โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ทั่วไป

"แมลง" กำลัง "มา-แรง" แหล่งโปรตีนแห่งอนาคต

เดลินิวส์

อัพเดต 05 มี.ค. 2561 เวลา 03.43 น. • เผยแพร่ 03 มี.ค. 2561 เวลา 06.46 น. • Dailynews
สัปดาห์นี้ชวนชิม “จิ้งหรีด” หลากเมนู มีประโยชน์สูง ซึ่งจิ้งหรีด 4 ตัว ให้แคลเซียมเท่ากับดื่มนม 1 แก้ว แถมยังเป็นแหล่งโปรตีนแห่งอนาคตอีกด้วย หาทานได้ที่ไหนบ้างต้องติดตาม

ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักสูตรผู้นำยุคใหม่ในระบอบประชาธิปไตย รุ่นที่ 7 ของสถาบันพระปกเกล้า ผมเป็นผู้ช่วยโค้ชกลุ่มนกยูงไปร่วมเปิดโครงการ*“เยาวชนเข้มแข็ง ด้วยแมลงชุมชน” *

ก่อนจะพาไปดูรายละเอียดของโครงการฯ ผมอยากเล่าย้อนกลับไปว่าทำไมนักศึกษากลุ่มนกยูงถึงอยากทำโปรเจคเกี่ยวกับแมลง โดยใช้จิ้งหรีดเป็นตัวหลักในการศึกษาและพัฒนาต่อยอด

แรกเริ่มเดิมทีมนุษย์ทั่วโลกกินแมลงมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์แล้วครับ ประเทศไทยเราเองก็กินแมลงเช่นกัน จะนิยมกันมากในภาคเหนือและภาคอีสาน แมลงยอดฮิตที่คนไทยชอบกินคือ“หนอนเยื่อไผ่” (หนอนรถด่วน) ดักแด้หนอนไหม ตั๊กแตน

ส่วนต่างประเทศโดยเฉพาะแถบยุโรปนั้นก็คลั่งไคล้กับอาหารแห่งอนาคตนี้มาก ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และประเทศเยอรมันมีร้านอาหารที่ปรุงด้วยแมลงเปิดอยู่ทั่วไป ผิดกับคนไทยที่ยังรู้สึกอี๋ๆ ในการกินแมลงอยู่ ทำให้การบริโภคแมลงยังไม่แพร่หลายมากนัก ที่เห็นบ่อยๆ ก็มักจะเห็นทอดขายตามตลาดนัด หรือปัจจุบันเริ่มทำเป็นแมลงทอดใส่ถุงขายในซูเปอร์มาร์เก็ตกันบ้างแล้ว

แล้วทำไมนักศึกษากลุ่มนกยูงถึงอยากให้คนในชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด?? กลุ่มนี้เขาทำการบ้านมาดี นำเสนอข้อมูลให้อาจารย์ที่ปรึกษาดูด้วยการ์ตูนที่น่ารัก สรุปเป็นหัวข้อมาดังนี้ครับ “จิ้งหรีดมีทั้งคุณค่าและมูลค่า” ด้านสารอาหารและโภชนาการ

จิ้งหรีด 4 ตัวให้คุณค่าทางแคลเซียมเท่ากับดื่มนม 1 แก้ว จิ้งหรีดมีคุณค่าทางโปรตีนมากกว่าเนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อไก่ ถ้าเปรียบเทียบปริมาณส่วนต่างๆ ที่นำมากินได้เมื่อเทียบกับตัว วัว 40% หมู 55% ไก่ 55% แต่จิ้งหรีด 100% นั่นหมายถึงจิ้งหรีดนำมากินได้ทั้งตัว

