โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ต่างประเทศ

กองทัพเมียนมาเผย ตาย 144 บาดเจ็บกว่า 700 สหรัฐฯ รับปากช่วยเหลือแล้ว

Amarin TV

เผยแพร่ 29 มี.ค. เวลา 02.05 น.
กองทัพเมียนมาเผย ตาย 144 บาดเจ็บกว่า 700 สหรัฐฯ รับปากช่วยเหลือแล้ว
เมียนมารายงานผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 144 ราย และบาดเจ็บกว่า 732 คน จากเหตุแผ่นดินไหวใกล้เมืองมัณฑะเลย์ ด้านสหรัฐฯ รับปากจะส่งความช่วยเหลือแล้ว
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เช้าวันนี้ (29 มี.ค. 68) กองทัพเมียนมารายงานตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 144 ราย และบาดเจ็บกว่า 732 คน จากเหตุแผ่นดินไหวขนาด 7.7 แมกนิจูดที่มีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองสะกาย ทางภาคกลางของเมียนมา โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต 96 รายอยู่ในกรุงเนปิดอว์ 18 รายในเมืองสะกาย และ 30 รายในเมืองมัณฑะเลย์ ขณะนี้ทีมกู้ภัยกำลังเร่งให้ความช่วยเหลือเหยื่อแผ่นดินไหวที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารนับร้อยชีวิต ซึ่งคาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจพุ่งขึ้นสูงกว่านี้

กองทัพเมียนมายังเปิดเผยว่า เมืองที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคือสะกาย มัณฑะเลย์ และกรุงเนปิดอว์ ขณะที่พื้นที่อื่น ๆ ยังคงอยู่ระหว่างการประเมินยอดผู้ได้รับผลกระทบเพิ่มเติม ด้านสำนักงานสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐฯ หรือ USGS ได้ออกมาประเมินความเสียหายล่าสุด มีแนวโน้มว่าจะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากและเกิดความเสียหายอย่างกว้างขวาง โดยภัยพิบัติในครั้งนี้อาจมีผู้เสียชีวิตอยู่ระหว่าง 10,000 - 100,000 รายเลยทีเดียว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เสียหายมหาศาล รุนแรงระดับประวัติศาสตร์

เหตุภัยพิบัติเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา นับเป็นแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่ถล่มเมียนมาในรอบกว่าศตวรรษ ซึ่งเกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนสะกาย สื่อท้องถิ่นของเมียนมาระบุว่า นับเป็นแผ่นดินไหวรุนแรงที่สุดที่เกิดขึ้นในเมียนมาตั้งแต่ปี 1946 ซึ่งครั้งนั้น มีขนาดประมาณ 7.6 ถึง 7.7 แมกนิจูด และเกิดขึ้นตามแนวรอยเลื่อนสะกายเช่นกัน ส่วนครั้งล่าสุดที่เกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาดนี้ เกิดขึ้นที่ประเทศตุรกีเมื่อปี 2023 คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 50,000 ราย

องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่า ความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวที่เมียนมาสร้างความเสียหายให้กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็น "ความเสียหายมหาศาล" โดยนางมาร์กาเร็ต แฮร์ริส โฆษกองค์การอนามัยโลก เปิดเผยว่า WHO ได้อนุมัติเปิดใช้งานศูนย์กลางโลจิสติกส์เพื่อระดมสิ่งของบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากแผ่นดินไหว

ดร. จี มินน์ ผู้อำนวยการองค์กร World Vision Myanmar ให้สัมภาษณ์กับ CNN เปิดเผยว่า “เมียนมาอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปีกว่าบางที่พื้นที่จะสามารถฟื้นฟูกลับมาเป็นปกติได้ เนื่องจากทางหลวงได้รับความเสียหาย สนามบินก็ได้รับความเสียหาย การเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจึงเป็นเรื่องยาก ซึ่งทำให้ปฏิบัติการฟื้นฟูพื้นที่เป็นเรื่องยากเช่นกัน”

ขณะนี้ ดร. มินน์ประจำการอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง แต่สามารถติดต่อสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในเมืองมัณฑะเลย์ได้ ซึ่งพวกเขาได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับอาคารที่พังถล่มและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ พบว่าทางหลวงจากเมืองย่างกุ้งไปมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และหอควบคุมการบินในเมืองหลวงเนปิดอว์ที่กองทัพสร้างขึ้นก็พังถล่มเช่นกัน

สหรัฐฯ รับปากช่วยเหลือ แม้ผู้นำเมียนมามีคดี

ก่อนหน้านี้ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำทหารของเมียนมาประกาศภาวะฉุกเฉินใน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมร้องขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากนานาชาติ ซึ่งเป็นการขอร้องความช่วยเหลือต่างชาติจากรัฐบาลทหารเมียนมาที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก ล่าสุด ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจากห้องทำงานทำเนียบขาว ระบุจะให้ความช่วยเหลือเมียนมา และทางรัฐบาลสหรัฐฯ ได้พูดคุยกับพล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย และรัฐบาลเมียนมาเกี่ยวกับแผนการช่วยเหลือเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

การเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากนานาชาติเกิดขึ้นหลังจากที่ ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ได้ขอออกหมายจับ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ฐานก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ จากกรณีเนรเทศและข่มเหงชาวโรฮิงญาในเมียนมาและบังกลาเทศ โดยผู้นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มชาติพันธุ์ชาวโรฮิงญา หลบหนีไปบังกลาเทศแล้วมากกว่า 730,000 คน หลังกองทัพเมียนมาเริ่มเดินหน้าปราบปรามชาวโรฮิงญาอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2017

CNN ยังรายงานว่า มิน ออง หล่าย เป็นเป้าหมายของการขอหมายจับจากศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) และคณะทหารของเมียนมาแทบจะไม่เคยให้ความร่วมมือกับประเทศอื่นเลย นอกจากนี้ เมียนมายังต้องรับมือกับการตัดสินใจของรัฐบาลทรัมป์ที่จะตัด เงินทุน USAID ซึ่งประเมินกันว่างบความช่วยเหลือดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณที่ถูกตัดทิ้งไปก่อนหน้านี้ ยิ่งทวีความรุนแรงให้กับผลของแผ่นดินไหวในครั้งนี้อย่างแน่นอน

ปัจจุบัน เมียนมายังต้องเผชิญกับสงครามกลางเมือง ที่ดำเนินมายาวนานกว่า 4 ปี หลังกองทัพเมียนมาก่อเหตุรัฐประหารอันนองเลือดและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ โดยกองกำลังทหารต่อสู้กับกลุ่มกบฏทั่วประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางปฏิบัติการกู้ภัยและฟื้นฟูประเทศจากเหตุแผ่นดินไหวด้วย ด้านผู้อำนวยการหน่วยงาน NGO ของเมียนมาเปิดเผยว่า พื้นที่เกือบ 80% ของประเทศ อยู่นอกเหนือการควบคุมของกองทัพ และถูกควบคุมโดยกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่าง ๆ จึงไม่สามารถเห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด ผู้อำนวยการฯ ระบุว่า เหตุแผ่นดินไหวทำให้สถานการณ์ที่ยากลำบากอยู่แล้ว ยิ่งยากลำบากหนักเข้าไปอีก