกษตรอำเภอบ้านไผ่

ศ. ดร มาริโอ้ ทาบูคานอล ประธานสมาคม ISERD กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้เป็นองค์กรระดับนานาชาติที่หลากหลายประเทศมาร่วมกัน ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 ที่ได้มาจัดในประเทศไทย ครั้งแรกประสบความสำเร็จอย่างมากและการประชุมครั้งนี้ยิ่งใหญ่มากขึ้นเพราะได้รวมองค์ความรู้ของแต่ละประเทศเข้ามา ซึ่งไม่ใช่แค่ระดับประเทศไทย แต่หมายถึงระดับโลก มีองค์ความรู้ลงสู่ชุมชนและในขณะเดียวกัน เรื่องของวารสารระดับนานาชาติที่จะประสบความสำเร็จในการถ่ายทอดองค์ความรู้ให้ไปสู่นานาชาติ ซึ่งมีหลากหลายวิทยาการที่เข้ามาร่วมกันในตรงนี้ จากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกซึ่งมีความประทับใจในประเทศไทยและเชื่อว่าประเทศไทยยังมีการขับเคลื่อนได้อีกหลากมุมหลายมิติ

ด้าน ศ.ดร.มาจิโตะ มิฮาระ (Prof.Dr.Machito Mihara) กล่าวเสริมว่า ในการขับเคลื่อนการเกษตรแบบยั่งยืน ซึ่งการที่จะเข้าไปสู่ความยั่งยืน จริงๆแล้วค่อนข้างยากมาก เพราะองค์ความรู้ไม่ใช่เฉพาะแค่วิทยาศาสตร์ แตเป็นเรื่องของนโยบาย เรื่องของการเข้าสู่สังคมวิทยาศาสตร์และสังคมต่างๆต้องไปด้วยกัน ฉะนั้นองค์ความรู้ที่เรานำมาในการประชุมครั้งนี้เป็นการร่วมมือร่วมกันที่จะก้าวเข้าไปถึงการพัฒนาแบบยั่งยืนซึ่งจังหวัดขอนแก่นโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการขับเคลื่อนเรื่องของการก้าวเข้าไปสู่ความยั่งยืน

“สมาคมระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและชนบท” หรือ ISERD ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2553 เป็นสมาคมระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นการพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อมในประเทศกำลังพัฒนา และให้การสนับสนุนการสร้างศักยภาพหรือความสามารถ ของสถาบันในประเทศ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ชนบทผ่านสถาบันการศึกษา ซึ่งจัดการเรียนการสอนในศาสตร์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการเกษตร เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและการเกษตร ส่งเสริมการเกษตร การจัดการทรัพยากร ป่าไม้และสิ่งแวดล้อม การจัดการการผลิตพืช การจัดการการผลิตสัตว์ ธุรกิจการเกษตรและสหกรณ์

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0