ส่วนเรื่องการเลี้ยงจิ้งหรีดก็ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะปริมาณอาหารและน้ำที่ใช้เลี้ยงเมื่อเทียบกับสัตว์ชนิดอื่นๆ (ต่อเนื้อสัตว์ 1 กิโลกรัม) จิ้งหรีดใช้อาหารเพียง 1.7 กก. น้ำ 23 ลิตรเท่านั้น ส่วนไก่ใช้อาหาร 2.5 กก. น้ำ 34 ลิตร หมูใช้อาหาร 5 กก. น้ำ 57 ลิตร วัวใช้อาหาร 10 กก. น้ำ 112 ลิตร อีกทั้งจิ้งหรีดยังปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าวัว 100 เท่า และใช้ที่ดินในการเลี้ยงน้อยกว่าวัว 2,000 เท่า (จิ้งหรีดใช้พื้นที่เลี้ยงไม่มาก แค่สร้างบ่อเล็กๆ ก็เลี้ยงจิ้งหรีดเป็นพันๆ ตัว ขายได้ 5 กก. แล้วครับ)

นักศึกษากลุ่มนกยูงอยากให้ชุมชนเลี้ยง “จิ้งหรีด”เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจ รัฐบาลนี้ก็มีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยเลี้ยงจิ้งหรีด เพราะใช้ต้นทุนต่ำ กำไรสูง และมีความต้องการของตลาดสูง จากการศึกษาวงจรชีวิตของจิ้งหรีดใช้เพียง 45 วันเท่านั้นก็โตพร้อมจะนำไปขายหรือแปรรูปได้แล้ว ขายได้ตั้งแต่ไข่ไปเพาะพันธุ์ ตัวเป็นๆ นำมาแปรรูปปรุงเป็นอาหารต่างๆ เช่น จิ้งหรีดทอด น้ำพริก ข้าวเกรียบ คุกกี้ ฯลฯ แม้กระทั่งมูลจิ้งหรีดก็ยังขายเป็นปุ๋ยได้อีกด้วย

เมื่ออาจารย์ที่ปรึกษาได้รับข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้ เราจึงอนุมัติให้นักศึกษาไปลงภาคสนามและคุยกับชุมชนได้ จุดหมายแรกกลุ่มนกยูงไปเรียนรู้วิธีการเลี้ยงจิ้งหรีดจากฟาร์มแถวจังหวัดนนทบุรี ขอความรู้เพิ่มเติมจากนักวิชาการกลุ่มส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเลือกทำโครงการที่ตำบลบางกระสอบ จังหวัดสมุทรปราการ เพราะเป็นพื้นที่ที่มีปัญหาการว่างงาน อย่างไรก็ตามตำบลนี้มีโรงเรียน ชุมชน และอบต. ที่เข้มแข็ง น่าจะให้ความร่วมมือในการทำโครงการได้

กลุ่มนกยูงเริ่มต้นด้วยการให้ความรู้และสร้างทัศนคติที่ดีเกี่ยวกับ“จิ้งหรีด”ให้กับเด็กๆ ในโรงเรียนวัดบางกระสอบก่อน ต้องยอมรับนะครับว่าจิ้งหรีดนี่ดูเผินๆ นึกว่าแมลงสาบ ตัวมันจะดำๆ มีหนวด มีปีก มีขาคล้ายๆ กันเลย ใครกลัวแมลงสาบเป็นทุนอยู่แล้ว (อย่างเช่นผม!) แค่เห็นก็ไม่อยากจะยุ่งแล้วครับ

แต่พี่ๆ กลุ่มนกยูงใช้การเล่านิทานแล้วค่อยๆ สอดแทรกความรู้ทำให้เด็กๆ สนุกและเข้าใจว่า “จิ้งหรีดไม่น่ากลัว เลี้ยงง่าย กินแต่น้ำและของสะอาดเท่านั้น” พอเด็กนักเรียนทราบว่าจะได้เลี้ยงจิ้งหรีดก็ตื่นเต้นอยากจะเลี้ยง ปิดท้ายพี่ๆ อยากให้เด็กๆ นำเสนอเมนูว่าจะนำจิ้งหรีดมาทำอาหารอะไรได้บ้าง เด็กๆ ก็พูดมาสารพัดเมนู ไม่ว่าจะเป็นส้มตำจิ้งหรีด ไข่เจียวจิ้งหรีด ซูชิจิ้งหรีด แกงส้มจิ้งหรีด ฯลฯ

