ปัจจุบันลำโพงฟังเพลงแบบแอ็กทีฟหรือที่เรียกอีกอย่างว่า Powered Speaker เริ่มเป็นที่นิยมกันมากขึ้น ผู้ผลิตหลายๆ ราย ได้หันมาทำลำโพงแบบนี้ออกมาให้เห็นมากหน้าหลายตา จนอาจกล่าวได้ว่าผู้ผลิตที่เอาดีทางด้านลำโพงเพียงอย่างเดียวมีน้อยรายมาก ที่จะไม่ทำลำโพงมีแอมป์ในตัวออกมา
แถมดูเหมือนจะมีหลายรายด้วยซ้ำ ที่ก้าวข้ามความเป็นลำโพงแอ็กทีฟไปเป็นลำโพงแบบ All-in-One
คือแทนที่จะใส่ภาคขยายเสียงอย่างเดียว ก็ได้ผนวกภาคแปลงรหัสสัญญาณอย่าง DAC : Digital-to-Analogue Converter รวมทั้งใส่ระบบไร้สายเข้าไว้ในตู้ด้วย
ทำให้ในความที่เห็นเป็นลำโพงเพียงคู่เดียวเหมือนลำโพงพาสซีฟ (ไม่มีแอมป์ในตัว) ทั่วๆ ไปนั้น มันสามารถเล่นเพลงจากอุปกรณ์พกพาผ่านการสตรีมได้เลย คือยิ่งเอื้อความสะดวกไปกันใหญ่ เพราะไม่ต้องไปหา Source หรือแหล่งโปรแกรมมาต่อเข้า ซึ่งนับวันลำโพงเล่นเพลงในระบบสเตอริโอที่เรามักคุ้นกันอย่างคู่ซ้าย/ขวาที่เป็นแบบแอ็กทีฟในลักษณะนี้ มีให้เห็นมากขึ้นทุกวัน
โดยเฉพาะกับที่เรียกว่าลำโพง Bluetooth แบบชิ้นเดียว ที่มีทั้งให้พกพาย้ายที่ตั้งวางตรงไหนก็ได้ตามสะดวก เพราะมีแบตเตอรี่ในตัว กับที่เสียบปลั๊กไฟ AC สำหรับตั้งวางเป็นที่เป็นทางแบบเฉพาะเจาะจงตำแหน่งนั้น ทุกวันนี้มีให้เลือกหลายหลากมากหน้าจริงๆ
กลับมาที่ความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นในลำโพงแอ็กทีฟประการหนึ่ง ก็น่าจะมาจากการที่มันเป็น ‘ระบบปิด’ ดังที่ผู้ออกแบบลำโพงระดับแถวหน้าของวงการอย่าง Paul Barton เจ้าสำนัก PSB แห่งแคนาดา ที่เมื่อสองสามปีก่อนได้เริ่มทำลำโพงฟังเพลงแบบแอ็กทีฟออกมา และได้รับคำชื่นชมจากสื่อฝั่งตะวันตกอยู่ไม่น้อย ได้บอกว่า – การออกแบบลักษณะนี้มันมีประโยชน์ตรงที่ว่า สามารถปรับแต่งการทำงานให้เหมาะสมตามเจตนาของผู้ออกแบบได้อย่างเต็มที่ เพราะแอมป์ที่ใส่เข้ามาจะถูกออกแบบเพื่อให้ขับตัวมันเองโดยเฉพาะ–
คือเมื่อลำโพงกับแอมป์ได้ถูกออกแบบให้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน มันจึงให้การทำงานที่เสริมซึ่งกันและกัน อันนำมาซึ่งคุณภาพเสียงที่ดีที่สุด (ในทัศนะของผู้ออกแบบ), อะไรแถวๆ นั้นแหละครับ
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ที่ชื่นชอบลำโพงพาสซีฟที่เป็น ‘ระบบเปิด’ อยู่มากเช่นกัน เพราะให้โอกาสผู้ใช้ได้สรรหาความคู่ควรที่ลงตัวกันระหว่างแอมป์กับลำโพง ตามความชอบที่เป็นส่วนตัวได้อย่างถึงที่สุดนั่นเอง
