โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ไอที ธุรกิจ

"แอร์เอเชีย" ลุย OTA (หวัง) เป็นมากกว่า "สายการบิน"

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 22 พ.ย. 2562 เวลา 06.41 น. • เผยแพร่ 22 พ.ย. 2562 เวลา 06.30 น.
People is seen at Air Asia center at Kuala Lumpur.Kuala
(Photo by Faris Hadziq/SOPA Images/LightRocket via Getty Images)

หลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 18 ของสายการบินต้นทุนต่ำเบอร์หนึ่งของภูมิภาค “แอร์เอเชีย” ก็ปรับโครงสร้าง พา “airasia.com” ลูกคนเล็กจับมือกับ “kiwi.com” เปลี่ยนเว็บไซต์เป็นออนไลน์ แทรเวล เอเย่นต์ หรือ OTA เต็มตัว

แม้ว่าหลายฝ่ายบอกว่าเสี่ยง แต่“โทนี่ เฟอร์นานเดส” ซีอีโอกลุ่มสายการบินแอร์เอเชียเชื่อว่า“คุ้ม”

“โทนี่” บอกว่า ตั้งแต่การเปิดให้บริการของสายการบินแอร์เอเชีย เมื่อปี 2544 แอร์เอเชียไม่คิดว่าจะมีวันที่จะต้องขายตั๋วของสายการบินอื่น แต่ในวันนี้กลุ่มบริษัทแอร์เอเชียได้แยก “สายการบินแอร์เอเชีย” ออกจากเว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอม (airasia.com) เพื่อเปิดไลน์ธุรกิจใหม่และสร้าง airasia.com ให้กลายเป็นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์ผ่านการจับมือกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มท่องเที่ยวอย่าง “กีวีดอตคอม” (kiwi.com)

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้จะทำให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการค้นหาบนเว็บไซต์แอร์เอเชียที่มีจุดเด่นในเรื่อง “ราคาที่ถูกที่สุด” ให้ผู้ใช้สามารถใช้สำหรับค้นหาบริการสายการบินแอร์เอเชียและสายการบินอื่น ๆ ซึ่งเว็บไซต์แอร์เอเชียจะสามารถเสิร์ฟราคาที่พิเศษสุดให้กับผู้ใช้บริการได้อย่างหลากหลายจากจำนวนผู้ให้บริการจำนวนมากรวมถึงขายสินค้าและบริการทางด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่พาร์ตเนอร์อย่างกีวีดอตคอมมีอยู่ในระบบ อาทิ โรงแรมที่พัก รถเช่า รถบัส รวมถึงกิจกรรมทางด้านการท่องเที่ยวอื่น ๆ ให้กับผู้ใช้บริการในฐานะ OTA เช่นกัน

โดยส่วนที่สำคัญที่สุด คือ “ฐานข้อมูล” ที่แอร์เอเชียจะได้รับจากการปรับเปลี่ยนระบบสู่การเป็น OTA เนื่องจากจะมีข้อมูลไหลเวียนอย่างมหาศาล รู้ว่าผู้บริโภคต้องการอะไร เพื่อที่จะนำข้อมูลทางการตลาดเชิงลึกที่มีมาใช้ประโยชน์ในแนวทางอื่น ๆ ซึ่งจะสามารถสร้างประโยชน์ได้อย่างมหาศาลต่อไป

ทั้งนี้ เว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอมจะจำหน่ายตั๋วเครื่องบินจากสายการบินอื่น ๆ ไปยังจุดหมายปลายทางยอดนิยมนอกเอเชียอย่างลอนดอน ดูไบ มาดริด และโอกแลนด์ ฯลฯ รวมมากกว่า 100 สายการบิน ทั้งสู่จุดหมายปลายทางในยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ตะวันออกกลาง และอเมริกาแล้ว รวมถึงจะจำหน่ายสินค้าด้านการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์เช่นเดียวกับ OTA

อย่างไรก็ตาม การแยก “เว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอม” ออกจากสายการบินแอร์เอเชียครั้งนี้เท่ากับการแยกบริษัทออกจากกัน กลายเป็น “2 บริษัท 2 โปรดักต์” ดังนั้น สายการบินที่จะมาอยู่บนเว็บไซต์ของแอร์เอเชียไม่จำเป็นว่าจะต้องมีการทำโค้ดแชร์ร่วมกันแต่อย่างใด เพราะเว็บไซต์แอร์เอเชียจะทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางการขายอย่างเต็มรูปแบบไม่เกี่ยวข้องกับสายการบินอีกต่อไป

“วันนี้คือจุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ ในขณะที่ทั้งแอร์เอเชีย และแอร์เอเชีย เอ็กซ์ จะยังคงเดินหน้าทำในสิ่งที่ควรทำต่อไป” โทนี่ย้ำ

พร้อมทั้งมองว่า ในส่วนของธุรกิจสายการบินนั้น การแข่งขันทางการตลาดกับสายการบินอื่น ๆ เป็นเรื่องปกติของธุรกิจการบิน โดยผู้ใช้บริการก็มีการเปรียบเทียบราคาระหว่างแต่ละแพลตฟอร์มอยู่แล้ว ดังนั้น เมื่อเว็บไซต์แอร์เอเชียเข้ามาเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง ผู้ใช้ก็ยังสามารถค้นหาและเปรียบเทียบราคาได้ด้วยตัวเองเหมือนที่ผ่านมา ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าผู้ใช้จะต้องเลือกเฉพาะบริการของแอร์เอเชีย เมื่อเข้าสู่เว็บไซต์ของแอร์เอเชียดอตคอม

และเพื่ออำนวยความสะดวกสู่การทำงานของแอร์เอเชียดอตคอม แอร์เอเชียได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในเพื่อแยกเว็บไซต์แอร์เอเชียดอตคอมออกจากสายการบินเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และมีแผนเปิดสำนักงานใหญ่สำหรับแอร์เอเชียดอตคอมอย่างเต็มรูปแบบใจกลางกรุงกัวลาลัมเปอร์

นับเป็นการมองหาโอกาสและสร้างการเติบโตจากธุรกิจใหม่ ๆ โดยอาศัยความแข็งแกร่งของพันธมิตรที่อยู่ในเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวและการบินอื่น ๆ ทั่วทั้งเอเชีย-แปซิฟิก…

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 0

ยังไม่มีความเห็น