พี่ๆ นกยูงก็จดไว้ เพราะเป็นสิ่งที่เด็กๆ อยากกินจริงๆ หลังจากนั้นนำโครงการจิ้งหรีดไปเสนอกับ อบต. ทั้งนายกฯ และปลัด อบต. ต่างยินดีอ้าแขนรับ เพราะฟังดูแล้ว “จิ้งหรีด”เลี้ยงไม่ยาก น่าจะสร้างอาชีพและสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนได้ แถมยังแนะนำว่ามีกลุ่มแม่บ้านที่จะมาช่วยเลี้ยงและคิดผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดให้อีกด้วย เมื่อเริ่มโครงการ อบต. แจ้งว่ามีสมาชิกจากชุมชนที่มีอาชีพช่างขออาสาไปช่วยปรับพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ภายในโรงเรียน ช่วยกันยกพื้นและทาสีอาคารใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่เลี้ยงจิ้งหรีดของนักเรียน

ผมชอบแนวคิดที่นักศึกษากลุ่มนกยูงได้วางไว้ครับ“จิ้งหรีด”เป็นแมลงตัวเล็กๆ เลี้ยงด้วยเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ เมื่อพ้น 45 วันโตเต็มวัย เก็บไข่และตัวไปขายต่อ กลุ่มแม่บ้านรับจิ้งหรีดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร แม่บ้านทำเมนูขึ้นมา อบต. ช่วยประสานงานและหาตลาด เช่น หาพื้นที่ตลาดบางน้ำผึ้งให้ขายของได้ โดยนักศึกษากลุ่มนกยูงจะคอยเป็นพี่เลี้ยง ช่วยให้ความรู้และอำนวยความสะดวก สอนการต่อลังเลี้ยงจิ้งหรีด มีการลงพื้นที่บ่อยครั้งและตั้งกลุ่มไลน์ให้คำปรึกษาในการเลี้ยงจิ้งหรีดสำหรับคนในชุมชนโดยเฉพาะ

เมื่อถึงวันเปิดโครงการ มีพิธีมอบรางวัลให้กับเด็กนักเรียนและกลุ่มแม่บ้านที่เลี้ยงจิ้งหรีดได้ปริมาณมากที่สุด มีการเชิญเชฟมาปรุงอาหารสร้างสรรค์จากจิ้งหรีด เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มแม่บ้านและเติมความคิดแปลกใหม่ในการทำผลิตภัณฑ์จากจิ้งหรีดให้เกิดขึ้น

ผมสัมภาษณ์ “เชฟใหม่” หรือคุณฐิติวัชร ตันตระการ เป็นเชฟประจำร้าน Insect in the Backyard ผมได้เห็นเมนูหลากหลายเกี่ยวกับแมลง จึงอยากให้เชฟใหม่ช่วยอธิบายว่ามีอะไรบ้าง??

เมนูผัดกะเพราแมงสะดิ้ง (จิ้งหรีดตัวเล็ก) และจิ้งหรีดผัดฉ่า เริ่มต้นด้วยการผัดกระเทียมและพริก ใส่แมลงลงไปผัดให้หอม ปรุงรสด้วยน้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสปรุงรสตามชอบ ใส่ใบกะเพรา แต่ถ้าเป็นผัดฉ่าใส่ใบยี่หร่ากลิ่นจะหอมฟุ้ง เชฟใหม่ตักจิ้งหรีดผัดฉ่าราดข้าวสวยร้อนๆ ผมชิมแล้ว…โอ้โห!! เผ็ดอร่อยสะใจครับ เคี้ยวจิ้งหรีดแล้วมันจะมีความมันๆ ส่วนลูกชายผมได้ชิมกะเพราแมงสะดิ้ง ตอนแรกเขากลัวเผ็ด จึงเขี่ยพริกออก กินแต่แมลงและข้าวสวย เขาชอบเลยครับ รับรองเด็กๆ ก็กินได้แน่นอน