กล่าวสำหรับลำโพงของ Acoustic Energy ที่บอกว่าได้อยู่กันมาพักใหญ่ๆ ต่อครับ นั่นก็คือรุ่น AE1 Active ที่เป็นลำโพงผนวกแอมป์ในตัวดังที่จ่าหัวไว้นั่นแหละครับ แต่ก็ต่างกับลำโพงแอ็กทีฟส่วนใหญ่ตรงที่ใส่แอมป์เข้าไว้ในตู้แบบตัวต่อตัว เพราะลำโพงแอ็กทีฟในตลาดส่วนมากที่เห็นนั้น จะมีตู้ใดตู้หนึ่งเป็นลำโพงหลักที่ผนวกภาคอิเล็กทรอนิกส์ใส่แอมป์แบบสตอริโออยู่ในตู้ แล้วมีเอาต์พุตให้เสียบสายสัญญาณขาออกไปเข้าที่อินพุตของลำโพงอีกตู้ โดยที่ลำโพงตัวรับสัญญาณเข้ามามิพักต้องมีสายไฟ AC แต่อย่างใด
และที่น่าทึ่งไปกว่านั้นก็คือ แทนที่ AE1 Active จะใช้แอมป์สเตอริโอเครื่องเดียวในการทำงานตลอดย่านความถี่ออดิโอ ด้วยการขับหรือส่งผ่านสัญญาณไปยังชุดตัวขับเสียงในตู้ลำโพงเพื่อถ่ายทอดออกมาเป็นคลื่นเสียง หรือเสียงดนตรีให้เราได้ฟังกันเหมือนลำโพงแอ็กทีฟส่วนใหญ่ที่กล่าวถึงข้างต้น ภาคขยายเสียงในลำโพงแต่ละตู้ของ AE1 Active ได้ถูกออกแบบให้ทำงานในระบบ Bi-Amplification เสมอการเล่นเครื่องเสียงด้วยชุด Hi-End อย่างแท้จริง
กล่าวคือ ในลำโพงแต่ละตู้ต่างใส่ภาคขยาย (เพาเวอร์-แอมป์) เอาไว้ถึงสองชุด แต่ละชุดซึ่งทำงานใน Class-A/B ให้กำลังขับ 50 วัตต์ และมีภาคเพาเวอร์ ซัพพลาย แบบลิเนียร์แยกต่างหาก โดยชุดหนึ่งทำหน้าที่ขับเสียงในย่านความถี่กลาง/แหลม
ขณะที่อีกชุดทำหน้าที่ขับย่านความถี่ต่ำโดยเฉพาะ ซึ่งหากกล่าวในทางกายภาพที่มักคุ้นกันมันก็คือการเล่นเครื่องเสียงในรูปแบบ ‘ไบ-แอมป์’ ที่ระบบสเตอริโอในซิสเต็มนี้ก็มีกำลังขับ 2×50 วัตต์/แชนเนล หรือมีกำลังขับรวมทั้งสิ้น 200 วัตต์นั่นเอง
และหากพูดกันในแง่อิเล็กทรอนิกส์แล้ว มันได้ถูกออกแบบมาให้การทำงานแบบอะนาล็อกอย่างชัดแจ้ง ทั้งในส่วนของภาคขยายและครอสส์โอเวอร์ เน็ตเวิร์ก ที่ถูกออกแบบมาโดยเน้นประสิทธิภาพการทำงานแบบไร้การประนีประนอมในทุกกรณี
รวมไปถึงทางเดินสัญญาณที่มาจากปรีแอมป์ หรือจากซอร์ซโดยตรง ที่เป็นแบบอะนาล็อก อินพุต ซึ่งมีให้เลือกทั้ง Balanced XLR และขั้วเสียบต่อมาตรฐาน RCA
กับเรื่องแอมปลิไฟเออร์ที่ใช้เป็น Class-A/B ขณะที่ปัจจุบันสังเกตได้ว่าผู้ผลิตหลายๆ ราย ได้หันไปทำแอมป์ Class-D กันมากขึ้นในลำโพงแอ็กทีฟนั้น ทีมวิศวกรของ Acoustic Energy บอกว่า เท่าที่พวกเขาได้สำรวจลำโพงซึ่งใช้แอมป์ Class-D ขับเคลื่อนที่มีอยู่ในตลาด โดยเฉพาะพวกที่ได้เพิ่มหรือผนวกภาค DAC พร้อมระบบไร้สายเข้าไปด้วย แล้วนำมาทดสอบด้วยการใช้งานอย่างจริงจังดู พวกเขาไม่พบว่ามีลำโพงดังที่กล่าวนั้นคู่ไหน ที่จะให้ประสิทธิภาพออกมาดังที่ AE1 Active ทำงานผ่านภาคขยายอะนาล็อก Class-A/B กับดนตรีทุกรูปแบบได้เลย
