การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
They Called US Enemy
เขาเรียกเราว่าศัตรู
หากเพียงเพราะต้องการเห็นประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำลงบ้าง หรือหากเพียงเพราะต้องการเห็นส่วนท้องถิ่นเข้มแข็ง สามารถพัฒนาและดูแลประชาชนได้ดีขึ้น เก่งขึ้น หรือหากเพียงเพราะต้องการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ
หรือหากเพียงเพราะอยากเห็นบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย
แล้วทั้งหมดนี้เรียกว่าไม่รักชาติหรือชังชาติ ไม่ใครก็ใครต้องไม่ปกติเป็นแน่
จอร์จ ทาเคอิ หรือซูลู ในหนังทีวีชุดสตาร์เทร็คฉบับแรกเมื่อทศวรรษที่ 1960 ซึ่งเคยฉายช่องสี่บางขุนพรหมบ้านเราด้วยชื่อไทยว่าตะลุยจักรวาล ได้บอกเล่าเรื่องราวของเขาครั้งที่ต้องเข้าค่ายกักกันในสหรัฐอเมริกา ด้วยเหตุที่เขามีเชื้อชาติญี่ปุ่น ในหนังสือการ์ตูนเรื่อง They Called US Enemy
เขียนเรื่องโดย George Takei, Justin Eisinger, Steven Scott และวาดภาพโดย Harmony Becker สำนักพิมพ์ Top Shelf ปี 2019 ที่จริงแล้วเพิ่งวางตลาดเมื่อไม่กี่วันมานี้เอง
การ์ตูนเริ่มต้นด้วยภาพพ่อ หรือแด๊ดดี้ เข้ามาปลุกจอร์จและน้องชายคือเฮนรี่ให้ลุกขึ้น เด็กชายทั้งสองยังงัวเงียด้วยไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทันใดนั้นมีเสียงกระแทกประตูบ้านดังปังๆ เป็นทหารสองคนสั่งให้พ่อย้ายออกจากบ้านทันที
“สิบนาที” พ่อมีเวลาเท่านั้น
พ่อสั่งให้จอร์จและน้องชายเฝ้ากระเป๋าแล้วตัวเองเข้าไปช่วยแม่ หรือหม่าม้า อุ้มน้องสาวคนเล็กออกจากบ้าน แม่น้ำตาตกเดินลงบันได
ภาพตัดกลับไปที่โตเกียวปี 2014 จอร์จ ทาเคอิกำลังยืนพูดบนเท็ดทอล์ก ปีนั้นเขาอายุ 77 ปี เขาเล่าเรื่องสตาร์เทร็คและภารกิจบนยานเอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ซึ่งมีลูกเรือหลายเผ่าพันธุ์ทำงานด้วยกัน เพื่อค้นหา strange new world โลกใหม่อันแปลกประหลาด to boldly go where no one has gone before ไปยังดินแดนที่ไม่เคยมีใครไปมาก่อนอย่างกล้าหาญ
นั่นคือชีวิตของพ่อเขา พ่อเขาเกิดในญี่ปุ่น อพยพตามปู่ย่ามาสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ตนเองเป็นวัยรุ่น พ่อพบรักกับแม่ แต่งงานกันและเปิดร้านซักอบแห้ง พ่อได้รับการศึกษาแบบอเมริกันในขณะที่แม่ได้รับการศึกษาแบบญี่ปุ่น การ์ตูนวาดภาพแม่เย็บกระดุมให้ลูกค้าทั้งที่เป็นร้านซักอบแห้ง คือสิ่งที่เราได้เห็นคนญี่ปุ่นทำทุกวันนี้
แม่แท้งลูกคนแรก แล้วคลอดจอร์จในเวลาไม่นานต่อมา คือปี 1937 (สองปีก่อนที่ฮิตเลอร์สั่งบุกโปแลนด์) พ่อตั้งชื่อจอร์จตามชื่อกษัตริย์อังกฤษ และตั้งชื่อน้องชายว่าเฮนรี่ตามชื่อกษัตริย์อังกฤษอีกเช่นกัน ส่วนน้องสาวชื่อเรียวโกะ
วันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 กองบินญี่ปุ่นโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ตอนรุ่งอรุณ สายวันนั้นรัฐบาลสหรัฐโดยประธานาธิบดีรูสเวลต์ก็ออกประกาศให้พลเมืองญี่ปุ่นเป็น alien enemy ศัตรูต่างชาติ
จอร์จบรรยายว่า พ่อของเขารักประเทศนี้ ได้อพยพมาอยู่สหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 25 ปีโดยมิได้รับสัญชาติ แต่ได้กลายเป็นศัตรูของชาติก่อนที่จะประกาศสงครามเสียอีก
สหรัฐอเมริกาประกาศสงครามต่อญี่ปุ่นในวันถัดมา
คนญี่ปุ่นถูกเฝ้ามองด้วยความเกลียดชัง รถของคนญี่ปุ่นถูกทุบทำลาย ไม่น่าแปลกใจที่เรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้น เพราะฐานทัพเรือที่ถูกโจมตีนั้นเสียหายร้ายแรง และมีทหารอเมริกันล้มตายจำนวนมาก
เอิร์ล วอร์เรน อัยการรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งอยู่ในช่วงที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเป็นหัวหอกในการดำเนินนโยบาย lock up the japs จำกัดบริเวณไอ้ยุ่น เขาบอกว่า ไม่มีหลักฐานว่าคนญี่ปุ่นในสหรัฐคิดทำการใดๆ แต่เพราะไม่มีหลักฐานนั่นเอง ทำให้เราต้องระมัดระวังและป้องกันไว้ก่อน
“ความไม่มีหลักฐานคือหลักฐาน” จอร์จสรุป
เฟลทเชอร์ โบวรอน นายกเทศมนตรีลอสแองเจลิส พูดว่าคนญี่ปุ่นในสหรัฐอเมริกาอยู่มาหลายชั่วคน พวกเขามีความภักดี แต่ใครจะไปรู้ว่าในท้ายที่สุดแล้วเลือดของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 1942 เป็นเวลา 74 วันหลังประกาศสงคราม ประธานาธิบดีรูสเวลต์ก็ลงนามในคำสั่ง 9066 ให้ใช้พื้นที่ทางทหารเป็นเขตจำกัดบริเวณ โดยไม่มีคำว่าค่ายกักกันหรือคนญี่ปุ่นปรากฏให้เห็นในคำสั่งเลย
สิบวันต่อมา พื้นที่ทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาก็กลายสภาพเป็น military area พื้นที่ทางทหาร
คนอเมริกันไม่ซื้อสินค้าจากคนญี่ปุ่น หรือซื้อด้วยราคาถูก
บัญชีธนาคารของคนญี่ปุ่นถูกอายัด
คนญี่ปุ่นถูกคำสั่งให้ออกจากบ้าน
คนญี่ปุ่นที่ทำเกษตรกรรมได้รับคำสั่งให้ทำงานต่อไป มิเช่นนั้นจะถูกข้อหาบ่อนทำลายชาติ
ผลผลิต ไร่นา และอุปกรณ์ต่างๆ ของคนญี่ปุ่นถูกยึดไปหมดในที่สุด
เมื่อถึงวันที่ 24 มีนาคม ปี 1942 ก็มีประกาศเคอร์ฟิวแก่คนญี่ปุ่นห้ามออกนอกเคหสถานในยามวิกาล
วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี 2017 ครบรอบ 75 ปีคำสั่งที่ 9066 จอร์จ ทาเคอิ ได้รับเชิญให้ไปกล่าวปาฐกถาที่พิพิธภัณฑ์ FDR ซึ่งก็คือบ้านของประธานาธิบดีแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ เขาได้เดินชมบ้าน ภาพถ่ายของครอบครัวท่านประธานาธิบดี และห้องนอน
นั่นนำให้ความคิดคำนึงของเขากลับไปสู่ฤดูใบไม้ผลิ ปี 1942 เมื่อแด๊ดดี้และหม่าม้าพาเขา เฮนรี่ และเรียวโกะ เดินทางมาถึง “พื้นที่ทางทหาร”
ยังมีต่อ
ความเห็น 0