ซูชิจิ้งหรีดทองแดงเทอริยากิ นำจิ้งหรีดไปคั่วให้กรอบ แล้วนำมาผัดกับซอสเทอริยากิ โรลด้วยข้าวและสาหร่าย ใส่ขิงดอง ท็อปด้วยปลาโอแห้ง เมื่อซูชิเข้าปากแล้วข้าวนุ่มจะอยู่ด้านนอก พอกัดถึงไส้ที่มีจิ้งหรีดก็จะกรุบๆ หน่อย รสจะออกหวานนิดๆ กินง่ายอร่อยดี

ซูชิสะดิ้งวาซาบิมาโย นำจิ้งหรีดสะดิ้งมาอบกรอบปรุงรสด้วยโชยุ นำมาโรลด้วยข้าวและสาหร่าย ท็อปด้วยวาซาบิมาโยหรือชิโพเล่มาโย เมนูนี้ฟังดูน่าจะเผ็ดร้อนกว่าซูชิเทอริยากิ เพราะมีทั้งวาซาบิและชิโพเล่ (พริกแดง) แต่ผมและลูกชายชิมแล้วกินได้สบายมากครับ เนื่องจากมีมาโย (หรือมายองเนส) ก็จะมันๆ ครีมๆ เด็กๆ ชอบเลยครับเพราะเมนูซูชิจิ้งหรีดเป็นเมนูที่เด็กๆ ได้เคยบอกไว้ ทำให้เมนูนี้หมดเกลี้ยงเป็นอย่างแรก

ผมถาม “เชฟใหม่” ถึงกรรมวิธีในการนำ “จิ้งหรีด”มาทำอาหารว่า ใช้ทั้งตัวหรือต้องเด็ดส่วนไหนทิ้งหรือเปล่า? เชฟใหม่” บอกว่าการนำแมลงมาปรุงอาหารสามารถทำใด้ทั้งแบบเด็ดหัว ปีกและขาออก โดยจะเหลือแต่ไข่ให้ดูน่ารับประทานหรือสามารถทำทั้งตัวก็รับประทานได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับความชอบของผู้นำไปปรุง

“จิ้งหรีด” ที่คัดมาทำนั้นเป็นจิ้งหรีดไข่มีรสชาติมันและไข่แน่นสามารถนำมาทำเมนูได้หลากหลายครับ ผมถามต่อว่า ทำไมเชฟใหม่ถึงกล้าทำร้านอาหารที่เกี่ยวกับแมลงโดยเฉพาะ?? เชฟใหม่บอกว่า เพราะแมลงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ช่วยลดจำนวน “ขยะอาหาร”

แมลงจะเป็นแหล่งอาหารแห่งอนาคตที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นอาหารต่างๆ ได้หลากหลายทั้งคาวหวาน เช่น คุกกี้ พาสต้า ธัญพืชอัดแท่ง (Energy Bar) ฯลฯ “เชฟใหม่” กล่าวทิ้งท้ายว่า “ต่อไปผมจะสั่งจิ้งหรีดจากโรงเรียนวัดบางกระสอบเข้าร้าน เพื่อช่วยนักเรียนและชุมชนนี้ครับ”

มาถึงผลิตภัณฑ์ของกลุ่มแม่บ้านกันบ้าง มีทั้งน้ำพริกและข้าวเกรียบ ซึ่งกลุ่มแม่บ้านช่วยกันคิดช่วยกันทำ ผู้ใหญ่ชิมน้ำพริกโดยนำผักไปจิ้มกิน เด็กหยิบกินข้าวเกรียบกันเพลินไปเลยครับ กินแล้วไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผสมจิ้งหรีดลงไป อย่างนี้เราจะได้ขนมที่ให้ทั้งความอร่อยและมีประโยชน์