ในส่วนของชุดตัวขับเสียงประกอบไปด้วยทวีตเตอร์ ขนาด 27 มิลลิเมตร เป็นทวีตเตอร์โดมโลหะขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียม ผ่านการออกแบบด้วยเทคนิค WDT (Wide Dispersion Technology) Waveguide ซึ่งช่วยขยายมุมกระจายเสียงย่านความถี่สูงจากทวีตเตอร์ให้กว้างออกมากกว่าปกติ เมื่อทำงานประสานกับเสียงในย่านความถี่กลาง/ต่ำจาก Mid/Bass Driver ที่ขับออกมาพร้อมกัน จะก่อให้เกิดทิศทางเสียงอันคงที่
หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Constant Directivity ซึ่งทำให้คลื่นเสียงทั้งหมดเดินทางมาถึงหูผู้ฟังพร้อมกัน อันเป็นลักษณะเสียงที่ตรงกับต้นฉบับมากที่สุด โดยเทคนิคนี้ทีมวิศวกรเสียงของ Acoustic Energy ใช้เวลานานมากในการพัฒนากว่าจะประสบความสำเร็จ
ส่วนมิด/เบส ไดรเวอร์ มีขนาด 125 มิลลิเมตร เป็นพัฒนาการเจเนอเรชั่นที่ 5 ที่ใช้เทคโนโลยี Pure Piston ในการขึ้นรูปกรวยหรือแผ่นไดอะแฟรมที่เป็นแบบ Cone ด้วยโลหะผสม Ceramic Aluminum ที่นอกจากจะมีน้ำหนักเบามากแล้ว ยังมีความแกร่งเป็นพิเศษ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากขณะทำงาน เพราะนอกจากจะไม่เกิดอาการบิดตัวของกรวยแล้ว ยังช่วยขจัดอาการสั่นค้างที่บางความถี่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากด้วย
โดยออกแบบในลักษณะสองแผ่นประกบกันแบบแซนด์วิช ที่นอกจากจะช่วยให้ไดนามิกของสัญญาณฉับพลันดีขึ้นแล้ว ยังทำงานกับ Port หรือท่ออากาศภายในตู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นด้วย โดยท่ออากาศได้ถูกออกบบในลักษณะเป็นท่อแบนที่แตกต่างไปจากส่วนใหญ่ซึ่งมักเป็นแบบท่อกลม มีลักษณะพิเศษที่ช่วยลดเสียงรบกวนอันเนื่องมากจาก Air Noise ขณะที่คลื่นอากาศไหลผ่านภายในท่อ และช่วงที่หลุดผ่านออกจากปากท่อด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เปิดฟังด้วยระดับความดังมากๆ
โดยพอร์ตหรือท่ออากาศในลักษณะที่เป็นช่องแบนแบบ Slot Port นี้ ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรกกับลำโพงรุ่น AE1 ที่ทำให้ชื่อเสียงของ Acoustic Energy โด่งดังขึ้นมาชั่วข้ามคืน และได้นำไปใช้ในรุ่นต่อๆ มา ตราบจนทุกวันนี้
เที่ยวหน้าว่ากันต่อ – รวมไปถึงบทจบในเรื่องของคุณภาพเสียงด้วย, อีกสักตอนนะครับ •
เครื่องเสียง | พิพัฒน์ คคะนาท
pipat.cacanaat@gmail.com
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022
ความเห็น 0