…และที่มาแรงที่สุดของวันนั้นคือ รถ Food Truck ที่ชื่อ “มา-แรง”  มีเด็กๆ ต่อคิวรอชิมกันมากที่สุด ผมเข้าไปสำรวจใกล้ๆ เป็นรถขายแมลงทอด แต่มีความพิเศษครับ จะมีผงรสชาติต่างๆ ให้เลือก อาทิเช่น รสลาบ วาซาบิ ไข่เค็ม หมาล่า เนยกระเทียม น้ำจิ้มซีฟู้ด ฯลฯ ถ้าเป็นผู้ใหญ่จะชอบรสหมาล่าที่เผ็ดร้อน ส่วนเด็กๆ จะชอบรสเนยกระเทียมที่หอมและกินง่าย ในรถจะมีเตาไว้ทอดจิ้งหรีด แล้วนำมาใส่ผงปรุงรสแล้วเขย่า (เหมือนเฟรนช์ฟรายส์โรยผงชีส) แต่กินจิ้งหรีดทอดแบบนี้ ทั้งอร่อยและได้คุณค่าทางอาหารในราคาเพียงถ้วยละ 30 บาทเท่านั้นครับ (มีจิ้งหรีดประมาณ 80 ตัว)

ผมได้สอบถามกลุ่มนกยูงว่าไปได้รถ“มา-แรง”  มาได้อย่างไร?? สมาชิกในกลุ่มบอกว่าไปปรึกษากับศูนย์นวัตกรรมด้านการออกแบบอุตสาหกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกี่ยวกับโครงการจิ้งหรีดนี้ เพราะต้องการให้แมลงเป็นที่ยอมรับและรู้จักในวงกว้างขึ้น ทางศูนย์นวัตกรรมฯ แนะนำให้สร้างแบรนด์ขึ้นมา โดยใช้คำว่า“มา-แรง”  ได้ทั้งชื่อที่ทำให้นึกถึงคำว่า “แมลง”และได้เรื่องของกระแสโลกที่การกินแมลงกำลังเป็นที่นิยม โดยเปิดชื่อให้กว้างไว้ เผื่อในอนาคตจะได้ขายแมลงชนิดอื่นด้วย ไม่เฉพาะจิ้งหรีดอย่างเดียว

หลังจากได้แบรนด์และโลโก้ ทางกลุ่มไปติดต่อกับเจ้าของรถ Food Truck ที่ปกติเคยขายเฟรนช์ฟรายส์ เมื่อคำนวณต้นทุนและราคาขายแล้ว ขายจิ้งหรีดจะได้กำไรมากกว่าขายเฟรนช์ฟรายส์เสียอีก เจ้าของรถจึงตกลงและอนุญาตให้ทำสติ๊กเกอร์หุ้มรถยนต์ได้ พอไปจอดที่ไหน คนก็สนใจเข้ามาสอบถามและลองซื้อ “จิ้งหรีดทอด”ไปชิมทั้งนั้น

เพราะวิธีการทำดูง่ายและสะอาด มองกันเห็นๆ เลยว่าทำอะไรบ้าง ทอดเสร็จก็ใส่ผง เขย่าแล้วตักเสิร์ฟใส่ถ้วย รวดเร็วทันใจ ทางกลุ่มนกยูงได้ขอให้รถ “มา-แรง”  ช่วยรับซื้อจิ้งหรีดจากโรงเรียนวัดบางกระสอบและนำผลิตภัณฑ์น้ำพริกและข้าวเกรียบของกลุ่มแม่บ้านตำบลบางกระสอบไปช่วยขายด้วย ในราคาห่อละ 35 บาท 3 ห่อ 100 บาท

ผมเห็นโครงการจิ้งหรีดที่เริ่มจากเล็กคนกลุ่มเล็กๆ กลายเป็นรูปธรรมอย่างครบวงจรแบบนี้ก็ประทับใจแล้วครับ เพราะช่วยแก้ปัญหาและสร้างโอกาสให้กับชุมชนตำบลบางกระสอบในหลายมิติ อาทิเช่น เด็กจะได้เรียนรู้วงจรชีวิตของจิ้งหรีดตั้งแต่ต้นจนจบ มีทักษะการเลี้ยงและหารายได้จากทำงานตั้งแต่อายุยังน้อย อบต. และกลุ่มแม่บ้านมีผลิตภัณฑ์ของตนเองพึ่งพาตัวเองได้ คนในครอบครัวมีอาหารที่มีประโยชน์กินในราคาที่ไม่แพง

แต่ยังไม่หมดเท่านี้ กลุ่มนกยูงบอกผมว่า กำลังติดต่อขอระเบียบการส่งออกแมลงจาก EU ว่าต้องมีมาตรฐานการเลี้ยงอย่างไรบ้าง เผื่อจะทำให้ถูกต้อง แล้วส่ง “จิ้งหรีดไทย”ให้โกอินเตอร์ รวมทั้งกำลังจัดทำโครงการสำหรับบริษัทที่อยากทำ CSR โดยการส่งมอบขนม (คาดว่าน่าจะเป็นคุกกี้จิ้งหรีด) ให้กับเด็กๆ ที่ขาดแคลนตามต่างจังหวัดและผู้ยากไร้ในค่ายอพยพทั้งในและต่างประเทศ

บริษัทไหนที่สนใจสามารถช่วยสนับสนุนเงินทุนมาร่วมกับโครงการนี้ได้ งบที่ได้มาจะนำมาให้ชุมชนผลิตขนมออกมา แล้วส่งมอบให้กับเด็กที่ขาดแคลน เด็กนักเรียนและแม่บ้านจะได้ทั้งรายได้และความภูมิใจไปด้วยว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำ เป็นสิ่งที่ดีและสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นได้อีกด้วย

สุดท้ายนี้ ผมขออนุญาตแจ้งเบอร์โทรศัพท์เกี่ยวกับโครงการนี้ไว้ เผื่อใครจะสนใจในมุมไหนก็ตาม เช่น อยากซื้อไข่และตัวจิ้งหรีดเป็นๆ ติดต่อโรงเรียนวัดบางกระสอบ (คุณครูฉอเราะ พจนวัฒนพันธุ์) ได้ที่เบอร์ 08-7922-1237 อยากซื้อผลิตภัณฑ์น้ำพริกและข้าวเกรียบของกลุ่มแม่บ้าน ติดต่อ อบต.บางกระสอบ (คุณสุวิภา ศรีษะธาตุ ตำแหน่งหัวหน้าสำนักปลัด อบต.บางกระสอบ) ได้ที่เบอร์ 096-740-7519

อยากติดต่อรถ Food Truck “มา-แรง”  ไปออกงานตามอีเว้นท์ต่างๆ ติดต่อคุณธีวริศร์ (แจ็ค) เกริกสกุลทรัพย์ ได้ที่เบอร์ 08-9919-6732 อยากไปชิมฝีมือเชฟใหม่ที่ร้าน Insect in the Backyard ติดต่อได้ที่เบอร์ 0-2035-7000 หรือบริษัทไหนอยากทำโครงการ CSR เพื่อสังคม ติดต่อในแฟนเพจได้ที่ Crickets Bangkrasob ครับ.

……………………………………….

คอลัมน์ :ก้อนเมฆเล่าเรื่อง

โดย “น้าเมฆ”

www.facebook.com/cloudbookfanpage

0 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0
reaction icon 0

ความเห็น 4

  • โบตั๋น
    ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต อายุสั้น
    04 มี.ค. 2561 เวลา 14.16 น.
  • ❤ Sandy ❤
    แหล่งพยาธิทั้งนั้น ไปดูในยูทูปป่ะ เป็นเส้นด้ายเลย ตั๊กแตนเอย จิ้งหรีดเอย สารพัด
    04 มี.ค. 2561 เวลา 14.11 น.
  • @...
    ถ้าไม่มีตลาดรองรับมันก็จะอยู่ได้เพียงแค่สถานที่แคบๆเช่นในตำบลหรือแค่เพียงตลาดในอำเภอเท่านั้น
    04 มี.ค. 2561 เวลา 14.09 น.
  • ทำไว้อย่างไรย่อมได้อย่างนั้น ผู้เบียดเบียนย่อมได้รับการเบียดเบียนตอบ ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ
    04 มี.ค. 2561 เวลา 10.57 น.
ดูทั้งหมด